Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หากคุณเป็นแฟนการ์ตูนสยองขวัญยุคใหม่ คุณจะต้องคุ้นเคยชื่อของจุนจิ อิโต้ ในฐานะนักวาดการ์ตูนแนวสยองขวัญชื่อดังที่สุดด้วยเรื่องราวที่แปลกพิลั่น เจ้าของลายเส้นเลื่อนไหลไปตามเสียงกรีดร้องของเบื้องลึกของจิตใจ บอกเล่าความบิดเบี้ยวด้วยงานศิลปะส่งถึงผู้อ่าน หนึ่งในการ์ตูนที่โดดเด่นของอิโต้ คือ การ์ตูนรวมเล่มชุด “คลังสยองขวัญลงหลุม” ซึ่งมีตอนย่อยที่เล่าถึงเรื่องราวของ “โทมิเอะ” และตัวโทมิเอะ นี่เอง ที่เป็นเจ้าของลักษณะพิเศษราวกับเธอถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านผู้ชายที่ช่างสรรหาวิธีมาครอบครองเธอโดยเฉพาะ 

เราคงเคยผ่านตามาบ้างกับนวนิยาย หรือวรรณกรรมที่พยายามสร้างตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะที่แหวกขนบทางเพศ แม้แต่ในวรรณคดีไทยในสภาพสังคมที่มีความเข้มข้นทางปิตาธิปไตยเอง ลักษณะการแหวกขนบดังกล่าวก็ยังมีปรากฏให้เห็น เช่นตัวละครนางยักษ์อย่างผีเสื้อสมุทร ที่แสดงออกผ่านความพยายามในการเข้าครอบครองพระอภัยมณีและทำให้เป็นสมบัติของตน นับว่าผิดวิสัยอย่างยิ่งในฐานะผู้หญิงในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ จุดจบของผู้แหวกขนบดังกล่าว จึงเป็นความตายด้วยน้ำมือของผู้ชายหรือกล่าวคือผู้ถือครองอำนาจในระบบปิตาธิปไตยนั่นเอง

นอกจากนี้ สังคมยังมุ่งเน้นไปที่การกำหนดกรอบให้มีบทบาทในฐานะ “ผู้นำ” หรือ “ผู้ดูแล” โดยธรรมชาติ ดังนั้นในความเป็น Binary opposition อันว่าด้วยคู่ตรงข้ามชาย-หญิง แล้ว เมื่อผู้ชายถูกกำหนดให้เป็นผู้นำ ผู้หญิงจึงถูกวางตำแหน่งให้เป็นผู้ตามอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งตำแหน่งผู้ตามนั้นถูกกำหนดด้วยกรอบประเพณีในนามของความเป็นเมียและแม่ มีหน้าที่เพียงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเท่านั้น
แน่นอน จุดจบของตัวละครหญิงที่มีพฤติกรรมขัดหรือแย้งจากกรอบปิตาธิปไตย จะได้รับ "โทษทัณฑ์" ของผู้แหวกขนบอย่างสาสม ทั้งความตาย ความวิกลจริต การสูญเสียต่าง ๆ หรือหากจะปราณีต่อตัวละครสักหน่อย ตัวละครหญิงผู้แหวกขนบเหล่านั้นก็จะถูกดึงกลับมาอยู่ในขนบปิตาธิปไตย เช่น ในเรื่อง "อุ้มบุญ" นางเอกที่มีลักษณะขัดแย้งกับอุดมการณ์ปิตาธิปไตย ไม่เชื่อและไม่ศรัทธากับระบบครอบครัว ท้ายที่สุดตัวละครนี้ก็ถูกดึงเข้าสู่ระบบของปิตาธิปไตยด้วยการมอบบทบาทของ "แม่" ให้เธอ เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับโทมิเอะ ด้วยเหตุนี้ ตัวละครโทมิเอะจึงน่าสนใจในมิติของตัวละครผู้ต่อต้านระบบปิตาธิปไตยนั่นเอง

การเกิดใหม่และแผ่ขยายอำนาจเพื่อท้าทายอำนาจปิตาธิปไตย

ความตายเป็นสิ่งเดียวกันที่เกิดขึ้นกับตัวละคร "โทมิเอะ" ภาพลักษณ์ของหญิงสาวเปี่ยมเสน่ห์ บ้าวัตถุ อารมณ์ร้าย และเจ้ามารยา รวมทั้งนิสัยเอาแต่ใจ เย่อหยิ่ง ชอบเอาชนะ ทั้งหมดคือคุณสมบัติอันขัดแย้งอย่างยิ่งต่ออุดมการณ์ของสังคมปิตาธิปไตยที่มักถือครองผู้หญิงในฐานะสมบัติส่วนตัว การกำหนดให้ผู้หญิงมีหน้าที่เพียงรับการครอบครองจากผู้ชายนั้น เป็นเพียงความเป็นภาวะความเป็นหญิงซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติที่ติดตัวมาทางชีววิทยา แต่เป็นอัตลักษณ์ที่สังคมสร้างสรรค์ขึ้นและคาดหวังให้มนุษย์เชื่อฟังและปฏิบัติตาม อัตลักษณ์ทางเพศสภาวะจึงมีบริบทเฉพาะทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดและกำกับเสมอ (สุชาดา ทวีสิทธิ์,๒๕๕๐) 

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติอันขัดแย้งกับอุดมคติของตัวละครโทมิเอะนั้นก็เป็นคุณสมบัติเดียวกันที่ผู้ชายในเรื่องหลงรักและพยายามเข้าช่วงชิงความเป็นเจ้าของในตัวเธอทุกวิถีทาง ตั้งแต่การเอาอกเอาใจ ทำตามคำขอของเธอราวกับต้องมนต์ ไม่ว่าเธอจะต้องการวัตถุหรืออาหารที่มีราคาแพงเพียงใดก็ตาม และความเอาแต่ใจของเธอก็ได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ คุณลักษณะอันขัดแย้งกับกับอุดมคติที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายโอนอ่อนผ่อนปรนและตอบสนองความต้องการของผู้ชายของโทมิเอะถูกนำเสนอในฐานะ “เสน่ห์” และการได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอต้องการโดยผู้ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นราวกับทาสก็คือผู้ชายที่เคยถือครองอำนาจในการเรียกร้องและได้รับ ก็นับเป็นการ “เย้ยหยัน” ระบบปิตาธิปไตยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ความทะนุถนอมของผู้ชายที่ศิโรราบต่อเธอจะเริ่มกลายเป็นความคลุ้มคลั่งอยากครอบครองด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมัดหรือล่ามโซ่เธอ กระทั่งกรีดหน้าเธอให้เสียโฉมเพื่อเธอจะได้เป็นสมบัติของเขาคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว กระทั่งชำแหละเธอจนเละไม่ต่างจากเนื้อสับ ซึ่งสะท้อนความคิดที่ว่า ในทัศนะคติของผู้ชายเป็นใหญ่และมองผู้หญิงในฐานะเป็นสมบัติส่วนตัว (Private property) ความตายยังจะกลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่เธอได้รับเมื่อการเข้าครอบครองไม่เป็นผล ศพของเธอยังถูกบรรจุไว้ในกล่องแล้วโบกปูนทับเพื่อกักขังการไปผุดไปเกิดเพื่อเป็นการยืนหยัดถึงการจำกัดเสรีของเธอในระดับวิญญาณ อำนาจของผู้ชายจึงยังคงความมั่นคงไว้ ถ้าเพียงแต่เรื่องจบลงเท่านี้

ทว่าเธอฟืนคืนชีพ

กี่ชิ้นที่เธอถูก "หั่น" เพื่อระบายความอัดอั้นต่อความล้มเหลวในฐานะของผู้ชาย จะก่อกำเนิดเป็นเธอขึ้นมาอีกคน ยิ่งหากเธอถูกสับโดยละเอียดในโทษฐานที่เธอไม่ยอมศิโรราบ ชิ้นส่วนของอวัยวะที่ถูกหั่น จะงอกออกมาเป็นโทมิเอะตามจำนวนชิ้นส่วนนั้น ๆ ดังเช่นที่เธองอกขึ้นมาใหม่จากหัวใจที่ถูกชำแหละไปโยนทิ้งน้ำ สภาพอากาศหรือภูมิประเทศก็ไม่มีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตหรือการ “งอก” ของเธออีกด้วย หากการฆ่าหมายถึงการทำลายสิ่งใด ๆ ก็ตามที่จะสั่นคลอนฐานอำนาจของความเป็นชาย (ยิ่งในสังคมญี่ปุ่นที่ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงทำหน้าที่แค่เป็นแม่บ้านซึ่งงานของเธอหนักไม่ต่างจากทาส) การกำเนิดใหม่ในจำนวนที่มากกว่าเดิม โดยไม่แยแสเงื่อนไขของภูมิอากาศหรือภูมิประเทศ ก็ถือได้ว่าเป็นการปลดปล่อย (Liberation) ผู้หญิงจากโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จากชุดและค่านิยมและวิถีจารีตปฏิบัติ  ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง ซึ่งทั้งสะท้อนและผลิตซ้ำปิตาธิปไตยการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิงหรือผู้ที่มีเพศหญิงนั่นเอง

การไร้ซึ่งเงื่อนไขในการจำกัดการเกิดใหม่ของเธอ หากมองในแง่ของ Eco – feminist ที่อธิบายลักษณะร่วมของผู้หญิงและธรรมชาติในฐานะของผู้ถูกกระทำโดยธรรมชาติ ที่จะถูกรุกรานและครอบครองโดยมนุษย์ และผู้หญิงจะถูกช่วงชิงอำนาจและเข้าครอบครองโดยผู้ชายเช่นกัน ดังนั้นเราจะเห็นว่า การที่โทมิเอะสามารถ “งอก” แม้จะอยู่ในน้ำลึก หรือท่ามกลางหิมะหนาวเหน็บ โดยไร้ซึ่งเสื้อผ้าปกป้องร่างกาย แต่สภาพอากาศก็ไม่ได้ทำร้ายเธอ นับได้ว่าเป็นความร่วมมือระหว่างผู้หญิงกับธรรมชาติ ในการตอบโต้ต่อผู้ที่เคยเข้าครอบครองและวางตนเหนือกว่า ให้กลับมาอยู่ภายใต้อำนาจของพวกเธอแทน ถึงแม้ว่าตัวละครดังกล่าวจะถูกมองความสามารถเธอในฐานะปีศาจ ในฐานะเครื่องมือที่ล่อลวงใจมนุษย์ออกจากแนวทางของความดีงามที่สถาปนาโดยผู้ชายก็ยังเป็นการกล่าวโดยนัยว่า อำนาจของผู้หญิงนั้นสามารถแผ่ขยายไปครอบครองได้ทุกที่เช่นกันกับผู้ชาย ทว่าทรงพลังกว่านักด้วยมีพลังจากธรรมชาติคอยสนับสนุนนั่นเอง

ผู้หญิงในฐานะผู้ต่อต้านการประกอบสร้างวาทกรรมและความจริงของผู้ชาย

เรื่องราวของโทมิเอะเริ่มต้นขึ้นหลังเหตุการณ์ฆ่าหั่นศพของเธอผ่านไป อาจารย์ชายผู้เป็นตัวตั้งตัวตีหลักในการพยายามสร้างชุดความเชื่อขึ้นมาใหม่ว่าแท้จริงแล้ว โทมิเอะถูกสังหารโดยฆาตรกรโรคจิต หาใช่การร่วมมือกันฆ่าหั่นศพโดยสมาชิกทั้ง 42 ของห้อง โดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย ในส่วนของนักเรียนและอาจารย์ชายนั้น ประเด็นที่น่าสนใจ คือการสร้างชุดความจริงประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์และเหตุผลอันชอบธรรมในการสังหาร 

การปรากฏตัวของโทมิเอะจึงไม่ใช่เพียงการยืนยันการมีชีวิตอยู่ของเธอเท่านั้น หากแต่เป็นการยืนยันซึ่งสิทธิและพื้นที่ของผู้หญิง และการไม่สยบยอมต่ออำนาจวาทกรรมและการประกอบสร้างความ (ไม่) จริงอย่างเข้มแข็งภายใต้ใบหน้าและรอยยิ้มอันอ่อนโยนอีกด้วย รอยยิ้มอันอ่อนโยนอันเป็นอัตลักษณ์ของผู้หญิงตามการประกอบสร้างของสังคมนั้น ยังเป็นการนำเสนอมิติใหม่ด้วยว่า แม้เพศสภาวะจะเกิดจากการประกอบสร้างทางสังคมที่เอื้อสิทธิ์ให้กับผู้ชายมากกว่า ผู้หญิงก็ยังสามารถยืนหยัดในพื้นที่อำนาจนั้นได้โดยไม่ต้องอาศัยการอ้างอิงการแสดงออกอย่างเพศชายอย่างการออกรบหรือแสดงซึ่งความห้าวหาญใด ๆ เลย

“ความเอาแต่ใจ” ในฐานะการต่อต้านกรอบปิตาธิปไตย

ต่อมาในส่วนของนักเรียนหญิง คำกล่าวหนึ่งที่น่าสนใจว่า “ผู้หญิงเขารู้ทันกัน และเขาเกลียดหน้ากัน” การแสดงออกอย่างอิสระของโทมิเอะ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบมีความสัมพันธ์กับอาจารย์ไปพร้อม ๆ กับนักเรียนชายในห้องและการได้รับการปฎิบัติราวกับเจ้าหญิงที่นักเรียนหญิงคนอื่น ๆ ไม่มีทางได้รับด้วยเหตุว่าไม่มีความกล้าพอที่จะก้าวออกจากพื้นที่ความคาดหวังของสังคมปิตาธิปไตยได้ การร่วมมือกันฆ่าหั่นศพโทมิเอะด้วยนั้น จึงเป็นการระบายออกทางอารมณ์อันอัดอั้นต่อทั้งกรอบของสังคมรวมทั้งลงโทษโทมิเอะด้วยความริษยาที่เธอได้รับอภิสิทธิ์ในการเมินกรอบของสังคมได้อย่างอิสระและสิทธานุมัติทางสังคมไม่มีผลใด ๆ ต่อเธอ

นอกจากนี้ เราจะเห็นภาพผู้ชายจำนวนมากที่เข้ามารุมล้อมเอาใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารรสชาติดีมาให้ หรือการเอาอัญมณีต่าง ๆ มากำนัล หากผู้ชายคนไหนไม่สนใจ โทมิเอะก็จะใช้เสน่ห์ของเธอทำให้ผู้ชายที่เมินเธอกลับมาสนใจและคลุ้มคลั่งในตัวเธอได้ในที่สุด ลักษณะเหล่านี้เป็นการตอบโต้ระบอบปิตาธิปไตยที่จำกัดกรอบผู้หญิงให้วางตัวอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ผ่านตัวละครโทมิเอะที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องด้วยความเอาแต่ใจอย่างไม่มีขอบเขต แต่ไม่เพียงจะไม่ถูกลงโทษตามระบอบปิตาธิปไตยแล้ว (เห็นได้ชัดว่าระบอบนี้ฆ่าเธอไม่ได้ เนื่องจากเธอสามารถฟื้นคืนชีพได้เรื่อย ๆ) บทลงโทษยังสะท้อนกลับไปยังผู้ชายที่เป็นเจ้าของอำนาจปิตาธิปไตยแต่เดิมอีกด้วย

หากพิจารณาร่วมกับลักษณะของวรรณกรรมรูปแบบเดิมที่กำหนดทิศทางให้ตัวละครหญิงที่ไม่ปฏิบัติตามกฎของสังคมชายเป็นใหญ่ได้รับบทลงโทษ และหนึ่งในบทลงโทษนั้นคือการทำให้ตัวละครหญิงวิกลจริต การเกิดใหม่ของโทมิเอะ รวมทั้งความงามของเธอที่สามารถปั่นประสาทผู้ชายได้อย่างรุนแรงเสียจนตัวละครชายหลายตัวตกอยู่ในสภาพวิกลจริตหรือถึงแก่ชีวิตแทน เราจึงอาจกล่าวได้ว่า เธอคือตัวแทนของการ "เอาคืน" แนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมอย่างสาสมนั่นเอง

“ความงาม” ในมิติของอำนาจ

ความงาม เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่ถูกนำมาใช้ในการรับรองหรือสนับสนุนสถานะความเป็นชายในบริบทสังคมชายเป็นใหญ่ การได้ครอบครองผู้หญิงที่มีรูปลักษณ์งดงามถือเป็นความภาคภูมิใจและความสำเร็จหนึ่งของผู้ชาย แน่นอนว่าตัวละครโทมิเอะมีพร้อมด้วยคุณสมบัติดังกล่าว แต่ความงามไม่ได้มีเพียงเพื่อเป็นฐานรองรับอำนาจของผู้ชายเท่านั้น แต่กลับนำมาซึ่ง “อำนาจ” ของเธอแทน และเป็นอำนาจที่ทำให้ผู้ชายทุกคนสยบยอมต่อคำสั่งของเธอทุกประการ อำนาจดังกล่าวยังเข้าไปตอกย้ำโดยตรงต่อลักษณะของตัวละครชายที่มีพร้อมทั้งรูปโฉมและฐานะว่า “ต่อหน้าความงามของฉัน อย่างคุณมันต่ำยิ่งกว่าต่ำอีกหรอกย่ะ” 

คำพูดดังกล่าวของโทมิเอะที่กล่าวต่อนายแบบระดับต้น ๆ ของวงการ ทั้งยังมีทัศนะคติว่าผู้หญิงเป็นเพียงเครื่องประดับฐานะของตนอันเป็นความคิดทั่วไปในสังคมชายเป็นใหญ่นั้น จึงไม่ต่างอะไรกับการ “ตบหน้า” ระบบปิตาธิปไตยเสียเต็มฝ่ามือ

แน่นอน เมื่อความงามคืออำนาจ และมันสั่นคลอนอำนาจปิตาธิปไตยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายแบบคนดังกล่าวถูกชายลึกลับกรีดหน้าจนเสียโฉม ความหล่อเหลาอันนำมาซึ่งสถานะทางสังคม,เศรษฐกิจ และอำนาจของเขาหมดลง การทำลายความงามของโทมิเอะลงจึงเป็นการคงไว้ซึ่งอำนาจของปิตาธิปไตยด้วยทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้ความงามของเธอมามีอำนาจเหนือเขา เธอถูกกรีดหน้าเพื่อให้เสียโฉม แต่ไม่ถึงข้ามคืน บาดแผลจากการถูกกรีดใบหน้าก็ประสานกันอย่างรวดเร็ว การกลับคืนมาของความงามโดยอาศัยเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ จึงเป็นการยืนหยัดถึงความงามและอำนาจอันเป็นอมตะ ในขณะที่ฝ่ายชายที่ถูกคนลึกลับกรีดหน้ายับนั้น บาดแผลกลับไม่สามารถสมานกันได้ และทำให้อำนาจต่าง ๆ ที่เขาเคยครอบครองต้องสูญเสียไปตลอดกาล

นอกจากนั้น การนิยามความงามยังเป็นไปตามความนิยมของสังคมนั้น ๆ ที่มุ่งผลิตซ้ำความงามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งออกมาให้ยอมรับโดยทั่วกัน  รวมทั้งมีความหมายเลื่อนไหลไม่ตายตัว สิ่งที่เคงามในช่วงเวลาหรือในสังคมหนึ่ง อาจไม่ใช่ความงามในห้วงเวลาหรือสังคมอื่น ๆ ก็ได้ เมื่อความงามมีเงื่อนไขเลื่อนไหลไม่ตายตัว ทำให้ความงามมีนิยามที่หลากหลาย ความงามจึงไม่ได้มีแค่ตามรูปแบบของโทมิเอะเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ โทมิเอะจึงสร้างนิยามของความงามโดยมีเธอเท่านั้นที่เป็นศูนย์กลางของความงามทั้งปวง ผ่านการ “ทำลาย” ความงามรูปแบบอื่น ๆ แล้วเปลี่ยนทุกคนให้มีความงามอ้างอิงแบบเธอ เช่น หากมีใครนำเส้นผมของเธอไปไว้บนศีรษะ เส้นผมนั้นจะฝังลงในหนังศีรษะและเปลี่ยนเจ้าของร่างนั้นให้กลายเป็นโทมิเอะ หรือหากมีใครเปลี่ยนถ่ายอวัยวะของเธอ ร่างกายของผู้ที่ได้รับอวัยวะนั้นก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นโทมิเอะเช่นกัน 

หากย้อนไปยังอดีต ความงามแต่เดิมจะถูกนิยามและอ้างอิงโดย “ผู้ชาย” ผู้หญิงชนเผ่าเซอร์มาในเอธิโอเปีย ใช้แผ่นประดับปากทำด้วยดินเผา ยิ่งแผ่นใหญ่มากเท่าไหร่พ่อแม่ผู้หญิงก็สามารถเรียกค่าสินสอดได้มากขึ้นเท่านั้น หรือการสร้างเท้าดอกบัว ซึ่งไม่เพียงจำกัดการเคลื่อนไหวแต่ยังส่งผลให้ช่องคลอดบีบรัดแน่นขึ้น ทำให้การมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่รัดเท้าให้ความรู้สึกเหมือนมีเซ็กซ์กับผู้หญิงบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนั้น การนิยามความงามแต่เดิม จึงเพื่อสนับสนุนและรองรับความต้องการของผู้ชายเท่านั้น

การที่ความงามของโทมิเอะถูกนำเสนอในมิติของอำนาจ การให้เธอกลายเป็น “นิยามหลัก” ของความงามอันไม่ศิโรราบหรือวางตัวเองลงในฐานะเครื่องมือแสดงสถานะของผู้ชาย รวมทั้งการ “กำจัด” ผู้หญิงที่ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของระบอบปิตาธิปไตยทางใดทางหนึ่ง ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาของวรรณกรรม – วรรณคดีในอดีตที่เนื้อหาจะมุ่งลงโทษตัวละครที่ “เบี่ยงเบน” ออกจากบรรทัดฐานของปิตาธิปไตยแล้ว การโต้กลับโดยการลงโทษผู้หญิงที่ “ติดกรอบ” ความคิดแบบปิตาธิปไตยผ่านการส่งต่อ “ความงาม” และ “ทัศนคติ” จึงนับเป็นการโต้กลับการใช้ความงามตามนิยามเดิมของระบบปิตาธิปไตยนั่นเอง

ผู้หญิง กับการแข่งขันเพื่อครอบครองพื้นที่

หากมองย้อนกลับไปยังนิยายหรือวรรณกรรมแนวผจญภัยแล้ว เราจะเห็นการแสดงความเป็นชายผ่านการเข้าป่าล่าสัตว์ ซึ่งเป็นการแสดงออกของทั้งสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าของผู้ชาย รวมทั้งการจำกัดพื้นที่ของผู้หญิงให้อยู่แต่ในบ้าน ส่วนผู้ชายนั้นออกไปเสาะแสวงหาความท้าทาย โดยนำเสนอภาพลักษณ์ของป่าที่พวกเขาเข้าไปแสวงหาและครอบครองพื้นที่นั้นในฐานะของ “ความเป็นอื่น”  (Otherness) ทั้งยังพิสูจน์ตัวเองด้วยการเอาชนะด้วยความรุนแรงเพื่อแสดงอำนาจความเหนือกว่า

ในเวทีการแข่งขันเพื่อช่วงชิงพื้นที่และอำนาจนั้น ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงพื้นที่เหล่านั้น แต่กลับถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่เพียงในบ้านและก้นครัว และปล่อยให้การแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นเป็นพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น ส่วนนี้เองที่น่าสนใจเมื่อในเรื่องราวของโทมิเอะ ผู้ชายกลับถูกกีดกันจากเวทีการต่อสู้ หรือหากจะมีบทบาท เขาก็เป็นได้แค่เครื่องมือเพื่อชัยชนะของผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งแสดงออกผ่านลักษณะนิสัยอันน่าสนใจของเธอนั่นคือ แม้เธอจะแยกร่างและเกิดใหม่ได้นับครั้งไม่ถ้วน แต่โทมิเอะแต่ละร่างนั้น จ้องจะทำลายกันเพื่อให้ตนเองกลายเป็นโทมิเอะเพียงหนึ่งเดียว ความเป็นชายขอบที่ผู้ชายเคยใช้ในการจำกัดพื้นที่ของผู้หญิง จึงตกไปอยู่ที่ผู้ชายแทน

ผู้หญิงกับความท้าทายต่อวิทยาศาสตร์

ฉากหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องราวของโทมิเอะ ที่บอกเล่าให้ผู้อ่านทราบถึงการ “ทดลอง” ของเธอที่พยายามเปลี่ยนผู้หญิงคนอื่น ๆ ให้หน้าเหมือนผ่านการฉีดเซลล์ของเธอเข้าไป พร้อมกันกับการทดลองลักษณะอื่น ๆ อันเป็นการแสดงความวิปลาสของเธอ กระทั่งสร้างมนุษย์ให้กลายเป็นครึ่งคนครึ่งหนอน ในแง่หนึ่ง เราสามารถมองได้ว่า ลักษณะเหล่านี้คือการสร้างภาพของผู้หญิงที่มีพฤติกรรมแหวกขนบปิตาธิปไตยว่าวิกลจริต ซึ่งมันไม่ต่างอะไรกับภาพการผลิตซ้ำผู้หญิงที่ต่อต้านกรอบปิตาธิปไตยในวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องถูกมองในแง่ร้ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าว กระทำขึ้นเพียงเพื่อสนองความต้องการของเธอต่อบุคคลอื่นเท่านั้น ไม่ได้มีนัยยะเพื่อนำไปสู่ผลหรือความคาดหวังใด ๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจึงอาจมองได้ว่า เป็นการท้าทาย “วิทยาศาสตร์” อันเป็นเรื่องราวของเหตุและผล ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับกรอบของปิตาธิปไตยแล้วเราจะพบว่า ผู้หญิงถูกจัดวางให้เป็นผู้ที่ใช้อารมณ์เป็นหลัก และให้การใช้ความคิดและเหตุผลเป็นเรื่องของผู้ชาย ดังนั้น การนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อสนองความวิปลาสส่วนตัวของโทมิเอะ ก็เป็นการยืนยันว่า “ผู้ชาย” นั้น เป็นได้แค่เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือกระบวนการในการสร้างความหฤหรรษ์แก่เธอเท่านั้น รวมทั้งวิทยาศาสตร์นั่นเองที่เป็นตัวการทำให้หญิงเคราะห์ร้ายที่เป็นเหยื่อทดลองของโทมิเอะต้องมีรูปร่างบิดเบี้ยว จึงเป็นการตอบโต้ระบบปิตาธิปไตยว่า ผู้ชายต่างหาก ที่เป็นสาเหตุของความเดือดร้อน หาใช่ผู้หญิงแต่อย่างใด

อีกคุณสมบัติหนึ่งที่น่าสนใจของเธอ นั่นคือ โทมิเอะสามารถเอามือลงไปกวนน้ำซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสารเคมีที่ใช้ในการทดลองที่มีฤทธิ์เป็นกรดกัดกร่อนรุนแรงได้อย่างสบายใจ ผิวหนังของเธอไม่ถูกทำลายด้วยกรดนั้น ซ้ำเธอยังเอาปลาทองของเธอไปเลี้ยงในนั้นด้วย เมื่อพิจารณาร่วมกับฉากหนึ่งที่เธอถูกโรงพยาบาลจังฉายรังสีเพื่อทำลายเซลล์โทมิเอะ แต่กลับทำให้เซลล์นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นร่างกายของโทมิเอะเต็มตัวแล้วเราจะพบว่า การผูกผู้ชายไว้กับเหตุและผล(วิทยาศาสตร์) ได้แสดงนัยยะของความ “พ่ายแพ้” ต่อคุณสมบัติเฉพาะตัวของโทมิเอะที่เธอสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งปวงของระบบปิตาธิปไตยได้ อำนาจของเหตุและผล กระทั่งวิทยาศาสตร์เอง ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเธอโดยที่ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้เลยเท่านั้น

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการ์ตูนเรื่อง “คลังสยอง ขวัญลงหลุม” ในช่วงตอน “โทมิเอะ” นั้น ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวสยดสยองผ่านลายเส้น แต่ยังเป็นการสร้างมิติของผู้หญิงที่ไม่สยบยอมต่อปิตาธิปไตย โดยวางเธอให้เหนือกว่าเงื่อนไขของปิตาธิปไตยทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นความตาย ข้อจำกัดทางธรรมชาติ อำนาจในการประกอบสร้างวาทกรรมประดิษฐ์ หรือแม้กระทั่งในเชิงสัญญะว่าด้วยความเป็น Binary Opposition อันผูกเหตุและผลให้อยู่ในตัวผู้ชายผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ และผูกอารมณ์ให้อยู่ในตัวผู้หญิง  ซึ่งทำให้เราเห็นถึงความน่าสนใจในตัว“โทมิเอะ” ในฐานะตัวละครที่มีมิติในการตอบโต้และต่อต้านอำนาจของปิตาธิปไตยได้โดยสมบูรณ์ตัวหนึ่ง

บรรณานุกรม
Jackson, Beverly .1997.Splendid slipper: A thousand years of an Erotic Tradition, Berkeley: Ten Speed Press.
จุนจิ อิโต้.(2533).คลังสยองขวัญลงหลุม.กรุงเทพฯ : ลักพิมพ์.
ธันวา เบญจวรรณ.(2553). เรือนร่างและความงาม การพิจารณาร่างกายและความงามผ่านอุดมการณ์.https://prachatai.com/journal/2010/08/30873.(สืบค้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560).
นฤพล ด้วงวิเศษ.(2558) “รื้อสร้างมายาคติ” ความเป็นชายในสังคมไทย. http://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/articles/3. (สืบค้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560).
สุชาดา ทวีสิทธิ์.(2550).ผู้หญิง ผู้ชาย และเพศวิถี : เพศสภาวะในงานมานุษยวิทยา.วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 1/2550.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net