Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่เวียดนามใน-นอกเครื่องแบบบุกทำร้ายนักกิจกรรมในงานคอนเสิร์ต จับนักกิจกรรมออกมาทำร้ายร่างกาย องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ประณามการใช้ความรุนแรงที่เริ่มมีมากขึ้นในเวียดนาม เรียกร้องให้ต่างชาติช่วยกดดันรัฐบาลยกเลิกพฤติกรรมอันธพาล ย้อนดูวิธีรัฐบาลจัดการคนเห็นต่างที่มีแต่ไม้แข็งและแข็งกว่าซึ่งลามมาถึงไทย

เหงียน ตินหลังถูกทำร้าย (ที่มา: Facebook/ Dương Đại Triều Lâm)

23 ส.ค. 2561 องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์รายงานถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐและคนนอกเครื่องแบบบุกทำร้ายผู้คนในคอนเสิร์ตที่โฮจิมินซิตีเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุได้ทำร้ายนักแสดงบนเวทีและนักกิจกรรมที่อยู่ในกลุ่มคนดูด้วยการทุบตีอย่างรุนแรง พวกเขาเรียกร้องให้เวียดนามสืบสวนการก่อเหตุทำร้ายร่างกายในครั้งนี้อย่างเป็นกลาง โปร่งใส และถี่ถ้วน

ในช่วงเย็นของวันที่ 15 ส.ค. มีคนประมาณ 50 คนรวมถึงเด็กและคนชราเข้าร่วมการแสดงโชว์ดนตรี "ความทรงจำแห่งไซ่ง่อน" (A Memory of Saigon) โดยนักร้องและนักสิทธิมนุษชนชื่อ เหงียนติน ในร้าน 'คาเฟ คาซาโนวา' ที่โฮจิมินซิตี จนกระทั่งเวลาประมาณสามทุ่มก็มีเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยความมั่นคง และคนนอกเครื่องแบบซึ่งส่วนหนึ่งสวมหน้ากากผ่าตัดบุกเข้าไปในร้าน

ผู้บุกรุกบางส่วนถ่ายภาพของงานเอาไว้ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐไปถามผู้จัดงานว่ามีใบอนุญาตจัดงานหรือไม่ เจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งขอตรวจบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมงาน ในขณะที่ผู้เข้าร่วมงานหลายคนเริ่มออกจากงานผู้บุกรุกหลายคนก็จับตัวนักกิจกรรมในกลุ่มคนดูที่ชื่อฟามดวนชางแล้วลากเธอไปที่รถนอกคาเฟ ฟามดวนชางเป็นนักข่าว นักกิจกรรม และบล็อกเกอร์ ที่เขียนเกี่ยวกับหลายเรื่อง มีจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและเรื่องหลักนิติธรรม งานของเธอได้รับการเผยแพร่ทั้งในภาษาเวียดนามและภาษาอังกฤษ

จรินห์หูลอง หัวหน้ากองบรรณาธิการของนิตยสารออนไลน์ Luat khoa Tap chi ที่ฟามดวนชางเป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการระบุในเพจเฟสบุ๊คว่าฟามดวนชางถูกจับไปที่สถานีตำรวจและถูกซ้อมหลายครั้งในช่วงที่มีการสอบสวน นอกจากนี้ตำรวจยังยึดเครื่องคอมพิวเตอร์แล็บท็อป บัตรประชาชน บัตรเอทีเอ็ม และเงินพกติดตัวหลายแสนดองของเธอไว้ด้วย

ฟามดวนชาง (ที่มา: Facebook/Bạn của Đoan Trang)

หลังจากถูกนำไปสอบปากคำ ตำรวจก็นำตัวฟามดวนชางไปทิ้งไว้ที่ถนนมืดๆ และให้เงิน 200,000 ดอง (ราว 280 บาท) เป็นค่าต่อแท็กซีกลับบ้านเอง ทันทีที่ตำรวจออกจากพื้นที่ก็มีกลุ่มชาย 6 คนมากับรถจักรยานยนต์ 3 คันเข้ามาทำร้ายเธอ ใช้หมวกกันน็อกทุบที่หัวเธอ ในเพจเฟสบุ๊คของฟามดวนชางเธอระบุถึงเหตุการณ์ว่า หลังจากที่เธอลุกขึ้นนั่งแล้วเธอก็จับที่แผลของตัวเองเพื่อพยายามให้เลือดไหลช้าลง ตอนนั้นเธอก็เห็นหมวกกันน็อกแตกกระจายอยู่เป็นเศษชิ้นส่วนหลายชิ้นบนข้างถนน

ฟามดวนชางผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นรอยช้ำหลายรอยและมีอาการคลื่นเหียนบวกกับเวียนหัวเดินทางไปให้หมอตรวจที่โรงพยาบาล หมอบอกว่าเธอได้รับบาดเจ็บจากการกระแทกกระเทือน แต่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงก็ไม่หยุดการคุกคามเพียงเท่านั้น พวกเขายังข่มขู่คุกคามและทำร้ายร่างกายเพื่อนของฟามดวนชางที่พยายามเข้าเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาลด้วย

ผู้ที่ถูกทางการทำร้ายร่างกายอีกรายหนึ่งคือเหงียนติน นักร้องที่คาเฟ เขาเล่าให้สื่อฟังว่าเจ้าหน้าที่นำตัวเขาไปที่มุมหนึ่งของห้องแล้วก็เริ่มชกต่อยและเตะเขาอย่างรุนแรงที่มือและเท้า แย่กว่านั้นคือมีการใช้ขวดน้ำฟาดเข้าที่ตาข้างซ้ายของเขา เขามองไม่เห็น เขาใช้มือปิดหน้าตัวเอง การทำร้ายร่างกายเช่นนี้ดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง มีการขอรหัสผ่านเข้าโทรศัพท์มือถือของเขาเมื่อเขาไม่ยอมบอกก็มีการทุบตีทำร้ายหนักขึ้น เจ้าหน้าที่ถามว่าใครเป็นผู้จัดงานคอนเสิร์ทเมื่อเขาบอกว่าไม่รู้ก็มีการจับเขามัดมือไพล่หลังแน่นมากจนเจ็บ มีการนำถุงพลาสติกคลุมหน้าเขาจนทำให้มองไม่เห็นว่าใครเป็นคนทุบตีทำร้ายเขา นอกจากนี้ยังถอดรองเท้าเขาออกแล้วเตะเข้าที่ขาจากนั้นจึงนำตัวเขาไปที่รถ

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยึดเงินของเหงียนติน รวมถึงโทรศัพท์มือถือ เอกสารระบุตัวตน และเอาเขาไปทิ้งที่ไร่ยางพารารกร้างในย่านกู๋จีห่างออกไปจากตัวเมืองโฮจิมินซิตี 60 กม.

เหงียนตินเป็นศิลปินเพลงที่บางครั้งก็แสดงดนตรีในเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เวียดนามใต้ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้ถูกสั่งห้ามภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนาม และในยุคหลังๆ เหงียนตินก็หันมาเน้นร้องเพลงเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและสิทธิมนุษยชนรวมถึงเรื่องนักโทษการเมือง

ผู้จัดคอนเสิร์ตในครั้งนี้ เหงียนดังเกาได ก็ถูกทุบตีทำร้ายที่คาเฟเช่นกัน เขาถูกนำตัวขึ้นรถคันเดียวกันแล้วนำไปปล่อยอีกจุดหนึ่งในย่านกู๋จี เขาเล่่าว่าเจ้าหน้าที่ทุบเขาอย่างหนักแบบซ้ำๆ หยุดๆ แล้วก็กลับมาซ้ำต่อ เจ้าหน้าที่ต่อยเขาที่ท้องและศรีษะทำให้เขาล้มลงไปที่พื้นแล้วก็กระทืบ ทั้งเหงียนตินและเหงียนดังเกาไดต่างก็มีรอยฟกช้ำหลายจุดและได้รับบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน

เหงียนดังเกาไดเป็นวิศวกรและนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนผู้ที่ช่วยเหลือนักโทษการเมือง และเคยมีส่วนร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยในปี 2549 ที่ชื่อ Bloc 8406

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าการโจมตีนักกิจกรรม ศิลปิน และบล็อกเกอร์เช่นนี้เริ่มกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในเวียดนาม ถ้าหากไม่มีการสืบสวนหรือเอาผิดกับผู้ที่ก่อเหตุเยี่ยงอันธพาลเช่นนี้ ทางการเวียดนามก็กำลังส่งสัญญาณว่าการทำร้ายผู้ขัดขืนรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่ต้องรับผิด

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าเหตุการณ์ความรุนแรงต่อนักกิจกรรมไม่ได้มีเพียงแค่เหตุการณ์ในคาเฟคาซาโนวาเท่านั้น ยังมีนักกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การจับตามองของตำรวจหลายคนที่ถูกทำร้ายร่างกายเช่นนี้ เช่นเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาในจังหวัดลำด่ง มีกลุ่มคนบุกเข้าไปในบ้านของผู้รณรงค์ศาสนาก๋าวด่ายเพื่อทำร้ายและตัดเคราของเขา ในจังหวัดเดียวกันเมื่อเดือน มิ.ย.-ก.ค. ก็มีการขว้างปาก้อนหินและของติดไฟใส่บ้านของนักกิจกรรมแรงงานและอดีตนักโทษการเมือง และหลังจากที่มีนักกิจกรรมรายอื่นๆ ที่ออกมาแสดงการสนับสนุนเขาก็มีคนนอกเครื่องแบบบุกทำร้ายผู้สนับสนุนด้วยไม้จนมีคนซี่โครงแตก

ฮิวแมนไรท์วอทช์เคยออกรายงานเมื่อปี 2560 เกี่ยวกับกรณีคนนอกเครื่องแบบทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมและบล็อกเกอร์ในเวียดนาม 36 กรณี ตั้งแต่ปี 2558-2560 ซึ่งมักจะทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส หลายคนถูกทำร้ายต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบแต่ก็ไม่มีการเข้าไปยับยั้งความรุนแรงแต่อย่างใด

ฟิลกล่าวว่า "รูปแบบของการทำร้ายร่างกายอย่างโหดเหี้ยมโดยอันธพาลแอบซ่อนซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีการก่อเหตุโดยร่วมมือกับตำรวจเช่นนี้ ถือเป็นการเพิ่มความรุนแรงในการที่รัฐบาลข่มเหงรังแกนักกกิจกรรมทางการเมือง" โรเบิร์ตสันเรียกร้องให้ต่างชาติผู้บริจาคช่วยเหลือเวียดนามและประเทศคู่ค้าของเวียดนามประณามการใช้ความรุนแรงดังกล่าว และเรียกร้องให้ประเทศเวียดนามเลิกพฤติกรรมอันธพาลเช่นนี้

รัฐบาลเวียดนามเข้มงวดกับการแสดงความเห็นของประชากรอย่างหนัก งานวิจัยเมื่อช่วงต้นปี 2561 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวียดนามคุมขังนักโทษทางความคิดอย่างน้อย 97 คน หลายคนถูกห้ามไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ถูกควบคุมตัวในสภาพที่เลวร้าย และมักถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย เรียกร้องให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็นอย่างสงบโดยทันที

งานวิจัยของแอมเนสตี้ฯ ยังพบว่า นักโทษทางความคิดในเวียดนามเผชิญสภาพชีวิตที่เลวร้ายในเรือนจำ โดยมักถูกขังเดี่ยว และไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อทนายความและครอบครัว เรือนจำเวียดนามมักเกิดเหตุทรมาน โดยแอมเนสตี้ สามารถเก็บข้อมูลนักโทษที่ถูกทุบตีด้วยไม้ สายยาง ถูกต่อยและถูกเตะ ถูกช็อตด้วยไฟฟ้า และถูกบังคับให้อยู่ในท่วงท่าที่อึดอัด

แอมเนสตี้ฯ เผยเวียดนามปราบผู้เห็นต่าง คุมขังนักโทษทางความคิดเกือบ 100 คน

เวียดนามลงโทษจำคุก 3 นักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยโพสต์วิจารณ์รัฐบาล

31 ม.ค. 2561 ศาลเวียดนามตัดสินให้ โวควงตวน อายุ 51 ปี เหงียนวานเตียน อายุ 35 ปี และเจิ่นฮวงฟุก อายุ 23 ปี มีความผิดตามกฎหมายอาญาของเวียดนาม มาตรา 88 ข้อหา "แพร่กระจายโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ" โดยลงโทษจำคุก 8 ปี, 6 ปีครึ่ง และ 4 ปี ตามลำดับ นอกจากนี้ยังสั่งลงโทษให้กักขังพวกเขาภายในบ้านเพิ่มอีก 4-5 ปี หลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว หลังถูกจับกุมและดำเนินคดีกรณีโพสต์วิดีโอคลิป 17 คลิป บนเฟสบุ๊คและยูทูบวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลเวียดนาม

30 ก.ค. 2560 รัฐบาลเวียดนามได้จับกุมเหงียนตรุงตรอง บาทหลวง นักเขียนและนักกิจกรรมร่วมกับสมาชิกกลุ่ม 4 คนด้วยข้อหาพยายามโค่นล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านั้นพวกเขาถูกจับตัวขึ้นรถตู้ รุมทำร้ายแล้วนำไปปล่อยที่นอกเมือง ลูกชายของเขาที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่ฟิลิปปินส์หลังถูกรัฐบาลเวียดนามขึ้นบัญชีดำในฐานะพวกปฏิกิริยา (Reactionary) เชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมีทักษะการจับกุมและสะกดรอย เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนท่าทีของอำนาจรัฐที่ไม่มีน้ำอดน้ำทนกับผู้แสดงความไม่พอใจในสังคม สวนทางกับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจให้กับการลงทุนและค้าขายกับต่างชาติ

นักกิจกรรมเวียดนามถูกจับข้อหาโค่นล้มรัฐบาล หันมองไทย เสรีภาพชนความมั่นคง ใครจะชนะ

ในเดือนเดียวกัน มีการจับกุมนักกิจกรรมชื่อทรานธิงา (Tran Thi Nga) ด้วยข้อหาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล ศาลตัดสินจำคุก 9 ปี และเมื่อเดือน มิ.ย. 2560 รัฐบาลเวียดนามจับกุมเหงียนง็อกหงูเควน (Nguyen Ngoc Nhu Quynh) บล็อกเกอร์ชื่อดังที่รู้จักกันในนาม Mother Mushroom ในข้อหาเดียวกัน ศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 10 ปี โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและประเทศตะวันตกบางประเทศ รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติหลายกลุ่มได้วิพากษ์วิจารณ์การจับกุมและเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามปล่อยตัวนักกิจกรรมและบล็อกเกอร์คนดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามระบุว่า ไม่มีนักโทษการเมืองในเวียดนาม ผู้ถูกขังคุกมีแค่คนที่ทำผิดกฎหมาย

ความพยายามปิดปากผู้เห็นต่างของรัฐบาลเวียดนามได้ลามมาถึงไทย เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (Foreign Correspondents Club - FCCT) ยกเลิกงานแถลงข่าว: “เวียดนาม - นักโทษแห่งมโนธรรม 165 คน 999 ปีหลังลูกกรง” ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (15 พ.ย. 2560) เวลา 10.30 น. โดยในการแถลงข่าวจะมีงานเสวนาที่วิทยากรอภิปรายเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ประเด็นการคุมขังนักโทษทั้ง 165 คนด้วยโทษหนัก ข้อความจากจดหมายของ FCCT ระบุว่าทางสโมสรฯ ตัดสินใจยกเลิกงานหลังเข้าประชุมสองครั้งกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจาก สน.ลุมพินี

สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทยยกเลิกงานแถลงสถานการณ์สิทธิฯในเวียดนาม

ทั้งนี้ ไซ่ง่อนเป็นชื่อเดิมของโฮจิมินซิตี เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของเวียดนามใต้ก่อนที่จะเกิดการรวมชาติเวียดนามหลังเวียดนามเหนือเอาชนะเวียดนามใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และบุกยึดไซ่ง่อนได้เมื่อ 30 เม.ย. 2518 ชาวเวียดนามที่อยู่ต่างประเทศเรียกวันนี้ว่าการเสียกรุงไซ่ง่อนหรือเมษาทมิฬ หรือวันแห่งความอัปยศแห่งชาติ เป็นวันที่ระลึกของชาวเวียดนามที่ถูกเนรเทศหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจนทำให้เกิดการพลัดถิ่น (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

เรียบเรียงจาก

Vietnam: Activists Beaten in Concert Raid, Human Rights Watch, Aug. 22, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net