การจัดการความหลากหลาย: บทเรียนจากประเทศออสเตรเลีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่ถูกสร้างและหล่อหลอมโดยผู้อพยพจากชาติพันธุ์วรรณนาอันหลากหลายตั้งแต่การอพยพโดยกลุ่มผู้อพยพจากอังกฤษครั้งแรกในปี 1787 จนถึงรุ่นต่างๆจากยุโรปใต้ในช่วงหลังสงครามโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามเวียตนามและช่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จีนในยุคตื่นทอง และแอฟริกาในช่วงสงครามกลางเมือง ทั้งนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ติดตามครอบครัว นักศึกษาต่างชาติ ผู้ย้ายเข้ามาทำงานและกลุ่มต่างๆอีกมากมาย หากเรามองภาพโครงสร้างประชากรของประเทศออสเตรเลีย เราจะเห็นถึงการเติบโตของกลุ่มประชากรออสเตรเลียนที่เกิดนอกประเทศออสเตรเลีย หลังปี คศ.1953 อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความหลากหลายจึงเป็นธรรมชาติของสังคมออสเตรเลียที่รัฐบาลในแต่ละยุคต้องเรียนรู้และวางนโยบายให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในความหลากหลายในแต่ละช่วงเวลา

 

 

รัฐบาลออสเตรเลียมองเห็นความสำคัญของการจัดการความหลากหลายของประชากรออสเตรเลีย โดยเฉพาะในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับกลุ่มผู้อพยพที่มีความหลากหลายในด้านภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์วรรณนา การศึกษา ทักษะ ศาสนา เพศสภาพ มุมมองทางการเมือง และความเชื่อ มีความเป็นรูปธรรมและมีนโยบายมากกว่าในอดีต ถึงแม้ว่า การจัดการความหลากหลายในสังคมออสเตรเลียจะมิใช่เรื่องใหม่ ทว่า แนวทางในการจัดการความหลากหลายของกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในด้านต่างๆนั้นมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากแนวทางการเปิดประเทศเพื่อรับผู้อพยพของรัฐบาลออสเตรเลียที่มีให้กับคนสามกลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้อพยพด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Ground) กลุ่มผู้อพยพติดตามครอบครัว (Family Ground) และ กลุ่มผู้อพยพด้านทักษะและเศรษฐกิจ (Skills and Economic ground) โดยในอดีตกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองอาจมีจำนวนมากที่สุด และ อาจจะเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือในการบูรณาการสู่สังคมออสเตรเลียมากกว่ากลุ่มผู้ผู้อพยพด้านทักษะและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามทักษะที่มีความจำเป็นในการใช้ชีวิต และ การผสานกันระหว่างกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายและกระบวนการที่ มีความเหมาะสม นโยบายทางสังคมที่จะประสพผลสำเร็จในการหลอมรวมประชากรที่มีความหลากหลายจะต้องมาจากความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศออสเตรเลีย (Multicultural Affairs, 2016)

ประเด็นสำคัญที่นำเสนอในบทความนี้คือ แนวคิด วิธีการ ในการหลอมรวมประชากรที่มีความหลากหลายภายในประเทศออสเตรเลีย โดยศึกษาจากมุมมองในเชิงนโยบาย และ การปฏิบัติ ที่ส่งเสริมการจัดการความหลากหลายในประเทศออสเตรเลียโดยประเด็นหลักคือ นโยบายในเชิงสังคมในรูปแบบไหนที่ช่วยให้ประเทศออสเตรเลียบูรณาการผู้คนที่มีความหลากหลายเข้ามาไว้ในประเทศเดียวกันโดยที่ผู้คนกลุ่มต่างๆยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิมของวัฒนธรรมของตน และยังคงปฏิบัติตามกฏหมายและวิถีชีวิตในแบบออสเตรเลียนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ  (Where there are conflicts in cultural behaviours, Australian law and values must prevail, but otherwise we welcome the diversity that people can bring from being born elsewhere)

ดังนั้น คำถามที่ท้าทายผู้กำหนดนโยบายด้านการจัดการสังคมก็คือ วิธีการที่รัฐบาลออสเตรเลียใช้ให้เกิดความประสานกันระหว่างกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศออสเตรเลียคืออะไร? การจัดการแบบไหนที่เป็นบทเรียนที่ดีให้กับประเทศไทยในช่วงการบูรณาประชากรในช่วงที่เมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนทางโครงสร้างทางสังคม?

การจัดการนโยบายเพื่อความหลากหลายในอสเตรเลีย

กระบวนการที่ต่อเนื่องและมีความสำคัญที่สุดคือการเตรียมนโยบาย ทรัพยากร และ บุคคลในระดับรัฐที่พร้อมที่จะสนับสนุนและเตรียมให้ผู้อพยพมีความพร้อมที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย นโยบายทางสังคมที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในสังคมของออสเตรเลียคือ การจัดการความหลากหลาย (Diversity Management) ซึ่งเป็นนโยบายทางสัมคมที่รัฐบาลทั้งในระดับประเทศและในระดับรัฐให้ความสำคัญในการปฏิบัติโดยบูรณาการเข้ากับนโยบายสังคมในแทบจะทุกด้าน

ในทางทฤษฎีนั้น การจัดการความหลากหลายเป็นมากกว่าการมองเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคลในองค์กร หรือ สังคมที่ตนอยู่ แต่เราจำเป็นต้องมองไปถึงกระบวนการในการสร้างและยอมรับอัตตลักษณ์ของปัจเจกในสังคม (Kirton and Greene, 2010)การใช้ทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายในสังคม และ รวมไปถึงการสร้างผลิตผลและความเจริญงอกงามจากความหลากหลาย (Bell and Hartmann, 2007)

ในทางปฏิบัตินัน ประเทศออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการจัดการคนให้พร้อมที่จะเข้ามอยู่ในสังคมออสเตรเลีย เช่นเดียวกันกับการเตรียมคนที่อยู่ในออสเตรแล้วให้พร้อมกับการเข้ามอยู่ของคนกลุ่มใหม่ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลในระดับประเทศและระดับรัฐของออสเตรเลียต้องมีการวางแผน กำหนดทรัพยากร และ บุคลากรเพื่อ การเตรียมโครงการพัฒนากลุ่มผู้อพยพเข้ามาใหม่ตั้งแต่ก่อนการย้ายถิ่นฐานมายังประทศออสเตรเลีย โดยเน้นเรื่องของการฝึกอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการให้ข้อมูลทั่วไป เช่น การเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษา เป็นต้นความรู้เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมให้ผู้อพยพในด้านมนุษยธรรม (ส่วนกลุ่มที่มีทักษะจะต้องผ่านการทดสอบจนมีทักษะในการใช้ชีวิตได้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาต่างชาติที่คุ้นเคยกับออสเตรเลียดีแล้ว)

การสร้างโอกาสในการใช้ชีวิตให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลเป็นนโยบายที่สำคัญในการส่งเสริมความหลากหลายในออสเตรเลีย เมือผู้อพยพเข้ามาอยู่ในออสเตรเลียแล้ว สิทธิในการเข้าถึงการเรียนภาษาอังกฤษจำนวนห้าร้อยชั่วโมง การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การลงทะเบียนเรียนต่อในสถาบันการศึกษา หรือการเทียบคุณวุฒิทางวิชาชีพที่ผู้อพยพอาจจะเคยทำมาในประเทศของตน จะเป็นขบวนการที่เป็นรูปธรรมที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับกลุ่มผู้ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ในออสเตรเลีย และในเวลาเดียวกันชาวออสเตรเลียนก็สามารถมีส่วนร่วมในการเป็นอาสาสมัครในโครงการอันหลากหลายในฐานะผู้มาอยู่ก่อนให้กับเพื่อนใหม่ของเขา แน่นอนว่าในทางปฏิบัติย่อมมีการคัดค้านและไม่เห็นด้วย รวมไปถึงการโจมตีผู้ย้ายเข้ามาตั้งถื่นฐานใหม่ แต่กฏเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลในประเทศออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจมากกว่าการลงโทษคนที่ไม่เข้าใจและมองต่าง ที่สำคัญ การบูรณาการผ่านกระบวนการทางการศึกษาทั้งที่เป็นทางการในระบบโรงเรียน และ ไม่เป็นทางการเช่นสื่อ องค์กรทางสังคม มีการพัฒนาและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรส่วนใหญ่มีความเข้าใจมากกว่าการต่อต้านแนวคิดเรื่องความหลากหลายในสังคม

ประเด็นสุดท้ายในการสร้างความเข้าใจถึงแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบออสเตรเลียนั้น คือการส่งเสริมความตระหนักถึงและความเข้าใจในรูปแบบของวัฒนธรรมที่หลากหลายในสังคมออสเตรเลีย โดยใช้กระบวนการสร้างความรู้และเข้าใจในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น สื่อในรูปแบบต่างๆ บทเรียนและเนื้อหาในระบบการศึกษาสำหรับเยาวชนออสเตรเลียน รวมไปถึง กิจกรรมทางวัฒนธรรมและการเฉลิมฉลองกิจกกรมทางวัฒนธรรมผ่านทางเทศกาลทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนต่าง โดยเปิดให้ชาวออสเตรเลียทุกกลุ่ม ทุกวัฒนธรรม สามารถเข้าร่วมเฉลิมฉลองกับกลุ่มผู้ย้ายเข้ามาใหม่ที่มาจากหลากวัฒนธรรมด้วย (Increased level of participation by members of multicultural community groups in general community activities) กิจกรรมเหล่านี้สามารถสนับสนุนโดยตรงโดยเงินจากรัฐบาลของรัฐ การใช้เทศกาลและการเฉลิมฉลองนั้นเป็นกุศโลบายที่ทางรัฐเองจะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้อพยพที่มีความหลากหลายในหลายระดับ และ สามารถสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และ การยอมรับในวัฒนธรรมที่ต่างจากตนไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ความท้าทายและประเด็นเพื่อการศึกษาสำหรับประเทศไทย

จากการวิเคราะห์นโยบายด้านการจัดการความหลากหลายทางสังคมในประเทศออสเตรเลีย เราจะพบว่าประเทศออสเตรเลียได้ผ่านการพัฒนานโยบายทางสังคมและแนวทางการปฏิบัติที่ต่างกันไปในตามยุคสมัย บทเรียนสองประการที่สามารถน่าจะเป็นประโดยชน์ต่อประเทศไทยในช่วงการเปลี่ยนโครงสร้างของประชากรที่มีแรงงานข้ามชาติที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ไร้สัญชาติชาวไทย กลุ่มผู้อพยพลี้ภัยสงคราม หรือ แม้แต่กลุ่มชาวไทยที่มีความหลากหลายในชาติพรรณวรรณที่อยู่ในสังคมไทยมาช้านานแต่โดนมองว่าเป็น ‘คนนอก’ ในสายตาของคนไทยบางกลุ่ม การจัดการความหลากหลาย ผ่านการมีส่วนร่วมในนโยบายสังคม และ การบูรณาการผ่านการศึกษาเป็นบทเรียนที่น่าสนใจจากประเทศออสเตรเลีย

ประเด็นแรก คือ วิธีการในการเสริมสร้างความเท่าเทียมในด้านโอกาสในเชิงสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มผู้อพยพที่มีพื้นฐานอันหลากหลายนั้นสร้างขึ้นมาจากพื้นฐานด้านความเท่าเทียม การเน้นให้ประชากรทุกกลุ่มมีส่วนรวมในนโยบายทางสังคม โดยไม่แบ่งแยกเรื่อภาษา ศาสนา และภูมิหลังต่างๆ จะช่วยสร้างบูรณาการระหว่างประชากรที่มีความหลากหลายให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ที่สำคัญนโยบายที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้อพยพจากเชื้อชาติต่างๆที่อาจมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆนั้นจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีหน่วยงานในระดับรัฐที่เสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนกลุ่มสตรี หรือ วัยรุ่นที่ต้องการเข้าถึงทักษะการทำงาน เงินทุน หรือความรู้ มีการเสริมสร้างสิทธิทางสาธารณสุขให้กับแรงงานต่างประเทศในออสเตรเลีย และ ไม่เลือกปฏิบัติกับพวกเขา เมื่อเราหันกลับมาที่ประเทศไทย เราควรมีการมองถึงความหลากหลายของประชากรภายในประเทศและสร้างนโยบายทางสังคม รวมไปถึงส่งเสริมโอกาสให้กับประชากรที่มีความหลากหลาย อันรวมไปถึง กลุ่มผู้อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยด้วยสาเหตุต่างกันให้มีโอกาสได้มีส่วนรวมในเรื่องของนโยบายทางสังคม เช่น โอกาสทางเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา เป็นต้น

ประเด็นที่สอง นโยบายหลักข้อหนึ่งในการหล่อหลอมสังคมออสเตรเลียที่มาจากประชากรที่มีความหลากหลายนั้นก็คือการศึกษา การส่งเสริมความเข้าใจผ่านหลักสูตรที่มความเป็นพหุวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจะช่วยให้คนออสเตรเลียมองเห็นความสำคัญของแนวคิดความหลากหลาย งานวิจัยด้านพัฒนศึกษาในออสเตรเลีย (McIntyre and Simpson, 2007) ย้ำว่าในระบอบการศึกษาเพื่อสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นนั้น คำถามหลักที่เราต้องตระหนักก็คือ การศึกษาในรูปแบบไหนที่จะหล่อหลอมให้ประชากรเข้าใจธรรมชาติของความหลากหลายและเหมาะสมในการสร้างพลเมืองออสเตรเลียยุคใหม่ในบริบทของโลกที่มีความหลากหลาย  ยกตัวอน่างเช่น หลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาในระบบโรงเรียนั้นควรจะมีเรียนการสอนในด้านจริยธรรมและหน้าที่พลเมือง (Civics and Citizenship) หรือไม่ ถ้ามี ควรมีโครงสร้างหลักสูตรในแบบไหน และ ควรมีการเตรียมผู้สอนในระดับไหนเพื่อสอนวิชาเหล่านี้ให้กับประชากรออสเตรเลียที่มีความหลากหลาย และ อาจมีการตีความทางประวัติศาสตร์และสังคมที่แตกต่างกันอย่างไร ในรัฐวิคตอเรีย อาจจะมีเนื้อหาที่ต่างกันออกไปจากรัฐออสเตรเลียใต้เนื่องจากโครงสร้างทางประชากรและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ต่างกัน ที่สำคัญการบูณณาการความเข้าใจในเรื่องของความหลากหลายเข้าสู่การเรียนในทุกวิชาเป็นความพยายามและความท้าทายในการจัดการศึกษาของรัฐบาลในระดับรัฐของประเทศออสเตรเลีย

บทเรียนประการนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถนำมาศึกษาแนวคิดทางการศึกษาในทุกระดับว่า เรามีการสอนแนวคิดและบูรณาการด้านความหลากหลายเข้าสู่ระบบการศึกษาของเราตั้งแต่ระดับประถมจนถึงอุดมศึกษาหรือยัง ยกตัวอย่างเช่น เรามีหลักสูตรทางธุรกิจหรือเศรษฐศาสตร์เบื่องต้นที่สอนให้นักศึกษาไทยเข้าใจความสำคัญของความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของแรงงานและวัฒนธรรมองค์กรที่แปรไปตามแรงงานหรือกลุ่มธุรกิจที่มีความหลากหลายหรือไม่ ความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาตั้งแต่ผู้วางนโยบาย รวมไปถึงผู้สอนจำเป็นต้องคิดและวางแผนเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องการจัดการความหลากหลายภายในประเทศไทยให้เกิดมรรคผลต่อไป

 

อ้างอิง

Bell, J.M. and Hartmann, D. (2007), “Diversity in everyday discourse: the cultural ambiguities and consequences of ‘happy talk’”, American Sociological Review, Vol. 72 No. 6, pp. 895-914.

Kirton, G. and Greene, A. (2010), The Dynamics of Managing Diversity. A Critical Approach, Elsevier/Butterworth-Heinemann, Oxford.

Multicultural Affairs (Department of), (2016). Multiculturalism: a review of Australian policy statements and recent debates in Australia and overseas, accessed at: https://www.aph.gov.au/About_Parliament/Parliamentary_Departments/Parliamentary_Library/pubs/rp/rp1011/11rp06#_Toc275248122

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา เป็นนักวิชาการด้านการจัดการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และadjunct professor ด้านการจัดการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที ประเทศออสเตรเลีย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท