Skip to main content
sharethis

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองปัตตานี แจงกรณีบุกจับแรงงานพม่าอาสาสอนหนังสือเด็ก ยันมีการแจ้งสิทธิตามขั้นตอน ผู้ต้องหารับทราบและยินยอมออกนอกประเทศ ด้านเอ็นจีโอสิทธิฯแรงงานข้ามชาติ ชี้งานจิตอาสาไม่ผิดกฎหมาย

ร.ต.อ.สุวิทย์ คงขำ รองสว.ตม.ปัตตานี ขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ (แฟ้มภาพ เว็บไซต์ ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานี)

จากกรณีที่ประชาไทนำเสนอข่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสนธิกำลังเข้าจับกุมคนงานหญิงชาวพม่า 2 คน ซึ่งใช้เวลายามว่างจากการทำงานประจำมาเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือให้กับลูกหลานคนงานข้ามชาติกว่า 80 คน ที่สำนักสงฆ์แหลมนก ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องและชอบธรรมของการกระทำดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำการจับกุมนั้น

อ่านข่าว ตม.ปัตตานีบุกจับแรงงานพม่าอาสาสอนหนังสือเด็ก อ้างทำงานนอก กม. ชี้กินข้าววัดเท่ากับรับค่าจ้าง

ต่อมา ร.ต.อ.สุวิทย์ คงขำ รองสารวัตรตรวจคนเข้าเมืองปัตตานี หัวหน้าชุดจับกุม ชี้แจงกับประชาไทต่อเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ทางตรวจคนเข้าเมืองปัตตานีได้รับแจ้งข่าวว่าที่สำนักสงฆ์มีครูชาวพม่ามาสอนหนังสือและมีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาอาศัยในวัด ทางเจ้าหน้าที่จึงได้เรียกกำลังแบบบูรณาการจากหลายหน่วยงาน เพื่อเข้าไปตรวจสอบ เพราะเมื่อมีการแจ้งข่าว ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ไปก็จะเป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“เมื่อไปถึง ผมในฐานะหัวหน้าชุดก็ได้เข้าไปแจ้งกับเจ้าอาวาสว่ามีภารกิจ เนื่องจากมีคนแจ้งข่าวมาให้ตรวจสอบ เมื่อท่านอนุญาต ผมก็ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบโดยเชิญชาวบ้านไปด้วย ไปเป็นพยานว่าผมเข้าไปถูกต้อง ใช้วาจาสุภาพ ไม่มีกระโชกโฮกฮาก ตรวจสอบพระชาวพม่าแล้วปรากฏว่าท่านไม่มีหนังสือเดินทาง ผมจึงต้องเชิญตัวท่าน ผมใช้คำว่านิมนต์ไปที่ ตม. และมีชาวเมียนมาที่เป็นล่าม

“ในส่วนของครูซึ่งสื่อสารเป็นภาษาไทยได้อยู่แล้ว เราก็ได้เชิญมาที่ ตม. ผมได้ตรวจสอบเอกสาร ปรากฏว่าผู้ชายใช้วีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งไม่สามารถทำงานได้อยู่แล้ว ในส่วนของการสอนหนังสือแม้จะไม่ใช่อาชีพต้องห้ามแต่ต้องมีใบอนุญาต ตรวจสอบแล้วตาม พ.ร.ก. (พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และ พ.ร.ก.การบริหาจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561) ตัวใหม่ระบุว่า ถ้าผู้ต้องหายินยอมออกนอกราชอาณาจักรสามารถจ่ายค่าปรับกับพนักงานสอบสวน

“ตามกระบวนการนี้ เมื่อเขาจ่ายค่าปรับแล้วก็ถือว่าเขาสละสิทธิ์ที่จะอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งตรงนี้ผมได้ใช้นางสาวธิตา อู (MS.THITAR OO) ที่อยู่มูลนิธิรักษ์ไทยเป็นล่ามให้ผม เขามานั่งดู อยู่ด้วยขณะที่ผมทำทุกอย่าง และก็เป็นล่ามให้ผม เขาอ่านให้ผู้ต้องหาฟังทุกอย่าง ผมมีการแจ้งสิทธิ์ทุกอย่าง แล้วให้ลงลายมือชื่อ เมื่อส่งไปให้พนักงานสอบสวน ผมก็ต้องกลับมาในที่ตั้งของผม เมื่อพนักงานสอบสวนปรับเสร็จ เขาก็ส่งตัวให้ผม ผมก็ต้องเพิกถอนวีซ่า เพราะเราจะควบคุมตัวคนที่มีวีซ่าในการอยู่ในราชอาณาจักรไม่ได้ เราต้องเพิกถอนก่อนเพื่อให้การควบคุมตัวชอบด้วยกฎหมาย ทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอนตามนี้ครับ”

เมื่อถามว่าการทำงานเป็นอาสาสมัครถือเป็นการประกอบอาชีพด้วยหรือ? ทาง ร.ต.อ.สุวิทย์ กล่าวว่า

“ตอนนี้เราก็ต้องหาข้อมูล เพราะทุกคนก็ยืนยันว่ามีการรับค่าตอบแทน เรื่องนี้ว่ากันด้วยเรื่องการสืบสวน ผมก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ข้อมูลนี้คนที่แจ้งให้ข้อมูลว่ามีค่าตอบแทน”

ส่วนกรณีที่ MS.THITAR OO อ้างว่าไม่มีการแจ้งสิทธิและตนก็ไม่ได้ถูกประสานงานให้เป็นล่าม เพียงแต่อยู่ในสถานการณ์จึงจำเป็นต้องสื่อสารให้กับทั้งสองฝ่าย ทั้งยังไม่มีการอ่านเนื้อหาในเอกสารให้กับผู้ต้องหาทั้งสามคนฟังนั้น ร.ต.อ.สุวิทย์ ชี้แจงว่า

“นางสาวธิตา โอ ทุกคนจะเข้าใจว่าเขาเป็นล่ามมาโดยตลอด เขาเป็นล่ามให้กับมูลนิธิรักษ์ไทยมาตลอด แล้วผมก็เรียกเขาเข้ามาในฐานะล่าม ในบันทึกจับกุมผมก็เขียนว่า นางสาวธิดา โอ ล่าม/แปล เขาก็อ่านและอ่านให้ผู้ต้องหาฟัง ผมบอกตลอดเลยว่ากฎหมายตัวนี้ปรับ 5,000 บาท และเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ขั้นตอนคือมีการแจ้งสิทธิ์ มีการลงลายมือชื่อ บันทึกจับกุมมีการลงชื่อนางสาวธิดา โอ วงเล็บล่าม/แปล แน่นอนครับ”

ผู้สื่อข่าวประชาไทถามต่อว่า เหตุใดจึงไม่นำเข้าสู่กระบวนการศาลตามที่ทนายฝ่ายผู้ต้องหาเรียกร้อง ทาง ร.ต.อ.สุวิทย์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และ พ.ร.ก.การบริหาจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ตามบทบัญญัติของมาตรา 8 บุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือทำงานที่นอกเหนือจากสิทธิที่จะได้ทำ ต้องลงโทษตามมาตรา 101 แต่ถ้าผู้นั้นยินยอมออกราชอาณาจักร ก็สามารถดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนสามารถปรับในอัตรา 5,000 บาท และส่งตัวให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้เลยโดยไม่ต้องขึ้นศาล

“วันนั้นส่งตัวเสร็จ พนักงานสอบสวนก็แจ้ง เขาก็ยินยอมจ่ายเงิน ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนรับรู้และยินยอม”

ขณะนี้แรงงานชาวพม่าและนักท่องเที่ยวทั้ง 3 คนถูกผลักดันไปที่จังหวัดระนองเพื่อรอส่งกลับประเทศพม่าแล้ว ร.ต.อ.สุวิทย์ บอกว่าถือว่ากระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว

เอ็นจีโอสิทธิฯ แรงงานข้ามชาติ ชี้งานจิตอาสาไม่ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ ภายหลังปฏิบัติการจับกุมของ ตม. ดังกล่าว เครือข่ายประชากรข้ามชาติและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า คนงานหญิงทั้งสองมีพาสปอร์ต วีซ่า และใบอนุญาตทำงานถูกต้องครบถ้วน โดยนายจ้างของคนงานคนหนึ่งได้มายืนยันกับตำรวจว่าตนเป็นนายจ้างตามกฎหมายและอนุญาตให้คนงานหยุดจากงานทาสีเรือเนื่องจากกำลังตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า คนงานทั้งสองทำกิจกรรมนี้โดยเป็นจิตอาสาและไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ อีกทั้งการเรียนการสอนให้ลูกหลานคนงานข้ามชาติในสำนังสงฆ์บ้านแหลมนกได้ดำเนินการมากว่าสี่ปีแล้ว เป็นที่รับรู้ของข้าราชการและหน่วยงานในพื้นที่มากมาย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สาธารณสุขจังหวัด เหล่าคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตจังหวัดปัตตานี

ในแถลงการณ์ เครือข่ายประชากรข้ามชาติ และ มสพ. มีข้อเรียกร้อง ด้วยว่า 1.  ตม.จังหวัดปัตตานีต้องยุติการส่งกลับ และปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาโดยทันที 2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะจัดทำแนวปฏิบัติในการเข้าตรวจค้นจับกุมและดำเนินคดีต่อแรงงานข้ามชาติตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้ชัดเจน รวมทั้งทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับตามกฎหมายและตามหลักกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการมีสิทธิได้พบที่ปรึกษาทางกฎหมาย และการอนุญาตประกันตัวระหว่างดำเนินคดี ทั้งนี้การดำเนินการตามกระบวนการต้องไม่เป็นไปอย่างรีบเร่ง ตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงการพิจารณาคดีในชั้นศาล

และ 3.กรมการจัดหางานควรกำหนดแนวปฏิบัติและมาตรการในการดำเนินการตรวจค้นกรณีใบอนุญาตทำงานและทำงานตามสิทธิที่มีความกฎหมายให้ชัดเจน รวมทั้งพิจารณาในเรื่องการทำงานและการทำกิจกรรมในฐานะอาสาสมัครให้ชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net