Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ในวาระครบรอบ 50 ปี ของหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัคร ขอประมวลเรื่องราวของหลักสูตรซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี 2512 โดยอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไว้ดังนี้

1. หลักสูตรนี้มีอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนมาตลอด มีการกล่าวหาว่า อ.ป๋วย ก่อตั้งหลักสูตรนี้เพื่อให้บัณฑิตอาสาสมัครไปเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ คุณสมัคร สุทรเวช อภิปรายในสภาฯขอตัดงบประมาณสนับสนุนลงทั้งหมด ปี 2519 บัณฑิตอาสาสมัครถูกติดตาม เชิญตัวไปสอบสวนจากฝ่ายความมั่นคง จนต้องเรียกตัวกลับจากการปฏิบัติงานสนามก่อนครบกำหนด ขณะที่ 10 กว่าปีที่ผ่านมามหาวิยาลัยตั้งคำถามถึงหลักสูตรเป็นระยะว่า ใช้งบประมาณผลิตบัณฑิตอาสาสมัครต่อหัวสูงถึง 8 หมื่นกว่าบาท ผลผลิตที่ได้มีอะไรบ้าง จำนวนบัณฑิต ผลงานด้านการพัฒนา การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ภายหลังจบหลักสูตรไปแล้ว

2. บัณฑิตอาสาสมัครในอดีต เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านเห็นความไม่เป็นธรรม การเอารัดเอาเปรียบ การคอรัปชั่นของผู้นำหมู่บ้าน ก็มักจะไปร่วมกับชาวบ้านต่อต้าน เคลื่อนไหว เรียกร้องต่อหน่วยงานเพื่อบรรเทาขจัดปัญหาดังกล่าว จนต้องกำชับ ปราม ไม่ให้บัณฑิตอาสาสมัครเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเข้าไปเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ทั้งอาจารย์ป๋วยต้องประกาศว่าโครงการนี้ให้เป็นเรื่องของการศึกษาเพียงอย่างเดียว ส่วนการพัฒนาชนบทเป็นผลที่ตามมา แต่ปัจจุบันบัณฑิตอาสาสมัครเปลี่ยนไปมาก ไม่ได้หัวรุนแรง ร้อนวิชา หรือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหมือนในอดีต จนบางครั้งเข้าไปศึกษาอย่างเดียว ไม่ได้สร้างผลงานการพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ทำให้ต้องปรับหลักสูตรให้บัณฑิตอาสาสมัครทุกคน ต้องริเริ่มและดำเนินโครงการพัฒนาขึ้นด้วยตนเองในหมู่บ้านที่เข้าไปอยู่

3. เมื่อมหาลัยตั้งคำถามถึงจำนวนบัณฑิตอาสาสมัคร โดยไม่ให้งบประมาณเพิ่มเติม ก็หมายถึงว่า การต้องจำกัดงบประมาณเพื่อให้นำจัดการศึกษาให้ได้ บอ.เพิ่มขึ้น มีการเสนอว่าทำให้หลักสูตรสั้นลง ตัดการไปเยี่ยมของนักวิชาการอาจารย์ที่ปรึกษา ไปจนถึงการส่งบัณฑิตอาสาสมัครเข้าหมู่บ้านจาก 7 เดือน เป็น 2 อาทิตย์ ตัดเบี้ยเลี้ยงปฏิบัติงานสนาม เป็นต้น หรือการส่งบัณฑิตอาสาสมัครไปอยู่กับหน่วยงานในลักษณะการฝึกงานพัฒนา มากกว่าจะไปศึกษาเรียนรู้ และใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านในหมู่บ้าน แต่ทั้งหมดของข้อเสนอดังกล่าวล้วนทำให้หลักสูตรนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ภายใต้ปรัชญาของการจัดการศึกษาในแบบที่อาจารย์ป๋วยวางไว้ได้ เพราะจะกลายเป็นหลักสูตรฝึกงาน ทดลองใช้ชีวิต หรืออาสาสมัครแบบฉาบฉวย ที่มีกันอยู่เกลื่อนในสังคม

4. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร พยายามที่จะหางบประมาณมาเป็นทุนการศึกษาเพื่อให้รับบัณฑิตอาสาสมัครได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้จำนวนบัณฑิตอาสาสมัครเพิ่มขึ้นจากปีละ 25-30 คนได้ เพราะหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัครมีเงื่อนไขและลักษณะเฉพาะมากมาย

i. เมื่อรับเข้ามาจำนวนมาก เรามักไม่ได้คนที่เหมาะสมที่จะเรียน หลายคนไม่ได้ทุ่มเท เสียสละ หรือยินดีจะเสียเวลา เสียกำลังกาย กำลังใจ ไปกับหลักสูตร ก็มักจะออกกลางคันในขั้นตอนต่างๆ ที่ค่อนข้างจะยากลำบาก

ii. ครั้นจะปรับให้ง่ายขึ้น เราก็จะไม่ได้คนที่มีสำนึก เข้าใจ และสามารถทำงานร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่นที่แตกต่างทางวัฒนธรรมได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงสำนึกของคนย่อมต้องใช้เวลาและสถานการณ์ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ เมื่อรถขนสินค้าการเกษตรพาคนป่วยไปโรงพยาบาลฉุกเฉินแล้วถูกตำรวจเรียกไถเงินระหว่างเดินทางที่แสนจะเร่งรีบทุกลักทุเลโดยมีบัณฑิตอาสาสมัครนั่งอยุ่บนรถคันนั้นด้วย หรือการที่ บอ. ถูกปลัดอำเภอเรียกไปต่อว่า "ไปอยู่กับชาวบ้านก็อย่าไปเชื่อพวกชาวบ้านมากนัก พวกนี้โง่ เห็นแก่เงิน และชอบให้ร้ายทางราชการ" เหล่านี้มันย่อมซาบซึ้งเห็นถึงความเจ็บปวดของชาวบ้านมากกว่าการถูกสอนในห้องเรียน

iii. หลักสูตรอ่อนไหวกับสถานการณ์ทางสังคมมาก เหตุการณ์สำคัญ นโยบายของรัฐบาล มีผลต่อจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนในหลักสูตรอย่างมีนัยสำคัญ เช่น กรณีรัฐบาลประกาศให้เงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ทำให้ผู้สมัคร บอ. ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด หรือกรณีที่มีเหตุการณ์ทางการเมือง โครงการจ้างงานขนาดใหญ่ในรูปของอาสาสมัครของรัฐบาล หรือกระแสความนิยมจิตอาสาทำให้เกิดแพ็กเกตจิตอาสาท่องเที่ยวระยะสั้นๆ มากมาย รวมทั้งแทรกเข้าไปในวิชาเรียนทุกระดับ และแม้แต่การเข้าเรียนปริญญาโทที่ง่าย สะดวกสบายในการสอบเข้าและการเรียนจบ เหล่านี้ล้วนผลต่อการตัดสินใจเข้ามาเรียนในหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัครทั้งสิ้น

5. เดิมเราเชื่อกันว่าคนมาเรียนน้อยเพราะเราอ่อนประชาสัมพันธ์ บอ. ตลอดจนบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตร ล้วนพูดตรงกัน แต่เมื่อเราโหมประชาสัมพันธ์ ทั้งช่องทาง เนื้อหา ความดึงดูดใจของสื่อที่ใช้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีผู้มาสมัครจำนวนมาก แต่ก็ตัดสินใจไม่เรียน ในขั้นตอนการสอบข้อเขียน สัมภาษณ์ ช่วงเตรียมความพร้อม และแม้แต่ช่วงเรียนภาควิชาการ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น ได้งาน ห่างบ้านห่างคนรักไม่ได้ เหงา เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เรียนไม่ไหว สอบได้ปริญญาโท ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ แต่โดยรวมๆ แล้ว คนที่มาเรียนในหลักสูตรนี้ต้องมาด้วยใจพร้อมที่จะเสียสละบางด้านของความเคยชิน ความสะดวกสบายในชีวิต เงินเดือนที่เคยได้หรือกำลังจะได้ นอกเหนือจากการถูกคาดหวังว่าจะต้องทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วย เบี้ยเลี้ยงประจำเดือนแม้เพียงเล็กน้อยจึงมีความหมายกับบัณฑิตอาสาสมัคร 

6. ในอีกด้านหนึ่ง คนในแวดวงการพัฒนากลับรู้จักบัณฑิตอาสาสมัคร และยอมรับทักษะความสามารถการทำงานกับชาวบ้าน กับประชาชน บัณฑิตอาสาสมัครเมื่อสมัครใจจะทำงานด้านการพัฒนา ทำงานในพื้นที่สนาม กับองค์กรการพัฒนาทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม ไม่เคยได้รับการปฏิเสธ ชาวบ้านในหมู่บ้านที่เคยมีบัณฑิตอาสาสมัครไปอาศัยอยู่ด้วย จะไม่เคยลืมเลือนว่าครั้งหนึ่งเคยมีบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรศาสตร์ เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน แม้ผ่านจากรุ่นตายาย สู่รุ่นลูกหลานที่เติบโตขึ้น ก็ยังคงจดจำบัณฑิตอาสาสมัคร นักศึกษาจากธรรมศาสตร์ บอ.มักจะเป็นแบบอย่างให้เยาวชนในหมู่บ้านเดินตาม พวกเขาปรากฏเป็นข่าวในพระราชสำนัก ในการเข้าพบผู้แทนพระองค์ทุกปี พวกเขาปรากฏบนหน้าสื่อในการทำงานเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้าน แม้ไม่ได้ประกาศตัวว่าเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร แต่คนที่ทำงานร่วมด้วยย่อมรู้จัก ด้วยเหตุเหล่านี้ บัณฑิตอาสาสมัคร จึงไม่ได้เป็นที่รู้จักในแวดวง ธุรกิจ การค้า การลงทุน และยิ่งไม่ต้องการเป็นที่รู้จักกับบริษัทขนาดใหญ่อย่าง กฟผ. ปตท. แต่เราเป็นที่รู้จักในแวดวงชาวบ้าน นักพัฒนา และกลุ่มคนทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะชาวบ้านในชนบท

7. แต่ในยุคที่การศึกษากลายเป็นธุรกิจ การศึกษาถูกทำให้กลายเป็นปัจจัยการผลิตในเสรีนิยมใหม่ หลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัครถูกมองว่า ใช้ทุนการผลิตสูงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่มหาวิทยาลัยได้รับ ผู้ที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้สามารถใช้ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ที่ได้รับไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเงินให้กับตนเองได้มากน้อยเพียงใด ถ้าได้มากก็ควรจ่ายมากเป็นการลงทุน หากใช้หลักการคำนวณเหล่านี้ย่อมตกอยู่ในภาวะการขาดทุนทางบัญชี เพราะผลผลิตที่เกิดขึ้นจากหลักสูตรไม่ได้มุ่งตอบเรื่องการเงิน

8. ผลิตผลของหลักสูตรต้องการตอบถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกันทางวัฒนธรรม บ่มเพาะให้ผู้เรียนเกิดสำนึกความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ สร้างคนให้อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม ยืนอยู่ข้างคนที่เสียเปรียบไร้พลังอำนาจในสังคม 50 ปีที่ผ่านมากับบทบาทการทำงาน ของบัณฑิตอาสาสมัครในสังคมไทย การได้รับยอมรับในแวดวงคนทำงานเพื่อสังคม ย่อมเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ของความสำเร็จของหลักสูตรได้เป็นอย่างดี การเรียนรู้กับชุมชนกับชาวบ้าน คือฐานความรู้สำคัญสำหรับอาจารย์ นักวิชาการ ที่จะต้องนำมาสังเคราะห์สร้างองค์ความรู้จากข้างล่างเพื่อการทำงานพัฒนาที่มีชุมชน ท้องถิ่นเป็นฐาน ไม่ใช่คิดเอาจากข้างบน จากตำราตะวันตกดังเช่นที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน

9. วันนี้หลักสูตรยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์การจัดการเรียนการสอนดังกล่าว ทั้งการเรียนภาควิชาการ 3 เดือน เข้าไปอยู่อาศัย กินนอนกับชาวบ้าน 7 เดือน และเขียนรายงานวิจัยหรือรายงานสร้างสรรค์ 2 เดือน มุ่งสร้างคนที่จะไปยืนอยู่เคียงข้างคนที่ขาดพลังอำนาจ ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม จึงเป็นเรื่องเสียเวลาที่จะเราจะไปวิ่งตามหรือพยายามเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เพื่อไปตอบโจทย์ให้กับผู้ที่มีวิธีคิด มีอุดมการณ์ที่อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่อาจารย์ป๋วย พยายามสร้างให้เกิดในสังคมไทย การที่มีความพยายามมาตลอดหลายสิบปี แต่ไม่สามารถจะยุบหลักสูตรได้ ก็เพราะเกียรติประวัติ และการดำรงอยู่ในแนวทางเดิมที่อาจารย์ป๋วยได้วางไว้ออย่างมั่นคง สิ่งที่มหาวิทยาลัย และผู้มีอำนาจทำได้ก็คือ การตัดการสนับสนุนในทุกรูปแบบ เพื่อให้หลักสูตรปิดตัวเองไปในที่สุด

10. คำถามจึงเกิดขึ้นว่า “มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่ให้การศึกษาอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา” สร้างคนให้รัก และรับใช้ประชาชน หรือจะเลือกทำธุรกิจการศึกษา ทำหลักสูตรที่เอาใจลูกค้า และผลิตคนเพื่อไปรับใช้ เป็นตัวแทนกลุ่มทุนเพื่อไปเอารัดเอาเปรียบประชาชน หรือจะทำทั้งสองอย่างพร้อมกันไป ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์การมองไปในอนาคตถึงสังคมไทย มหาวิทยาลัยไทย และคนรุ่นใหม่ที่จะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net