'คนรักษ์ปทุมรัตต์' ค้านโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล กป.อพช. ขอรัฐยุติโครงการทั้งอีสาน

'เครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์' ไม่ยอมรับโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล กป.อพช.อีสาน แถลงผลกระทบนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล ขอรัฐยุติการอนุญาตโครงการทั้งภาคอีสาน จนกว่ามีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน 


ภาพบรรยากาศการประท้วง

28 ส.ค. 2561 ศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน รายงานว่า ตั้งแต่เวลา 08.30 –12.00 น. ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด  มีเวทีจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างโรงงานน้ำตาลพ่วงชีวมวล จัดโดยบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด   มีกลุ่มองค์กรประชาชนในนามเครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์จำนวนกว่า 500 กว่าคนประกอบด้วยกลุ่มข้าวอินทรีย์ตำบลโนนสวรรค์, กลุ่มเกษตรกรชาวนาตำบลโนนสวรรค์, เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอปทุมรัตต์, เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอำเภอปทุมรัตต์, สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนปทุมรัตต์จำกัด, สภาองค์กรชุมชนอำเภอปทุมรัตต์, เครือข่ายครูอำเภอปทุมรัตต์ ได้มีการรวมตัวกันเพื่อไม่ยอมรับโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ไม่เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 

และมีการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐและอ่านแถลงการณ์โดยตัวแทนกลุ่ม ซึ่งมีเนื้อหา ดังนี้

จากการที่บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด กำลังจะมีโครงการสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล ขนาด 24,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ขนาด 80 เม็กกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลโนนสวรรค์  อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้  โดยบริษัทได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินจำนวน 5 ร้อยกว่าไร่ บริเวณตลาดนัดโค-กระบือตำบลโนนสวรรค์ และได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอปทุมรัตต์ มาประมาณ 3 ปี แล้วนั้น

 จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2560 บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำอีไอเอ (EIA =การประเมินผลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ทำให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการได้ถูกเปิดเผยมากขึ้น จึงทำให้คนปทุมรัตต์หลายคน หลายกลุ่ม หลายเครือข่าย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงการที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะเข้ามาในพื้นที่ทุ่งกุลาในครั้งนี้ ซึ่งจากการคิดวิเคราะห์ร่วมกัน พบว่าคนปทุมรัตต์เกิดความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

 1. การสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล ขนาดใหญ่ถึง 24,000 ตันอ้อยต่อวัน อาจต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 360,000 ไร่ ซึ่งใหญ่กว่าอำเภอปทุมรัตต์ ซึ่งมีพื้นที่ 356.9 ตร.กม.หรือ 223,062.5 ไร่ ซึ่งอาจจะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวหอมมะลิ 105 คุณภาพสูง กลายเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่มีการใช้สารเคมีเข้มข้น 

 2. การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่ถึง 80 เมกกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในปริมาณมหาศาล (หลายแสนตัน) อาจทำให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองจากชานอ้อยปลิวกระจายเข้าสู่ชุมชน ที่สำคัญฝุ่นละอองจากขี้เถ้าชานอ้อยที่เผาแล้วในปริมาณมหาศาล มีโอกาสปลิวเข้าสู่ชุมชน ทำให้เกิดความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งพบมากในหลายชุมชนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าชีวมวล ดังที่เป็นข่าวมาแล้วในหลายจังหวัด  อีกทั้งการใช้น้ำในโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมาก  อาจมีปัญหาการแย่งน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้โรงงาน

 3. ความกังวลต่อการทำไร่อ้อยที่มีการใช้สารฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี สารเคมีเกษตรในปริมาณมาก จะส่งผลต่อการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม  โดนเฉพาะไหลลงนาข้าว  ซึ่งเกษตรกรหลายคน หลายกลุ่ม กระจายทั่วอำเภอในทุกตำบลได้ทำนาปลอดสารพิษและนาอินทรีย์ อีกทั้งได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิGI (มีที่เดียวในโลก) จำหน่ายไปทั่วประเทศและส่งออกไปทั่วโลก อาจจะมีสารเคมีปนเปื้อน ทำให้กินก็ไม่ได้ขายก็ไม่ออก  นอกจากนี้อาหารธรรมชาติในไร่นา ไม่ว่าจะเป็นปลา ปู กบ เขียด แมลงต่างๆ พืชผักในนา อาจจะลดลงหรือหมดไป ทำให้กระทบความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่  นอกจากนี้ยังกังวลอย่างมากต่อผลกระทบด้านสุขภาพ ที่กำลังเป็นข่าวดังในจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเกษตรกรหลายคนกำลังเจ็บป่วยจากพิษภัยของสารฆ่าหญ้า  

 4. ความกังวลต่ออุบัติเหตุจากรถบรรทุกอ้อย ที่คาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 คันรถพ่วง ในช่วงที่โรงงานเปิดรับซื้ออ้อย 5-6 เดือน ประกอบกับถนนในเขตอำเภอปทุมรัตต์ที่เล็ก ไม่มีไหล่ทาง และไม่รองรับน้ำหนักรถบรรทุกอ้อย ทำให้ถนนอาจได้รับความเสียหายและเกิดอุบัติเหตุง่ายและมากขึ้นได้

 5. ความไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งตามแผนการส่งเสริมของจังหวัดร้อยเอ็ด ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญในการพัฒนาจังหวัดปี  พ.ศ. 2561-2564 มีกลยุทธ์ที่สำคัญคือ 1) พัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และพื้นที่ที่มีคุณภาพของจังหวัด เป็นเขตเศรษฐกิจข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง 2) พัฒนากระบวนการผลิต  การแปรรูปข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรมให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเกษตรปลอดภัยและอินทรีย์ทุกขั้นตอน 3) สนับสนุน ส่งเสริมเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร  ให้เข้มแข็งพึ่งตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง 4) ส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรในท้องถิ่นและตลาดอิเล็กทรอนิกส์อย่างทั่วถึง  และที่สำคัญจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้โดยใช้พื้นที่อำเภอปทุมรัตต์เป็น Landmark อีกด้วย 

 6. จากการนำเสนอข้อมูลอุตสาหกรรมน้ำตาลของนักวิชาการ เมื่อ 25 ส.ค. 2561 ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าชาวไร่อ้อยอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องราคารับซื้ออ้อย  ซึ่งพบว่าต้นทุนการผลิตต่อไร่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประมาณ 1,200 บาทต่อไร่ต่อปี ทำให้ชาวไร่อ้อยขาดทุนประมาณไร่ละ 2,000 บาท ซึ่งปัญหาการขาดทุนซ้ำซากเช่นนี้เป็นสาเหตุให้เกิดหนี้สินและที่ดินต้องหลุดมือไปเป็นจำนวนมาก แทนที่การทำไร่อ้อยจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแต่กลับทำให้เกษตรกรยิ่งจนลง

จากความกังวลต่างๆ ดังกล่าวมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตในวงกว้าง  กลุ่มและเครือข่ายต่างๆ ในอำเภอปทุมรัตต์จึงได้เชื่อมร้อยกันเป็นเครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์ ด้วยจิตสำนึกแห่งความรักท้องถิ่นและบ้านเกิด  จึงขอเป็นตัวแทนประชาชนชาวปทุมรัตต์แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ยอมรับการดำเนินการที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และขอเสนอข้อเรียกร้องต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

 1. ขอให้บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ชะลอการดำเนินโครงการ โดยหยุดการทำอีไอเอไว้ก่อน เพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่ 

 2. ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องวางตัวเป็นกลาง ทำหน้าที่ให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและทั่วถึง และสร้างการมีส่วนร่วม  โดยยึดหลักตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.2560 มาตรา 43 และ 58 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ปี พ.ศ.2548 โดยจัดให้มีการประชาคมหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในอำเภอปทุมรัตต์ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้ข้อมูลและมีสิทธิตัดสินใจว่าจะให้ดำเนินโครงการหรือไม่

ต่อมาเครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านได้แสดงความคิดเห็นต่อการสร้างโรงงาน  มีหลายประเด็นที่ทางฝ่ายโรงงานไม่สามารถตอบคำถามหรือไม่มีความชัดเจน ทางกลุ่มแจ้งว่าหากไม่มีความคืบหน้าใดๆ จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง

 

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ศูนย์กฎหมายเพื่อสิทธิและสังคม กลุ่มโอโซนรักษ์บ้านเกิด ร่วมแถลงคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็น โรงงานน้ำตาลโรงไฟฟ้าชีวมวล อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด

กป.อพช.อีสาน แถลงผลกระทบนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล อีสาน 

วานนี้ (27 ส.ค.61) เวลา 10.30-11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช) อ.เมือง จ.ขอนแก่น ทางเครือข่ายประชาชนภาคอีสานประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนอีสานติดตามนโยบายส่งเสริมการอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช),กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาชนภาคอีสาน, เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน, เครือข่ายสภาองค์กรจังหวัดขอนแก่นและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน  จัดแถลงข่าวเรื่องผลกระทบนโยบายส่งเสริมการอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะสร้างขึ้นในภาคอีสาน

สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งผูกขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่มสามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้าย-ขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ บวกกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม.ปี 2554 รวมแล้วในภาคอีสานจะมีไบโอฮับเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ฐานการผลิต และจะมีโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 29 โรงงาน โดยแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2558 – 2569 วางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 5.47 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตเอทานอล 2.88 ล้านลิตร/วัน เพิ่มผลิตไฟฟ้าชีวมวล 2,458 เมกะวัตต์ จากนั้นได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ ไบโอฮับ เสนอให้ คสช. ใช้ มาตรา 44 เรื่องการยกเว้นบังคับใช้กฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ.2518 ในโรงงานน้ำตาลทราย และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบที่ตั้งควบคู่กับโรงงานน้ำตาลให้สามารถก่อสร้างได้ในพื้นที่การเกษตร มีการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA ให้กลุ่มโรงงานที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากอ้อย เพื่อใช้ในการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงานของผู้ประกอบการ และมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมจากอ้อยและน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง  

การออกใบอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลในคราวเดียวกัน 27 โรงงาน และแผนพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งจะต้องมีผลผลิตจากการปลูกอ้อยหลายล้านไร่ในพื้นที่ 50 กิโลเมตรของแต่ละโรงงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่จากนโยบายรัฐโดยยังไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบว่าโรงงานแต่ละแห่งนั้นควรตั้งอยู่ห่างจากชุมชน ห่างจากพื้นที่แหล่งอาหาร และแหล่งที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีแหล่งน้ำที่จะไม่กระทบต่อการใช้น้ำอุปโภค-บริโภคของชุมชน หรือเป็นพื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกอ้อยหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารผลดีผลเสียอย่างรอบด้านให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ทำความเข้าใจอย่างเพียงพอ    

อกนิษฐ์ ป้องภัย คณะกรรมการเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่าอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล 27 แห่ง อุตสาหกรรม ไบโอฮับ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอาหารสัตว์ ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่นำวัตถุดิบชานอ้อยมาผลิตกระแสไฟฟ้าคงไม่พอแน่นอนว่าต้องนำเข้าถ่านหินลิกไนต์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่นปรอท มะเร็ง เป็นต้น จึงเสนอให้รัฐได้จัดเวทีให้ข้อมูลกับประชาชนก่อนที่กลุ่มโรงงานจะจัดรับฟังความคิดเห็น เช่น พรุ่งนี้ 28 สิงหาคม 2561 ที่ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ทางโรงงานจะจัดรับฟังความคิดเห็น (ค1) การสร้างโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล  จริงๆ ฝ่ายโรงงานยังไม่ควรทำเพราะประชาชนยังไม่รู้ว่าจะมีโรงงานดังกล่าว  ดังนั้นหน่วยงานของรัฐต้องจัดเวทีให้ความรู้กับคนในพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตรก่อนอีกทั้งเสนอให้พื้นที่ที่จะก่อสร้างในจังหวัดอื่นๆ ในอีสานด้วย  

ต่อมา ปฏิวัติ เฉลิมชาติ รองเลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวว่าเครือข่ายประชาชนอีสาน ขอเรียกร้องสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ สิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และสิทธิในการเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ 
และ มาตรา 58 ที่บัญญัติไว้ว่า การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ  บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการ หรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง  ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยา ความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า 

เครือข่ายประชาชนอีสาน ขอย้ำว่า การดำเนินการอนุมัติอนุญาตใดๆ ต่อโครงการทั้งหมดแก่ผู้ประกอบการต้องยุติไว้ก่อน จนกว่ารัฐจะใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลความเข้าใจที่เพียงพอจะนำมาประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการ และขอให้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558 – 2569 และแผนการพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่ม มีการวางเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และไม่สอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมอีสานทีไม่สามารถรองรับอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยว และอุตสาหกรรมพลังงานที่ต้องใช้วัตถุดิบจากพืชเชิงเดี่ยวได้อีกต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท