‘มนุษยศาสตร์’ วิชาที่กำลังจะสูญหาย? จำเป็นอยู่ไหม เมื่อตลาดไม่ต้องการ

มนุษยศาสตร์ไทยกำลังถดถอย? ไม่แน่ใจว่าเป็นการตั้งประเด็นที่ถูกที่ถูกเวลาหรือไม่ ในวันที่นักเรียนทั้งหลายเพิ่งหอบหิ้วความคาดหวัง ความฝันจากโรงเรียนมาสู่มหาวิทยาลัย แต่ถ้ามองตัวเลขที่เกี่ยวข้องในประเทศใหญ่ๆ จะพบว่า สถานการณ์ของวิชาสายมนุษยศาสตร์หลายวิชากำลังถูกรุกรานจากทั้งแนวรบด้านอัตราจ้างงานที่น้อยลง คนเรียนหด และความต้องการแรงงานในด้านนี้ต่ำ จึงหนีไม่พ้นกับคำถามถึงความจำเป็นของศาสตร์นี้ และทิศทางในบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่ง

มนุษยศาสตร์หน้าตาเป็นยังไง

คณะมนุษยศาสตร์คืออะไร สอนวิชาอะไร สถานศึกษาแต่ละแห่งอาจมีหลักสูตรภายในเหมือนหรือต่างกันไป รวมทั้งยังมีการถกเถียงมากมายถึงคอนเซ็ปต์ของ “มนุษยศาสตร์”

ยูเนสโก หรือองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) มีมาตรฐานสากลการจัดจำแนกการศึกษา (ISCED) เพื่อใช้เป็นกรอบชี้วัดการศึกษาในประเทศต่างๆ โดยมนุษยศาสตร์เป็นหัวข้อย่อยของสาขาวิชามนุษยศาสตร์และศิลปะ ( Arts and humanities) ประกอบด้วย วิชาด้านศาสนาและเทววิทยา ปรัชญาและจริยศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรม

ปรากฏการณ์เกิดขึ้นหลายที่ทั่วโลกที่เป็นผลสะท้านสะเทือนถึงตั้งแต่การจ้างงาน ท่าทีของมหาวิทยาลัยไปจนถึงนโยบายระดับชาติที่ทำให้อนาคตของมนุษยศาสตร์ดูไม่สดใสเอาเสียเลย“ภาควิชา” ปรัชญาของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่มีข่าวว่าจะถูกลดสภาพเป็น “สาขาวิชา” ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กกว่าและไม่มีสถานะเป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2559 และระเบียบมหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องการจัดการส่วนงานภายในและการยุบเลิก พ.ศ.2561 ถือเป็นหนึ่งในข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่หลายฝ่ายจับตา

ล่าสุด คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากร ผู้ที่ออกมาให้ข้อมูลเรื่องการยุบภาควิชาตั้งแต่แรกเริ่มเล่าความคืบหน้าว่า ภาควิชาปรัชญาส่งหนังสือให้มหาวิทยาลัยทบทวนระเบียบมหาวิทยาลัยศิลปากรฯ ที่เป็นมูลเหตุให้เกิดกระแสการยุบภาควิชาปรัชญาและภาคอื่นๆ ในคณะอักษรศาสตร์ โดยขอให้ภาควิชาที่จัดตั้งก่อนที่ระเบียบฯ จะออกมาสามารถคงสถานภาพภาควิชาไว้ตามเดิมหรือจะเปลี่ยนสถานะก็ได้ เรียกว่าเปิดช่องให้ขอคงสภาพตามเดิมหรือจะยุบรวมเป็นสาขาวิชาก็ได้ ต่อมาทางคณะได้ให้แต่ละภาควิชาดำเนินการส่งเรื่องว่าต้องการอย่างไร ทางภาคปรัชญามีมติให้คงสถานภาพภาควิชาเอาไว้ ตอนนี้มตินี้เพิ่งเข้ากรรมการคณะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่จะถูกส่งไปให้กับกรรมการมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้อนุมัติคำขอ คาดว่าปลายเดือน ก.ย.2561 น่าจะทราบผล

คมกฤชกล่าวว่า ภาควิชามีความสำคัญในแง่ของการกระจายอำนาจจากมหาวิทยาลัย และเป็นการรับประกันเสรีภาพทางวิชาการ เพราะภาควิชาเป็นหน่วยงานที่เล็กที่สุดที่ถูกระบุสถานะเอาไว้ใน พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ถ้าเป็นสาขาวิชาปุ๊บ อำนาจก็จะเข้าไปสู่ศูนย์กลางก็คือคณะ ลักษณะของการบริหารมหาวิทยาลัยแบบกระจายอำนาจคือลักษณะของการรับประกันเสรีภาพทางวิชาการด้วย คือผู้บริหารที่สูงกว่าไม่สามารถเข้ามาจัดการเรื่องต่างๆ ภายในภาควิชาได้” อาจารย์ภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากรกล่าว


ที่มาภาพ: Facebook/ Komkrit Tul Uitekkeng

ที่ซีกโลกตะวันตก สถิติจากตัวบ่งชี้ด้านมนุษยศาสตร์ (Humanities Indicator) ที่จัดทำโดยสำนักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และศิลปะแห่งอเมริกาพบว่าสัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชามนุษยศาสตร์เมื่อเทียบกับสาขาวิชาอื่นในปี 2015 น้อยกว่าจุดที่ต่ำที่สุดเมื่อปี 1985 หรือเมื่อ 33 ปีที่แล้วอันเป็นปีที่เริ่มวัดผลเสียอีก

ผลการสำรวจจากที่เดียวกันยังพบว่า ในปี 2558 บัณฑิตที่จบจากสาขาวิชามนุษยศาสตร์มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.3 จากจำนวนบัณฑิตมนุษยศาสตร์ทั้งหมดที่สำเร็จการศึกษา ตัวเลขดังกล่าวสูงเป็นอันดับสองรองจากบัณฑิตสาขาวิชาศิลปะ ส่วนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและสายการศึกษามีอัตราว่างงานน้อยที่สุดที่ร้อยละ 2.6 และ 2.7 ตามลำดับ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผลสำรวจจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติว่า บัณฑิตปริญญาเอกสาขาวิชามนุษยศาสตร์ในสหรัฐฯ ได้รับเงินเดือนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์กายภาพ สังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และศึกษาศาสตร์

เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา วอชิงตันโพสท์ของสหรัฐฯ รายงานว่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-สตีเวนพอยท์ มหาวิทยาลัยในรัฐวิสคอนซิน ซึ่งเป็น 1 ใน 11 สถานศึกษาในเครือมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มีข้อเสนอให้ยุบวิชาเอกจำนวน 13 วิชาในสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและภาษาสเปน และเพิ่มวิชาที่มีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนเข้ามา

ข้อเสนอเช่นว่าเป็นหนทางของมหาวิทยาลัยในการแก้ปัญหาจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนที่ลดลง และภาวะขาดทุนหลักหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้อเสนอดังกล่าวจะถูกพิจารณาในคณะกรรมการบริหารวิทยาเขต ไล่ไปถึงบอร์ดสมาชิกสภามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ซึ่งถ้าทั้งหมดมีมติเห็นชอบ กระบวนการปิดหลักสูตรก็จะมีขึ้นภายในเดือนมิถุนายน 2563

ที่ซีกโลกตะวันออก ในปี 2558 รัฐบาลญี่ปุ่นไปไกลกว่าคำถามของชาวไทยในเว็บไซต์กระทู้ชื่อดังเรื่องความจำเป็นของคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีดำริให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศพิจารณาการแปรสภาพวิชาสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แล้วให้ไปขยับขยายทำในส่วนที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้ดีกว่า นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะยังได้กล่าวในปี 2557 ว่า “แทนที่เราจะเพิ่มพูนงานวิจัยทางวิชาการที่มีความเป็นทฤษฎีสูงๆ เราจะจัดการศึกษาภาคปฏิบัติเชิงวิชาชีพที่จะรองรับกับความต้องการของสังคมได้ดีกว่า”

ในปี 2558 ไทม์ส ไฮเออร์เอดูเคชั่น เว็บไซต์จัดอันดับมหาวิทยาลัยชื่อดังรายงานว่า มหาวิทยาลัยแห่งชาติของญี่ปุ่นจำนวน 26 แห่งจาก 60 แห่งเตรียมปรับโครงสร้าง รวมถึงยุบคณะที่เกี่ยวข้องกับสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และมีอีก 16 แห่งที่เตรียมงดรับสมัครนักศึกษาใหม่ในหลักสูตรมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมถึงหลักสูตรนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ด้วย

อย่างไรก็ดี แนวนโยบายไล่ยุบคณะเกิดแรงต้าน จนกระทั่งรัฐบาลต้องคลายความจริงจังเรื่องการไล่ปิดคณะในลักษณะนี้ แต่ไทม์ ไฮเออร์เอดูเคชั่น ตั้งข้อสงสัยว่าการไล่ยุบคณะมีสาเหตุจากการที่คนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยน้อยลงมาก ซึ่งเป็นผลจากสังคมสูงวัยอันเป็นปัญหาที่ญี่ปุ่นแก้ไม่ตกมานาน

ในสหราชอาณาจักรเองก็มีปัญหาเรื่องจำนวนคนที่เข้ามาเรียนในสาขามนุษยศาสตร์ ข้อมูลจากหน่วยงานด้านสถิติอุดมศึกษาหรือ HESA แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2555-2560 จำนวนคนที่เลือกเรียนคณะที่เกี่ยวกับภาษา ประวัติศาสตร์และปรัชญาน้อยลงทุกปี

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แสดงให้เห็นว่าจำนวนนักศึกษาสายมนุษยศาสตร์ในปี 2560 กำลังอยู่ในช่วงขาลงอีกครั้ง หลังจำนวนค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาในช่วงปี 2551-2557 โดยจำนวนนักศึกษาในสายมนุษยศาสตร์ที่ลดลงนั้นสัมพันธ์กับจำนวนนักศึกษาทั้งประเทศที่ลดลง

รายงานพิเศษชิ้นนี้จะฉายภาพอนาคตอัสดงของสายวิชามนุษยศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งที่เกิดจากนโยบายรัฐ จากการบริหารงานของมหาวิทยาลัยเอง ไปจนถึงเทรนด์การเลือกเรียนของนักศึกษา ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเริ่มต้นปรับตัวของมหาวิทยาลัย ตัวอย่างวิธีแก้ไขปัญหาที่ไทยและต่างชาติทำหรือมีไอเดียที่จะทำ สุดท้ายเป็นการชวนดูว่ามนุษยศาสตร์เผชิญวิกฤตจริงหรือเป็นเรื่องคิดกันไปเองแบบกระต่ายตื่นตูม

ตัวอย่างการยุบภาควิชาหลายแห่ง เมื่อออกนอกระบบ

หลายมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการแปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘มหาวิทยาลัยนอกระบบ’ ด้วยวัตถุประสงค์แรกเริ่มคือการทำให้สถาบันอุดมศึกษาที่เดิมอยู่ในสังกัดของรัฐและเป็นส่วนราชการ แยกมาเป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการตามแนวคิดริเริ่มในแผนอุดมศึกษาระยะยาว (พ.ศ. 2533-2547) โดยเชื่อว่าจะทำให้มีอิสระในการบริหารจัดการ ลดกฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ ให้เกิดความคล่องตัวในขณะที่ยังมีงบอุดหนุนจากรัฐ และมุ่งสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้ว 23 แห่ง

การออกนอกระบบนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายอย่าง เรื่องที่เป็นที่ต่อต้านกันอยู่เรื่อยๆ คือ เรื่องค่าหน่วยกิต ค่าเรียนที่สูงขึ้น แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการควบรวมภาควิชาและหน่วยงานภายในคณะต่างๆ ให้เล็กลงด้วยความเชื่อว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ภาคปรัชญา ม.ศิลปากรคือตัวอย่างความพยายามดังกล่าว

ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (มศว) มีการยุบภาควิชาต่างๆ ในคณะมนุษยศาสตร์ที่มีจำนวนทั้งหมด 6 ภาควิชา (จิตวิทยา, บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์, ปรัชญาและศาสนา, ภาษาตะวันตก, ภาษาไทยและภาษาตะวันออก, ภาษาศาสตร์) แล้วนำหลักสูตรที่เดิมอยู่ภายในภาคทั้งหลายมาอยู่ใต้หน่วยงานที่เรียกว่า ศูนย์การศึกษาระดับปริญญาตรี บัณฑิตศึกษาและศูนย์การศึกษานาชาติ โดยแบ่งตามวุฒิ

ชาญ รัตนะพิสิฐ อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา หัวหน้าศูนย์การศึกษาระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มศว ให้ข้อมูลว่า ข้อดีของการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารขององค์กรตอบโจทย์การเปลี่ยนสถานะของ มศว เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและการประกันคุณภาพของ สกอ. ที่โฟกัสไปที่หลักสูตร ลดความซ้ำซ้อนในการบริหารงาน เพราะการยุบภาควิชาเท่ากับไม่ต้องใช้บุคลากรสายสนับสนุนที่ทำงานธุรการแบบแยกภาคกัน ทั้งยังประหยัดค่าตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาในวันที่เงินอุดหนุนจากภาครัฐน้อยลง

พุฒวิทย์ บุนนาค ประธานหลักสูตรวิชาปรัชญาและศาสนา มศว หนึ่งในภาควิชาของคณะมนุษยศาสตร์ที่ถูกยุบรวมระบุว่า ระบบใหม่ทำให้ประหยัดค่าหัวหน้าภาควิชาที่ต้องจ่ายต่อเดือนไปได้ทั้งสิ้น 3 ตำแหน่ง โดย 1 ตำแหน่งมีเงินค่าตำแหน่งราวหนึ่งหมื่นกว่าบาท

ชาญเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังคงมีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องการสื่อสารและงานธุรการ สมัยที่มีภาควิชา การกระจายข่าวสารสามารถทำได้ทั่วถึงกว่า การประชุมที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบุคลากรมากกว่า

“เมื่อก่อนพอประชุมคณะ หัวหน้าภาควิชาก็ประชุมด้วย แต่พอไม่มีภาควิชาก็จะเป็นหัวหน้าศูนย์ดูแลและดำเนินนโยบายลงสู่หลักสูตร โอกาสที่หัวหน้าศูนย์หรือฝ่ายอื่นๆ จะประชุมบุคลากรให้รับรู้โดยทั่วกันมีค่อนข้างน้อยกว่า เมื่อก่อนประชุมภาคเสร็จ หัวหน้าภาคก็ไปกระจายข่าวให้ลูกภาค แต่พอไม่มีหัวหน้าภาค ก็ขึ้นอยู่กับว่าหัวหน้าศูนย์ฯ และรองคณบดีฝ่ายวิชาการจะประสานงานกันเพื่อแจ้งข่าวสารลงยังหลักสูตรอย่างไร ตอนนี้ใช้การแจ้งผ่านจดหมายเวียนในอีเมล์ เมื่อก่อนการแจ้งในที่ประชุมทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวาง แต่ตอนนี้สื่อสารทางเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจต้องค่อยๆ ปรับให้ดีขึ้นต่อไป หลังจากเพิ่งเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบนี้ได้ไม่นานนัก”

“เมื่อก่อนจะมีบุคลากรสนับสนุนประจำภาควิชาที่คอยทำหน้าที่สนับสนุนเรื่องเอกสารหรือกระบวนการทางราชการต่างๆ แต่พอทุกอย่างลงสู่ส่วนกลางหมด อาจารย์อาจต้องรับภาระด้านงานเอกสารและสิ้นเปลืองเวลามากขึ้น อาจารย์บางท่านอาจเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการเตรียมการสอนมากกว่า”

หัวหน้าศูนย์ฯ คนปัจจุบัน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าในอนาคต คณะอาจมีการทำประชาพิจารณ์ร่วมกันกับคณาจารย์ในคณะ เพื่อประเมินผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ และนำมาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะตอนนี้ยังไม่มีการประเมินข้อดีและข้อเสียของระบบใหม่นี้

ด้านพุฒวิทย์เห็นว่าการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยมีผลให้เกิดการปรับตัวของหลักสูตร แต่ไม่ใช่ว่าวิชาด้านมนุษยศาสตร์จะหายไป เพียงแต่จะกลายสภาพเป็นอะไรเท่านั้น

“แนวคิดที่ว่ามหาวิทยาลัยต้องเลี้ยงตัวเอง มันลงมาสู่การปรับหลักสูตรเดิมให้ขายได้เพื่อดึงเอาคนรุ่นใหม่  คนกลุ่มใหม่มาเรียน และเมื่อมีหลักสูตรใหม่ก็ย่อมกระทบกับหลักสูตรที่มีอยู่เดิม หลักสูตรเดิมๆ แบบปรัชญา ศาสนา ภาษาศาสตร์ ภาษาไทยล้วนๆ มันขายไม่ได้ แต่ไม่ใช่วิชาด้านมนุษยศาสตร์จะหายไปหรอก มันเพียงแปรรูปไปเป็นมนุษยศาสตร์ประยุกต์”

ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการควบรวมภาควิชา จากเดิมที่มี 14 ภาควิชา ปัจจุบันควบรวมกันเหลือ 5 ภาควิชา โดย ผศ.อดิศร หมวกพิมาย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการยุบรวมภาควิชาในคณะศิลปศาสตร์เป็นผลมาจากการออกนอกระบบของ มธ. โดยเป็นความเชื่อของฝ่ายบริหารว่าการปรับโครงสร้างจะทำให้การตัดสินใจคล่องตัวขึ้น ในคณะสายวิทยาศาสตร์เองก็มีดำริที่จะลดภาควิชาเช่นกัน แต่ตัดสินใจไม่ยุบรวมเพราะว่าหลักการปฏิบัติของแต่ละภาคไม่เหมือนกัน

อดิศรเล่าอีกว่าการเปลี่ยนระบบใหม่ทำให้การตัดสินใจในบางประเด็นไม่คล่องตัว เช่น ถ้าสาขาวิชาประวัติศาสตร์จะรับอาจารย์ใหม่ก็ต้องคุยกับสาขาวิชาที่อยู่ในภาควิชาเดียวกัน ทั้งที่แต่เดิมตอนแยกภาคกันชัดเจนไม่ต้องทำเช่นนั้น ความคล่องตัวในการบริหารก็ลดลงบางประเด็น แต่เสรีภาพทางวิชาการยังเท่าเดิม

ผศ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า  การยุบรวมภาควิชาของ มธ. เกิดจากความต้องการของผู้บริหารที่อยากให้การบริหารคล่องตัว โดยเฉพาะคณะศิลปศาสตร์ที่เป็นคณะใหญ่ มีหลายภาควิชา แต่พอยุบรวมกันจริงๆ แล้วก็ยังคล้ายกับการบริหารแบบเดิม เพราะยังมีหัวหน้าสาขาวิชาอยู่ และไม่มีการร่วมอะไรกันเลยระหว่างสาขาต่างๆ นอกจากมีชื่อร่วมกันว่าอยู่ภาคเดียวกันเท่านั้น

ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เคยมีการควบรวมภาควิชา แต่พบว่ามีปัญหาและต่อมาก็ได้มีการปรับสภาพการควบรวมอีกครั้ง ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุถึงสาเหตุของการยุบรวมภาควิชาที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนว่า เกิดขึ้นภายหลังจากมหาวิทยาลัยแปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ และ “ชนชั้นนำ” ในมหาวิทยาลัยมองเพียงว่าภาควิชาในคณะมนุษยศาสตร์มีมากเกินไปทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เช่น ค่าตำแหน่งหัวหน้าภาค จึงกดดันมาที่คณบดีซึ่งผ่านการสรรหามาแล้วว่าจะทำการรวมภาควิชาได้สำเร็จ

อรรถจักร์ระบุต่อไปว่า การควบรวมภาควิชาก่อให้เกิดความล่าช้าในการบริหารงานทางวิชาการ เพราะเป็นการรวมแบบ “ขนมชั้น” ยังมีสาขาวิชาอยู่ แต่ว่าอยู่ภายใต้ภาควิชาใหม่ นอกจากนั้น สายการบังคับบัญชาที่ยาวมากขึ้นทำให้เกิดความอึดอัดในการแสวงหาความรู้ทางวิชาการเพราะแต่ละสาขาวิชาก็มีความแตกต่างกัน

“ในที่สุดก็มีการนำเสนอว่าหากเป็นอย่างนี้ต่อไป การแสวงหาความรู้ในแต่ละสาขาก็จะลดน้อยเหลือแต่เพียงการสอบไปวันๆ เท่านั้น จึงทำให้เกิดการแบ่งการควบรวมใหม่ โดยเน้นให้กลุ่มภาษาตะวันออก (ภาษาไทย พม่า บาลี ญี่ปุ่น จีน) เป็นภาควิชาหนึ่ง กลุ่มภาษาตะวันตก (ภาษาฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน ) เป็นอีกภาควิชาหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้ลดปัญหาของสาขาวิชานั้นๆ ลง ปัญหาลักษณะเดิมก็ยังดำรงอยู่” อรรถจักร์อธิบาย

มนุษยศาสตร์ได้งบวิจัยน้อยลง พื้นที่วิชาการหด

ทุนวิจัยจากรัฐที่ลดลงเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความถดถอยของสายมนุษยศาสตร์ในไทยได้ เมื่อเดือน เม.ย. - พ.ค. 2561 เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ที่ประกอบด้วยหน่วยงานด้านงานวิจัยและงานอุดมศึกษาของประเทศได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนสการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) ประกาศผลการคัดเลือกข้อเสนอการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2561 งานวิจัยประเด็นมนุษยศาสตร์ได้รับการสนับสนุนจำนวน 9 โครงการ มีเพียง 3 โครงการที่ผ่านการพิจารณา ส่วนอีก 6 โครงการนั้นจะได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนต่อเมื่อได้ปรับแก้ข้อเสนอโครงการตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าปรากฏทางเว็บไซต์หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ย้อนไปเมื่อปี 2560 ผลการคัดเลือกในทุนเดียวกันมีจำนวนวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ทั้งสิ้น 7 โครงการ และเมื่อปีงบประมาณ 2558 มีจำนวนงานวิจัยที่ได้รับทุน 12 เรื่อง

รศ.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว อาจารย์จากหลักสูตรศิลปศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตกล่าวว่า งานวิจัยของสายมนุษยศาสตร์เป็นการวิจัยที่มุ่งสร้างองค์ความรู้ที่รอการแปรรูป อาจไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ภาครัฐกำหนดไว้โดยอิงกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่งานวิจัยของสายมนุษยศาสตร์ถูกลดความสำคัญลง โดยทางรอดอาจเป็นการปรับให้ความรู้แบบมนุษยศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาชีพต่างๆ ได้

“สมมติว่าเราสนใจทำเรื่องสาส์นสมเด็จกับการสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ถ้าตามเป้าตามแนวคิดสมัยใหม่เขาก็จะบอกว่าเราสร้างองค์ความรู้อย่างเดียว จะไปตีพิมพ์เป็นบทความวิชาการเขาก็จะบอกว่าเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เขาอยากได้งานวิจัยที่เป็นนวัตกรรม จะสร้างอะไร ผลิตอะไร ลดต้นทุนอย่างไร ทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีอย่างไร ซึ่งสายมนุษยศาสตร์มันตอบโจทย์ได้ยาก เราก็ต้องยอมรับ เราก็สอนศิลปะ เราก็เห็นว่ามันมีความสำคัญ เราเข้าใจว่าสังคมนี้มันเจริญไม่ได้ถ้าไม่มีวรรณกรรม ไม่มีศิลปะ แต่มันไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ของประเทศ มนุษยศาสตร์จะอยู่ได้ก็ต้องปรับสองเรื่อง คือเรียนมนุษยศาสตร์เพื่อการสอน และทำให้การเรียนมนุษยศาสตร์มีความหลากหลายแล้วนำไปเชื่อมโยงกับการสอน หรือหาข้อมูลทางมนุษยศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว” เนื้ออ่อนกล่าว

“ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนรู้ทุกวันนี้ เราไม่ต้องศึกษาหรือวิจัยมันใหม่หรือ สำหรับตัวเอง ความรู้ทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ต้องวิจัยใหม่ได้ตลอดเวลา แม้จะเป็นหลักฐานชุดเดิมก็สามารถถูกตีความใหม่ได้ เอาแนวคิดทฤษฎีใหม่มาวิพากษ์วิจารณ์มันได้ และวิธีคิดของคนก็เปลี่ยนตลอด จึงควรมีงานวิจัยทางมนุษยศาสตร์ใหม่ๆ ”

“เวลานักท่องเที่ยวมาวัดพระแก้วเขาอยากรู้เรื่องอะไร เขาคงอยากมาฟังไกด์เล่าเรื่องจิตรกรรมใช่ไหม แล้วมันต้องมีนักวิจัย หรือชุดความรู้ไปขายตลาดท่องเที่ยวไหม แล้วใครมีหน้าที่ทำวิจัย เป็นไกด์หรือคนที่จบด้านวิทยาการการท่องเที่ยวหรือ ก็ไม่ใช่ มันก็ต้องโยนกลับมาที่มนุษยศาสตร์ แต่ตรงนี้มันไม่ได้รับการสนับสนุนเพราะความรู้ชุดนี้มันเอาไปขายตรงๆ ไม่ได้ ต้องไปขายผ่านการท่องเที่ยว” เนื้ออ่อนกล่าวเพิ่มเติม

ในขณะที่ ศ.คลินิก นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า เรื่องทุนวิจัยนั้นนอกจากรัฐแล้วยังมีแหล่งทุนในมหาวิทยาลัย ทุนจากหน่วยงานหรือมหาวิทยาลัยต่างประเทศด้วย ปัญหาอยู่ที่ต้องหาแหล่งทุนที่มีอยู่ให้เจอ แต่ประเด็นที่น่ากังวลสำหรับวิทยาลัยศาสนศึกษาคือ เกณฑ์การประกันคุณภาพหลักสูตรจาก สกอ. ที่กำหนดอาจารย์มีหน้าที่ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการในฐานข้อมูลวารสารตามที่ กพอ. กำหนดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายการวารสารที่ได้รับการรับรองให้ตีพิมพ์มีพื้นที่งานวิชาการสายศาสนศึกษาน้อย ดังนั้นควรมีการเพิ่มรายการวารสารสำหรับตีพิมพ์งานวิชาการด้านปรัชญาและศาสนศึกษา

ในคู่มือประกันคุณภาพภายในสถานอุดมศึกษา ระดับหลักสูตร ประจำปี 2560 กำหนดให้อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าอิสระในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและเอก) มีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยให้มีจำนวนอย่างน้อย 1 เรื่องใน 5 ปี และการประกันคุณภาพในระดับคณะและสถาบันยังมีการกำหนดให้มีผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง  ทั้งบทความวิจัย บทความวิชาการที่ตีพิมพ์จากการประชุมวิชาการ ฐานข้อมูลงานวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ หรือตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ปรากฎในฐานข้อมูลศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index - TCI) ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.)

“ผมเข้าใจว่าวารสารด้านปรัชญา ศาสนศึกษาน้อยกว่าด้านวิทยาศาสตร์มากๆ สายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีจำนวนรายชื่อวารสารเยอะมาก วิธีหนึ่งที่จะแก้ไขได้คือเราอาจเสนอรายชื่อวารสารให้เขาพิจารณาเข้าไปเพิ่มเติม ตอนนี้ (รายการวารสาร) มีน้อยจนอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของเราที่มาจากต่างประเทศ เป็นคนที่จบปริญญาเอกด้านศาสนศึกษาที่มีชื่อเสียงทั่วโลกบ่นว่ารายการที่มีอยู่ในนั้นมันไม่เห็นน่าสนใจเลย วารสารมีชื่อเสียงก็ไม่อยู่ในรายการ” สุวัฒน์กล่าว

เมื่อเข้าไปดูรายการฐานข้อมูลวารสารที่ กพอ. รับรอง จะพบว่าฐานข้อมูลนานาชาติที่มีวารสารด้านปรัชญาและศาสนาตีพิมพ์มี 7 จาก 19 แห่ง ส่วนฐานข้อมูลระดับชาติของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยมีอย่างน้อย 6 เล่มที่ตีพิมพ์งานด้านปรัชญาและศาสนา จากจำนวนวารสารที่ได้รับการรับรองทั้งหมด 772 รายการ

หั่นงบรามฯ 200 ล้าน ปรัชญา-ประวัติศาสตร์ คนเรียนน้อย

มหาวิทยาลัยที่ยังไม่ออกนอกระบบก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับสถาบัน ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยรัฐแบบไม่จำกัดรับ หรือที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยเปิดกำลังเผชิญหน้ากับปัจจัยที่บีบให้ต้องปรับตัว หนึ่งในนั้นคืองบประมาณอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้ในปีงบประมาณนี้

ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ที่ได้ผ่านวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้วเมื่อต้นเดือนนี้ (มิ.ย.) พบว่างบประมาณของรามคำแหงมีจำนวน 1,194.2 ล้านบาท ลดจากปีงบประมาณ 2561 ที่ได้รับ 1,326.6 ล้านบาท สวนทางกับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี

หากย้อนดูจะพบว่า เมื่อปีงบประมาณ 2557 รามคำแหงได้งบอุดหนุนราว 1,367.2 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 ได้รับราว 1,411.6 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 ได้รับราว 1,388.9 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ได้รับราว 1,416.6 ล้านบาท แต่รอบนี้งบอุดหนุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากข้อมูลสถิติงบประมาณมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2550-2561 พบว่าเหลือมหาวิทยาลัยในสังกัดรัฐอยู่เพียง 10 แห่งจาก 23 แห่งเมื่อปี 2550 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2560 งบประมาณของมหาวิทยาลัยรัฐถูกหั่นลงคราวละถึง 10,000 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 

งบประมาณ ม.รัฐ

จำนวน ม.รัฐ

งบ ม.ในกำกับรัฐ

จำนวน ม.ในกำกับรัฐ

2550

39,500,770,200.00

23

  2,677,438,600.00

4

2551

41,437,493,200.00

23

  2,890,164,200.00

4

2552

23,989,958,400.00

16

   23,326,911,500.00

11

2553

21,144,457,400.00

16

   23,282,037,000.00

11

2554

23,960,985,300.00

16

   27,271,576,100.00

12

2555

23,865,666,400.00

16

   28,513,534,100.00

12

2556

25,717,113,400.00

16

   30,720,516,500.00

13

2557

27,268,235,900.00

16

   34,134,746,100.00

13

2558

31,742,554,400.00

16

   37,199,388,200.00

13

2559

21,777,402,900.00

15

   57,962,377,200.00

19

2560

11,181,119,300.00

11

   69,115,332,800.00

20

2561

10,066,356,200.00

10

   78,178,085,500.00

23

ขณะเดียวกัน งบประมาณจากรัฐที่ให้กับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐก็เพิ่มขึ้นตามจำนวนมหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์ในคณะมนุษยศาสตร์มีนักศึกษาในภาควิชาสายภาษา ประวัติศาสตร์และปรัชญาลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับจำนวนนักศึกษารวมทั้งหมดของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ปี

ยอดรวม

ปรัชญา

ประวัติศาสตร์

สายภาษา

2554

363,672

291

1,183

15,121

2555

348,100

287

1,102

13,596

2556

330,205

263

1,010

13,729

2557

295,270

229

879

12,917

2558

276,983

209

785

13,089

2559

257,133

192

737

13,185

2560

283,030

172

644

12,933

ศ.กิตติมศักดิ์ วิโรจ นาคชาตรี อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ ควบตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบันมีหน้าที่ดูแลมหาวิทยาลัยรามคำแหงวิทยาเขต จ.สุรินทร์และศรีสะเกษกล่าวว่า งบประมาณที่ลดลงทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวมาก ตัวอย่างคือการลดจำนวนรองอธิการบดีที่ตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 ระบุให้มีหน้าที่ดูแลวิทยาเขตต่างๆ ในต่างจังหวัด  มหาวิทยาลัยรวบอำนาจการจัดการอัตราอาจารย์ที่ว่างลงเอง และการพิจารณาเปลี่ยนระบบการถ่ายทอดการสอนจากศูนย์ที่กรุงเทพฯ ไปยังวิทยาเขตต่างจังหวัด จากเดิมที่เช่าช่องสัญญาณของ TOT ที่มีค่าเช่าปีละ 40 ล้านบาท เป็นการถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ตซึ่งพบว่ามีปัญหาในเรื่องคุณภาพ

วิโรจกล่าวว่า ในรามคำแหงเองก็มีกระแสยุบภาคปรัชญาเช่นกัน โดยเป็นการพูดคุยกันในหมู่ผู้บริหารบางกลุ่ม แม้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ออกมา แต่ภาคปรัชญาก็ถูกลดความสำคัญลงไปทั้งในแง่ตำแหน่งแห่งที่ของวิชาปรัชญาในระดับมหาวิทยาลัย งบประมาณที่จัดสรรให้คณะมนุษยศาสตร์ก็น้อยลงจาก 300,000 บาทเหลือ 100,000 บาท และจำนวนอาจารย์ที่ถูกทางมหาวิทยาลัยโยกย้ายตำแหน่งอาจารย์ที่ว่างลงไปจัดสรรให้คณะที่มีนักศึกษาเยอะกว่า ทำให้โดยเฉลี่ยอาจารย์แต่ละคนต้องรับผิดชอบสอนมากขึ้นเพื่อไม่ให้มีวิชาในภาคต้องปิดตัวลงด้วยเหตุว่าไม่มีอาจารย์สอน

“ตอนนี้อัตราอาจารย์ลดลง จากเดิมมีอาจารย์ 13 คน ตอนนี้เหลือ 7 คนเพราะมหาวิทยาลัยใช้การคำนวณ (สัดส่วนอาจารย์) ตามฐานนักศึกษากับรายวิชาที่เปิด อัตราของอาจารย์ที่เกษียณแล้วก็ถูกดึงไปที่สาขาวิชาที่เด็กเรียนเยอะ มีรายวิชาที่จำเป็นต้องเปิด ถ้ามองคณะรัฐศาสตร์ บริหาร นิติศาสตร์ สาขาเหล่านี้มีจำนวนผู้เรียนเยอะ แต่ปรัชญาที่มีนักศึกษาอยู่ 190 คน เทียบกับตรงนั้นที่มีหมื่นถึงสองหมื่น”

“อาจารย์คนหนึ่งโดยภาระจะมีการสอน 2 วิชาครึ่งต่อเทอม (วิชาหนึ่งสอน 16 ครั้งต่อหนึ่งเทอม)...ถ้ามีเด็กน้อยเราก็ไม่สามารถเปิดวิชาได้ ในขณะเดียวกันถ้าอาจารย์น้อยก็ไม่สามารถเปิดวิชาได้อีก เพราะว่าไม่สามารถแบกภาระที่มากเกิน ผลพวงจากการลดจำนวนอัตราของอาจารย์ก็มีผลต่อการเปิดวิชา ก็เหมือนคลื่นกระทบกัน”

“ตอนนี้เราก็ช่วยกันแบกภาระสอนให้เกิน 4 วิชาเพื่อให้อยู่ได้ ให้มีภาระงานเกินเพื่ออัตราจะได้ไม่ถูกตัด คนไหนที่มีเวลาทำวิจัยก็ทำ แต่ก็มีปัญหาอีกว่าเงินสนับสนุนการวิจัยน้อยมากทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและภายนอก”

แม้วิชาปรัชญาไม่ใช่วิชาที่มีอาชีพสายตรง แต่วิโรจยืนยันว่าวิชาปรัชญายังมีความจำเป็นต้องเปิดสอน เนื่องจากเป็นวิชาที่สอนให้คนรู้จักคิด แยกแยะเหตุผลที่ถูกและผิด สอนให้มีมุมมอง มีเป้าหมายชีวิต โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเปิดที่คนสามารถเข้ามาเล่าเรียนและสำเร็จการศึกษาด้วยค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่ามหาวิทยาลัยแบบปิด

“รามฯ ควรเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยแต่อยากพัฒนาตัวเอง และคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ก็เป็นเกษตรกร บางคนเงิน 3-4 พันก็เยอะมาก รามคำแหงถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ค่าธรรมเนียม ค่าหน่วยกิตก็จะไม่ใช่แค่ 25 บาท ค่าบำรุงก็ไม่ใช่แค่ 800 บาท การที่จะมีเงิน 30,000 แล้วเรียนจบ มันไม่มีที่ไหนในประเทศนอกจากรามคำแหง” รองอธิการบดี กล่าว

หลากทรรศนะ ความจำเป็นของมนุษยศาสตร์

คำถามจึงกลับมาสู่ความสำคัญของวิชาสายมนุษยศาสตร์ในวันที่สาขานี้ถูกท้าทายด้วยมูลค่าทางตลาดทั้งในไทยและระดับโลก แม้วิชาสายภาษาในหลายมหาวิทยาลัยของไทยมีการปรับตัวเปิดหลักสูตรที่โยงกับการทำงานเช่น ภาษาเพื่อธุรกิจ หรือภาษาเพื่อการท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกสาขาวิชา

การตั้งคำถามถึงประโยชน์ของมนุษยศาสตร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในหนังสือเรื่อง The  humanities “crisis”  and the future of literary studies ของ Paul Jay เป็นหนังสือที่อรรถจักร์หยิบยกมาพูดในประเด็นวิกฤติของมนุษยศาสตร์ในปาฐกถาพิเศษของเขาที่งานการประชุมวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ครั้งที่ 12 “ถิ่น-โลกนิยมในมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2561 ที่มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน

บทนำของงานชิ้นดังกล่าวเขียนว่า การศึกษาด้านมนุษยศาสตร์ถูกตั้งคำถามมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1920 1940 1990 อย่างเมื่อทศวรรษ 1980-1990 ในสหรัฐฯ ก็มีการตั้งคำถามในประเด็นสถานภาพ ความจำเป็นต่างๆ ของขั้นตอนวิธีการสอน เช่น ควรให้ทฤษฎีและการเมืองมีบทบาทมากน้อยเพียงใดในการสอน เป็นคำถามที่ถูกตั้งโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม เมื่อมีสภาวะอาจารย์และนักเรียนที่ถืออุดมการณ์การเมืองคนละฝั่งลุกขึ้นมาใช้ทฤษฏีที่พวกฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่เข้าใจและตั้งคำถามที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ชอบ

พอลเห็นว่า ในยุคปัจจุบันที่ทั้งงบประมาณและคนสนใจเรียนมนุษยศาสตร์น้อยลง นักมนุษยศาสตร์และฝ่ายสนับสนุนไม่เพียงแต่จะวิพากษ์กระแสมนุษยศาสตร์ที่หันเหไปยังทักษะเชิงปฏิบัติ แต่ก็ควรหาทางตอบโจทย์เรื่องความสำคัญของการศึกษามนุษยศาสตร์ของนักศึกษา ผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงสังคมทั้งในแง่ขององค์ความรู้ทางมนุษยศาสตร์ที่บัณฑิตจะได้รับ และในแง่ของทักษะที่นักศึกษาสายมนุษยศาสตร์ได้รับจากทฤษฎีที่เรียน หรือวิธีการเรียนการสอนแบบวิพากษ์ให้ได้ด้วย

การต่อสู้กับข้อกังขาต่อสายมนุษยศาสตร์จึงเป็นการต่อสู้สองแนวรบ ทั้งการยืนหยัดเป็นตัวแสดงสำคัญในการบ่มเพาะการคิดที่วิพากษ์คุณค่าต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และอีกทางหนึ่งคือการรวบรวมเอาคุณค่าและทักษะของมนุษยศาสตร์ที่จับต้องได้ออกมาขับเน้นให้กับตัวผู้เรียน

ในบริบทของไทย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ให้ความเห็นว่า ควรมีการพูดคุยกันถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยให้มาก และเห็นว่าการเดินตามแรงอุปสงค์ของตลาดแรงงานอย่างเดียวไม่ใช่ทางเลือกที่ดี และเป็นเป้าหมายที่แข็งตัวเกินไปสำหรับการผลิตบัณฑิตที่บางครั้งก็ตลาดวายเสียก่อน

“ผมคือเด็กรุ่นที่คุณชาติชาย (ชุณหะวัน) จะพาประเทศไปสู่การเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย ยุคนั้นเด็กรุ่นผมใครเรียนสายวิทย์อยากเรียนวิศวะฯ หมดเลย เพราะมีโอกาสจากการลงทุนของนานาชาติและนโยบายรัฐ วิศวกรรมศาสตร์เลยบูม ต่อเนื่องมายุคฟองสบู่แตกที่อาจมีการชะลอตัวมาหน่อย ตอนนั้นก็มาพร้อมธุรกิจสิ่งพิมพ์ สื่อสารมวลชน นิเทศน์ศาสตร์ก็บูมตาม มันก็ไปตามการคาดการณ์ว่าตลาดงานจะเกิด แต่สุดท้ายมันก็คือปั๊มบัณฑิตออกมาเยอะ มีบัณฑิตเฟ้อกว่าตลาด”

“คงต้องกลับมาตั้งคำถามว่าเรามีมหาวิทยาลัยไว้ทำไม ถ้าเรามีไว้ผลิตแรงงาน มหาลัยก็ต้องเป๋ไปตามตลาดแรงงาน แต่ถ้าเรามีมหาวิทยาลัยเป็นกลไกในการผลักดัน สร้างความรู้สู่สังคมก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องสนับสนุนมหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้กระแสที่หนึ่งเหมือนจะแรงกว่าจึงคิดว่าต้องผลิตบัณฑิตตามตลาด แต่การคาดการณ์กระแสตลาดตอนนี้ก็เป็นการคาดการณ์บนความไม่แน่นอน เพราะเราไม่รู้ว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะมีงานประเภทนั้นเหลืออยู่ไหม ตลาดงานมันเปลี่ยนแทบจะทุกห้าปีด้วยซ้ำ ถ้าเอาตลาดงานเป็นตัวตั้งก็มีความสุ่มเสี่ยงสูงมากว่าจะผลิตบัณฑิตออกมาแล้วมีงานไม่ตรงกับที่เตรียมบัณฑิตออกไป สิ่งสำคัญคือมหาลัยคือต้องเตรียมคนให้มีทักษะหลากหลาย พร้อมที่จะเผชิญสถานการณ์ที่ผันผวนของโลกและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนเร็ว”

“ในขณะที่คนเราต้องการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ มันต้องมีมิติด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ถ้าจะเชื่อมต่อกับนานาชาติได้ก็ต้องมีคนที่รู้ภาษาที่เป็นสากล แต่ตอนนี้มันเอียงกะเท่เร่คือเป็นตลาดแรงงานตามการวางแผนจะเป็น 4.0 ของรัฐ น้ำหนักจึงเอียงไปยังเรื่องไอที วิศวกรรม”

“พอไม่จัดสมดุลให้ดีก็ทำให้การจัดวางกำลังคนผิดหมดเลย ทำให้งบประมาณมาทุ่มที่งานวิจัย การพัฒนาคณาจารย์ การสนับสนุนให้มีเครื่องไม้เครื่องมือการเรียนที่มีคุณภาพของสายวิทย์มาก แต่งบที่มาสนับสนุนให้คนไปเรียนภาษาที่สาม ที่สี่น้อยลง สาขาเหล่านี้ถ้าไม่มีโอกาสไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ความรู้เหล่านั้นก็จะไม่ได้เชื่อมต่อความเป็นนานาชาติเลย ทางสังคมศาสตร์ก็เหมือนกัน จะให้เรียนรัฐศาสตร์หรือสังคมวิทยาแค่ในเมืองไทยได้อย่างไร มันเป็นความรู้สากลที่ต้องแชร์กับเวทีนานาชาติ ภาษาอังกฤษไม่ได้ถูกใช้เป็นสื่อกลางตอนเรียนและเขียนวิทยานิพนธ์ก็ยิ่งทำให้อาจารย์อ่อนแอ พออาจารย์อ่อนแอลงสาขาวิชานี้ก็เลยอ่อนแอ เพราะมีผลต่อกัน”

“ถ้ามองตลาดงานคับแคบแค่งานที่มีการจ้างโดยเอกชนมันก็เป็นโจทย์ที่ผิด ถ้ามองว่าเป็นสาขาที่รัฐต้องรักษาความรู้เอาไว้ อย่างน้อยที่สุดต้องมีคนที่รู้เรื่องนี้กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาค ไม่ได้กระจุกอยู่ที่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เช่น พอจะหาคนที่ใช้ภาษาสเปนที่เป็นภาษาท็อปเท็นของโลกก็หาเจอแต่ในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ หรือปรัชญา เป็นสาขาที่คนมองข้ามที่สุดแล้ว จริงๆ มันเป็นศาสตร์กว้างที่ใช้พลิกแพลงได้เยอะ การเตรียมบุคลากรที่จบสายปรัชญาคือฐานที่จะไปต่ออะไรก็ได้ แต่ถ้าประเมินจากตำแหน่งงานมันไม่มีงานที่รับเด็กที่จบเอกปรัชญาหรอก แต่คนที่จบสาขานี้จะไปพลิกแพลงทำงานสารพัดอย่างได้เพราะมันคือการเรียนในลักษณะที่เป็น liberal art ไม่มีงานเฉพาะรองรับ แต่พลิกแพลงได้ตามเนื้องานอย่างหลากหลาย”

ในทางปฏิบัติ อรรถพลเสนอให้มหาวิทยาลัยทำงานเชิงรุกกับแหล่งทุนวิจัยและเอกชน ในส่วนสายวิชาที่มีความเป็นวิชาการก็ต้องรักษาเอาไว้ ซึ่งอรรถพลมองว่าผลผลิตของบัณฑิตจากสายมนุษยศาสตร์มีมูลค่าการตลาดที่สูงเช่นกัน แต่เป็นการลงทุนที่ไม่เห็นผลในระยะสั้น

“บางสาขาที่ตัวเองอาจไม่มีความพร้อมไปพักพิงกับตลาดงานโดยตรง มหาวิทยาลัยต้องให้น้ำหนักในการช่วยเหลือ ในมหาวิทยาลัยมันมีคณะสายวิชาชีพกับวิชาการ ซึ่งมีลักษณะที่ต่างกัน ถ้าเอาตลาดงานเป็นตัวตั้งคุณก็จะมองข้ามกลุ่มหลังเลย ทั้งที่จริงๆ มูลค่ามหาศาล คิดดูว่าคนจบโบราณคดีทำงานอะไร แล้วเมื่อวันหนึ่งคนจบโบราณคดีเขียนนิยายอย่างบุพเพสันนิวาสแล้วทำเงินมหาศาล ปลุกให้การท่องเที่ยวมันฟื้น มันคือการลงทุนกับคนที่เรียนสายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์โดยแท้ซึ่งคนไม่ได้เห็นผลระยะสั้น” อรรถพลกล่าว

ในงาน “มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติ(ไม่)ต้องการ” เมื่อ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา วัชระ สินธุประมา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเรื่องอนาคตการของสายมนุษยศาสตร์ที่น่าสนใจคือการทำงานร่วมกับวิทยาศาสตร์ในยุคดิจิทัลเรียกว่า มนุษยศาสตร์ดิจิทัลหรือ Digital humanity

อธิบายง่ายๆ ก็คือ เดิมการรับรู้ของมนุษย์ในแง่พื้นที่และเวลานั้นถูกจำกัด ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นตัวขยายการรับรู้และการเรียนรู้ของมนุษย์ทั้งในแง่พื้นที่และเวลา มนุษยศาสตร์ที่มีก็ต้องขยายไปรองรับ เช่น การมีประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์จักรวาล ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ส่วนตัว (personal history) เช่น ไทม์ไลน์ในเฟสบุ๊ค หรือวรรณคดี ความบันเทิงที่ได้รับอิทธิพลจากดิจิทัลเทคโนโลยี มีวรรณกรรมที่ผู้แต่งไม่ได้มีคนเดียว ไม่ได้เป็นผู้กุมอำนาจเหนือเรื่องเพียงผู้เดียว มีวรรณกรรมถามคนอ่าน คนอ่านอยากได้อย่างไร มีตอนจบหลายแบบ ผู้อ่านมีส่วนร่วมเข้ามาเขียนวรรณกรรม นั่นคือโลกของ Gen ใหม่ ถ้าวรรณคดีจะตอบสนองสุนทรียะของคนรุ่นใหม่ๆ ในยุคสื่อดิจิทัล

จอน วิลสัน รองคณบดีด้านการศึกษาที่คณะมนุษยศาสตร์และศิลปะ วิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์ด้านการศึกษา wonkhe กล่าวถึงความเป็นวิชาชีพของมนุษยศาสตร์ ตอบโต้ข้อเสนอเรื่องการศึกษาที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรที่บอกว่าวิชาที่มีประโยชน์น้อยกว่า ราคาถูกกว่าก็ควรจะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า โดยเขามองว่าทัศนะเช่นนี้ทำให้เกิดวาทกรรมลดทอนคุณค่ามนุษยศาสตร์ขึ้นมาในสังคม

จอนระบุว่านักการเมืองหลายคนมักพูดถึงวิชาอย่าง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ภาษาสมัยใหม่ว่าเป็นวิชาฟุ่มเฟือยและไม่คุ้มค่าที่จะได้รับการสนับสนุนมากเท่าแพทยศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าในทางวิชาชีพที่มนุษยศาสตร์มีในการสอน แต่จอนเชื่อว่ามนุษยศาสตร์สอนทักษะที่เป็นวิชาชีพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพียงแต่การวัดความเป็นวิชาชีพในปัจจุบันสะท้อนจากชื่อวุฒิปริญญาซึ่งมนุษยศาสตร์แข่งขันในสนามนี้ได้ยาก

รองคณบดีที่คิงส์คอลเลจเขียนยกตัวอย่างทักษะที่ใช้กับวิชาชีพต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการจัดการ การเจรจาต่อรอง และแน่นอน ทักษะการให้เหตุผลเชิงวิพากษ์ในระดับสูงซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นต่องานหลายประเภท เช่น ในแวดวงกฎหมาย การวิเคราะห์ด้านการเงิน การทำวิจัยเชิงนโยบาย งานข่าว ฯลฯ ต่างก็ล้วนแล้วแต่ต้องการงานวิจัยและการเล่าเรื่องในทางประวัติศาสตร์

จอนเสนอว่ามนุษยศาสตร์ควรเชื่อมโยงมิติด้านชีวิตและการงานเข้าไว้กับการเรียนการสอนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกลุ่มเพื่อพูดคุย ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักศึกษาเรื่องการจัดการการเรียนหรือเส้นทางอาชีพ เช่น กลุ่มศิษย์เก่า หรือไม่ก็ให้นักศึกษาไปอยู่ในบรรษัทหรือสถาบันที่พวกเขาจะได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้ความรู้ในภาคปฏิบัติ และแน่นอน การเรียนการสอนของสถานอุดมศึกษาก็ต้องปรับให้เข้ากับโลกยุคปัจจุบัน

ความคิดเชิงวิพากษ์ มีอยู่ในมนุษยศาสตร์ไทย?

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีเครื่องหมายคำถามตัวโตว่า มนุษยศาสตร์จะทำให้เกิดนักศึกษามีความคิดเชิงวิพากษ์ อันเป็นทักษะที่นักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์หลายคนยกให้เป็นเอกลักษณ์ของการเรียนการสอนสายนี้ได้จริงหรือ

อรรถจักร์ ในฐานะอาจารย์ด้านมนุษยศาสตร์เองก็ยังแสดงความกังวล เพราะเข็มการผลิตบัณฑิตของรัฐไทยไม่ได้มีเป้าประสงค์เช่นนั้นมาตั้งแต่แรก

“กรอบคิดของรัฐที่เดิมเน้นความมั่นคงของรัฐและต่อมาเริ่มผนวกเข้าด้วยความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้กลายเป็นพลังขวางกั้นความก้าวหน้าของการศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวคือ จากเดิมที่เน้นความมั่นคงของรัฐ ก็กีดกันและจำกัดให้การแสวงหาความรู้มิติอื่นๆ ที่จะช่วยให้สังคมเข้าใจพลวัตรที่สลับซับซ้อน ให้เหลือแต่เพียงความรู้ที่จะช่วยจรรโลงความมั่นคงของรัฐ เช่น การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็เป็นเพียงการศึกษาวีรบุรุษของท้องถิ่นที่อยู่ฝ่ายรัฐไทยเท่านั้น”

“ต่อมาเมื่อภัยคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์หายไป รัฐไทยเน้นกรอบคิดเศรษฐกิจที่เน้นเพียงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ได้ทำให้มองการศึกษาทุกอย่างเหลือเพียงมิติของการเรียนเพื่อทำงานในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่ได้มองถึงความเจริญงอกงามของสติปัญญาและความดีงามของสังคม การเน้นว่าหากจะเรียนอะไรมาต้องเป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน กระบวนการการจัดการศึกษาเช่นนี้จึงได้นำมาซึ่งปัญหามากมายที่แก้ไขได้ยากมากขึ้น ไม่ว่าเป็นการล่วงละเมิดพื้นที่สาธารณะ การขยายตัวของการเสพยาเสพติด ฯลฯ”

“คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าครั้งหนึ่งในอดีต ความรู้มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จำกัดตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ เพราะเป็นความรู้ที่ใช้ควบคุมและบงการคนที่อยู่ข้างล่าง แต่ในโลกปัจจุบันนี้  พัฒนาการของความรู้มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้หลุดออกจากกำมือของชนชั้นนำกลับมาสู่เป้าหมายหลักว่าเราจะเพิ่มความเข้าใจโลกและสังคมให้แก่คนธรรมดาสามัญอย่างไร เราจะหลุดออกจากการครอบงำของกรอบคิดชนชั้นนำอย่างไร ขณะเดียวกัน การศึกษาด้วยกรอบคิดใหม่เช่นนี้จะเอื้ออำนวยให้คนมีศักยภาพในการคิดและแสวงหาทางเดินของชีวิตตนเองได้ดีที่สุดอย่างไร การศึกษามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ปัจจุบันจึงเน้นให้ปัจเจกชนมีพลังในการตัดสินใจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เข้าใจถึงจริยธรรมลักษณะใหม่ที่ต้องมีในโลกปัจจุบัน”

“การคิดเชิงนโยบายอาจจะจำเป็นต้องทำให้ชนชั้นนำสามารถคิดและจินตนาการได้ว่า การศึกษาอะไรจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบ สันติและมีความสุข การเน้นถึงชนชั้นนำก่อนก็เพราะพวกเขาจำนวนน้อยนี้กำลังทำลายสังคมไทยไปด้วยความคิดที่ว่าพวกเขาคิดว่าพวกเขารู้มากที่สุด ฉลาดที่สุด แต่ในความเป็นจริงพวกเขาไร้เดียงสาต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากที่สุด ขณะเดียวกันคนทำงานทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในทุกระดับ ไม่ว่าครูบาอาจารย์ สื่อสารมวลชน ฯลฯ จำเป็นที่จะต้องเร่งทำงานเพื่อทำให้สังคมเห็นได้ว่าหากเราทอดทิ้งความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แล้ว เราจะเผชิญหากับความไม่รู้อันก่อปัญหาให้แก่สังคมโดยรวมอย่างลึกซึ้ง” อรรถจักร์กล่าว

0000

วันนี้เห็นชัดแล้วว่า ธงคำถามเรื่องบทบาทและความคุ้มค่าของการเรียนการสอนมนุษยศาสตร์ถูกชูขึ้นในหลายที่ทั่วโลกรวมทั้งไทย ภายใต้การปรับตัวของรัฐและมหาวิทยาลัยในไทยที่ดำเนินอยู่จะนำการศึกษาและผลผลิตใต้ร่มมนุษยศาสตร์ไปยังทิศทางใดยังคงเป็นปลายทางที่ยังมองไม่เห็น หรือแท้ที่จริงการเดินทางต่างหากที่สำคัญกว่าจุดหมาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท