ความในใจของนักเรียนสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ (มือใหม่) ในสังคมผู้สูงอายุ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความในใจในครั้งนี้ของผู้เขียน ได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านเรื่อง “เมือง ผู้สูงวัย ความเหงา ฆ่าตัวตาย และคนไร้บ้าน สังคมไทยเอาไงดี?” ของอานนท์ ตันติวิวัฒน์ นักข่าวประชาธรรม ผู้ผลักดันประเด็นเมือง-สวัสดิการสังคม ผู้ที่ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ยังคงมีความสำคัญอยู่เสมอในการตอบปัญหาสังคมได้อย่างมีพลัง โดยเฉพาะปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่พวกเรากำลังเผชิญหน้ากันอยู่ จึงขอไว้อาลัยให้กับการจากไปของอานนท์ ตันติวิวัฒน์ นักข่าวประชาธรรมผู้นี้ด้วย

ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านความเห็นของบุคคลากรในระดับอุดมศึกษาท่านหนึ่งที่ได้กล่าวถึงการปรับตัวของมหาวิทยาลัยของปัจจุบัน ที่จะเริ่มลดการสอนในบางวิชาที่ "ไม่เป็นประโยชน์" ต่อความต้องการของ "ตลาด" อันเนื่องมาจากว่าอัตราการเกิด หรือการแต่งงาน ในปัจจุบันของประเทศไทยนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนส่งผลอย่างยิ่งต่อจำนวนเด็กที่จะเติบโตขึ้นมาและเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไปในอนาคต ซึ่งจะต้องลดน้อยลงตามลงไปด้วย 

และดูเหมือนว่า "ผู้มีบทบาท" หลายๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาในปัจจุบัน อยากที่จะเล่นงานพวกเราเสียเหลือเกิน ด้วยการพยายามลดงบประมาณบ้าง ปลดอาจารย์ที่ไม่มีภาระงานสอนบ้าง (ซึ่งอาจารย์ในสายวิชาดังกล่าวเริ่มถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ) หาทางจะยุบภาควิชาเหล่านี้บาง หรือดูถูกว่าวิชาของพวกเราเป็นวิชาของคนที่ไม่รู้จะเรียนอะไรดีบ้าง

ผู้เขียนในฐานะที่กำลังเรียนวิชาหนึ่งในสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ รู้สึกตื่นตระหนกตกใจในหลายๆ ความหมาย ต่อเรื่องดังกล่าว การที่จะบอกว่าวิชาดังกล่าวดูเหมือนจะเรียนไปและใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้จึงเป็นการบ่อนทำลายต่อจิตใจผู้เขียนอยู่ไม่น้อย และผู้เขียนเองก็อยากที่จะสร้างกำลังใจ ซึ่งไม่เพียงแต่ต่อตัวผู้เขียนเองเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงคนจำนวนมากที่กำลังเรียนอยู่ในวิชาสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์เช่นเดียวกับผู้เขียนด้วย 

การ "บ่น" ครั้งนี้ของผู้เขียนจึงอยากที่จะลองชวนหาคำตอบว่าทำไมเราจึงยังควรที่จะเรียนวิชาทางด้านสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ต่อไป (ไม่ย้ายคณะหรือสาขากันไปเสียก่อน) ในสังคมที่กำลังบอกเราว่าวิชาดังกล่าวนั้น "ไร้ประโยชน์"

ในปัจจุบันนี้สังคมเข้าใจพวกเราว่า วิชาทางด้านสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ ถูกลดทอนลงเหลือแค่วิชาท่องจำ (การท่องจำมีความสำคัญ แต่ไม่เพียงพอ เพราะต้องประมวลหรือเลือกข้อมูลจากความจำมาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดความหมายใหม่ หรือตอบคำถามที่เราได้ตั้งไว้) ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ใดๆ ที่เข้ามาถึงตัวเราได้ การถูกลดทอนนี้เองก็อาจจะเป็นความผิดของนักเรียนอย่างพวกเราเองด้วยที่มิได้มีความขยันขันแข็งอย่างเพียงพอที่จะทำให้เห็นว่าการเรียนรู้ในศาสตร์ดังกล่าวมิได้เป็นเช่นนั้น 

ความเข้าใจของสังคมต่อพวกเราจึงเป็นวิชาที่ตายแล้วหรือไม่มีประโยชน์ในเชิงใช้สอยอะไรได้ เพราะไม่สามารถผลิตสิ่งของที่เป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้ดีเท่ากับพวกวิชาทางด้านประโยชน์ใช้สอยที่เป็นรูปธรรม เช่น พวกศาสตร์ที่มุ่งสร้าง "นัก" เฉพาะทางต่างๆ

ผู้เขียนเองก็แอบรู้สึกลึกๆ ว่าจริงๆ แล้ววิชาอย่างเรามันดูไม่ค่อยจะมีประโยชน์ แต่ถ้าเราพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว มนุษย์เรามีเพียงแค่ด้านเดียวจริงหรือไม่ ด้านที่มีแต่ประโยชน์ โดยเฉพาะประโยชน์ในเชิงใช้สอย ถ้าจะเอากันอย่างนั้นจริงๆ เราก็คงไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์กันอีก เป็นเพียงแค่สิ่งของอะไรสักอย่าง ไม่จำเป็นต้องมีความคิด ความรู้สึกใดๆ ต่อกันอีก และการไม่เห็น "คน" เป็น "คน" นี้นำมาซึ่งความปั่นป่วนของสังคมมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ถ้าจะเอากันอย่างนั้นจริงเราก็คงต้องทิ้งพันธะที่มีต่อมนุษย์คนอื่นๆ ไปให้หมด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ และไม่มีวันเป็นไปได้ เราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ เราต้องการที่จะสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ เพื่อนิยามการดำรงอยู่ของเรา และการที่จะศึกษาระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์กับสรรพสิ่ง เราจำเป็นที่จะต้องใช้วิชาสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ เพื่อตอบปัญหาดังกล่าว แน่นอนว่าเราเองก็พยายามที่จะปรับตัวเพื่อตอบรับต่อปัญหาดังกล่าวด้วย

วิชาสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์จึงเป็นวิชาที่สอนให้เราคิด และเข้าใจว่า เราควรจะสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างอย่างไร การที่เราจะเป็น "นัก" นั่น "นัก" นี่ได้ เราก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ว่าคนในสังคมที่เรากำลังจะออกไปทำงานด้วยนั่น "คิดหรือรู้สึกอะไรกัน" เพื่อที่เราจะสามารถใช้ศาสตร์เหล่านี้มาตอบสนองหรือจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนได้ มีความสามารถในการ "เลือก" ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม 

เพราะในความเป็นจริงระบบความสัมพันธ์มนุษย์กับสรรพสิ่งนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และวิชาอย่างพวกเราเองก็มีพลวัตและมีพลังมากเพียงพอที่จะตอบคำถามเรื่องนี้ได้ดีไม่แพ้ศาสตร์อื่นๆ แต่ในปัจจุบัน "ผู้มีบทบาท" หลายๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา รู้สึกว่าวิชาดังกล่าวมิได้มีประโยชน์อะไร ยิ่งโดยเฉพาะ ในสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดที่ต่ำลง ทำให้มีเด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยน้อยลง และมหาวิทยาลัยอยากที่จะเน้นวิชาที่ตอบสนองต่อสังคมผู้สูงอายุมากกว่าจะมาเรียนวิชาที่สูงอายุเก่าแก่คร่ำครึอยู่แล้ว (เช่นสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์นี้ ฮา)

การที่เราจะสร้างสังคมเพื่อพร้อมสำหรับผู้สูงอายุที่เราได้ยินในปัจจุบันนี้ จึงเน้นเพียงแค่การพูดถึงการเพิ่มทางด้านสายทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทางกายภาพในการดูแลผู้สูงอายุ จะเช็ดก้นอย่างไรให้สะอาดไม่ระคายเคือง จะป้อนข้าวอย่างไรให้ไม่ติดคอ จะเข็นรถอย่างไรให้นุ่มนวล โดยที่ละเลยไปว่า ผู้สูงอายุเหล่านี้ ท่านก็เป็นมนุษย์ ย่อมมีความคิด ความฝัน ความรู้สึก และอยากที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว เหมือนเช่นที่พวกท่านเหล่านั้นเคยเป็นอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับเราในตอนนี้ 

การที่วิชาอย่างสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์กำลังถูกลดความสำคัญลงจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะการดูแลผู้สูงอายุจะถูกทำให้กลายเป็นเพียงการดูแลร่างกายให้แข็งแรง โดยมิได้มองลงลึกไปถึงมิติทางความคิดและจิตใจที่ส่งผลไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัย

เราจะไม่สามารถจัดวางตนเองในการสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นได้อย่างราบรื่นถ้าหากขาดการเรียนรู้อย่างเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของผู้สูงอายุ ความไม่ราบรื่นเหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหา และอาจจะเป็นปัญหาร้ายแรงจากความตรึงเครียดระหว่างคนสองวัยที่มิได้มีความเข้าใจต่อกันและกันเลย ความตรึงเครียดเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การขยายตัวของการเกิดโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย อันเกิดจากความไม่เข้าใจและไม่สามารถจัดวางความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างราบรื่น ของทั้งผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ

การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัยจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นที่จะต้องใช้องค์ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ในความเข้าใจต่อเรื่องดังกล่าว อันรวมหมายถึงการทำความเข้าใจว่า พวกเราและพวกท่านจะดำรงชีวิตไปด้วยกันได้อย่างไร หรือไปให้ไกลกว่านั้นคือจะออกแบบการดำรงชีวิตช่วงบั้นปลายของท่านเหล่านั้นอย่างไรให้มีคุณภาพและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ท่านเหล่านั้นจากไปได้อย่างสงบสุข แต่ยังเป็นการปลอบประโลมต่อจิตใจของญาติหรือคนที่อยู่เบื้องหลังให้มีกำลังใจที่จะมีชีวิตต่อไป

ผู้เขียนหวังว่าการ "บ่น" ในครั้งนี้ของผู้เขียนจะช่วยทำให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะนักเรียนในสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์เริ่มรู้สึกมีกำลังใจ และเห็นความสำคัญในสิ่งที่พวกเรากำลังทำและกำลังเป็นอยู่ ผู้เขียนเพียงตัวคนเดียวคงไม่มีพลังมากพอที่จะตะโกนให้สังคมได้รับรู้ถึงความสำคัญของการดำรงอยู่ในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ได้อย่างมีพลัง

เพราะของอย่างนี้ พวกเราต้องช่วยกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท