Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพเป็นการครอบงำมหาวิทยาลัยทำให้ไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและขัดรัฐธรรมนูญจริงหรือ? เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และนายกิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ซึ่งมีหลายประเด็นที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้

 ในฐานะของนายกทันตแพทยสภาซึ่งเป็นสภาวิชาชีพที่ถูกพาดพิงถึงด้วย จึงขอให้ข้อเท็จจริงในประเด็นที่ให้สัมภาษณ์ดังนี้

1.การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพเป็นการขัดขวางทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการและเทคโนโลยีของโลกเป็นการครอบงำทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกมารับใช้สังคมได้จริงหรือ?

โลกเป็นพลวัตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความรู้ทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆ ของทุกวิชาชีพก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของโลกเช่นกัน การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นสิ่งที่ทุกวิชาชีพให้ความสำคัญ ไม่เช่นนั้นวิชาชีพจะล้าหลังจนทำไม่สามารถดำรงอยู่ได้

คำว่า “วิชาชีพ” นั้น หมายถึงการที่ต้องเข้าศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนก่อน จึงจะทำงานในวิชาชีพด้านนั้นๆ ได้ และต้องเป็นการประกอบวิชาชีพที่มีมาตรฐาน โดยมีองค์ความรู้เป็นพื้นฐาน ทุกวิชาชีพจึงต้องมีกฎหมายรองรับและมีสภาวิชาชีพเป็นผู้ควบคุมดูแล ดังนั้นทุกสภาวิชาชีพที่จัดตั้งขึ้นจะมีกฎหมายรองรับโดยกฎหมายของทุกสภาวิชาชีพมีลักษณะคล้ายกัน คือสภาวิชาชีพประกอบด้วยคณะกรรมการหรือผู้บริหารและสมาชิกของสภาวิชาชีพ

คณะกรรมการบริหารของทันตแพทยสภา ครึ่งหนึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิโดยเป็นคณบดีจากคณะทันตแพทยศาสตร์ทุกแห่งในประเทศและจากหน่วยราชการอื่น ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย กลาโหมและภาคเอกชน อีกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิก    

สมาชิกของทันตแพทยสภา เป็นทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศ ถ้าจะว่าไปแล้วทันตแพทยสภามีสมาชิกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่เป็นจำนวนมาก มากกว่าอาจารย์ทันตแพทย์ในมหาวิทยาลัยเสียอีก ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวงสาธารณสุข ในภาคเอกชน หลายท่านเป็นนักการศึกษา เป็นอดีตผู้บริหารการศึกษาที่เกษียณอายุราชการแล้ว และได้มาช่วยกำกับดูแลในด้านการศึกษาให้กับทันตแพทยสภาเพื่อให้วิชาชีพมีพัฒนาการ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้คำกล่าวที่ว่าสภาวิชาชีพเข้ามาครอบงำการศึกษาทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีมาตรฐานให้กับสังคมได้จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่ตรงข้อเท็จจริง ซึ่งหากสภาวิชาชีพมีพฤติกรรมเช่นนั้นจริง คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ทุกแห่งและผู้ทรงคุณวุฒิที่นั่งเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วยจำนวนครึ่งหนึ่งนั้นคงไม่ยอมแน่

หากจะบอกว่าทันตแพทยสภาไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการเรียนการสอนการบริหารการศึกษาก็คงไม่ใช่เพราะผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์มาแล้วทั้งสิ้น บางท่านเป็นอดีตรองอธิการบดี อดีตคณบดี เป็นคณบดี รองคณบดี ยิ่งไปกว่านั้นยังมีทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขและในภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการให้ความเห็นเพื่อกำกับให้การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ทันตแพทยสภายังมีราชวิทยาลัย มีสมาชิกเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ของวิชาชีพ มีผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการศึกษาฝึกอบรมจากต่างประเทศเพื่อนำความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีทันสมัยมาถ่ายทอดต่อ มีการศึกษาฝึกอบรมวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้คำกล่าวที่ว่า วิชาชีพเป็นตัวการที่ดึงให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยี จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน

ในทางตรงกันข้ามสภาวิชาชีพ เป็นองค์กรที่คอยกำกับให้มหาวิทยาลัยผลิตบุคลากรให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอดเป็นองค์กรที่คอยคุ้มครอง ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ยกตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในทันตแพทยสภา

มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งเปิดรับนักศึกษาทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากทันตแพทยสภา จึงมีนักศึกษาสมัครเข้าเรียนจำนวนที่ต่ำมาก มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่หลายปีกว่าทันตแพทยสภาจะให้การรับรอง เมื่อทันตแพทยสภารับรองและให้รับนักศึกษาตามจำนวนที่กำหนด ในปีถัดมามหาวิทยาลัยแห่งนี้รับนักศึกษาเพิ่มเป็นจำนวน 2 เท่าทำให้ทันตแพทยสภาต้องถอนการรับรองและให้หยุดรับนักศึกษา เนื่องจากสัดส่วนของนักศึกษาและอาจารย์ไม่ได้ตามเกณฑ์

นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าถ้าไม่มีองค์กรดูแลกำกับเช่นนี้ จะสามารถทำให้มหาวิทยาลัยปฎิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ได้อย่างไร เสรีภาพทางวิชาการต้องมีความรับผิดชอบเป็นตัวกำกับ อิสระภาพทางด้านการจัดการศึกษา ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นตัวกำกับ หากไม่มีการกำกับที่ดีพอ มหาวิทยาลัยนั่นเองจะเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับสังคมและประชาชน ถ้าไม่ให้สภาวิชาชีพเข้ามารับรองหลักสูตร ทำได้เพียงเฉพาะสอบประเมินครั้งสุดท้ายเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเท่านั้น ในอนาคตจะมีนักศึกษาทันตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐานวิชาชีพจำนวนมาก และจะไม่สามารถสอบผ่านได้รับใบอนุญาตจากทันตแพทยสภา ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานเป็นทันตแพทย์ได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อนักศึกษาและผู้ปกครองที่เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถสอบได้รับใบอนุญาตให้ปฏิบัติงานได้ และเชื่อว่าส่วนหนึ่งของนักศึกษาเหล่านี้อาจจะไปเป็นหมอเถื่อน ซึ่งจะเป็นหมอเถื่อนที่สร้างโดยมหาวิทยาลัย จะสร้างปัญหาให้กับวิชาชีพและสังคม เป็นการทำลายมาตรฐานและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อวิชาชีพ

2.การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศจริงหรือ

การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพ มิได้ทำเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือเข้าไปก้าวก่ายการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด มหาวิทยาลัยยังคงจัดการเรียนการสอนได้ต่อไป จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 วรรค 2 แต่การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนและกำกับให้มีการจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฏหมายของแต่ละสภาวิชาชีพ และเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา 54 วรรค 3 ที่บัญญัติไว้ว่า

“รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับโดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล”

ทุกสภาวิชาชีพมีกฎหมายที่ให้อำนาจดำเนินการในการรับรองหลักสูตรได้อยู่แล้ว การรับรองหลักสูตรนั้นกระทำไปเพื่อกำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

สภาวิชาชีพแต่ละสภาเป็นองค์กรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องมาตรฐานการศึกษาและการประกอบวิชาชีพ มีความรู้ในมาตรฐานสากลและข้อจำกัดต่างๆ ของการประกอบวิชาชีพในประเทศเป็นอย่างดี

ดังนั้นการส่งเสริมสนับสนุนและกำกับการจัดการศึกษาที่ทำโดยสภาวิชาชีพจึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net