ส่องไทม์ไลน์ 'พ.ร.บ.ยา' พร้อมข้อถกเถียงจากฝั่งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่าง กม.ใหม่

ชวนดูไทม์ไลน์ พ.ร.บ.ยา ฉบับแรก สู่ร่าง พ.ร.บ.ปัจจุบัน พร้อมข้อถกเถียงของฝั่งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย สพศท. ชี้ ประชาชนเข้าถึงยาง่าย ต้นทุนไม่เพิ่ม ส่วนยาอันตรายมีเภสัชกรควบคุมอยู่แล้ว 'เครือข่ายพยาบาล' เห็นด้วยหากระบุหน้าที่ชัดเจนไม่ก้าวก่ายกัน ชี้บุคลากรขาดแคลน ด้านชมรมเภสัชชนบท กังวลยาแก้อักเสบหาซื้อง่าย ใช้ไม่ถูกอาจดื้อยาจนถึงเสียชีวิต

ที่มาภาพ pixabay.com

ไทม์ไลน์ พ.ร.บ.ยา

ปี 2510

- พ.ร.บ.ยา ฉบับแรก  เทคโนโลยีขยายตัว จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย

ปี 2549

- มีร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

- ครม. สมัยพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ รับหลักการ

- ส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา (สคก.) จัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับ สคก. (โดยใช้เวลาถึง 8 ปี)

ปี 2555

- ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน โดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะได้ปรับปรุงจากฉบับ สคก.

- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ในสมัยนั้นต้องลงนามภายใน 30 วัน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน แต่ไม่มีการลงนาม

ปี 2557

- หลังรัฐประหาร การดำเนินการทุกอย่างหยุดชะงัก

- 21 วัน หลังรัฐประหาร กระทรวงสาธารณสุขนำร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ สคก. เผยแพร่ เกิดการทักท้วงเนื้อหาบกพร่อง ให้ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ ‘เภสัชกร’ สามารถจ่ายยาได้

- นำสู่การตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง อย. และสภาเภสัชกรรม จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย.และสภาเภสัชกรรมขึ้น และแก้ไขเป็นร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับกระทรวงสาธารณสุข ในที่สุด แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อ

ปี 2561

- มีร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. ซึ่งร่างโดยสำนักยา โดยนำ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาแก้ไขปรับปรุงบางส่วน แล้วยังเติมหมวดว่าด้วยกระบวนการอนุญาตตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ แก้ปัญหา อย. ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพล่าช้า โดยให้ อย. สามารถเก็บค่าการขึ้นทะเบียนได้ และอนุญาตให้ใช้และเพิ่มค่าตอบแทนแก่ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกได้

- ถูกทักท้วงจากองค์กรต่างๆ ว่า ควรใช้ ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับกระทรวงสาธารณสุข

- อย. จึงได้นำ ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับกระทรวงสาธารณสุข มาเติมหมวดว่าด้วยกระบวนการอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 77/2559 แล้วนำออกรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 31 ก.ค.

- แม้มีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือ คำนิยาม และการให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้ ทาง นพ.วันชัย สันติยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ได้กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกับเนื้อหา 90% ของ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ส่วนที่เห็นต่าง เลขาธิการ อย. กล่าวว่า จะให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปรับแก้ได้ภายหลัง ซึ่งอาจจะออกมาเป็น ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ หรือกฎหมายฉบับรองก็ได้

ประชาไทชวนดูข้อถกเถียงและเหตุผลระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับนี้

ฝ่ายเห็นด้วย

สพศท. ชี้ ประชาชนเข้าถึงยาง่าย ต้นทุนไม่เพิ่ม ส่วนยาอันตรายมีเภสัชกรควบคุมอยู่แล้ว

 

สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ได้ออกแถลงการณ์ สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ กล่าวโดยสรุปแล้วคือการชี้ว่า ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่เอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยา โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น การมาพบแพทย์แล้วนำใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยา และไม่ได้ทำให้ต้นทุนการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ส่วนยาอันตรายซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ง่าย จะมีการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะแต่ในโรงพยาบาลซึ่งมีเภสัชกรควบคุมดูแลอยู่แล้ว ในส่วนคลินิกเอกชน มีกฎหมายเฉพาะในการควบคุมยาในกลุ่มเหล่านี้เช่นกัน

เนื้อหาของแถลงการณ์ระบุดังนี้

แพทย์มีหน้าที่ ในการ ตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรค ดังนั้น การที่แพทย์จ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วยรายนั้น คือ ขั้นตอนหนึ่งในประกอบวิชาชีพเวชกรรม มิใช่การ “ขายยา” ให้แก่ประชาชนทั่วไป มิได้ก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพสาขาอื่นแต่อย่างใด ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ของ อย.จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม และดูแลรักษาผู้ป่วยของแพทย์ซึ่งได้กระทำอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้ง ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ยังคงอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ผู้มาทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคกับแพทย์ สามารถเข้าถึงยา โดยมิต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น การมาพบแพทย์แล้วนำใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยา และพ.ร.บ.ยาฉบับนี้ มิได้ทำให้ต้นทุนการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ยาที่แพทย์จ่ายให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรคให้แก่ผู้ป่วยรายนั้น เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว ผ่านนำเข้าและการผลิตจากโรงงานซึ่งมีเภสัชกรควบคุมการผลิต จึงเชื่อได้ว่าเป็นยาที่ปลอดภัย แพทย์มิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการผลิตแต่อย่างใด และแพทย์ก็มั่นใจที่จะสั่งจ่ายยาที่ผ่านการผลิตจากเภสัชกรให้กับผู้ป่วยของตนเอง

ในส่วนยาอันตราย วัตถุเสพติดและยาควบคุมต่างๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ง่ายนั้น ยาเหล่านี้จะมีการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะแต่ในโรงพยาบาลซึ่งมีเภสัชกรควบคุมดูแลอยู่แล้ว ในส่วนคลินิกเอกชน มีกฎหมายเฉพาะในการควบคุมยาในกลุ่มเหล่านี้เช่นกัน จึงเชื่อมั่นได้ว่าพรบ.ยาฉบับใหม่นี้จะสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับประชาชนได้แม้จะเปิดโอกาสให้ทุกวิชาชีพสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายของตนเองได้

อย่างไรก็ตาม แพทย์ยินดีร่วมกันทำงานกับทุกสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยการทำงานร่วมกันในสายวิชาชีพสุขภาพมีส่วนงานที่ทับซ้อนกัน การให้ความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ด้วยน้ำใจไมตรีที่เอื้ออาทรต่อกัน จะทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด

ดังนั้น สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย ขอสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.ยา ที่คุ้มครองประชาชน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง วิชาชีพด้านสุขภาพ

'เครือข่ายพยาบาล' เห็นด้วยหากระบุหน้าที่ชัดเจนไม่ก้าวก่ายกัน ชี้บุคคลากรขาดแคลน

 

พีพีทีวีรายงานว่า สราวุฒิ ที่ดี อดีตประธานเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข แสดงความเห็นว่าสำหรับพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ตนเห็นด้วยถ้ามีการกำหนดหน้าที่งานไม่ให้ก้าวก่ายกันชัดเจน เพราะพยาบาลก็ไม่ได้อยากจ่ายยา ไม่ได้อยากเปิดร้านขายยา แต่ที่ต้องทำหน้าที่จ่ายยาเพราะบุคลากรไม่เพียงพอ

สราวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพยาบาลต้องจ่ายยาให้ผู้ป่วยเรื้อรัง และต้องจ่ายยาสามัญประจำบ้าน จึงอยากให้ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ คุ้มครองบุคลากรพยาบาลด้วย ซึ่งหากอยากให้เกิดความยุติธรรม ในโรงพยาบาลต้องมีบุคลากรเภสัชกรให้ครอบคลุมซึ่งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ยาหลายอย่างพยาบาลต้องทำหน้าที่จ่ายให้กับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล

สราวุฒิ กล่าวว่า ถ้าจะให้ดี พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ต้องชัดเจนในการทำหน้าที่ และแต่ละวิชาชีพต้องห้ามก้าวก่ายการทำหน้าที่กัน แต่เพราะประเทศไทยบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนทำให้เกิดการทำงานดังที่กล่าวมาข้างต้น

“เพราะบุคลากรขาดแคลน และในเมื่อในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พยาบาลจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้ แล้วทำไมจ่ายในคลินิกพยาบาลไม่ได้” สราวุฒิ กล่าว

ฝ่ายไม่เห็นด้วย

'ชมรมเภสัชชนบท' กังวลยาแก้อักเสบหาซื้อง่าย ใช้ไม่ถูกอาจดื้อยาจนถึงเสียชีวิต

 

กนกพร ธัญมณีสิน ผู้แทนชมรมเภสัชชนบทกล่าวว่า กลุ่มเภสัชที่ทำงานต่างจังหวัดจะเจอปัญหาที่เกี่ยวกับคนไข้ใช้ยาไม่เหมาะสมเยอะ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ นอกจากไม่ได้แก้ไขในส่วนนี้ ยังเปิดช่องทำให้เกิดการกระจายยาที่ไม่เหมาะสมได้มากขึ้น

กนกพรเล่าเคสที่เจอบ่อยคือยาแก้อักเสบ ที่หาซื้อได้ง่าย ที่กล่องยาก็จะมีรูปที่สื่อให้ชาวบ้านเข้าใจผิดได้ เช่น เป็นรูปมดลูก เวลาชาวบ้านปวดท้องก็จะไปซื้อยากลุ่มนี้มากิน ทั้งที่ยากลุ่มนี้เป็นยาปฏิชีวนะ ต้องควบคุมเรื่องการใช้ มีหลายเคสที่แพ้ยาแล้วต้องมารักษาที่โรงพยาบาล หรือมีเคสที่เป็นวัณโรค แล้วดื้อยาเนื่องจากการกินยาไม่ถูกประเภท ทำให้ไม่สามารถใช้ยาตัวไหนรักษาได้เลย หรือกรณีที่เกิดการแพ้ยาจนกระทั่งเสียชีวิตก็เคยเกิดขึ้น

กฎหมายเดิมเปิดให้เวชกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ สั่งจ่ายยา แต่ ร่าง พ.ร.บ. นี้ระบุว่าผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์สาขาต่างๆ ด้วย

ขณะที่ยามีอยู่หลายประเภท มียาที่ต้องควบคุมดูแลโดยเภสัชกรในการส่งมอบ ต้องมีการซักประวัติว่ามีการแพ้ยาไหม หรือดูว่ากินยาอะไรอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้ยาตีกัน หรือจะต้องใช้วิชาชีพในการที่จะจ่ายยาแต่ละเคสของคนไข้

นอกจากนี้การส่งเสริมการขายยายังอาจทำให้ยามีราคาแพงสูงขึ้นด้วย เช่น การสนับสนุนการไปดูงานต่างประเทศ การมอบรางวัล เมื่อมียอดการสั่งจ่ายยาเพิ่มขึ้น เหล่านี้เป็นเรื่องการส่งเสริมการขายซึ่งจะเป็นมูลค่าที่นำไปเพิ่มในตัวยา โรคอย่างความดัน เบาหวาน ซึ่งกลายเป็นโรคปกติของคนไทย หากยาเหล่านี้แพงขึ้นคนก็จะไม่สามารถซื้อได้

กนกพรเน้นในเรื่องของการต่ออายุทะเบียนตำรับยา ซึ่งสามารถทำได้ทุก 7 ปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้มีการทบทวนทะเบียนตำรับยาหรือต่ออายุใบอนุญาต เธอชี้ว่าอาจมีกรณีที่คนไข้กินยาตัวนี้หลายคนแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งแสดงว่ายาตัวนี้อันตราย แต่การต่ออายุก็สามารถทำได้โดยไม่มีข้อกำหนดใดๆ ในการพิจารณาต่ออายุ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องโฆษณายา พ.ร.บ.ยา ปัจจุบัน มีเงื่อนไขการอนุญาต ต้องมีข้อความอย่างไร เผยแพร่ในช่องทางไหน ให้ทางเจ้าหน้าที่ อย. ตรวจสอบก่อน แต่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ สามารถโฆษณาได้โดยการจดแจ้งทางเว็บไซต์ นั่นหมายความว่าทาง อย. ไม่ต้องตรวจสอบก่อน แต่ก็ถือเป็นการโฆษณาโดยได้รับอนุญาตแล้ว

ส่วนอีกกรณีที่เป็นกังวลคือ กรณีที่ผู้ปฏิบัติการสามารถปฏิบัติการได้หลายแห่งในเวลาที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน กนกพรอธิบายว่า ข้อกังวลของเราก็คือ เภสัชกรหนึ่งคนอาจสามารถปฏิบัติงานได้หลายแห่ง และร้านขายยาก็จะไม่มีเภสัชกรประจำอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น เภสัชกรคนหนึ่งทำงานที่ร้านขายยา A เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ทำงานที่ร้านขายยา B อีก 3 ชั่วโมง ทำงานที่ร้านขายยา C อีก 3 ชั่วโมง โดยที่แต่ละร้านจะมีช่วงเวลาที่ไม่มีเภสัชกรดูแลอยู่ แต่ก็ยังสามารถประกอบกิจการได้เพราะมีเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการแล้วตามข้อกำหนดของกฎหมาย

 

 

*แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 31 ส.ค. 61 เวลา 9.57 น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท