Skip to main content
sharethis

ชาตรี ประกิตนนทการ นักวิชาการสถาปัตย์เรียกร้องเปิดเผยเนื้อหา ‘แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่’ ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น ก่อนวิจารณ์ว่ากำลังทำให้เมืองเป็น Theme Park สำหรับนักท่องเที่ยวและละทิ้งผู้คน สะท้อนวิธีคิดแบบบนลงล่างและไม่ไว้ใจประชาชน

 

  • หน่วยงานที่รับผิดชอบการทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ต้องเปิดเนื้อหาแก่สาธารณะ
  • จากข้อมูลเท่าที่เปิดเผยบนหน้าสื่อ แผนแม่บทฯ จะพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ให้กลายเป็น Theme Park สำหรับนักท่องเที่ยวและชนชั้นกลางระดับบน มากกว่าการสร้างเมืองที่มีชีวิตและตอบสนองคนทุกกลุ่ม แต่กลับมุ่งผลักดันคนเล็กคนน้อยออก
  • แผนแม่บทฯ มีทิศทางจะควบคุมความหมายของถนนราชดำเนินและปิดกั้นการใช้เป็นพื้นที่ทางการเมือง
  • แผนแม่บทฯ สะท้อนความคิดเก่าจากยุคเผด็จการทหารที่ไม่ไว้วางใจประชาชน

 

หลังการผลักดันผู้คนในชุมชนป้อมมหากาฬออกจากพื้นที่แปลงเป็นสวนสาธารณะได้สำเร็จ ดูเหมือนว่าเป้าหมายต่อมาของแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่คือหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ ไล่ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดความแออัดของพื้นที่

โดยแผนใหม่ที่นำมาใช้แทนแผนเก่าตั้งแต่ปี 2540 ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมพื้นที่ ดังนี้

1.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน

2.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก

3.ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์

4.พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ตั้งแต่แนวคลองรอบกรุงถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม

5.บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์

จากข่าวที่ปรากฏออกมา แผนแม่บทฯ จะดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ ระบบการจราจร การใช้ประโยชน์ที่ดิน การปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว ไปจนถึงการท่องเที่ยวและวิถีชุมชน ขณะเดียวกันจะพัฒนาถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่อเนื่องเป็นแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถานของประเทศไทย เปรียบได้กับถนนฌ็องเซลิเซ่ของประเทศฝรั่งเศส

ทว่า หากเราเก็บรับบทเรียนกรณีชุมชนป้อมมหากาฬมาใคร่ครวญ ย่อมชวนให้ครุ่นคิดว่าแผนดังกล่าวจะเปลี่ยนเกาะรัตนโกสินทร์ให้กลายเป็นสวนและพิพิธภัณฑ์ที่มองไม่เห็นผู้คนหรือไม่ ในมุมของชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มันมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น

เปลี่ยนเมืองที่มีชีวิตเป็นสนามหญ้าและ Theme Park เพื่อการท่องเที่ยว

ประเด็นแรกที่ชาตรีให้ความสำคัญและเรียกร้องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบการทำแผนคือการเผยแพร่เนื้อหาออกสู่สาธารณะก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการอนุมัติ แม้การจัดทำแผนของจุฬาฯ ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็น แต่ก็เป็นไปในวงจำกัด ทำให้ทุกๆ ฝ่ายไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ได้อย่างรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม ชาตรีเห็นว่าประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้จากข่าวที่ถูกนำเสนอออกมา ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตต่อแผนการพัฒนาตามที่รับรู้จากข่าวว่า

“ผมคิดอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือมันไม่พัฒนาขึ้นเลยจากแผนแม่บทเดิม และสอง-สิ่งที่แตกต่างจากแผนแม่บทเดิมคือแผนแม่บทใหม่กำลังออกแบบเมืองกรุงเทพเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เป็นเมืองที่ไม่มีชีวิตจริงๆ แต่จะเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยว”

“ฐานคิดนี้มันจึงกลายเป็นโมเดลเมืองของคนบางกลุ่มคือนักท่องเที่ยว ของชนชั้นกลางระดับบน และของรัฐ แต่ได้ละทิ้งคนเป็นจำนวนมาก คนชั้นล่าง คนจนเมือง คนที่สร้างเมืองแห่งนี้ แต่ต้องการผลักให้เขาออกจากเมือง”

ชาตรีขยายความข้อสังเกตแรกว่า สิ่งที่เห็นจากข่าวคือแผนนี้ยังคงเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นสนามหญ้าโล่งๆ ด้วยฐานคิดเดิมๆ ว่าพื้นที่แบบนี้จะเพิ่มปอดของเมืองหรือพื้นที่พักผ่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่แผนแม่บทเดิมปี 2540 ได้วางไว้แต่แรกและรหัสความคิดนี้ยังคงอยู่ เขาเห็นว่าบริบททางวัฒนธรรมสังคมของไทยไม่เคยเอื้อให้ใช้ประโยชน์สวนสาธารณะสนามหญ้าโล่งๆ เหล่านี้เลย เขาเห็นว่าควรมีบ้างและเป็นเรื่องดี แต่ที่มีอยู่ขณะนี้ถือว่าเพียงพอแล้ว

“การใช้สนามหญ้าโล่งๆ เป็นวัฒนธรรมของคนชั้นกลางระดับบนเท่านั้น ไม่ได้เป็นของคนเมืองกรุงเทพฯ ทุกกลุ่ม ทุกวิถีชีวิต การทำสวนสาธารณะแบบนี้มีประโยชน์ แต่อย่าให้เป็นวิธีการเดียวในการสร้างพื้นที่สาธารณะของเมือง”

ข้อสังเกตประการที่ 2 การย้ายหน่วยราชการออกเพื่อลดปริมาณการใช้สอยพื้นที่ ลดปริมาณคนและการสัญจร ชาตรีเห็นว่าเป็นฐานคิดที่ผิด เพราะการดำรงอยู่ของหน่วยราชการเป็นมากกว่าการเป็นหน่วยราชการ แต่นำมาซึ่งการประกอบอาชีพโดยรอบ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ และทำให้เมืองมีชีวิต

ชาตรียังคงย้ำว่าการย้ายหน่วยราชการออกไปจะทำให้เกาะรัตนโกสินทร์กลายเป็นเมืองของนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เมืองที่มีชีวิตของเมืองจริงๆ ดังนั้น การย้ายหน่วยราชการเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนอย่างยิ่งยวด เขาเห็นว่าอาจย้ายได้บ้าง แต่ต้องธำรงความเป็นเมืองที่มีการใช้งานอย่างอื่นไว้ด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว

“หรือการทาสีตึกให้เป็นสีเดียว ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง หลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายแสดงชัดว่าตึกในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ที่เป็นตึกเก่าแบบฝรั่ง มันไม่ได้มีสีเดียว หากทำแบบนี้จริง ผลที่เกิดขึ้นคือผิดทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์และไร้เสน่ห์ หัวใจสำคัญของแผนนี้ในทัศนะผมคือการทำให้เป็นเมืองเก่าเพื่อการท่องเที่ยว เป็น Theme Park เสียมากกว่า”

Theme Park คือสวนสนุกที่มีแนวคิดเฉพาะคอยกำหนดเครื่องเล่น บรรยากาศ สัญลักษณ์ รูปแบบสถาปัตยกรรม เพื่อให้ผู้เข้าชมรู้สึกแตกต่างจากสวนสนุกทั่วไป เช่น ธีมปาร์คที่เน้นเรื่องราวของซุปเปอร์ฮีโร่ การเดินทางในอวกาศ เป็นต้น

ควบคุมความหมายถนนราชดำเนิน

ส่วนการปรับปรุงถนนราชดำเนินให้เทียบเท่าถนนฌ็องเซลิเซ่ ชาตรีไม่ปฏิเสธหลักการที่ว่าถนนราชดำเนินเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม เขายังคงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยแผนงานการพัฒนาปรับปรุงถนนราชดำเนินว่ามีเนื้อหาอย่างไร

มิติที่ชาตรีกังวลกว่าในประเด็นนี้คือการควบคุม เปลี่ยนแปลงความหมายของพื้นที่

“เขาต้องการควบคุมความหมายของพื้นที่บริเวณที่เป็นกระดูกสันหลัง พื้นที่บริเวณนี้มีหลายความหมาย เป็นถนนประชาธิปไตยที่ใช้ต่อสู้ทางการเมือง แผนนี้จะตัดความหมายส่วนนี้ออกไปจากถนนราชดำเนิน จะเป็นถนนที่ว่าด้วยชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และนักท่องเที่ยว ประชาชนหรือกิจกรรมทางการเมืองจะไม่มีวันได้รับการอนุญาตอีกแล้ว”

การพัฒนาเมืองที่ละทิ้งผู้คน

แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่สะท้อนวิธีคิดอะไรของรัฐ ชาตรีกล่าวว่ามันสะท้อนฐานคิดเดิมในยุคเผด็จการ เนื่องจากแผนแม่บทนี้คือการควบคุมพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ที่เกิดขึ้นในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร

“เป็นการคิดแบบบนลงล่าง แบบทหาร วิธีคิดแบบเผด็จการแบบเดิม มองไม่เห็นว่าความเห็นของคนข้างล่างจะมีประโยชน์อะไร สองคือเชื่อมั่นเทคโนแครตมากเกินไป ในเรื่องนี้คือเชื่อในเทคโนแครตด้านสถาปนิกและการวางผังเมืองว่าเป็นผู้รู้และผูกขาดความรู้ฝ่ายเดียว วิธีคิดนี้จึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ กลัว กังวล หรือคิดว่าประชาชนไม่รู้จริง

“ฐานคิดนี้มันจึงกลายเป็นโมเดลเมืองของคนบางกลุ่มคือนักท่องเที่ยว ของชนชั้นกลางระดับบน และของรัฐ แต่ได้ละทิ้งคนเป็นจำนวนมาก คนชั้นล่าง คนจนเมือง คนที่สร้างเมืองแห่งนี้ แต่ต้องการผลักให้เขาออกจากเมือง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net