Skip to main content
sharethis

ผู้ชนะคือผู้บันทึกความเป็นเจ้าของ ส่วนผู้แพ้คือผู้ที่ตัวตนจะถูกลบเลือน รวมคำถามเรื่องสัญญะของฉาก ความเป็นการเมืองของหนัง กับคำตอบของปราบดาที่ว่า “อาจมองว่าสังคมแบ่งเป็นอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม ทางประวัติศาสตร์ก็ยังแก่งแย่งกันอยู่ เราไม่ได้บอกว่าเป็นกลาง เราเป็นเสรีนิยม และเราอยากให้ฝั่งเราได้อำนาจในบางครั้ง” (มีสปอยล์)

 

 

‘Someone from Nowhere มา ณ ที่นี้’ คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สองของ ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์ ที่ลองเขยิบมาจับงานด้านภาพยนตร์ เรื่องแรกของเขาคือ ‘Motel Mist (โรงแรมต่างดาว)’ ฉายในปี 2559 หลังจากนั้นปีถัดมา Someone from Nowhere ก็ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว

ภาพยนตร์ความยาวหนึ่งชั่วโมงนิดๆ อาจดูไม่ยาวนัก แต่ด้วยบทภาพยนตร์ที่มีตัวละครเพียงสองตัว กับฉากที่จำกัดอยู่เพียงห้องในคอนโดแห่งหนึ่ง และดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาเป็นหลัก อาจทำให้คนส่วนใหญ่จัดหนังเรื่องนี้เป็นประเภทหนัง ‘อาร์ต’ ดูยาก แต่อันที่จริงแล้วเนื้อเรื่องไม่ได้ยากอย่างที่คิด บทสนทนาที่จะฟังแบบความหมายตรงตัวหรือความหมายโดยนัยก็ได้ นำเรื่องราวไปสู่จุดจบที่ทำให้เราต้องกลับมาฉุกคิด ว่านอกจากพล็อตเรื่องแล้ว หนังอยากบอกหรือตั้งคำถามอะไรกับเรา

เปิดเรื่องด้วยหญิงสาวคนหนึ่งอาศัยอยู่ในคอนโด เธอมีชีวิตประจำตามปกติที่พนักงานออฟฟิศในเมืองควรจะเป็น ตื่นเช้า ออกกำลังกาย อาบน้ำ สระผม กินข้าว โทรคุยกับแม่ โทรนัดกับเพื่อน และก้าวเท้าออกจากห้อง แต่วินาทีที่เธอก้าวเท้าไปสู่หน้าห้อง โลกของเธอก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อเธอพบชายบาดเจ็บนอนซมอยู่หน้าห้อง

 

ภาพจากภาพยนตร์ Someone from Nowhere

 

เธอโทรแจ้งพนักงาน หันกลับมาก็พบว่าชายคนเดิมมานอนอยู่บนโซฟาของเธอเรียบร้อย คุยสักแป๊บเขาก็เริ่มทำตัวราวกับเป็นเจ้าข้าวเจ้าของห้อง แถมดูเหมือนจะรู้จักห้องเธอดีกว่าที่เธอรู้จักเสียอีก สงครามประสาท “ผู้เป็นเจ้าของห้องตัวจริง” ระหว่างเธอกับเขาเริ่มต้น แล้วเรื่องราวเซอร์เรียลเหนือจริงต่างๆ ก็ทยอยปรากฏ ผ่านคอนเซปต์ความเป็นเจ้าของ ที่เหมือนกำลังจะบอกว่าผู้ชนะคือผู้ที่จะได้บันทึกความเป็นเจ้าของ ส่วนผู้แพ้คือผู้ที่ตัวตนจะถูกลบเลือน บาดเจ็บ บอบช้ำ และไม่อาจมีใครจดจำ

นำไปสู่คำถามของผู้ชมในหลากหลายประเด็น เช่น ตกลงแล้วใครกันแน่ที่โกหก? ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจพูดถึงเรื่องการเมืองหรือไม่? ฉากเซอร์เรียลในภาพยนตร์หมายความว่าอะไร? ฯลฯ ปราบดา หยุ่น ได้ตอบคำถามเหล่านี้ไว้ในงานฉายภาพยนตร์รอบสื่อที่สมาคมฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ประชาไทชวนคุณไปไขข้อข้องใจของคำถามด้วยกัน

 

ภาพจากเพจ Motel Mist + Someone From Nowhere

จากซ้ายไปขวา ปราบดา หยุ่น, พีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข (นักแสดง), ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช (นักแสดง), วรกร ฤทัยวาณิชกุล (ผู้ดำเนินรายการ)

 

*มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์

 

Q: จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ ความต่างระหว่างการทำหนังและการเขียนหนังสือ?

A: วิธีคิดมันไม่ต่างกันเท่าไหร่ ต่างตรงที่เวลาเราอยากทำหนัง เราไม่ได้อยากเขียนแต่อยากคิดเป็นภาพมากกว่า เรื่องนี้เริ่มมาจากไอเดีย คือคนเปิดประตูมาเจอคนแปลกหน้าบาดเจ็บ แล้วช่วยรักษา แล้วก็เริ่มมีความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดกัน

แต่หนังมีข้อจำกัดเรื่องงบและเวลา มีโจทย์ว่าเป็นหนังที่จะใหญ่มากไม่ได้ ดังนั้นเราคิดแต่แรกว่าต้องเล่นแค่คนเดียวหรือสองคน ก็เลยดึงเรื่องที่คิดเอาไว้มาแตกหน่อเป็นเรื่องนี้ ประเด็นเรื่องความเป็นเจ้าของ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่ ไอเดียเดิมมันจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ความรักมากกว่า จริงๆ ถ้านักแสดงทั้งสองคนมีเคมีที่ทำให้คนดูรู้สึกว่าจะรักกันรึเปล่า ก็อาจจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ แต่นักแสดงทั้งสองคนไม่ได้มีเคมีนั้นเท่าไหร่ เลยเป็นเหมือนกระบวนการที่พัฒนาไปพร้อมกับตัวบท

โดยเชิงเทคนิคการเขียนบทแบบนี้ยากพอสมควร โดยเฉพาะถ้าเราคำนึงถึงการดึงสมาธิของคนดู ซึ่งถ้าเป็นวิธีการเขียนแบบฮอลลิวูดก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือถึงจะมีแค่คนสองคนแต่ก็ต้องมีแอคชั่นมากกว่านี้ หรือถ้าไปดูเรื่อง Mother (2017) ก็จะมีเทคนิค เอฟเฟค หรือเหตุการณ์อะไรเยอะแยะ แต่พอเป็นแบบนี้เราค่อนข้างจะเรียบง่าย เราจึงต้องใช้วิธีใส่เข้าไปในบทสนทนา อยากให้มันใกล้เคียงกับโลกจริงด้วย จังหวะการสนทนา การหยุด แต่ขณะเดียวกันมันก็ต้องมีความเซอร์เรียลด้วย เพราะเหตุการณ์แบบนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกจริง

 

ตกลงใครกันแน่ที่โกหก?

เราอยากสื่อสารกับคนดูว่าผู้ชายคือเจ้าของตัวจริง แต่เมื่อเรื่องดำเนินมาจนถึงจุดสุดท้าย พอเป็นลูป แม้แต่เราเองก็เริ่มสงสัยว่าใครกันแน่เป็นเจ้าของห้อง แต่ความจริงในตอนแรกเราตั้งใจจะทำหนังจากมุมมองของผู้ชาย

คำว่า “เรียนรู้จากประสบการณ์” มันคือการเกิดการเรียนรู้ในแต่ละครั้งที่มันวนเป็นลูป ในแต่ละครั้งจึงมีสิ่งของจากโลกเก่าปะปนเข้ามาอยู่ในรูปลักษณ์ที่ต่างออกไป แก้วน้ำที่แตกกลายเป็นแจกัน นกในกรงกลายเป็นภาพวาด รองเท้าส้นสูงก็กลายเป็นภาพสเก็ตซ์

 

หนังออกมาตามตัวบทเลยไหม?

บทสนทนาส่วนใหญ่จะตามบท ยกเว้นฉากที่ผู้ชายตื่นขึ้นมาในห้องทำงาน หรือเดินไปในทุ่งร้าง พวกนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพราะเราไปเจอโลเคชั่นใหม่ หรือเพราะเราคิดเพิ่ม

ซีนเซอร์เรียลตรงออฟฟิศเป็นจุดสำคัญที่สองคนนี้มาเจอกันแล้วทำให้โลกมันหมุนกลับ ซึ่งตอนแรกไม่มีแต่พอคุยกับทีมงานแล้วก็รู้สึกว่ามันควรจะมีอะไรมากกว่านั้นเพราะว่ามันอาจยากที่จะสื่อสาร แต่การเพิ่มมาก็อาจจะไม่ได้ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นอยู่ดี (หัวเราะ) แต่เพื่อให้มันมีอีกมิติหนึ่งขึ้นมา เป็นมิติที่สองคนนี้เข้าไปอยู่

ซีนในออฟฟิศ ตอนที่เป็นภาพกระตุกจริงๆ ก็เพื่อจะสื่อว่าสิ่งๆ นี้มันเกิดบ่อยแล้ว มันเกิดซ้ำๆ มันบ่อยซะจนมันบอบช้ำที่ต้องเผชิญสิ่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และตัวคาแรกเตอร์เขาก็ได้รับบาดเจ็บในอีกโลกอยู่แล้ว แต่กรณีตัวผู้หญิงที่มาอยู่ในโลกนี้คือเขากำลังมีพัฒนาการ คือกำลังเรียนรู้ที่จะเอาชนะมากขึ้นกว่าเดิม มันจึงดูเหมือนผู้หญิงจะเดินเข้ามาแบบคุกคามกว่า ขณะที่ผู้ชายเริ่มอ่อนแอลง

 

ภาพของตึกร้าง มีอยู่จริงในหนังรึเปล่า?

มันเป็นสัญลักษณ์ของมิติ เป็นที่ที่ตัวละครสองตัวหลังจากมันฆ่ากันก็จะมาเจอกันที่นี่

 

ช่วยอธิบายความเป็นการเมืองในหนังของคุณหน่อย ทั้งเรื่องความเป็นเจ้าของ เพลงชาติ หรือกระทั่งรองเท้าสีเหลือง?

แต่เรื่องนี้ก็มีความเป็นการเมืองชัดเจนบางจุด แต่มันก็อยู่ในการตั้งคำถามอยู่ดีกับความเป็นเจ้าของ การครอบครอง เราอาจจะมองว่าสังคมเราแบ่งเป็นอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม ในทางประวัติศาสตร์มันก็ยังแก่งแย่งกันอยู่ มันก็ยังมีช่วงที่กลุ่มนี้มีโอกาสที่จะได้อำนาจ บางช่วงก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้อำนาจ เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นกลาง เราเป็นเสรีนิยม และเราก็อยากให้เราได้อำนาจในบางครั้ง

หรืออย่างประเด็นเรื่องเพลงชาติ เป็นสิ่งที่คาใจโดยส่วนตัวตั้งแต่เด็กเราเห็นทุกคนต้องยืนตรง เรารู้สึกมันแปลก มันเป็นบทเรียนแรกที่ทำให้เรารู้จักคำว่าเซอร์เรียล มันเป็นแบบนี้ทุกวันๆ เราต้องทำทุกวันๆ มันคาใจเรา สำหรับเรามันจึงเป็นจุดที่สร้างความเซอร์เรียลในหนังเพื่อให้ตัวละครเข้าไปอยู่ในอีกมิติได้ ดังนั้นมันจึงไม่เกี่ยวเท่าไหร่กับการเมืองโดยเฉพาะ แต่มันก็สะท้อนบางอย่างว่า ประเทศเรามีความเข้าใจเรื่องเซอร์เรียลได้ดี หรือการถอดรองเท้าก็ไม่ได้อยู่ในบทตั้งแต่แรก แต่มันก็เหมาะสม มันเป็นรองเท้าที่สี(เหลือง) สวยดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net