ภาคประชาสังคมเผย พนักงานบริการไม่มีส่วนร่วมในการแก้กฎหมายค้าประเวณี

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จวก พม. จัดเวทีรับฟังความเห็นแก้กฎหมายค้าประเวณี แต่แทบไม่มีตัวแทนพนักงานบริการเข้าร่วม ชี้อาจขัดรัฐธรรมนูญ เผยไม่ได้รับเชิญในเวทีรอบสองหลังเสนอให้เพิ่มสัดส่วนพนักงานบริการในการรับฟังความเห็นรอบถัดไป

วันที่ 28 สิงหาคม 2561 มูลนิธิเอ็มพาวร์ร่วมกับองค์กรเครือข่ายและนักกิจกรรม ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องการแก้กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่จัดโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) โดยระบุว่า ตามที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวง พม.ได้จัด “ประชุม เพื่อฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อการทบทวนกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ครั้งที่ 1 เมือวันที่ 24 เมษายน 2561 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมประชุมมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สภาเด็กและเยาวชน และผู้สังเกตการณ์ กว่า 200 คน 

กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีบังคับใช้มาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี แล้ว ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย   พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่บังคับใช้เกิน 5 ปี ที่กฎหมายบังคับใช้ หรือเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุง แก้ไข ยกเลิกกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีการนำเสนอผลการศึกษากฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณีของต่างประเทศและมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการ แนวทาง และเนื้อหาสาระในการปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมาย

ทั้งนี้ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนพนักงานบริการได้เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว  เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 พบว่าสัดส่วนผู้มาร่วมจาก 200 คน ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ ในส่วนของประชาสังคมมีอยู่เพียง 5 คนจาก 5 องค์กร ทางมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ได้เสนอความคิดเห็นในการจัดเวทีในครั้งต่อไปว่า ควรมีชุมชนพนักงานบริการมาร่วมแสดงความคิดเห็น และเปิดช่องทางการแสดงความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะมีพนักงานบริการมากกว่า 300,000 คนในประเทศไทย ต่อมาพบว่าทาง สค.ได้จัดประชุมรับฟังครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 แต่ทางมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนพนักงานบริการไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม และไม่มีข้อมูลสาธารณะทางเว็ปไซด์จึงไม่สามารถประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชนพนักงานบริการได้มีโอกาสเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ 

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 77 วรรคสอง บัญญัติว่า "ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผย ผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลกระทบจากการออกกฎหมาย แต่ปรากฏว่า ชุมชนพนักงานบริการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกลับไม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมวิเคราะห์ ประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายปรามการค้าประเวณีที่ผ่านมา 

พวกเราจึงมีความกังวลว่ารายงานความคิดเห็นดังกล่าวที่มีการจัดทำขึ้นนั้น ชุมชนพนักงานบริการยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การดำเนินการของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวในการจัดทำรายงานครั้งนี้จึงไม่เป็นไปตามหลักการที่บัญญัติตามรัฐธรรมนูญ  อีกทั้งในเดือนกรกฎาคม 2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี(CEDAW Committee of Experts)มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ (ข้อ 27(a)) เรื่อง ขอให้แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ยกเลิกความผิดทางอาญาต่อหญิงใน การค้าประเวณี เรามีความเห็นว่าการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของพนักงานบริการเท่านั้นจึงจะทำให้รัฐบาลไทยสามารถที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ยกเลิกความผิดทางอาญาในการค้าประเวณีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และผู้ร่วมลงนามท้ายจดหมายนี้จึงขอให้ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนชุมชนพนักงานบริการและพนักงานบริการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการทบทวนกฎหมายที่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ต่อไป

องค์กรภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวประกอบด้วย 1. มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์  และ แคนดูบาร์ 2. มูลนิธิผู้หญิง 3. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ 4. มูลนิธิ ธีรนาถ กาญจนาอักษร 5. เครือข่ายสุขภาพและโอกาส 6. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ 7. เครือข่ายสุขภาพชาติพันธ์บนพื้นที่สูง 8. นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมรณรงค์สิทธิมนุษยชนอิสระ 9. ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมรณรงค์สิทธิมนุษยชนอิสระ 

ชัชลาวัลย์ เมืองใจ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นรอบที่ 1 กล่าวกับประชาไทว่าเธอรู้สึกว่าพนักงานบริการเป็นชนกลุ่มน้อยในเวทีดังกล่าว เพราะในบรรดาผู้ร่วมอภิปรายกว่า 200 คน มีตัวแทนของชุมชนพนักงานบริการอยู่เพียง 5 คนเท่านั้น นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นคนจากหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้รูปแบบการแสดงความคิดเห็นก็เป็นคำถามปลายปิด แทนที่จะเป็นการถามถึงปัญหาและความต้องการของพนักงานบริการจริงๆ

“มันไม่ใช่เวทีให้แสดงความคิดเห็นแบบเปิด แต่เน้นความเห็นแค่ใช่หรือไม่ เช่นเขาถามเราว่า ‘เห็นด้วยหรือไม่ถ้าจะมีการเก็บภาษีพนักงานบริการ’ ‘เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการลงทะเบียนพนักงานบริการ’ หรือถามว่า ‘ถ้าจะมีการจัดระเบียบพนักงานบริการให้จัดระเบียบอย่างไร’ คือเขาไม่ได้ถามลงไปถึงแกนของปัญหา ข้อจำกัด หรือความคิดเห็นเราเลยว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง” ชัชลาวัลย์กล่าว

ด้วยความกังวลว่าเวทีดังล่าวจะไม่สะท้อนความเห็นของพนักงานบริการได้มากเพียงพอ ชัชลาวัลย์จึงบอกกับคนจัดงานว่าเวทีครั้งต่อไปควรจะจัดในพื้นที่ที่มีพนักงานบริการอยู่เยอะ เช่นกรุงเทพฯ หรือพัทยา เพื่อให้พนักงานบริการจริงๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงความเห็น เธอขอให้ผู้จัดงานแจ้งกับเธอเรื่องการจัดเวทีในรอบที่สอง เพื่อทางมูลนิธิเชิญพนักงานบริการมาเข้าร่วมด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่มีการติดต่อกลับมา
“เราขอเขาว่าให้มีพนักงานบริการจริงๆ เข้ามาฟังด้วย เขาก็รับปากไป แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้รับแจ้ง เราบอกเขาด้วยว่าให้บอกเราถ้าจะจัดเวทีรอบหน้า จะได้พาพนักงานจริงๆ มาร่วม แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการตอบกลับ โผล่มาอีกทีคือเราเห็นในเฟสบุ๊คว่าเขาจัดเวทีรอบสองไปแล้ว เราก็เลยคิดว่านี่เป็นประเด็นที่เราต้องตาม เพราะเราเป็นห่วงว่าทิศทางของเวทีเสวนาอาจจะไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานบริการจริงๆ” ชัชลาวัลย์กล่าว

หนึ่งในข้อเรียกร้องของคณะกรรมการ CEDAW ต่อรัฐบาลไทยคือให้ยุติการล่อซื้อพนักงานบริการทุกรูปแบบ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท