หมวดเจี๊ยบเสนอให้มีองค์กรตรวจสอบกองทัพ หลัง ผบ.ทบ. ระบุไม่มีการซ่อมในค่ายทหาร

ผบ.ทบ. ระบุกรณีพลทหารคชา ถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ได้เป็นการซ่อม แต่เป็นการทะเลาะวิวาทกันระหว่างทหารเกณฑ์ หมวดเจี๊ยบโต้อย่าใช้คำเลี่ยงบาลี เพราะชาวบ้านจะมองว่ากองทัพไม่ยอมรับความจริง พร้อมเสนอให้มีองค์กรภายนอกทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพ

23 ส.ค. 2561 สืบเนื่องจากกรณีที่ พลทหารคชา พะชะ อายุ 22 ปี ทหารเกณฑ์สังกัดกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 3 รอ.) จ.ลพบุรี ถูกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. ขณะนี้อาการยังไม่ดีขึ้น และยังคงใส่เครื่องช่วยหายใจ รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล ซึ่งก่อนหน้านี้นายทหารในค่ายดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงกับครอบครัวว่ามีการทำร้ายร่างกายพลทหารคชา บอกเพียงแค่พลทหารคชาน็อคระหว่างฝึก แต่เมื่อครอบครัวไม่เชื่อจึงยอมบอกความจริงว่า พลทหารคชา ถูกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 3 คนซ่อม ทั้งนี้ยังมีความพยายามขอให้เรื่องที่เกิดขึ้นไม่เป็นข่าว และทางค่ายทหารได้จัดทหารเกณฑ์มาเป็นเวรยามเฝ้าที่เตียงผู้ป่วย และห้ามไม่ให้ญาติถ่ายรูปพลทหารคชา แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นได้

ทหารเกณฑ์ถูกซ่อมหัวใจหยุดเต้น แพทย์เผยโอกาสรอดน้อย ทหารบอกญาติอย่าให้เป็นข่าว

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นการซ่อม เท่าที่ทราบเป็นเพียงการทะเลาะวิวาท ระหว่างพลทหารด้วยกัน พร้อมยืนยันว่า ระบบซ่อมต่างๆ ไม่มีอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่าคนอยู่ด้วยกันทุกวันอาจมีปัญหาทะเลาเบาะแว้ง ชกต่อยกันเป็นเรื่องเฉพาะตัว

อย่างไรก็ตาม น้าสาวพลทหารคชาเล่าว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่หลานเข้าประจำการเป็นทหารเกณฑ์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2560 ก็ยังไม่เคยมีเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อประมาณเดือนที่แล้ว หลานลากลับมาพักที่บ้าน แล้วมีรุ่นพี่วิดีโอคอลมาหาและตามให้กลับก่อนกำหนด แต่หลานไม่ได้ไป รุ่นพี่ก็สั่งให้วิดพื้นทั้งที่อยู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นหลานกำลังนั่งกินข้าวอยู่กับครอบครัวด้วย

ขณะที่ วรรณิสา บุญตา ภรรยา ซึ่งกำลังอุ้มทอง 5 เดือน ลูกคนที่สองของพลทหารคชา เปิดเผยว่า ช่วงเช้ามีทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 3 คนที่เป็นคนทำร้ายร่างกายพลทหารคชา มากราบขอขมาที่เตียง พร้อมทั้งระบุว่า ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนี้

ต่อเรื่องดังกล่าว ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หมวดเจี๊ยบ Sunisa Divakorndamrong  ว่า ข่าวการทำร้ายร่างกาย พลทหาร คชา พะนะ คือ อีกหนึ่งใบเสร็จที่ยืนยันได้ว่า การซ้อมทรมานมีอยู่จริงในกองทัพ ทั้งๆที่เรื่องน้องเมย ยังไม่ทันจาง ก็มีเหยื่อรายใหม่โผล่ขึ้นมาซะแล้ว ข่าวการถูกทำร้ายร่างกายจากผู้บังคับบัญชาหรือรุ่นพี่ มักจะสวนทาง กับคำพูดของผู้ใหญ่ในกองทัพที่มักจะอ้างว่า มีกฎห้ามแตะต้องตัวทหารเกณฑ์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีอีกกี่เคสที่ถูกทรมานอีกโดยไม่เป็นข่าว และอย่าอ้างว่าเป็นเรื่องทะเลาะกันส่วนตัว เพราะชาวบ้านจะมองว่ากองทัพไม่ยอมรับความจริงและปัดความรับผิดชอบ

แต่ที่จริง มันสะท้อนปัญหาของระบบการซ่อม ซึ่งทำให้กำลังพลมีความเครียดสะสม และไประบายความแค้นกับรุ่นน้องๆต่อไปเป็นทอดๆ อย่ามาเลี่ยงบาลีเลยว่านี่คือการฝึกธำรงวินัย เพราะมันก็ไม่ต่างจากการซ้อมทรมาน ใครที่ทนมือทนเท้ารอดมาได้ ก็ถือว่าโชคดีไป แต่เมื่อพลั้งมือทำกันจนถึงตายหรือพิการขึ้นมา แล้วจะชดใช้ครอบครัวทหารเหล่านั้นอย่างไร คนหนุ่มเหล่านี้ มีอนาคตอีกไกลและเป็นความหวังของครอบครัว ไม่ควรจบชีวิตอย่างไม่สมควร

ทั้งนี้ กองทัพยุค 4.0 ควรต้องปฏิรูปตัวเองให้โปร่งใสและเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย เช่น เปิดโอกาสให้ครอบครัวของทหารเกณฑ์หรือผู้ใต้บังคับบัญชาอื่น ๆ รวมทั้ง นักวิชาการ และ นักสิทธิมนุษยชน มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการสอดส่องความเป็นอยู่ของทหารเกณฑ์และกำลังพลทั้งหลาย เพื่อให้มีช่องทางร้องทุกข์เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่ปล่อยให้ค่ายทหารเป็นแดนสนธยา ที่ผ่านมา สังคมปล่อยให้กองทัพควบคุมกันเอง แต่ก็มีการปกป้องกันและปกปิดข้อเท็จจริง ทำให้ไม่มีการแก้ปัญหา จึงต้องมีบุคคลภายนอกร่วมตรวจสอบด้วย

นอกจากนี้ กองทัพยุค 4.0 ไม่จำเป็นต้องมีกำลังพลมากเพราะไม่สอดคล้องกับภัยคุกคามสมัยใหม แต่ต้องทันสมัยทางเทคโนโลยี จึงอาจไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ทหารปีละแสนกว่าคนอย่างในปัจจุบัน และไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทุกคนเกณฑ์ทหาร แต่ควรรับสมัครจากผู้ที่สมัครใจเป็นหลัก ซึ่งมีคนสมัครหลายหมื่นคนทุกปี

โดยล่าสุดปีนี้ ก็มีคนสมัครเป็นทหาร ถึง 44,797 คน ก็อาจทำให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับได้ ซึ่งจะทำให้กองทัพได้คนที่มีใจรักและมีคุณภาพมาเป็นทหารอาชีพจริงๆ ย่อมดีกว่าได้คนที่ไม่สมัครใจมาทำงาน

‘ผู้ตรวจการกองทัพ’ ตรวจสอบมุมมืดสิทธิทหาร

สำหรับประเด็น ‘คณะกรรมการสอดส่องความเป็นอยู่ของทหารเกณฑ์และกำลังพลทั้งหลาย’ ที่ ร.ท.หญิงสุณิสา เสนอนั้น ในต่างประเทศมีกลไกที่เรียกว่า ‘ผู้ตรวจการกองทัพ’ ซึ่งศูนย์สำหรับการควบคุมกองทัพอย่างเป็นประชาธิปไตยแห่งเจนีวา หรือ Geneva Centre for Democratic Control of Armed Forces (DCAF) หน่วยงานระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดยสวิตเซอร์แลนด์ มีหน้าที่ในการสนับสนุน เสริมสร้างธรรมาภิบาลและการปฏิรูปในภาคความมั่นคง (Security Sector Governance - SSG and Security Sector Reform - SSR) ระบุว่า ผู้ตรวจการกองทัพ เป็นกลไกอิสระจากโครงสร้างการบังคับบัญชาของกองทัพ มีหน้าที่ตรวจสอบภาคความมั่นคงว่าดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ตั้งคำถามกับพฤติกรรมที่เป็นการล่วงละเมิด ไม่เหมาะสม และข้อบกพร่องในทางการดำเนินงานในกองทัพ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการกองทัพไม่มีหน้าที่ในการบังคับใช้หรือตัดสินใจนโยบายกลาโหม แต่มีหน้าที่ในการแก้ไขและสนับสนุนให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมในภาคความมั่นคง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ผู้ตรวจการกองทัพ: ตรวจสอบมุมมืดสิทธิทหาร โมเดลต่างชาติและเงื่อนไขของไทย

(เรียบเรียงบางส่วนจาก: มติชนออนไลน์1 , มติชนออนไลน์2)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท