ความแตกหักในโลกพลิกผัน I 70 ปี รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

  • กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: เสรีนิยมประชาธิปไตยตกต่ำทั่วโลก เพราะการปกป้องประโยชน์คนหมู่มากสวนทางการเคารพเสรีภาพปัจเจก
  • กัลยา เจริญยิ่ง: Big Data อาจเป็นเครื่องมือควบคุมของรัฐ และสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม
  • วงอร พัวพันสวัสดิ์: เมื่อรัฐใช้นวัตกรรม-เทคโนโลยีพัฒนาภาครัฐ สิ่งที่หายไปคือจิตวิญญาณมนุษย์
  • จักกริช สังขมณี: ปัจเจกแตกหัก พลิกผัน จากการจัดระเบียบของรัฐมุ่งควบคุมวิถีชีวิต

 

จากซ้ายไปขวา ผู้ดำเนินรายการ, กัลยา เจริญยิ่ง, วงอร พัวพันสวัสดิ์, จักกริช สังขมณี, กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

 

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาหัวข้อ “Disruptive World: Innovative Political Science?” รัฐศาสตร์นวัตกรรมในโลกแห่งความพลิกผัน เนื่องในโอกาสครอบรอบ 70 ปี วันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ณ ห้องประชุมเกษม สุวรรณกุล อาคารเกษม อุทยานิน เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยช่วงแรกของภาคบ่ายนั้นเป็นการนำเสนอมุมมองทางวิชาการของวิทยากรแต่ละท่านที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสาขาที่เชี่ยวชาญ กล่าวคือ สาขาสังคมการเมืองการปกครอง สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ และสาขาสังคมวิทยามานุษยวิทยา โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ทั้ง 4 ได้แก่ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, กัลยา เจริญยิ่ง, วงอร พัวพันสวัสดิ์ และ จักกริช สังขมณี

 

เสรีนิยมประชาธิปไตยตกต่ำทั่วโลก เพราะการปกป้องประโยชน์คนหมู่มากสวนทางการเคารพเสรีภาพปัจเจก

 

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล  ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่อง ความตายของเสรีนิยมประชาธิปไตย  ที่เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกโดยแบ่งประเด็นการอภิปรายออกเป็น 3 ส่วนหลักได้แก่ เงื่อนไขและปัจจัยที่ส่งเสริมให้เสรีนิยมประชาธิปไตยตกต่ำ ปัญหาของลัทธิดังกล่าวคืออะไร และทางออกจากวิกฤตการณ์นี้คืออะไร

กล่าวคือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยได้รับการเฉลิมฉลองและเกิดการเบ่งบานขยายตัวไปทั่วโลกในหลายประเทศ แต่ทว่าในทศวรรษที่ 20 เป็นต้นมาลัทธิทางการเมืองดังกล่าวกลับตกต่ำ เสื่อมถอยลง โดยจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น การขึ้นครองอำนาจของรัฐบาลเผด็จการและการเกิดรัฐประหารในประเทศต่าง เช่น อาหรับสปริง ไทย อียิปต์ รวมทั้งผลสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ในยุโรปที่เห็นว่าระบอบของทหารอาจจะดีกว่าประชาธิปไตย นอกจากนี้พรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมในหลายประเทศยังขึ้นมาเป็นรัฐบาล เช่น สหรัฐอเมริกา โดยจะเห็นได้ว่าชนชั้นกลางจากที่เคยเป็นฝ่ายปกป้องประชาธิปไตยมาตลอดได้หันไปสนับสนุนเผด็จการและพรรคอนุรักษ์นิยมเหล่านี้โดยตั้งคำถามกับประชาธิปไตยว่าอาจจะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด

ภายหลังปรากฏการณ์การชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ มีหนังสือวิเคราะห์และอภิปรายปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกตีพิมพ์กว่า 1700 เล่มซึ่งวิทยากรได้หยิบยกหนังสือประมาณสิบเล่มขึ้นมาหาจุดร่วมและอภิปราย ปัญหาของเสรีนิยมประชาธิปไตยและทางออกจากวิกฤตการณ์นี้ กล่าวคือ ลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยถูกนำมาใช้เป็นระบอบการปกครองที่พยายามจะรักษาสมดุลระหว่าง การปกป้องผลประโยชน์ของคนหมู่มาก (majoritarianism) และเคารพในเสรีภาพของปัจเจก (individual liberty) แต่ทว่าแนวคิดทั้งสองอย่างนี้ยากที่จะรักษาให้สมดุลได้ในขณะเดียวกันและยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง กล่าวคือ มันเป็นเรื่องยากที่ระบอบดังกล่าวซึ่งขับเคลื่อนด้วยเจตจำนงของคนหมู่มากในการสร้างนโยบายหรือข้อตกลงทางสังคม โดยไม่ละทิ้ง ละเลยการปกป้องการรุกล้ำสิทธิของคนกลุ่มน้อยหรือปัจเจก เพราะทั้งสองแนวทางนี้มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

 นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายอื่น ๆต่อสถานการณ์ความเสื่อมถอยของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากปัญหาสังคมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการเกิดโลกาภิวัฒน์ของเสรีนิยมใหม่  ปัญหาผู้อพยพ ปัญหาเรื่องการเสรีภาพในการใช้สื่อออนไลน์ที่ละเมิดและคุกคามสิทธิของผู้อื่น ความโง่เขลาของคนส่วนใหญ่ (ignorance of majority) ที่มักจะเลือกผู้นำจากความนิยมมากกว่าความสามารถหรือนโยบาย ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม สงครามอาวุธชีวภาพ ตลอดจนปัญหาเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร

เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยไม่ได้ตอบโจทย์และเข้ามาคลี่คลายปัญหาสังคมได้อีกต่อไป นอกจากนี้ความถดถอยของระบอบดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในสังคมที่เกิดช่องว่างระหว่างกัน กล่าวคือ ความขัดแย้งระหว่างคนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในเรื่อง  ช่องว่างทางการศึกษาหรือวัย  ความเชื่อมั่นต่อการเลือกตั้ง ตลอดจนการให้ความสนใจในประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าซึ่งจะเห็นได้จากการไม่ลงรอยทางความคิดเรื่อง การเลือก Brexit หรือการเลือกตั้งที่คนหนุ่มสาวมักจะพ่ายแพ้ให้กับคนรุ่นเก่า นอกจากนี้ปัญหาเรื่องการขาดบรรทัดฐานทางการเมืองที่ว่าด้วยเรื่อง การสูญเสียความอดทนอดกลั้นร่วมกัน (loss of tolerance) ที่เห็นได้จากพรรคการเมืองแต่ละพรรคเน้นเอาชนะคู่แข่งหรือเอาตัวแทนที่มีความคิดทางการเมืองที่สุดโต่งมาแข่งขันกันเป็นหลักทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองมากขึ้น

ทางออกของวิกฤตการณ์ของลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นถูกเสนอว่าเราควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองให้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เช่น ไปชุมนุมประท้วง เข้าร่วมพรรคการเมือง เปลี่ยนแปลงนโยบาย และ ให้การศึกษาแก่ผู้คนรอบข้าง เป็นต้น

 

Big Data อาจเป็นเครื่องมือควบคุมของรัฐ และสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

กัลยา เจริญยิ่ง ได้พูดถึงการเกิดขึ้นของ disruption ผ่านปรากฏการณ์เรื่อง big data โดยชี้ให้เห็นถึงจุดดี จุดด้อยของเทคโนโลยีดังกล่าวในมิติต่างๆ ในสังคมตลอดจนการสร้างความเหลื่อมล้ำด้วยข้อมูลเชิงตัวเลขเหล่านี้ กล่าวคือ disruption ในโลกมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะไม่เห็นได้ชัดเจนซึ่งบางครั้งไม่ได้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก (external change) แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน (endogenous change) สังคมในปัจจุบันคลี่คลายตัวมาอยู่ในจุดที่มีการเก็บข้อมูลของ big data อย่างแยบคายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เนื่องจากชีวิตของคนในยุคสมัยปัจจุบันรายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัยที่นำเสนอและเผยแพร่ข้อมูลจำนวนมหาศาลในชีวิตแต่ละวัน การเก็บข้อมูลของ Big data เป็นไปในลักษณะของเวลาที่เกิดขึ้นจริง (real time) ซึ่งหมายความว่าการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้นำไปสู่การผลิต (generate) ข้อมูลแก่ big data อยู่ตลอดเวลา

ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวพันกับข้อมูลและการเก็บข้อมูลของ Big data นั้นไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าเกิดคุณหรือโทษได้อย่างตายตัว หรือมีลักษณะของการเป็นเครื่องมือของมนุษย์หรือกำลังควบคุมชีวิตมนุษย์ ตลอดจนสร้างคุณูปการให้แก่การจัดการของรัฐหรือเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม กล่าวคือ ข้อมูลและตัวเลขจากการประมวลผลออกมาแม้จะให้ความน่าเชื่อถือ อ้างอิงข้อเท็จจริงบางอย่างได้ตลอดจนสร้างทฤษฎีผ่านการประมวลข้อมูลเหล่านั้น แต่ในขณะเดียวกันการเขียน หรือประดิษฐ์ขึ้นของนวัตกรรมการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากคุณค่าและอคติบางอย่าง โดยข้อมูลที่ได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างบรรทัดฐาน ประเมิน ตรวจสอบ ควบคุม จับจ้องผู้คนในยุคสมัยนี้ทั้งเพื่อวัดประเมินตัวตน (qualify self) และเป็นข้อมูลการตลาดแก่กลุ่มทุน

นอกจากนี้การเก็บข้อมูลของ Big data ได้ส่งผลกระทบต่อประชาธิปไตยและการขยายตัวของทุนนิยมในหลายมิติ กล่าวคือ รัฐสมัยใหม่ได้เลือกใช้เทคโนโลยีบางประเภทเข้ามาจัดเก็บข้อมูลที่ไม่อาจสรุปได้ง่ายว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นมีประสิทธิภาพ เพราะบางครั้งรัฐบาลกลับสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีข้อจำกัดให้ดำรงอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของตัวชี้วัด (bench mark) บางอย่างในรัฐได้สร้างเงื่อนไขและข้อจำกัดให้กับผู้คนมากมาย

ยกตัวอย่าง เช่น รหัสไปรษณีย์ (zip code) ที่สามารถบ่งบอกสถานภาพทางสังคมและอัตลักษณ์ของคนที่อยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่ได้ รวมถึงจำนวนเงินในบัญชีธนาคารและประวัติการกู้ยืมเงินเพื่อการเล่าเรียนที่สามารถจำกัดโอกาสทางการศึกษาได้ นอกจากนี้ในทางการเมืองได้อาศัยเทคโนโลยีดังกล่าวมาช่วยทำนายทิศทางทางการเมืองตลอดจนค้นหากระแสการเมืองและอุดมการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้โดยนำข้อมูลสุนทรพจน์มาประมวลและตรวจหาอารมณ์ร่วมของสาธารณชนผ่านทางทวิตเตอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อมูลจาก big data นั้นก็ยังเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ฉะนั้นเราควรตระหนักและรู้เท่านั้นตลอดจนมี resistance ต่อข้อมูลเหล่านี้เพื่อสร้างเสริมประชาธิปไตยในสังคมต่อไป  

 

เมื่อรัฐใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาภาครัฐ สิ่งที่หายไปคือจิตวิญญาณมนุษย์

 

วงอร พัวพันสวัสดิ์ ได้กล่าวถึงกระแสความนิยมของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหาร จัดการองค์กรและหน่วยงานของภาครัฐ ว่าไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เสมอไป โดยได้ยกประเด็นขึ้นมาอภิปราย 2 ประการหลัก ได้แก่ การทำธุรกิจ SMEs และ ปัญหาของการทาบทับอุดมคติของภาครัฐบนตัวแบบเอกชน

จากประสบการณ์การทำงานด้านการจัดการของธุรกิจ SMEs วงอรพบว่า ปัญหาสำคัญของธุรกิจเหล่านี้มีปัจจัยปลีกย่อยที่ส่งผลให้ไม่สามารถนำนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจได้ ได้แก่ การขาดแคลนเงินทุนซึ่งทำให้ไม่สามารถลองผิดลองถูกเมื่อนำนวัตกรรมมาใช้ จึงทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีสายพานการผลิตจำนวนมากเป็นหลัก นอกจากนี้การขาดโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการิเริ่มนวัตกรรมแก่ธุรกิจ รวมถึงการถูกควบคุมธุรกิจจากคนรุ่นก่อน เช่น ธุรกิจครอบครัวที่ยังมีพ่อแม่ควบคุมการบริหารงานเอาไว้ในลักษณะกงสี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดระบบข้อมูลได้ยาก

อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการหมกมุ่นในการนำนวัตกรรมของธุรกิจเข้ามาใช้ในการจัดการบริหารของรัฐบาลยังเกิดปัญหาต่อการทำงานของคนในองค์กร กล่าวคือ ลักษณะและเป้าหมายของรัฐบาลและเอกชนแตกต่างกัน โดยเอกชนมีเจ้าของเป็นเพียงคนหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง และมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาผลกำไร ในขณะที่รัฐบาลเกิดขึ้นโดยมีประชาชนและกลุ่มก้อนทางสังคมมากมายเป็นเจ้าของ โดยเป้าหมายไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีความหลากหลายและสามารถเกิดความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายได้ การสร้างตัวชี้วัดในลักษณะทางเศรษฐกิจอย่างเดียวจึงเป็นไปได้ยาก

ตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของโครงการการสร้างจุดมุ่งหมายใหม่ของรัฐบาล จากระบบประกันคุณภาพการศึกษา การเป็นผู้ประกอบการสาธารณะ (public entrepreneurship) ในฐานะที่เป็นเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ โดยปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการหายไปของจิตวิญญาณสาธารณะ (public spirit) ในหมู่ข้าราชการ เมื่อการวัดประเมินคุณภาพการทำงานเกิดขึ้นจากสมมุติฐานว่า มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ทำงานเพื่อผลประโยชน์เรื่องเงินเท่านั้น ทำให้ละเลยมุมมองของการอุทิศตัวในการทำงานด้วยจิตสาธารณะ เพื่อส่วนรวม นอกจากนี้การนำนวัตกรรมทางธุรกิจก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกกรณ เมื่อระบบการทำงานในองค์กรของรัฐยังมีปัญหาเรื่องอำนาจโครงสร้างอยู่

วงอรได้หยิบยกประโยคจากนักคิดขึ้นมาปิดท้ายว่า “นวัตกรรมไม่ได้เป็นหนทางเดียวในการก้าวไปข้างหน้า มันสามารถทำให้เรามองไม่เห็นหนทางอื่น ๆที่เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าได้”  (Innovation is not the only way to move forward, it can blind us from something simpler and more effective.)

 

ปัจเจกแตกหัก พลิกผัน จากการจัดระเบียบของรัฐมุ่งควบคุมวิถีชีวิต

 

จักกริช สังขมณี กล่าวชวนให้เห็นถึงความสามัญธรรมดาของการเกิดการแตกหัก พลิกผันในโลก ในฐานะที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะในยุคสมัยใด หรือพื้นที่ใด โดยมันเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ระดับของชีวิตโดยแต่ละคนล้วนมีการตอบสนองและจัดการต่อความพลิกผัน แตกหักที่แตกต่างกันออกไปโดยสามารถทำความเข้าใจได้ผ่านความเชื่อของบุคคลเหล่านั้น รวมไปถึงบริบทของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งมีลักษณะที่สัมพัทธ์ (relative) เมื่อการพลิกผันแตกหักของคนๆ หนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นของคนอีกคนเสมอไป นอกจากนี้การเกิดความแตกหักยังสามารถเกิดขึ้นได้ในลักษณะของการขัดจังหวะด้วยระเบียบ แบบแผน (order) เช่น การสร้างข้อบังคับ กฎการปฏิบัติบางอย่างเพื่อคุมขังการเป็นไปของวิถีชีวิตหนึ่งๆ จากรัฐ หรือการไหลเวียนของบางอย่าง (flow) เช่น การเกิดขึ้นของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไหลเวียนเข้ามาหันเหความสนใจของนิสิตในห้องประชุม โดยการแตกหักระหว่างสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นโดยสามารศึกษาโดยไม่สามารถนำมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการใช้ทำความเข้าใจและศึกษาแต่ฝ่ายเดียวได้

จักกริชทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอชวนคิดที่ว่า เมื่อการแตกหัก พลิกผันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นธรรมดาของโลกแล้ว เราจึงไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับความพยายามที่จะจัดระเบียบ จัดการความพลิกผันเหล่านี้จนเกินไป

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท