Skip to main content
sharethis

ศาลชัยภูมิพิพากษาจำคุก 3 ชาวบ้านคดีทวงคืนผืนป่า ชดใช้ค่าเสียหายรายละร่วมแสน พร้อมให้ออกจากที่ดินทำกิน โดยได้ประกันตัว หลังญาติร้องขอช่วยเหลือเงินค่าปรับต่อกองทุนยุติธรรม 'ปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน' ชี้ "ทวงคืนผืนป่า" เป็นความเลวร้ายที่ตกอยู่บนความทุกข์ของชาวบ้าน เหตุเข้ามายึดที่ดินทำกิน แนะเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

29 ส.ค.2561 ศรายุทธ ฤทธิพิณ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่าเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 09.00 น ที่ห้องพิจารณา 4 ศาลพิพากษาจำคุก ทองปั่น ม่วงกลาง เป็นเวลา 9 เดือน 10 วัน พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท และหลังจากนั้นที่ห้องพิจารณาเดียวกัน ศาลพิพากษาจำคุก สมร สมจิตร เป็นเวลา 1 ปี ปรับค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 20,000 ให้ชดใช่ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 80,000 โดย สมร โทษจำคุกให้รอลงอาญา จำเลยได้ยื่นขอความอนุเคราะห์ต่อศาลเพื่อขอทำบำเพ็ญประโยชน์แทนการจ่ายค่าปรับ ศาลอนุญาตให้บำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 40 วัน

ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลพิพากษาจำคุก สุณี นาริน เป็นเวลา 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท

เมื่อกระบวนการอ่านคำพิพากษาสิ้นสุดลง จำเลยทั้ง 3 ราย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาล ควบคุมตัวไปยังห้องขัง กระทั่งเวลา 15.30 น. ได้รับอนุญาตจากศาลให้ประกันตัวออกมา ภายหลังจากที่ญาติของจำเลยได้ยื่นเอกสารทำหนังสือยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือจำนวนเงินค่าปรับต่อกองทุนยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ

ส่วนจำเลยรายต่อไปศาลจังหวัดชัยภูมินัดอ่านคำพิพากษาคดีของ วันชัย อาพรแก้ว ในวันที่ 29 ส.ค.61 และในวันที่ 30 ส.ค.61 ศาลจังหวัดชัยภูมินัดอ่านคำพิพากษาคดีของ สากล ประกิจ

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ศรายุทธ ระบุว่า เป็นอีกมุมหนึ่งของความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากข้อพิพาทที่ดิน สะท้อนให้เห็นถึงวงจรเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ซึ่งไม่เคยมีหลักประกันใดจะมารองรับให้ชาวบ้านที่เป็นเพียงเกษตรกรคนธรรมดาดำเนินชีวิตอยู่กับป่าได้ด้วยความปกติสุข "ทวงคืนผืนป่า" กลับกลายมาเป็นความเลวร้ายที่ตกอยู่บนความทุกข์ยากของชาวบ้าน เพราะสิงที่เกิดขึ้นคือการเข้ามายึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน ส่งผลความเดือดร้อนต่อการดำรงชีพ สิทธิที่เรียกร้องไม่ได้รับการสนใจในการแก้ไขปัญหา ทั้งถูกจับกุม ดำเนินคดี เหล่านี้หรือคือ ความต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า

หากมองอีกด้านของกรณีปัญหาคดีไทรทองนั้นเป็นคดีทางนโยบายที่หัวหน้าคณะ คสช.มีอำนาจสั่งการที่สามารถทำให้ปลดล็อคปัญหาคดีความและข้อพิพาทและความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินที่จะเกิดขึ้นได้ นั่นคือแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำแผนดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียว ร่วมกันปกป้องดูแลรักษาทรัพยากร อีกทั้งจะเป็นรากฐานสำคัญในการตอบสนองต่อชีวิตเพื่อให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ตามวิถีชุมชนด้วยความปกติสุขอย่างยั่งยืน และจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะนำไปสู่การยุติข้อพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทองกับชาวบ้าน รวมทั้งปัญหาทางด้านคดีความ

ในวันที่ 19 มี.ค.61 ได้มีการประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหากรณีการทับซ้อนที่ดินทำกินระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทองกับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ทั้ง 5 ชุมชน ในพื้นที่ ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธาน และอัยการจังหวัดชัยภูมิ(ที่ปรึกษาประธานคณะทำงานฯฝ่ายกฎหมาย)และตัวแทนชาวบ้านจาก 5 ชุมชน พร้อมผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมพญาแล ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ โดยชาวบ้านได้นำเสนอแผนการจัดการที่ดินฯ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปกป้องฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรให้อุดมสมบูรณ์ ด้วยการนำไม้ยืนต้นมาปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และจะมีการเพาะพันธุ์กล้าไม้ไว้เป็นส่วนรวมของชุมชน นอกจากนี้ได้มีการจัดการระบบการผลิตพืชผักสวนครัวในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ลงตามแปลงที่ทำกินแต่ละรายของชาวบ้าน เป็นต้น

ศรายุทธ ระบุด้วยว่า หัวใจหลักของแผนที่จะนำไปสู่ความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข้ปัญหาเพื่อผลักดันให้สามารถเป็นหลักประกันความมั่นคงและการถือครองที่ทำกินอย่างยั่งยืน และจะเป็นความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งจะเป็นหลักประกันในด้านสุขภาพและชีวิตที่ดีของชาวบ้าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนกับป่าที่อาศัยพึ่งพากันนั้น กับมีเพียง 2 คน ที่ไม่เห็นด้วย คือผู้แทนจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7(นครราชสีมา) และผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง นอกนั้นทั้งรองผู้ว่าฯและอัยการจังหวัดชัยภูมิ ต่างมีมติรับรองแผนการจัดการที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ด้วยกันทุกคน

"ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่ธาตุแท้ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้อย่างชัดเจนได้ว่า ปิดกั้นไม่ยินดีให้ประชาชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์และอาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วยความปกติสุข เหล่านี้หรือไม่ที่เป็นการทวงคืนผืนป่า และอีกสักกี่รายที่ชาวบ้านคนจนๆที่เป็นเพียงเกษตรกรธรรมดา ต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้บุกรุกที่ดิน" 
ศรายุทธ ระบุ

ทั้งที่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 2 – 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ปักหลักชุมนุมเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา กระทั่งได้มีการบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้แทนพีมูฟ เกิดข้อตกลงในแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กขป.5 ขึ้นมาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยคณะทำงานฝ่ายละ 5 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการจังหวัด,อนุกรรมการกระทรวงทรัพย์ฯ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาพีมูฟ และอนุกรรมการ กขป.5 เพื่อร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่สถานภาพปัจจุบันกระบวนการแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่ทั้งนี้จนถึงปัจจุบันไม่มีการเร่งรัดตัดสินใจทางนโยบายโดยมติคณะรัฐมนตรีร่วมกัน กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ส.ค.61 ได้มีการประชุมอนุกรรมการติดตามการแก้ปัญหาพีมูฟของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศระบบราชการฯ (กขป.5) คณะที่ 13 ครั้ง 1/2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ (รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน)

เหมราช ลบหนองบัว คณะกรรมการของพีมูฟ กล่าวว่า มติที่ประชุมในวันดังกล่าว ประธานได้แจ้งว่าเจตนารมณ์การทวงคืนผืนป่าได้วางแนวปฏิบัติเพื่อดำเนินการกับนายทุน แต่เมื่อเกิดปัญหากระทบกับชาวบ้าน จึงได้มีมติร่วมกันว่า จะพิจารณาเพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมและกำหนดแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้ดำเนินการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ผู้ยากไร้ ยากจนให้ชัดเจน คำสั่งที่ 66/57

คณะกรรมการ พีมูฟ ระบุอีกว่า กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองฟ้องดำเนินคดีชาวบ้านจำนวน 14 ราย ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ และอนุ กขป.5 พิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะทำงานระดับจังหวัดเมื่อวันที่ 19 มี.ค.61 เพื่อแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือด้านคดีความที่อยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรม และแผนการจัดการที่ดินฯก็ได้มีการแต่งตั้งให้มีคณะทำงานพื้นที่ร่วมกัน 10 คน ซึ่งมีการลงพื้นที่ในวันที่ 3 ก.ย.61 นี้

“นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ (สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ)เร่งรัดประสานงานให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย พิจารณาสถานภาพเกษตรกร ตามหลักเกณฑ์วิทยุสั่งการ กอ.รมน. ร่วมกับผู้เดือดร้อน พิจารณารับรองสถานภาพเกษตรกรผู้ถูกดำเนินคดี ทั้ง 14 ราย ตามนัยคำสั่ง คสช.ที่ 66/57 อีกทั้งผู้แทนอัยการก็ให้ความเห็นต่อการแก้ไขปัญหาออกมาแนวดีพอสมควร โดยจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 ป.วิ อาญา 208 ในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ พร้อมกับจะรวบรวมข้อมูลทำหนังสือถึงประธานอนุกรรมการฯ (สุวพันธ์) เพื่อประสานต่อกระทรวงยุติธรรมให้” เหมราช กล่าวเสริม

ถือเป็นนิมิตรหมายดีในการที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางออกแนวทางแก้ไขข้อพิพาทที่ยืดเยื้อมายาวนาน รวมทั้งปัญหาด้านคดีความกับชาวบ้าน จะมีมาตรการที่เข้มข้นและจริงใจอย่างไรนั้น เพื่อให้สามารถปลดล็อคคดีความทางนโยบายได้ แม้สถานภาพปัจจุบันกระบวนการแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เพราะความสมบูรณ์ที่สามารถเชื่อมั่นได้ว่า คสช.จริงใจแค่ไหนในการร่วมแก้ไขปัญหานั้น ต้องให้มีการเร่งรัดตัดสินใจทางนโยบายโดยผ่านมติของคณะรัฐมนตรี

แต่การที่ชาวบ้านถูกศาลชัยภูมิพิพากษาในวันนี้ (28 ส.ค.) เพิ่มอีก 3 ราย เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า เพราะความล่าช้า เพิกเฉย ไม่ยินยอมให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาทางนโยบาย ใช่หรือไม่ ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปอีก จะพบว่ารัฐไม่เคยมีมาตรการที่เป็นธรรมในการแก้ไขปัญหา ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทองกลับอ้างความชอบธรรมโดยอาศัยอำนาจทางกฎหมาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องดำเนินคดีความอาญา กับชาวบ้าน จำนวน 14 ราย 19 คดี ฐานความผิดบุกรุกป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504

"รัฐต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยปราศจากการทวงคืนผืนป่า ไล่คนออกจากพื้นที่ และดำเนินคดี" ศรายุทธ เสนอท้ายรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net