Skip to main content
sharethis

ช่วงถาม-ตอบหลังบรรยายพิเศษจาก ศ.แลรี่ ไดมอนด์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ชื่อดังกลายเป็นที่น่าสนใจ เมื่อคนจากพรรค/กลุ่มการเมืองต่างถามถึงวิธีแก้ไขวงจรอุบาทว์ในประชาธิปไตยไทย ศาสตราจารย์ชื่อดังเสนอ ต้องตกลงเรื่องบทบาทของสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กลุ่มอำนาจทางการเมือง สถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบบ 'ความมั่นคงร่วมกัน'

ศ.แลรี่ ไดมอนด์

ความบันเทิงทางการเมืองจากงานบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เราจะรับมือกับวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยโลกได้อย่างไร” บรรยายโดย ศ.แลรี่ ไดมอนด์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันฮูเวอร์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ที่สถาบันพระปกเกล้าเมื่อ 22 ส.ค. ที่ผ่านมายังมีอีกก๊อกเมื่อหลังการบรรยายจบลง เมื่อผู้ฟังบรรยายที่มาจากพรรค/กลุ่มการเมืองผู้มานั่งฟังต่างถามคำถามในประเด็นประชาธิปไตยของไทยที่เปิด-ปิดเป็นสวิทช์ไฟ

แลรี่ ไดมอนด์: ประชาธิปไตยโลกที่ถดถอย กับบันไดเผด็จการ 12 ขั้น 

วิชิตร ดิษฐประสพ หัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า ถามว่า มีความรู้สึกอย่างไรกับประชาธิปไตยไทย และอีกข้อคือ ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยที่บริหารโดยพลเรือน แล้วมีการยึดอำนาจวนเวียนอย่างนี้จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

วันตระการ ดวงตาเจริญวาณิช พรรคประชาธิปไตยใหม่ ถามว่า วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับประชาธิปไตยไทยคืออะไร

แลรี่ วิธีจะหลุดวงจรอุบาทว์ระหว่างประชาธิปไตยกับรัฐประหารที่สลับไปมาคือพรรคการเมืองจะต้องยอมรับกับประชาธิปไตย ถ้ามีพรรคการเมืองที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง ประชาธิปไตยก็มีความเสี่ยงที่จะเจอกับการต่อสู้กันบนท้องถนน เจอภาวะที่คนไม่มีความอดทนอดกลั้นมากขึ้น เจอการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น พรรคการเมืองนั้นก็มีแนวโน้มที่จะจับมือกับตัวแสดงที่อยากขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

กฎขั้นพื้นฐานของการมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งนั้นถูกพูดถึงในงานเขียนมาเกือบห้าสิบปีแล้ว และประเทศไทยก็ไม่เคยสมาทานเข้ามาซึมซับ คือ โรเบิร์ต ดอล นักรัฐศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยเยลล์กล่าวว่า ประชาธิปไตยจะรอดได้นั้น ต้องการระบบที่เรียกว่าความมั่นคงร่วม (Mutual Security) ระหว่างกลุ่มอำนาจทางการเมือง แต่ละฝ่ายต้องตระหนักถึงผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่ละเมิด ต้องมีฉันทามติในกติกาประชาธิปไตยและเขตแดนทางการเมืองอย่างหนึ่งที่จะไม่มีใครล่วงล้ำออกไปข้างนอก ต้องมีความมั่นใจร่วมกันว่าถ้าฝ่ายตรงข้ามได้อำนาจการปกครอง อีกฝ่ายจะไม่ทำทุกอย่างเพื่อกำจัดพวกเขาออกไป หรือจะละเมิดผลประโยชน์ทางการเมืองพื้นฐาน จะต้องมีฉันทามติในเรื่องใหญ่ๆ เช่น ระเบียบการเมือง บทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ในระเบียบการเมือง บทบาทของกองทัพที่ทำได้ และทำไม่ได้ในระเบียบการเมือง

เมื่อฉันทามตินั้นมีแล้ว พรรคการเมืองและชนชั้นนำทางการเมืองจะต้องตระหนักถึงฉันทามติเหล่านั้นเป็นสรณะ เช่น ฉันไม่ชอบสิ่งที่อีกฝ่ายทำ ไม่ชอบการเป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้าเราละเมิดฉันทามติแล้วการเมืองก็จะกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ ประเทศกลับไปที่เก่า เศรษฐกิจไม่เติบโต และประเทศไทจะยถูกมองจากประชาคมโลกอย่างเย้ยหยัน ดังนั้น ถ้าอยากเห็นการพัฒนา ความก้าวหน้า ความเข้มแข็ง หรืออยากเห็นไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียนก็ต้องออกจากวังวนการรัฐประหาร วังวนประชาธิปไตยและเผด็จการ ซึ่งทางเดียวที่จะให้อำนาจการเมืองยอมรับกติการประชาธิปไตย จะต้องให้พวกเขาทำความเข้าใจกันเพื่อสร้างระบบความมั่นคงร่วมกัน คุยกันว่าขีดจำกัดของฝ่ายกุมอำนาจและฝ่ายค้านไปได้ถึงไหน และเราจะเคารพซึ่งกันและกันตราบใดที่พวกเรายังเคารพกติกาที่มีร่วมกัน และวาทกรรมทางการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับ ส่วนตัวไม่คิดว่าไทยจะออกจากวังวนนี้ได้ถ้าไม่มีความมั่นคงร่วมกัน

แลรี่ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ทำให้มีองค์กรอิสระที่เข้มแข็ง ที่ไม่ว่าใครขึ้นมามีอำนาจก็ไม่สามารถกุมอำนาจเหนือได้ แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ดังนั้นต้องมีศรัทธากับองค์กรเหล่านั้นมากกว่าผลประโยชน์ของฝักฝ่ายของตัวเอง ทั้งนี้ ประเทศส่วนมากไม่ได้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างราบรื่น แต่สิ่งที่แตกต่างคือนักการเมืองของเขาเรียนรู้ความผิดพลาด เราเรียกสิ่งนั้นว่าการเรียนรู้ทางการเมือง เวลาที่สถานการณ์ย่ำแย่ มีคนทำผิดพลาดครั้งใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพื้นที่ มีความหวังให้พวกเขาเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

เพชรชมพู กิจบูรณะ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ถามคำถามเรื่องข่าวปลอม บ่อยครั้งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์พูดถึงสื่อในฐานะศัตรูประชาชน และในการทำประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิท) ก็มีการปล่อยข้อมูลเท็จออกมาให้คนเข้าใจผิด จึงเป็นหลักฐานที่ว่าไม่สามารถรับเอาปัจจัยต่างๆ จากโลกตะวันตกมาได้ทั้งหมดอีกต่อไป แล้วไทยในฐานะประเทศที่ประชาธิปไตยกำลังพัฒนาจะสร้างเสริมประชาธิปไตยให้แข็งแรงอย่างไร
แลรี่ ทุกคนตอนนี้อยู่ในยุคสื่อสมัยใหม่ ข้อมูลลวง และที่ต้องทำก็คือต้องท้าทาย ตอบโต้ข่าวปลอมอย่างรวดเร็ว แต่พอข้อมูลเข้าไปในอินเทอร์เน็ตแล้วก็ยากที่จะเอาออก และคนที่รับสารก็มีที่เชื่อข้อมูลชุดนั้น ที่สหรัฐฯ มีความตระหนักถึงการสอนด้านพลเมืองประชาธิปไตยกับพลเมืองตั้งแต่อายุยังน้อย โดยสอนถึงวิธีใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ต้องวิพากษ์ ต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นบนอินเทอร์เน็ต และเมื่อมีข้ออ้างที่ดูเกินจริง ก็ต้องหาเทคนิคที่จะถอยห่างออกจากข้อมูลนั้นแล้วค้นหาความจริง จึงขอให้ภาคประชาสังคม และสถาบันต่างๆ อย่างสถาบันพระปกเกล้าร่วมมือกันจัดทำการศึกษาให้คนรุ่นใหม่รู้ทันอันตรายของข้อมูลลวงบนโซเชียลมีเดีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net