Skip to main content
sharethis

เลขาฯ สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ จี้ ป.ป.ช.เร่งชี้มูลคดีโรงพัก พร้อมส่งหลักฐานคำพิพากษาคดี 60 หน้า ด้าน 'สุเทพ' ย้ำ สตช.เสนอเปลี่ยนรูปแบบลงทุนไม่ใช่วิธีจัดจ้างให้ ครม.อนุมัติ

ภาพสุเทพขณะไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กชี้แจง

27 ส.ค. 2561 วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ได้เข้ายื่นหลักฐานเด็ดเป็นคำพิพากษาคดีโรงพัก จำนวน 60 หน้า ชี้ชัดการอนุมัติก่อสร้างโรงพักผิดมติคณะรัฐมนตรีพร้อมส่งภาพประติมากรรมคดีทุจริตโรงพัก พ.ศ. 2555 มูลค่าความเสียหาย 5,848 ล้านบาท ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT) เพื่อให้เร่งยุติชี้มูลคดีเพราะเหตุเกิดกว่า 6 ปีแล้ว

วิญญัติ กล่าวว่า 1) คดีนี้ตนได้มาติดตามทางถามเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2561 เพราะเห็นว่ารัฐเสียหายกว่า 5 พันล้าน ประชาชนไม่ได้ใช้บริการ ตำรวจไม่มีสถานที่ทำงานกว่า 6 ปีที่เกิดเรื่อง และประธานกรรมการ ป.ป.ช. รับว่าจะให้คดีนี้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 แต่มาถึงวันนี้คดีส่อว่าจะล่าช้าไม่เป็นไปตามสัญญา จนกระทั่งมีผู้ถูกกล่าวหาบางรายท้าทายการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. และยังท้าทายให้เร่งฟ้องคดีอีกด้วย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อตั้งแต่ตั้ง ป.ป.ช. มาเมื่อปี พ.ศ. 2542

2) เพื่อให้คดีนี้ยุติโดยเร็ว ตนมีหลักฐานใหม่เป็นคำพิพากษาคดีโรงพักจำนวน 60 หน้า ระบุชี้ชัดผู้เกี่ยวข้องคดีนี้อนุมัติให้ก่อนสร้างโรงพักจำนวน 396 แห่ง โดยวิธีการรวมก่อสร้างในสัญญาเดียวทั่วประเทศ เป็นการกระทำผิดมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 ก.พ. 2552 เป็นเหตุให้รัฐเสียหาย คดีเหลือเพียงว่าใครกระทำผิดบ้างในฐานะตัวการและผู้สนับสนุน คดีนี้จึงไม่ควรเนิ่นช้าเกินกว่าเดือนกันยายน 2561 ตามที่ประธาน ป.ป.ช. รับปาก และ 3) คดีนี้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ที่มี สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีข้อวินิจฉัยไว้ว่า เป็นการขัดมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2552 และถือว่าคำวินิจฉัยเป็นที่สุด

วิญญัติ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ ป.ป.ช.จะเกรงใจใครนัก รับเรื่องไว้ไต่สวนตั้งแต่ ปี 2556 ไต่สวนกันมากว่า 5 ปีแล้ว มีการขอเปลี่ยน วิชา มหาคุณ ออกจากการเป็นประธานไต่สวน ป.ป.ช. ก็ให้โอกาสและตามใจผู้ถูกกล่าวหามามากเพียงพอแล้ว ทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ถูกกล่าวหามาท้าทายให้เอาผิดอ้างโน่นนี่ถึงหน้าบันได ป.ป.ช. บ้านเมืองนี้จะเอาแบบนี้ใช่ไหม กฎหมายยังเหลือความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้องค์กรอิสระจะมีอยู่ทำไม อย่าให้ชาวบ้านเขามองว่า 2 มาตรฐานอีกต่อไป ผมขอให้กำลังใจกรรมการ ป.ป.ช.ในการทำงานคดีนี้

ด้าน 'สุเทพ' ย้ำ สตช.เสนอเปลี่ยนรูปแบบลงทุนไม่ใช่วิธีจัดจ้างให้ ครม.อนุมัติ

สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)' ชี้แจงกรณีสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง ของ สตช. ว่า ข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ข้อที่ 6 กล่าวหา หาก สตช.ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้างก็ต้องนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน ดังเช่นที่ สตช.ได้เคยปฏิบัติมาแล้วเมื่อคราวที่ สตช.มีบันทึกลงวันที่ 14 พ.ย. 2551 ขอเปลี่ยนแปลงวิธีจัดจ้าง ตรงนี้ที่ผมได้เรียนต่อกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่าคณะอนุกรรมการไต่ส่วน ป.ป.ช.สับสน อ่านหนังสือทางราชการแล้วไม่เข้าใจ อ้างว่า สตช.เคยเสนอขอเปลี่ยนวิธีการจัดจ้างมาแล้ว ตามหนังสือลงวันที่ 14 พ.ย. 2551 ซึ่งไม่จริง ความจริงคือหนังสือลงวันที่ 14 พ.ย. 2551 ทาง สตช.เขาเสนอ ครม.ขอเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนจากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ มาเป็นวิธีการงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติ เพราะว่า วิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ตามที่บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เสนอมานั้นมันแพงกว่าวิธีปกติ 4,700 กว่าล้านบาท ต้องไปดูว่าทำไมเขาถึงได้เสนออย่างนี้เพราะมันมีที่มาที่ไป ที่มาคือ ครม.สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ มีมติ 6 พ.ย. 2550 ครม.มีมติออนุมัติ ในหลักการ ตามที่ สตช.เสนอให้ สตช.และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ร่วมกันดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สถานีตำรวจทดแทน โดยให้ สตช.และไปจัดทำและนำรายละเอียดโครงการที่ได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง สำนักงบฯ กรมธนารักษ์ และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ รวมทั้งรูปแบบแผนการระดมทุน แผนการใช้จ่ายเงิน และภาระผูกพันของภาครัฐ บทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาเสนอ ครม.อีกครั้งหนึ่งเพราะ ครม.เห็นว่า โครงการนี้มีวงเงินสูง มีผลผูกพันรัฐบาลหน้า จึงควรพิจารณาแนวทางดำเนินโครงการให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด จึงให้ สตช.ไปทำรายละเอียดต่างๆให้ครบถ้วนทุกด้าน และพิจารณาทางเลือกในการดำเนินการและบริหารจัดการด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงความเหมาะสม คุ้มค่าในการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถระบุข้อดี-ข้อเสียที่ชัดเจนในทุกๆ ด้าน ให้ทำรายงานมาประกอบ เพื่อ ครม.จะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการต่อไป โดยให้ชะลอการดำเนินโครงการนี้เอาไว้ก่อน

สุเทพกล่าวต่อว่า เมื่อ ครม.มีมติให้ สตช.ไปจัดทำรายละเอียดไปคุยกับกระทรวงการคลัง สำนักงบฯ และไปดูว่ามีวิธีการดำเนินการในทางเลือกอื่นหรือไม่ จึงเป็นที่มาของหนังสือลงวันที่ 14 พ.ย. 2551 สตช.ก็ตอบ ครม.ว่าไปตั้งคณะกรรมการเสร็จแล้วเห็นสมควรเปลี่ยนวิธีการลงทุน จากวิธีเดิมมาเป็นการตั้งงบประมาณตามปกติ ในหนังสือทั้งฉบับ ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่า สตช.ขอเปลี่ยนแปลงวิธีจัดจ้าง เพราะ ครม.ไม่ได้สั่งให้ไปพิจารณาวิธีจัดจ้างมาเสนอ จึงกราบเรียนว่าอนุกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งข้อหาต่อตนด้วยความสับสนของตัวเอง ด้วยความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงของตัวเอง และตนไม่ได้อ้างเหตุผลอื่นมาหักล้าง ตนอ้างหนังสือวันที่ 14 พ.ย. 2551 ของ สตช.ที่อนุกรรมการ ป.ป.ช.ยกมาเป็นข้อกล่าวหา

ที่มา : สยามรัฐวอยซ์ ออนไลน์ เฟสบุ๊ก วิญญัติ ชาติมนตรี และเฟสบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net