Skip to main content
sharethis

งานวิจัยจากฮาร์วาร์ดในวารสารประเด็นโลกร้อนระบุ สารอาหารในพืชผลลดลงในที่ๆ มีคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมาก หากยังคงสภาพเดิมต่อไปอาจกระทบ 175 ล้านคนอาจขาดธาตุเหล็ก-สังกะสี  ในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ทวีปเอเชีย-แอฟริกา โดนหนัก

ที่มาภาพ (pixabay)

28 ส.ค. 2561 งานวิจัยล่าสุดนำโดยวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด ที.เอช. ชาน เปิดเผยว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นจากกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์กำลังทำให้พืชผลที่เป็นอาหารหลักต่างๆ เช่น ข้าว และข้าวสาลี มีปริมาณสารอาหารลดลง  โดยงานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่ในวารสารเกี่ยวกับโลกร้อน 'เนเจอร์ไคลเมทเชนจ์' (Nature Climate Change) เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา

มีการประเมินว่าการที่พืชผลมีสารอาหารลดลงเช่นนี้อาจส่งผลในระยะยาว ทำให้ภายในปี 2593 ประชากรโลก 175 ล้านคนจะเกิดภาวะขาดแร่ธาตุสังกะสี และประชากร 122 ล้านคนเกิดภาวะขาดโปรตีนได้ งานวิจัยดังกล่าวระบุอีกว่าผู้หญิงและเด็กมากกว่า 1,000 ล้านคน มีโอกาสได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอในแต่ละวันจนทำให้เกิดความเสี่ยงโรคโลหิตจางและโรคอื่นๆ ได้

งานวิจัยคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2593 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงถึง 550 ในล้านส่วน ทำให้ผู้คนขาดสารอาหารดังกล่าวและผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารอยู่แล้วอาการอาจจะแย่ลง โดยประเทศที่น่าจะได้รับผลมากที่สุดคืออินเดีย ในภูมิภาคอื่นๆ คือกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง ก็จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

แซม ไมเออร์ส ผู้นำการวิจัยในครั้งนี้กล่าวว่า การวิจัยของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่มนุษย์กระทำในชีวิตประจำวันนั้นส่งผลต่อเรื่องสารอาหารในพืชผลและสุขภาวะของผู้คนในอนาคตได้

ในปัจจุบันมีประชากรโลก 2,000 ล้านคนที่มีภาวะขาดสารอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมนุษย์จะได้สารอาหารหลักๆ มาจากพืชไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ธาตุเหล็ก และสังกะสี แต่การสำรวจก็พบว่าก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในชั้นบรรยากาศทำให้พืชมีสารอาหารน้อยลง โดยการสำรวจในพื้นที่ๆ มีคาร์บอนไดออกไซด์ในสิ่งแวดล้อมสูง 550 ในล้านส่วน (ppm - หน่วยวัดค่ามลพิษในอากาศต่ออากาศจำนวนหนึ่งล้านส่วน) พบว่าสารอาหารในพืชทั้งโปรตีน เหล็ก และสังกะสี ลดลงร้อยละ 3-17 เมื่อเทียบกับพื้นที่ๆ มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า 400 ในล้านส่วนเล็กน้อย

นักวิจัยได้ทำการสำรวจในเรื่องดังกล่าวใน 151 ประเทศ ร่วมกับการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับการได้รับสารอาหารไม่ว่าจะเป็นอายุหรือเพศโดยทำการสำรวจในอาหาร 225 ชนิด เป็นการขยายผลจากงานวิจัยเดิมที่เคยวิจัยเรื่องเดียวกันแต่สำรวจจำนวนชนิดอาหารและจำนวนประเทศที่น้อยกว่า

เรียบเรียงจาก

As CO2 levels climb, millions at risk of nutritional deficiencies, Phys, Aug. 27, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net