Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

บทนำ

 
บทความในส่วนนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นที่มีความสืบเนื่องจากบทความเรื่อง เสรีนิยมใหม่ในระบบโรงเรียนของรัฐ: จุดเริ่มต้นของวาทกรรมการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นบทความในส่วนที่สอง ประเด็นนำเสนอในบทความนี้คือ วาทกรรมการศึกษาอิงมาตรฐาน (Standard-Based Education) กล่าวคือ การศึกษาอิงมาตรฐานได้กลายมาเป็นวาทกรรมทางการศึกษาที่สามารถครองอำนาจนำในพื้นที่การศึกษาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 21 โดยผู้เขียนมุ่งสำรวจผลกระทบของวาทกรรมการศึกษาอิงมาตรฐานในฐานะที่เป็นภาคปฏิบัติการจริงของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ทางการศึกษาผ่านประเด็นดังนี้ 1) การศึกษาในระบบโรงเรียนถูกกำกับติดตามและควบคุมอย่างไร 2) ผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียนและบริบทโรงเรียนระดับต่างๆ ถูกกำกับด้วยวิธีการประเมินอย่างไร และความรู้ความคิดประเภทใด ในหลักสูตรและการสอนที่ได้รับการพิจารณาว่ามีคุณค่า โดยผู้เขียนต้องการเสนอข้อถกเถียงว่าขณะที่นักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมเสนอให้รัฐเข้าไปแทรกแซงในกิจการของปัจเจกบุคคลให้น้อยที่สุด แต่สภาพที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ทุกวันนี้รัฐเข้าไปแทรกแซงในระดับชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น การจับจ้องอย่างใกล้ชิดจากระยะไกลโดยการใช้ความเชี่ยวชาญผ่านวิธีการเชิงเทคนิค เช่น การตรวจสอบและการทำบัญชีรายงานต่างๆ ในเรื่องนี้ ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำทางการศึกษา (ซึ่งมักจะเป็นผู้นำทางการเมืองของรัฐและองค์กรธุรกิจรายใหญ่) สะท้อนความต้องการการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ดังปรากฏในการกำหนดมาตรฐาน การทดสอบ และความรับผิดชอบต่อสาธารณะชน โดยเขตพื้นที่การศึกษาระดับมลรัฐทั้ง 50 แห่งและเขตปกครองพิเศษ 1 แห่ง ได้สร้างมาตรฐานการเรียนรู้ตามรายวิชาต่างๆ และมลรัฐส่วนใหญ่ได้นำแบบทดสอบอิงมาตรฐานไปใช้ทดสอบนักเรียนเพื่อแสดงว่าผู้เรียนต้องสอบผ่านเพื่อให้ได้เลื่อนชั้นหรือเลื่อนระดับการศึกษาจากมัธยมศึกษาไปสู่ระดับอุดมศึกษา การบังคับใช้มาตรฐานและแบบทดสอบอิงมาตรฐานทำให้เขตพื้นที่การศึกษาระดับมลรัฐและผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาสามารถตรวจตรา ติดตาม และประเมินได้ว่าทั้งครูและนักเรียนมีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ดังนั้นผลจากการที่ครูพยายามยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้น ครูจึงถูกบีบบังคับ(ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม) ให้จัดการเรียนการสอนสอนเพื่อการทดสอบโดยใช้แบบทดสอบอิงมาตรฐาน (ในสังคมไทยเราจะคุ้นเคยกับคำว่า การสอนเพื่อสอบ) การกระทำดังกล่าวได้ลดทอนคุณภาพและความลึกซึ้งของกระบวนการพัฒนาหลักสูตร ศาสตร์การสอน วิธีการเรียนรู้ และลดระดับความเป็นครูมืออาชีพหรือครูผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์การสอนให้เป็นเพียงช่างเทคนิคทางการสอนหรือช่างเทคนิคทางการศึกษา (Hursh & Apple, 1983; Hursh & Martina, 2003)

 

วาทกรรมการศึกษาอิงมาตรฐาน: การครองอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ในพื้นที่ทางการศึกษาของรัฐ
 

จากแนวคิดที่ว่าการศึกษาคือกลไกสำคัญที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แนวคิดดังกล่าวนี้เป็นที่มาของการศึกษาตามมาตรฐานหรือการศึกษาอิงมาตรฐาน ในสหรัฐอเมริกา นักการศึกษาส่วนใหญ่จะถือเอารายงานเรื่อง A Nation at Risk ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความเป็นเลิศทางการศึกษา (National Commission on Excellence in Education) เมื่อ ค.ศ. 1983 เป็นจุดเริ่มต้นการให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานการศึกษาของประเทศ (Marzano & Kendall, 1997) รายงานดังกล่าวนำไปสู่การประชุมสุดยอดว่าด้วยเรื่องการศึกษาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1989 สมัยที่ George H.W. Bush เป็นประธานาธิบดีซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาโดยกำหนดเป้าหมายการศึกษาชาติ 6 ข้อ ปรากฏอยู่ในรายงาน The National Education Goals Report: Building a Nation of Learners (ค.ศ. 1991-1999) ในปี ค.ศ. 1991 ที่ได้ระบุเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาสำหรับปี ค.ศ. 2000 โดยพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่นักเรียนควรรู้และมีความสามารถในการเรียนวิชาหลักต่างๆ 11 สาขาวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน การเขียน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศิลปะ ดนตรี พลศึกษา และภาษาต่างประเทศ (นาตยา ปิลันธนานนท์ และคณะ, 2542) ความเคลื่อนไหวในการปฏิรูปการศึกษาของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง โดยในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1994 รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายการศึกษาชาติสำหรับ ปี ค.ศ. 2000 หรือที่เรียกว่า Goals 2000: Educate America Act ถือได้ว่าเป็นการประกาศจุดยืนทางการศึกษาครั้งล่าสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1994 ประธานาธิบดี William J. Clinton (Bill Clinton) ได้ผ่านกฎหมายอีกฉบับหนึ่งว่าด้วยการปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา (Improving America’s Schools Act – IASA) พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณให้แก่รัฐบาลประจำมลรัฐ เขตพื้นที่การศึกษา และท้องถิ่นต่างๆ ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียน นับจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการประเมินความก้าวหน้าและมีการเรียกร้องให้มีการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการศึกษา ดังที่ปรากฏในเอกสาร Call-to-Action for American Education in the 21st Century ของประธานาธิบดี Clinton ซึ่งเป็นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ปี ค.ศ. 1998-2002 ของกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติ (Department of Education) (ปองสิน วิเศษศิริ, 2550)

จากการปฏิรูปการศึกษาที่รัฐบาลได้ดำเนินการมามีผลทำให้มลรัฐต่างๆและองค์กรสมาคมวิชาชีพต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนต่างพัฒนาความเป็นมาตรฐาน (Standardization) ในวิชาชีพของตนกันอย่างขนานใหญ่ มีการพัฒนาหลักสูตรรวมไปถึงการออกแบบการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล และการฝึกหัดครูให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับมาตรฐานที่กำหนดไว้เพื่อไปสู่ Goals 2000 ร่วมกัน โดยกำหนดว่าระบบการศึกษาอิงมาตรฐานจะต้องเสร็จสมบูรณ์ภายในปี ค.ศ. 1999 ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้กลุ่มผลประโยชน์ร่วมที่มาจากภาคเอกชนและภาครัฐสามารถร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งและมีบทบาทนำในเชิงเศรษฐกิจการเมืองโดยการเสนอแนะเชิงนโยบายและช่วยเหลือการบริหารนโยบายทางการศึกษาของรัฐ โดยรัฐสนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักธุรกิจและกลุ่มผลประโยชน์ผ่านสถาบันดังกล่าว พร้อมทั้งทำการควบคุมอย่างใกล้ชิดจากระยะไกลไปด้วย ดังกรณีต่อไปนี้

 

 
 

ภาพ นโยบายการปฏิรูปการศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มต้นจาก A Nation at Risk (ค.ศ. 1983) ในสมัยประธานาธิบดี Ronald Reagan จนมาถึง Goals 2000: Educate America Act (ค.ศ. 1994) ในสมัยประธานาธิบดี William J. Clinton

ค.ศ. 1992 มีการทดสอบทักษะการอ่านในระดับนานาชาติ (International Study of Reading Skills) ที่จัดโดยสมาคมการวัดและประเมินผลการศึกษานานาชาติ (the International Association for the Evaluation of Educational Achievement) พบว่าเมื่อเปรียบเทียบการอ่านของเด็กอเมริกัน อายุ 9 และ 14 ปี กับเด็กอายุเท่ากันในประเทศอื่นที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันพบว่า เด็กอเมริกันสามารถทำคะแนนได้ดีกว่า แต่เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายด้านแล้วพบว่า เด็กอเมริกันมีความเข้าใจข้อมูลง่ายๆ ของแต่ละย่อหน้า แต่กลับมีปัญหาในการทำความเข้าใจเมื่อต้องอ่านบทความหรือเนื้อหาทั้งเรื่องซึ่งมีความซับซ้อนกว่า ในปี ค.ศ. 1995 ภายใต้การกำกับดูแลของเลขาธิการการศึกษาสหรัฐอเมริกา Marshall Smith ได้เรียกร้องให้โรงเรียนมีหน้าที่สนองตอบต่อความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามาไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างประเทศและบริบทของโลกแห่งการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ในปีเดียวกันนี้ได้มีการทดสอบด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (the Third International Math and Science Study) ต่อมาในปี ค.ศ. 1996 ผู้ว่าการประจำมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มผู้นำทางการศึกษาระดับชาติ ซึ่งมีเจ้าภาพหลักคือบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์และให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศรายใหญ่ของโลกที่ชื่อว่า International Business Machines (IBM) ในการนี้ ประธานคณะกรรมการบริหารสูงสุดของ IBM ที่ชื่อ Louis Gerstner ได้กำหนดทิศทางของร่างเอกสารเชิงปฏิบัติการมีใจความสำคัญว่า “ พวกเราเชื่อว่าความพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานทางวิชาการที่ชัดเจนร่วมกันและใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนในเขตพื้นที่การศึกษาหรือมลรัฐ ถือเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญยิ่งในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น พวกเราเชื่อมั่นในความสามารถของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถ้านำไปประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาดและมีการบูรณาการเข้าไปในหลักสูตรและการสอนได้อย่างเหมาะสมก็จะมีผลต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนและยังเป็นการยืนยันถึงความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดแรงงาน ซึ่งองค์กรของรัฐและองค์การมหาชนที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาคเอกชน เช่น สำนักงานเพื่อการศึกษาและเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Center for Education and the Economy) ได้ให้ความสำคัญต่อวาระการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นการพัฒนาความรู้ ทักษะ และเจตคติของผู้เรียนให้เหมาะสมกับการเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพสูงทั้งสิ้น” (Patterson, 2015; Ravitch, 2013)

 อนึ่ง การทดสอบด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (the Third International Math and Science Study) ในปี ค.ศ. 1995 นั้นปรากฏผลชัดเจนใน 3 ปีถัดมานั่นคือ ปี ค.ศ. 1998 ผลจากการศึกษาพบว่า เด็กอเมริกันมีทักษะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ถดถอยลงเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับระดับการศึกษาที่สูงขึ้น กล่าวคือจากผลที่นักเรียนชั้นปีที่ 4 (4th graders) ได้คะแนนสูงสุดหรือเกือบสูงสุดตามเกณฑ์ ส่วนนักเรียนชั้นปีที่ 8 (8th graders) ได้คะแนนกลางๆ และนักเรียนชั้นปีที่ 12 (12th graders) ได้คะแนนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับในระดับนานาชาติ (International Rankings) และในปี ค.ศ. 1999 บริษัท IBM รับเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มผู้นำทางการศึกษาระดับชาติเป็นครั้งที่ 2 การประชุมในครั้งนี้ได้เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปโฉมของโรงเรียนให้สอดคล้องกับความคาดหวังของภาคธุรกิจเอกชน กล่าวคือที่ประชุมมีมติว่ามลรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาต้องนำมาตรฐานการศึกษาที่ถูกกำกับโดยแบบทดสอบอิงมาตรฐานและต้องจัดตั้งระบบการให้รางวัลและผลตอบแทนสำหรับครู นักเรียน และโรงเรียนโดยใช้แบบทดสอบอิงมาตรฐานเป็นเกณฑ์ ในแนวทางเดียวกันนั้น ภาคีด้านธุรกิจระดับชาติ (the National Alliance of Business) ได้กำหนดวาระแห่งชาติที่ว่า มาตรฐานก็คือธุรกิจ (Standards mean business) โดยนัยนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของการกำหนดมาตรฐาน การประเมินผล และหลักความรับผิดชอบต่อสาธารณะชน กล่าวคือวาระการปฏิรูปการศึกษาโดยมีมาตรฐานกำกับควรจะครอบคลุมทั้งมาตรฐานด้านเนื้อหาวิชาและมาตรฐานการปฏิบัติ กระบวนการจัดการศึกษาในโรงเรียนจะต้องมีความสอดคล้องสัมพันธ์ (alignment) กับมาตรฐาน โดยการประเมินผลจะเน้นประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานความเป็นเลิศระดับสากล และเน้นความโปร่งใสด้านข้อมูลสารสนเทศของนักเรียน และผลการปฏิบัติงานของโรงเรียนตามหลักการตรวจสอบได้และหลักความรับผิดชอบต่อสาธารณะชน (Hursh, 2001)      

ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ มลรัฐต่างๆ ได้พยายามพัฒนามาตรฐานด้านเนื้อหาวิชาและทำให้มาตรฐานเหล่านั้นมีความสอดคล้องสัมพันธ์กับแบบทดสอบอิงมาตรฐานระดับมลรัฐ ซึ่งในความเป็นจริงแบบทดสอบดังกล่าวแทบจะไม่ได้ทดสอบนักเรียนตามมาตรฐาน (ขั้นต่ำ) ที่กำหนดเลย (Patterson, 2015; Ravitch, 2013) โดยโรงเรียนทุกระดับในมลรัฐต่างๆ ได้นำผลการทดสอบจากแบบทดสอบอิงมาตรฐานมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากการกำหนดว่านักเรียนแต่ละคนสอบต้องสอบได้คะแนนตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้จึงจะสามารถเลื่อนชั้นหรือศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ นอกจากนั้นในมลรัฐ Florida และ New York ได้ใช้ผลการทดสอบเพื่อจัดลำดับโรงเรียนและเขตการศึกษาโดยมีเป้าหมายเพื่อให้รางวัลและค่าตอบแทนสำหรับครู นักเรียน และโรงเรียนที่สามารถทำคะแนนการทดสอบได้สูงตามเกณฑ์หรือมากกว่าเกณฑ์ที่ถูกกำหนด ขณะเดียวกันก็ดำเนินการลงโทษครู นักเรียน และโรงเรียนที่ทำคะแนนได้ต่ำด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป และในขณะนี้มลรัฐต่างๆ เกือบทุกมลรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางดังกล่าว โดยการพัฒนามาตรฐานด้านเนื้อหาวิชาและนำแบบทดสอบอิงมาตรฐานมาใช้กำกับติดตามกระบวนการจัดการศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การออกแบบการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลอย่างจริงจัง (Hursh, 2003)

ความเคลื่อนไหวในการปฏิรูปการศึกษาของสหรัฐอเมริกามีผลต่อประเทศอื่นๆ ที่รับแนวคิดดังกล่าวไปดำเนินการในประเทศของตนไม่ว่าจะเป็นแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทยด้วย อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาอิงมาตรฐานกลายเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นกระแสหลักของโลกก็ว่าได้ (นาตยา ปิลันธนานนท์ และคณะ, 2542) ประเทศไทยโดยกรมวิชาการได้ดำริเรื่องการศึกษาอิงมาตรฐานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 และได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อตอบสนองนโยบายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาและขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงแก่คนทุกกลุ่ม โดยให้การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาคนให้มีความสามารถเต็มตามศักยภาพ มีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ มุ่งกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มีส่วนร่วมคิดร่วมทำและพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การกำหนดมาตรฐานการศึกษาชาติ และมีระบบการประเมินผลและประกันคุณภาพการศึกษา

แนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาดังกล่าวนี้ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญและกฎหมายการศึกษาของสหรัฐอเมริกามอบอำนาจให้มลรัฐ เขตพื้นที่การศึกษา และท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้เองให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและบริบททางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจโดยใช้หลักการบริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษาตามแนวคิดการใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management) โดยรัฐบาลกลางได้ให้นโยบายไว้กว้างๆ เช่น การให้ความเท่าเทียมกันทางการศึกษาโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ชนชั้น ภาษา ศาสนา และเพศสภาพ การจัดการศึกษาในลักษณะนี้สอดรับกันไปกับการกระจายอำนาจการปกครอง ซึ่งมลรัฐ เขตพื้นที่การศึกษา และท้องถิ่นมีสิทธิและหน้าที่ในการดูแลท้องถิ่นของตนเองในทุกๆ ด้าน อาจกล่าวได้ว่า วาทกรรมการศึกษาอิงมาตรฐานในฐานะที่เป็นภาคปฏิบัติการจริงของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ทางการศึกษาได้เคลื่อนเข้าสู่สภาวะการครองอำนาจนำในพื้นที่ทางการศึกษาของรัฐในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาไม่น้อยกว่าสามทศวรรษแล้ว

 

บทส่งท้าย


ถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้พยายามปฏิรูปการศึกษาโดยการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้ลงสู่ระดับโรงเรียนในท้องถิ่นอย่างจริงจัง แต่จากรายงานวิจัยทางการศึกษาพบว่านับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา บทบาทและอิทธิพลของคณะกรรมการสถานศึกษาและศึกษาธิการระดับท้องถิ่น (Local Superintendent) กลับลดลง แต่อิทธิพลของรัฐบาลกลาง ศาล สหภาพครู รวมถึงผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาและผู้นำทางการศึกษา (ซึ่งมักจะเป็นผู้นำทางการเมืองของรัฐ องค์กรธุรกิจและมูลนิธิที่สนับสนุนเงินงบประมาณรายใหญ่) กลับมีอิทธิพลมากขึ้น ทั้งนี้เพราะรัฐไม่เชื่อว่าการบริหารงานของท้องถิ่นจะสามารถทุ่มเทเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างเพียงพอใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การกำหนดมาตรฐานการศึกษา 2) การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับวิชาชีพครูและผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษา และ 3) การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนตามมาตรฐาน และนี่เองที่เป็นสาเหตุของการริเริ่มให้มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังในช่วงปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา จึงกล่าวได้ว่า วาทกรรมการปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาคือการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงในระดับชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคลในระบบโรงเรียน หรือเป็นการจับจ้องและควบคุมอย่างใกล้ชิดจากระยะไกลโดยรัฐนั่นเอง (Hursh & Apple, 1983; Hursh & Martina, 2003)

ในบทความตอนต่อไป ผู้เขียนมุ่งวิพากษ์มาตรฐานการศึกษาและรูปแบบการจัดการศึกษาอิงมาตรฐานในฐานะที่เป็นอำนาจการควบคุมโลกชีวิตของปัจเจกบุคคลในระบบโรงเรียนหรือการจับจ้องอย่างใกล้ชิดจากระยะไกลโดยรัฐ

 

รายการอ้างอิง

นาตยา ปิลันธนานนท์ และคณะ. (2542). การศึกษาตามมาตรฐาน: แนวคิดสู่การปฏิบัติ.

        กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด.

ปองสิน วิเศษศิริ. (2550). รายงานการวิจัยเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาของประเทศ

          สหรัฐอเมริกา. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.

Hursh, D. (2001). Neo-liberalism and the Control of Teachers, Students and Learning: The

        Rise of Standards, Standardization and Accountability. Cultural Logic: An Electronic

        Journal of Marxist Theory and Practice, 4(1).

Hursh, D. (2003). Discourse, Power and Resistance in New York: The Rise of Testing and

        Accountability and the Decline of Teacher Professionalism and Local Control.

        Discourse, Power, Resistance: Challenging the Rhetoric of Contemporary Education.

        Stoke on Trent, UK: Trentham Books.

Hursh, D., & Apple, M. W. (1983). The Fiscal Crisis, Politics and Education: A Critical

        Analysis of the Report of the National Commission of Excellence in Education.

        Unpublished Manuscript.

Hursh, D., & Martina, C.A. (2003). Neoliberalism and Schooling in the U.S.: How State and

        Federal Government Education Policies Perpetuate Inequality. Journal for Critical

        Education Policy Studies, 1(2). Retrieved from: http://www.jceps.com.

Marzano, R.J. & Kendall, J.S. (1997). A Comprehensive Guide to Designing Standards-

        Based Districts, Schools and Classrooms. VA.: ASCD.

Patterson, J.A. (2015). 21st Century Learning Initiatives as a Manifestation of Neoliberalism.

        Neoliberalizing Educational Reform: America’s Quest for Profitable Market. Boston,

        MA: Sense Publishers.

Ravitch, D. (2013). Reign of Error: The Hoax of the Privatization Movement and the Danger

        to America’s Public Schools. New York, NY: Random House LLC.

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ออมสิน จตุพร เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net