Skip to main content
sharethis

นักโทษทั่วสหรัฐฯ นัดหยุดงาน ปักหลักชุมนุม อดอาหาร ไม่ซื้อของเรือนจำ ออกแถลงการณ์ประท้วงการใช้แรงงานเท่าช้างแต่ค่าจ้างเท่ามด ชี้ ของใช้สารพัดทำจากมือคนคุกที่ถูกกดค่าแรง เรียกร้องปรับปรุงคุณภาพเรือนจำและการปฏิบัติต่อนักโทษแบบไม่เป็นมนุษย์ ให้สิทธิ์คนเคยมีโทษอุกฉกรรจ์ออกเสียงเลือกตั้งได้

ที่มาภาพ: Pixabay

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา นักโทษในสหรัฐฯ นัดหยุดงานประท้วง มีการปักหลักและอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบคุกและกระบวนการยุติรรมในสหรัฐฯ รวมถึงการใช้แรงงานแบบทาสสมัยใหม่ โดยพวกเขาวางจะแผนประท้วงต่อเนื่องเป็นเวลา 19 วัน

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีนักโทษจำนวนมากที่สุดในโลกด้วยจำนวน 2.3 ล้านคน การผละงานประท้วงของนักโทษครั้งนี้อาจจะกลายเป็นการนัดหยุดงานประท้วงของคนคุกที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐฯ โดยผู้ที่เป็นหัวหอกในการนักหยุดงานประท้วงในครั้งนี้คือกลุ่ม 'เจลเฮาส์ลอว์เยอร์สปีค' เป็นกลุ่มนักโทษที่ให้ความช่วยเหลือและฝึกอบรมด้านกฎหมายกับนักโทษคนอื่นๆ และอีกกลุ่มหนึ่งคือคณะกรรมการจัดตั้งแรงงานผู้ต้องขัง (IWOC) กลุ่มที่นำการประท้วงนี้มีการออกแถลงการณ์โดยไม่ระบุตัวผู้ลงนามถึงเหตุผลที่มีการนัดหยุดงานในครั้งนี้โดยเสี่ยงต่อการถูกลงโทษ

แถลงการณ์ระบุว่า "ผู้ต้องขังเข้าใจว่าตัวเองถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ เรือนจำในอเมริกาเป็นสมรภูมิ ในทุกๆ วันผู้ต้องขังจะได้รับอันตรายเนื่องจากสภาพของการคุมขัง สำหรับพวกเราบางคนมันราวกับว่าพวกเขาได้ตายไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีอะไรจะต้องเสีย"

พวกเขาเปิดเผยข้อเรียกร้องในระดับชาติ 10 ข้อ เช่น ให้มีการพัฒนาสภาพเรือนจำ ยกเลิกโทษจำคุกตลอดชีวิตแบบไม่มีการพ้นโทษก่อนกำหนดโดยทำทัณฑ์บนไว้ เพิ่มงบประมาณบริการการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขัง และยกเลิกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ต้องโทษคดีอุกฉกรรจ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซึ่งขณะนี้มีมากถึง 6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 0.5 จากประชากรสหรัฐฯ ทั้งหมด

เรื่องที่สององค์กรเน้นเรียกร้องอย่างจริงจังในการประท้วงครั้งนี้คือการยกเลิกการใช้นักโทษเป็นแรงงานทาสสมัยใหม่ซึ่งได้รับค่าแรงถูกเรี่ยติดดิน เรือนจำในบางรัฐอย่างที่หลุยส์เซียนา นักโทษได้ค่าแรงเพียงชั่วโมงละสี่เซ็นท์ หรือราว 5.25 บาทเท่านั้น นอกจากนั้น ยังมีการใช้งานนักโทษไปดับไฟป่าครั้งใหญ่ที่รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาได้ค่าแรงวันละสองดอลลาร์ (65.64 บาท) ต่อวัน บวกหนึ่งดอลลาร์ต่อชั่วโมง (32.82 บาท)

แถลงการณ์ของกลุ่มผู้ประท้วงระบุว่าสิ่งที่เปิดทางให้มีการใช้แรงงานทาสเช่นนี้คือกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เอง ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ทึ่ห้ามการใช้ทาส แต่ระบุข้อยกเว้นว่าสามารถใช้เป็นการลงโทษอาชญากรได้ กล่าวคือ นักโทษไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญข้อใดที่จะคุ้มครองพวกเขาเลย

โฆษกของผู้ชุมนุม อมานี ซาวารี กล่าวว่า ผู้ต้องขังเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมและมีส่วนเกี่ยวโยงกับสังคมภายนอกจากการที่พวกเขาทำงานผลิตสิ่งของต่างๆ ที่คนภายนอกคุกใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ของสตาร์บัคส์ ป้ายทะเบียนรถ และเฟอร์นิเจอร์ พวกเขาจึงอยากให้ตระหนักว่าการที่ผู้คนจับจ่ายของใช้ของกินในชีวิตประวันเหล่านี้พวกเขาได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมของเรือนจำไปในตัว

การประท้วงนี้มีขึ้น 4 เดือนให้หลัง เหตุการณ์ผู้ต้องขัง 7 รายเสียชีวิตในเหตุจลาจลที่ทัณฑสถานลี ในบิชอปวิลล์ รัฐเซาท์แคโรไลนา มีพยานเห็นเหตุการณ์กล่าวต่อสื่อว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เรือนจำคนใดเลยที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและกำลังจะตาย หรือไม่แม้แต่จะเข้าไปยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นเลย

นอกจากการหยุดงานประท้วงแล้ว ผู้ต้องขังยังมีการอดอาหารประท้วงและนั่งปักหลักประท้วง รวมถึงคว่ำบาตรร้านค้าเสบียงของเรือนจำกับหน่วยอื่นๆ เช่นหน่วยเก็บค่าโทรศัพท์ที่หารายได้จากเงินของคนในเรือนจำ แผนการคว่ำบาตรนี้มาจากความคิดของเบนนู ฮันนิบาล ราซัน จากขบวนการฟรีแอละแบมา โดยตั้งชื่อปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "จัดสรรความเจ็บปวดใหม่" วิธีการของเขาต้องการให้นักโทษไม่เสียเวินให้กับขบวนการอุตสาหกรรมในคุก แต่ให้เก็บเงินไปซื้อหนังสืออย่าง "ผู้หากำไรจากคุก ใครกันที่ทำเงินจากการกวาดต้อนจับขังผู้คน" (Prison Profiteers: Who Makes Money from Mass Incarceration)

นอกจากในเรือนจำแล้ว ยังมีคนนอกคุกในหลายพื้นที่ทั้ง บรูคลิน รัฐนิวยอร์ก, ซานเควนติน รัฐแคลิฟอร์เนีย, บิชอฟวิลล์ และเมืองอื่นๆ ที่วางแผนประท้วงนอกเรือนจำเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับนักโทษ มีนักการเมืองจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งที่แสดงการสนับสนุนการหยุดงานประท้วงของนักโทษในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

สื่อเดอะการ์เดียนรายงานว่า นักโทษที่เข้าร่วมการประท้วงมีความเสี่ยงที่จะถูกจับขังเดี่ยว และตัดช่องทางการสื่อสารและเข้าถึงสื่อเพื่อไม่ให้ทราบความเป็นไปของการชุมนุมประท้วงที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

การประท้วงในครั้งนี้มีแผนการสิ้นสุดในวันที่ 9 ก.ย. ที่จะถึงนี้ซึ่งจะตรงกับวันครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์นักโทษลุกฮือในเรือนจำแอตติการัฐนิวยอร์ก ปี 2514 โดยในการลุกฮือครั้งนั้นก็มีการเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมืองเช่นกัน เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีการเจรจานานเป็นเวลา 4 วัน นายกเทศมนตรีของนิวยอร์กในสมัยนั้นคือ เนลสัน ร็อกเกอะเฟลเลอร์ ก็ใช้กำลังตำรวจพร้อมอาวุธปืนลูกซองและแก็สน้ำตาเข้าไปปราบปรามกลุ่มนักโทษจนมีผู้ต้องขังเสียชีวิต 29 ราย และมีตัวประกันเสียชีวิต 10 ราย

ฮีเธอร์ แอนน์ ธอมป์สัน นักเขียนรางวัลพูลิตเชอร์เรื่องเกี่ยวกับการลุกฮือในเรือนจำแอตติกากล่าวว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ทำให้ผู้คนจดจำว่าพวกเขามีสิทธิที่จะขบถต่อต้านและจะทำเมื่อถูกบีบให้อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อย่างสาหัส

เรียบเรียงจาก

US inmates stage nationwide prison labor strike over 'modern slavery', The Guardian, Aug. 21, 2018

Demanding Wide-Reaching Reforms and an End to Slavery, Inmates in 17 States Plan Prison Strike, Common Dream, Aug. 18, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net