รัฐศาสตร์แฟร์ 2018 การเมืองกับคนรุ่นใหม่ | วราวุธ-ขัตติยา-ชวน-พริษฐ์-ธนาธร

รัฐศาสตร์แฟร์ 2018 เสวนาหัวข้อ "การเมืองกับคนรุ่นใหม่" หนึ่งในกิจกรรมเนื่องในโอกาสครอบรอบ 70 ปี วันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 17 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมเกษม สุวรรณกุล ชั้น 13 อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยตัวแทนจากพรรคการเมือง 5 พรรค ได้แก่ 1. วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา 2. ขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทย 3. ชวน ชูจันทร์ พรรคพลังประชารัฐ 4. พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคประชาธิปัตย์ และ 5. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่

บทบาทคนรุ่นใหม่กับการเมืองในสังคมไทย

อิฐใหม่-เก่า อิฐสีเหลือง-แดง-เขียว ร่วมสร้างสังคมไทยได้

วราวุธ เห็นว่าปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่ต่างก็มีบทบาทในทางการเมืองไม่แตกต่างไปจากคนทั่วไป เช่น วัยกลางคน หรือผู้ใหญ่ สังคมไทยต้องการความเปลี่ยนแปลง และต้องอาศัยพลังวัยรุ่น พลังคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนสังคม แต่คนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียวไม่คำตอบของสังคมไทยในเวลานี้ แม้ช่วงที่ผ่านมาผู้ใหญ่เองก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาบางส่วนกับสังคมไทย แต่การที่จะทำให้สังคมไทยก้าวเดินไปข้างหน้าต่อได้จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยทุกพลัง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ไม่ว่าจะมีชุดความคิดทางการเมืองอย่างไรก็แล้วแต่ หากโจทย์วันนี้คือการทำให้สังคมไทยกลับมาเข้มแข็งเราจำเป็นต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน

“เราต้องการอิฐทุกก้อน ไม่ว่าจะเป็นอิฐใหม่ หรืออิฐเก่าที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมา ถูกกัดกร่อน จะเป็นอิฐสีแดง อิฐสีเหลือง หรืออิฐสีเขียว สีอะไรก็แล้วแต่ เวลานี้หากเราต้องการสร้างสังคมไทยกลัยขึ้นมาใหม่ เราต้องการสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย ผมคิดว่าเราต้องใช้อิฐทุกก้อน ไม่ว่าจะอิฐใหม่อิฐเก่าทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียต่างกัน” วราวุธ กล่าว

คนรุ่นใหม่มีความชอบธรรมที่จะลุกออกมาบอกว่า พอกันที!

ธนาธร เริ่มต้นด้วยการชวนผู้ร่วมฟังเวทีเสวนาสร้างบทสนทนาด้วยการกล่าวให้เห็นว่า กลุ่มคนที่นั่งฟังอยู่นี้น่าจะเป็นผู้ที่มีอายุประมาณ 20 ปีต้นๆ หรือเกิดในช่วงปี 2540-2543 และตั้งแต่เกิดมาจนผ่านมาถึงเวลานี้ก็ผ่านเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ผิดปกติ และไม่เป็นประชาธิปไตยมาแล้ว 3 ครั้ง มีการทำรัฐประหาร 2 ครั้ง และอีกหนึ่งครั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ปกติอันเกิดจากพรรคการเมืองบางพรรค และกลุ่มทหารบางกลุ่ม และกลุ่มองค์กรอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้วิธีการที่ไม่ปกติมาเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

“ตลอด 20 ปี ในชีวิตของคุณต้องอยู่กับความขัดแย้งทางการเมือง อยู่กับความมืดมิดของสังคม เติบโตมาถ้าให้ผมเดาคนรุ่นที่เกิดขึ้นปี 40 บวกลบนิดหน่อย ตั้งแต่จำความได้สังคมก็ตีกันสู้รบกัน ชุมนุม แล้วก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ผมบอกเมื่อสักครู่ อย่างไม่เป็นไปประชาธิปไตย ฉะนั้นตั้งแต่จำความได้ไม่เคยมีประชาธิปไตยในประเทศ มากกว่าครึ่งชีวิตอยู่กับการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ มิหนำซ้ำคนรุ่นปี 2540 จะต้องอยู่กับอนาคตที่ไม่มีเสรีภาพ อยู่กับอนาคตที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นได้สูงที่โอกาสในการทำมาหากินในอนาคตจะน้อยลง” ธนาธร กล่าว

ธนาธร กล่าวต่อไปว่า คนที่เกิดในช่วงปี 2540 ในอนาคตนั้นอาจจะไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากนัก และมากไปกว่านั้นคนเหล่านี้จะต้องออกไปเจอกับอนาคตที่วาดขึ้นโดยกลุ่มคนที่จะไม่ได้อยู่กับอนาคต เพราะกลุ่มคนที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีอายุโดยเฉลี่ย 64 ปี ทั้งที่คนรุ่นใหม่นี้อยู่ในวัยที่มีศักยภาพและมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลง แต่อนาคตของประเทศกลับถูกกำหนดและออกแบบไว้หมดแล้ว ฉะนั้นความชอบธรรมจึงอยู่ที่คนรุ่นใหม่ที่จะลุกออกมาบอกว่า พอกันที พอแล้ว ออกมาบอกว่าอนาคตของเรา อนาคตที่เราจะต้องอยู่กับมันเราจะต้องเป็นกำหนดเลย เพราะเราจะต้องอยู่กับมันนานที่สุด

ธนาธร ขยายความต่อไปว่าการที่จะเดินไปถึงจุดที่กลุ่มคนรุ่นใหม่จะสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ สังคมไทยจะต้องมีเสรีภาพ ซึ่งเสรีภาพเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เป็นสิ่งที่อยู่กับเรามาตลอด แต่ทุกวันนี้เสรีภาพไม่มีอยู่ในสังคม เสียงของคนรุ่นพี่จึงเป็นเสียงที่ไม่อาจได้ยินได้ฟัง ไม่มีพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่

“เป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งที่คุณรุ่นใหม่อย่างพวกคุณจะลุกขึ้นมาทวงอนาคตด้วยตัวเอง มีคนมากมายที่อยายุมากกว่าคุณ น้อยกว่าคุณ หรือเท่าๆ คุณ ที่มีส่วนในการผลักดันเคลื่อนไหวสังคม พูดถึงเด็กจุฬาฯ เนติวิทย์ จะชอบเขาหรือไม่ชอบเขาก็ตามที่ แต่เขาออกมาเรียกร้องให้เกิดการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ชอบเขาหรือไม่ชอบเขาก็ตามแต่เขาออกมาเรียกร้องให้ลดกฎเกณฑ์ในการบังคับนักเรียนในสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชุดนักเรียน นี่คือสิ่งที่เขาทำได้ทำแล้ว และยังมีคนอีกมากมายที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันที่พร้อมจะแสดงศักยภาพของตัวเองผลักดันสังคมให้ไปข้างหน้า ให้เป็นสังคมที่เชิดชูสิทธิและเสรีภาพ” ธนาธร กล่าว

บทบาทของคนรุ่นใหม่ต้องโดดเด่น แต่เสมอภาคกับคนรุ่นก่อน

พริษฐ์ เห็นว่า คำว่าคนรุ่นใหม่เป็นคำที่ถูกนำเสนอในลักษณะที่เป็นไปในทางบวก ซึ่งอาจจะมองได้ว่าคนรุ่นใหม่คือ เด็ก หรือมองในมุมที่สองคือ คนใหม่ๆ ในเวทีทางการเมือง ซึ่งไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน หรือมุมในมุมที่สามคือ คนที่มีความคิดใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กับสังคม และเศรษฐกิจ แต่หากหันกลับมามองคนรุ่นใหม่นิยามของคนที่เป็น เด็ก พริษฐ์เห็นว่าบทบาทของคนกลุ่มนี้ในขั้นพื้นฐานเสียงของคนกลุ่มนี้ควรจะดังเท่ากับคนรุ่นก่อน ซึ่งเป็นไปตามหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเวลานี้สังคมไทยคาดหวังกับคนรุ่นใหม่มากกว่าปกติ เพราะมีความเชื่อว่าคนรุ่นใหม่อาจจะมีศักยภาพที่จะตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบัน เขายกตัวอย่างถึงกองทัพยุคใหม่ โดยชี้ให้เห็นว่าภัยคุกคามที่กำลังจะเข้ามาอาจจะไม่ใช่ภัยคุกคามที่เกิดจากการรบแบบปกติ แต่อาจจะเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์ กองทัพต่างประเทศเริ่มมีการปรับตัวนำคนรุ่นใหม่เข้ามาเตรียมตัวรับกับภัยคุกคามเหล่านี้แล้ว

พริษฐ์ ยังกล่าวต่อว่าอีกหนึ่งสาเหตุที่สังคมไทยคาดหวังกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่อาจจะมีประเด็นใหม่ๆ ที่คนรุ่นก่อนๆ อาจจะไม่สนใจเท่า เช่นเรื่องการมองว่าคนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่คนรุ่นก่อนอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจมาก นอกจากสังคมยังคาดหวังมุมมองใหม่ๆ จากคนกลุ่มนี้ ทั้งในเรื่องทางเศรษฐกิจ และสังคม แต่อย่างไรก็ตามแม้บทบาทของคนรุ่นใหม่จะโดดเด่น แต่ก็ต้องมีความเสมอภาคกับคนรุ่นก่อน  และสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้เพื่อการพัฒนาประเทศที่สมดุล

คนรุ่นใหม่ต้องทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง เพื่อกำหนดบทบาทของตัวเอง

ชวน กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคนรุ่นใหม่ ตัวเองก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2520 และเห็นว่าบทบาทของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบีนนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ ทำความเข้าใจกับหลายๆ สิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะมาก ในขณะที่มีอายุ 20 ปีจำเป็นที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่าอีก 10 20 หรือ 30 ปี เราทำจะหน้าที่อะไรในประเทศไทยนี้ ซึ่งอย่างแรกจะต้องทำความเข้าใจกับปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ชวน กล่าวต่อว่า ช่วงเวลานี้สังคมไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งสถานการณ์นี้คืออะไรคนรุ่นใหม่ต้องทำความเข้าใจ และต้องรู้ว่าวันนี้จะต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทษไทยในฐานที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งของสังคมไทย ในระยะที่กำลังจะเดินหน้าต่อไป คนรุ่นใหม่มีมุมมองอย่างไร มีความคิดอย่างไร และต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าข้อมูลต่างๆ ที่รับรู้มานั้นถูกต้องหรือไม่

“ถ้าเราเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้อง เราก็จะกำหนดบทบาทตัวเองได้ว่า ในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในฐานะที่เราเป็นคนคนหนึ่ง เราควรจะทำหน้าที่อะไร เราควรจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร” ชวน กล่าว

เป้าหมายพื้นฐานของคนรุ่นใหม่คือการทำให้คนเท่ากัน

ขัตติยา มองว่าเวลานี้สังคมไทยกำลังเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ออกมามีบทบาทกับประเทศ ขณะเดียวในต่างประเทศก็มีผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นจึงทำให้กระแสคนรุ่นใหม่ก่อตัวขึ้นในประเทศไทย แต่คำถามสำคัญคือ เราเคยถามคนรุ่นใหม่กลับไปหรือไม่ว่า พวกเขาอยากจะมีบทบาทในเรื่องใดบ้าง และพวกเขาต้องการให้เราฟังเขาในฐานะอะไร เด็ก คนรุ่นใหม่ หรือผู้ใหญ่คนหนึ่ง

ขัตติยา เห็นว่า นิสิตนักศึกษาที่นั่งฟังอยู่นี้ ต่างต้องการให้สังคมถามความเห็นพวกเขา และปฎิบัติต่อความคิดขอพวกเขาในฐานะที่เขาเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และเพียงแค่การสะท้อนความคิดเห็นของตัวเองต่อสังคม มีการสะท้อนมุมมองต่อปัญหาต่างๆ ออกมาให้สังคมรับรู้ นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องการให้ปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไข ซึ่งอาจจะเป็นการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย หรืออาจจะมีปัจจัยทางการเมือง และโครงสร้างทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นบทบาทของคนรุ่นใหม่ได้

ขัตติยา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปจาการสะท้อนให้เห็นปัญหาของคนรุ่นใหม่คือ การมีส่วนร่วมของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใดจะต้องอยู่บนเป้าหมายเดียวกันคือ การทำให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสการเท่าเทียมกัน สามารถที่จะเข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานได้ หลังจากนั้นสังคมไทยจะเป็นอย่างไรต้องไปก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปต่อยอดกันต่อไป

ปัญหาอะไรที่ใหญ่ที่สุดซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้

เมื่อเพดานเสรีภาพต่ำ คนรุ่นใหม่จึงมีหน้าที่ขยับเพดาน

ธนาธร ระบุว่าสิ่งที่เป็นปัญหาที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้คือ เพดานของการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น หรือเพดานของการใช้สิทธิร่วมตัวเพื่อเปล่งเสียงออกมาในสังคมไทยถูกกดให้ต่ำลงมามาก เขายกตัวอย่างถึง มาลาลา ยูซาฟไซ ซึ่งเติบโตมาในสังคมที่ผู้หญิงไม่มีเสรีภาพไม่มีสิทธิในความเท่าเทียมกับผู้ชาย และสิ่งที่เธอทำ จนทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลตั้งแต่อายุ 20 ปี คือการเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กหญิงชาวมุสสลิม และสิ่งที่ทำได้ส่งผลกระทบวงกว้างในสังคมที่เธออยู่ และทำให้เกิดการตระหนักสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนหลายล้านคน

ธนาธร กล่าวต่อไปว่า จากเรื่องราวของ มาลาลา หากกลับมามองดูสังคมไทย หรือดูเฉพาะที่จุฬาลงกรณ์ การต่อสู้เพื่อเข้าถึงสิทธิทางการเมือง การท้ายทายกับอำนาจเคยเกิดขึ้นแล้ว ในยุคของจิตร ภูมิศักดิ์ นิสิตซึ่งถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปฎิเสธ ในสมัยที่เขาเรียนอยู่เขาต่อสู้เพื่อยกเลิกระบบอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัย หรือพูดในภาษาที่เข้าใจง่ายในสมัยนี้ และกำลังเป็นกระแสคือ การต่อสู้เพื่อยกเลิกระบบ SOTUS ในสถาบันการศึกษา จนถูกทำโทษคือ จับโยนบก จิตร ภูมิศักดิ์ กลายแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ ในยุคหนึ่งเป็นทั้งนักคิด นักเขียน เป็นทั้งกวี เป็นทั้งคนแต่งเพลง และเป็นนักประวัติศาสตร์

หากขยับเข้ามาใกล้กับปัจจุบัน ธนาธร เห็นว่า ภาพตัวแทนของการต่อสู้กับอำนาจอยู่ที่คนอย่าง รังสิมันต์ โรม หรือลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว ทั้งสองคนนี้เป็นนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านการทำรัฐประหารตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนผ่านมาจนถึงปัจจุบันถูกแจ้งความดำเนินคดีจนนับไม่ถ้วน และช่วงหลังมีการลุกออกมาตั้งกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งก็ถูกผู้มีอำนาจในปัจจุบันเล่นงานด้วยคดีความ

“ถ้าถามว่าจะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างไร ต้องแปรเปลี่ยนความโกรธให้เป็นพลัง แปรเปลี่ยนความคับแค้นข้องใจกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ให้เป็นความคิดสร้างสรรค์แล้วนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลับเข้ามาขับเคลื่อนสังคม นี่เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำได้ และเป็นเรื่องที่ชอบธรรมมากที่สุด สุดท้ายนี้ผมอยากจะจบช่วงที่สองนี้ด้วยคำพูดของ ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อกฎหมายคือความอยุติธรรม การต่อสู้ก็เป็นหน้าที่” ธนาธร กล่าว

เมื่อไม่มีการเลือกตั้ง โอกาสในการมีส่วนร่วมด้านอื่นๆ ก็ลดน้อยถอยลง

ขัตติยา ตอบคำถามว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ และแต่ละพรรคการเมืองจะแก้ไข้ปัญหานี้อย่างไร ด้วยการถามกลับนิสิต นักศึกษาที่ร่วมฟังงานเสวนาว่า เคยเห็นบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อใด ซึ่งหากนับดูแล้วจะพบว่านานมาก นิสิตรุ่นนี้อาจจะไม่เคยเจอกับบรรยากาศที่มีการตั้งเวทีปราศรัย มีผู้สมัครแต่ละเขตออกมาหาเสียงเลือกตั้ง

สิ่งที่ขัตติยา พยายามจะบอกคือ การเลือกตั้งเป็นการพื้นฐานขั้นต่ำที่สุดของการมีส่วนร่วมทางการเมือง เธอระบุว่า ไม่ว่าที่ผ่านจะมีการรณรงค์ทางสังคม ทางการเมือง มากน้อยเท่าใด ก็ไม่เทียบเท่ากับการที่ผู้เป็นเจ้าของอำนาจได้กากบาทลงไปในบัตรเลือกตั้งแล้วหย่อนลงไปในกล่อง เพราะนั้นหมายถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศ เธอเห็นด้วยว่า การที่ประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งอั้นเป็นพื้นฐานขั้นต่ำของการมีส่วนร่วม จึงทำให้การมีส่วนร่วมในด้านอื่นๆ หายไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาพิจารณ์ การรณรงค์ หรือการชุมนุม ทุกอย่างจึงลดน้อยลงไปด้วย

ขัตติยา เห็นว่าพรรคการเมืองสามารถที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการยึดมั่นในจุดยืนร่วมกันคือ ผลักดันให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยยุติธรรม โปร่งใส ไม่มีการใช้วิธีการสกปรก หรือการกำจัดคู่แข่งขันทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค การแจกใบเหลือง ใบแดง หรือใบส้ม จะต้องไม่ใช้ช่องทางทางกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งกัน นอกจากนี้พรรคการเมืองจะต้องร่วมมือกันแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือผลพวงที่มาจากเผด็จการหรือรัฐบาลทหาร และพรรคการเมืองทุกพรรคควรจะต้องรักษาพื้นที่ในกนารมีส่วนร่วมของประชาชน และร่วมกันยุติการสถาปนาระบอบเผด็จการไม่ให้กลับฟื้นคืนมาอีก

ระบบอุปถัมภ์ คือส่วนหนึ่งที่ฉุดรั้งการมีส่วนร่วมทางการเมือง

วราวุธ ระบุว่า ด้วยระบบสังคมไทยที่เป็นระบบอุปถัมภ์ สังคมไทยมีโครงสร้างที่ทุกครอบครัวจะมีผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในครอบครัวด้วย ฉะนั้นคนรุ่นใหม่จึงถูกกดไว้ตลอดเวลา หรือถูกครอบงำ และบางครั้งถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ฉะนั้นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้คือ สภาพสังคมที่ผู้ใหญ่บางท่านไม่พร้อมที่จะเปิดเวทีให้กับคนรุ่นใหม่เอง

วราวุธ กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงออก แต่ความก้าวร้าว กับความกล้าแสดงออก ถูกแบ่งออกด้วยเส้นบางๆ  ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณ บางครั้งผู้ใหญ่แต่ละคนอาจจะมองแตกต่างกันไปกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่มอง บางเรื่องคนรุ่นใหม่เห็นว่าเป็นการชี้แจง แต่ผุ้ใหญ่มองว่าเป็นการเถียง ดังนั้นสิ่งเหล่านี้คือข้อจำกัดที่ทำให้คนรุ่นใหม่อาจจะไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น และหากมองลงไปในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานครูก็จะมีหน้าที่สอน ส่วนนักเรียนก็จะมีหน้าที่ฟังอย่างเดียว

วราวุธ เห็นว่า การที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ จะต้องมีการผลักดันให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะต้องให้คนรุ่นใหม่มีสิทธิ มีเสียง มีสิทธิที่จะกำเนิดการเดินของประประเทศจากนี้ไป ในส่วนของพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคชาติไทยพัฒนาได้เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามา เวลานี้พรรคมีความเปลี่ยนแปลงโดยมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำพรรคการเมืองทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เปรียบเหมือนหางเสือของเรือ ที่ผ่านร้อน ผ่านหน่าวมามากมาย ซึ่งจำเป็นต้องผสมผสานประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน และวิสัยทัศน์ความกล้าที่จะคิดของคนรุ่นใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท