จี้ รบ.แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว-คู่รัก พบสถิติข่าวฆ่ากันตาย-สาหัส พุ่งสูงสุดรอบ 3 ปี

ภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว ร้องรัฐบาล สางปัญหาความรุนแรงในครอบครัว-คู่รัก หลังพบสถิติข่าวฆ่ากันตาย ทำร้ายสาหัส พุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี เฉลี่ยเดือนละ 20 ราย ซ้ำคนไทยร้อยละ 95 เมินที่จะเข้าช่วยเหลือ       

27 ส.ค.2561 วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย เตชาติ์ มีชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสังคม เรียกร้องให้มีมาตรการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงานเชิงรุก  

อังคณา กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คู่รัก มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น สะท้อนได้จากข้อมูลที่มูลนิธิฯเก็บสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ ในปี 61 พบว่าเพียง 7 เดือน ม.ค.-ก.ค.มีข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 367 ข่าว เป็นข่าวฆ่ากันตาย 242 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 65.9 รองลงมาเป็นข่าวทำร้ายร่างกาย 84 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 22.9 และข่าวฆ่าตัวตาย 41 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 11.2 ทั้งนี้หากเปรียบเทียบข่าวฆ่ากันตายย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่าปี 2561 สถิติสูงสุดกว่าทุกปี โดยปี2555มีร้อยละ 59.1 ปี 2557 มีร้อยละ 62.5 และปี 2559 มีร้อยละ 48.5 หากวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจะพบว่ามีข่าวฆ่ากันตายเฉลี่ยเดือนละ 20 ข่าวหรือร้อยละ 78.2 ส่วนปัจจัยกระตุ้นสำคัญมาจากการดื่มสุราและยาเสพติด ซึ่งผู้ก่อเหตุ ร้อยละ 39.2 มีความสัมพันธ์เป็นสามีภรรยา ที่น่าห่วง คือ อาวุธที่ใช้ก่อเหตุมากที่สุด ได้แก่ ปืน ร้อยละ 40.5 รองลงมาเป็นมีด ของใช้ใกล้มือ เช่น ไม้ ค้อน และมูลเหตุในการกระทำ เพราะบันดาลโทสะ หึงหวง และมีเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวมาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ร้อยละ 94.9 ของผู้ที่พบเห็นเหตุความรุนแรง เลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เข้าไปช่วยเหลือในปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น 

อังคณา กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ข้อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสังคม รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลหยิบยกปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ต้องเร่งป้องกันแก้ไข โดยบูรณาการการทำงานเชิงรุก ร่วมกับกระทรวง พม.กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้สังคมเข้าใจว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผู้พบเห็นเหตุการณ์ต้องเข้าให้การช่วยเหลือหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาการสูญเสียชีวิต 2.ดำเนินการให้ระบบการเรียนการสอน สร้างความเข้าใจเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น เคารพให้เกียรติกัน ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา ใส่ใจช่วยเหลือไม่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว เพื่อเป็นทักษะชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก 3.กระทรวง พม.ซึ่งมีกลไกอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน(อพม.)ประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังปัญหาสังคมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และมีการพัฒนาทักษะประสานการทำงานกับสหวิชาชีพในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวให้มากขึ้น และ4.ขอให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 เน้นการทำงานเชิงรุกและบูรณาการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในสังคมให้มากขึ้น นอกจากการให้คำปรึกษาแนะนำและประสานส่งต่อปัญหาสังคมทั่วไป และควรมีการประชาสัมพันธ์การทำงานให้ประชาชนรับรู้ให้มากขึ้น

เตชาติ์ มีชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังกระบวนการยุติธรรม ให้ทำงานเชิงรุก แม้เราจะออกกฎหมายมาหลายฉบับ ทั้งพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่สถิติความรุนแรงกลับไม่ได้ลดลง เหตุเพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่พร้อมเข้าช่วยเหลือ ยังมองเป็นเรื่องปัญหาครอบครัวไม่ควรเข้าไปยุ่ง เป็นเรื่องส่วนตัว เดี๋ยวก็ดีกัน หรือพยายามที่จะไกล่เกลี่ยมาโดยตลอด ทั้งที่สถานการณ์ไปไกล อีกทั้งสังคมละเลยการเข้าช่วยเหลือ พร้อมเป็นผู้ชมผู้วิจารณ์มากกว่าผู้ที่เข้าไปช่วย ทั้งที่จริงเป็นการละเมิดกฎหมายเสียด้วยซ้ำ เช่น กรณีภรรยาถูกสามีทำร้าย ทุบตี ลามโซ่นับครั้งไม่ถ้วนเมื่อเข้าแจ้งความกว่า 10 ครั้ง ก็ไม่เป็นผล ตำรวจก็ไม่ทำอะไร แบบนี้มันไม่ใช่แล้ว มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขกันทั้งระบบ 

“กระทรวง พม.เองก็ต้องทบทวนการทำงานของตนเองด้วย เพราะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องนี้  มีทีมสหวิชาชีพ หน่วยงานทุกจังหวัด มีกลไกเครื่องไม้เครื่องมือครบ แต่ยังทำงานแบบตั้งรับ กลายเป็นปัญหาซุกไว้ใต้พรมจนเลยเถิด เกิดเหตุร้ายถึงขั้นบาดเจ็บเสียชีวิต ทั้งที่สามารถใช้กลไกที่มี เข้าระงับเหตุ ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาได้ กฎหมายก็ให้อำนาจไว้ แต่ยังทำงานแบบเดิมๆ ที่สำคัญรัฐเองยังสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภารกิจเหล่านี้น้อยไป ทั้งๆที่ตัวเองรับมือไม่ไหว ทั่วโลกเขาหันมาสนับสนุนให้ประชาชนของเขาลุกขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ช่วยเหลือทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐ แต่บ้านเรายังให้ความสำคัญน้อยมาก เรามีตัวอย่างการทำงานระดับชุมชนที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลทำงานอยู่หลายพื้นที่ ที่สามารถต่อยอดขยายผลได้” เตชาติ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท