Skip to main content
sharethis

จากคำเรียก “โจรกะเหรี่ยง” ในละครอังกอร์ ทำให้เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองและภาคีร่วมกันออกแถลงการณ์ขอให้แก้ไขบทพร้อมแสดงความรับผิดชอบจากการแปะป้ายเหมารวม โดย 'พฤ โอโดเชา' ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือเน้นย้ำว่า "พวกเราเป็นคนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบจากสื่อ การศึกษา และนโยบายอนุรักษ์ป่าที่ไล่เราออกจากบ้านของเราเอง”

 

 

เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองและภาคีองค์กร และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกันออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้แก้ไขบทละครเรื่อง "อังกอร์” และแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากละครในตอนหนึ่งได้กล่าวถึงชนเผ่ากะเหรี่ยงที่เป็นคนฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐว่า “โจรกะเหรี่ยง" ซึ่งทางเครือข่ายฯ กังวลว่าเนื้อหาในลักษณะเหยียดเชื้อชาติและมีอคติทางชาติพันธุ์ อาจทำให้ผู้รับสารคล้อยตามข้อความที่ได้รับ และทำให้ลูกหลานชนเผ่าพื้นเมืองเกิดความรู้สึกเป็นปมด้อยและไม่กล้าแสดงตัวตนความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง จนกระทั่งคนรุ่นใหม่จำนวนมากจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องปกปิดสถานภาพเพียงเพื่อตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายได้ง่ายขึ้น และทั้งที่ท้องเรื่องอังกอร์ที่เคยนำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์มาแล้วสองภาคนั้นไม่ได้ปรากฏว่าเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน

ทางเครือข่ายฯ ได้เรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์และผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขข้อความให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลกระทบกับชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และออกมาชี้แจงและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนผ่านรายการของสถานีโทรทัศน์ทีวีสี ช่อง 3 อย่างเป็นทางการโดยเร็ว

ขณะที่วันนี้ (30 ส.ค.) ด้านของผู้ผลิตละคร แก้ว ภักดีวิจิตร ได้เปิดเผยกับมติชนออนไลน์สั้นๆ ว่า ขออนุญาตยังไม่ให้สัมภาษณ์ตอนนี้ เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ในการดำเนินการของผู้ใหญ่ทางสถานี แต่ว่าหลังจากนี้จะไม่มีฉากที่พูดถึงเผ่าดังกล่าวแล้ว

ประชาไทได้สัมภาษณ์ พฤ โอโดเชา ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมของสื่อไทยที่อาจผลิตซ้ำเหมารวมกลุ่มชาติพันธุ์ในวาระต่างๆ รวมทั้งคำถามของสังคมที่ว่าทำไมกลุ่มชาติพันธุ์ถึงต้องเปราะบางกับเรื่องราวเหล่านี้นัก

 

พฤ โอโดเชา (รูปจากเว็บไซต์มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

 

“ชาวเขา ไม่ใช่ชาวเรา” ค้ายา ตัดไม้ สู่การถูกไล่ที่จากกฎหมายอนุรักษ์ป่า

 

“เดิมทีคนจะเรียกพวกผมว่า ชาวเขา ชาวเขามันไม่ใช่ชาวเรา คนไทยคิดว่าเราไม่ใช่คนไทย หรือคนอาจจะเข้าใจว่าเราเป็นคนภูเขา แต่แม้ผมจะลงมาอยู่ในเมืองแล้วเขาก็ยังเรียกผมว่าชาวเขา” พฤเล่าให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ

พฤเล่าต่อว่า สมัยก่อนช่วงหนึ่งการปลูกฝิ่นเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ชาวชาติพันธุ์ก็มีการปลูกกัน แต่พอผิดกฎหมาย ภาพลักษณ์ยาเสพติดกลายเป็นเรื่องที่ไม่ดี และสุดท้าย “ชาวเขา” ก็ถูกป้ายสีว่าเป็นพวกค้ายาเสพติด ทั้งที่จริงๆ แล้วลำพังแค่ชาวเขาไม่อาจทำให้เกิดการค้ายาได้ถ้าไม่มีนายทุนสนับสนุน ชาวเขาเป็นเพียงแรงงานปลูกฝิ่นที่ได้ค่าแรงเล็กน้อยและถูกขูดรีด

ต่อมาก็มีคำว่าชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้นเหตุให้น้ำท่วมน้ำแล้ง ถึงขนาดที่ในหลักสูตรการเรียนก็เคยมีการสอนเรื่องสาเหตุที่ป่าไม้ถูกทำลาย โดยมีสาเหตุหนึ่งคือชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทุกคนจึงเข้าใจว่าชาวเขานั้นทั้งค้ายา ตัดต้นไม้ ทำลายต้นน้ำ และ “ชาวเขาไม่ใช่ชาวเรา” ก็ฝังอยู่ในความรู้สึกของผู้คน

พฤกล่าวเสริมว่า เมืองไทยทำข้อตกลงปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ว่าต้องดูแลคนพื้นเมือง แต่รัฐบาลไทยบอกว่าไทยไม่มีชนพื้นเมืองมีแต่คนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ดังนั้นรัฐจึงไม่ต้องดูแลชนพื้นเมืองดั้งเดิมเหล่านี้ในยามที่เกิดการกระทบกระทั่ง ขัดแย้ง จากนโยบายต่างๆ

พฤกล่าวต่อถึงประเด็นการออกกฎหมายป่าอนุรักษ์ต่างๆ เช่น กฎหมายอุทยาน กฎหมายอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งพื้นที่อนุรักษ์ก็ไปทับกับบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง หรือกระทั่งในยุคของ คสช. กับนโยบายทวงคืนผืนป่า กลุ่มชาติพันธุ์เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

“เราเจ็บปวดกับการออกกฎหมายที่ทำให้ที่ดินที่เราอยู่อาศัยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดไม่ใช่ที่ของเราอีกต่อไป กรณีปู่คออี้ที่อยู่ที่ใจแผ่นดินในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คนเพชรบุรีก็ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงแบบปู่คออี้ แล้วก็คิดว่าคนเหล่านี้ทำลายป่า เจ้าหน้าที่ก็ไปเผาบ้าน เหตุการณ์นี้เกิดจากการไม่มีข้อมูล ส่วนศาลก็ตัดสินไปตามตัวอักษร แต่ไม่เข้าใจว่าพวกเขาอยู่มานานก่อนที่จะเกิดประเทศไทย แล้วพอเขาอยู่ไกล เขาก็อาจเข้าไม่ถึงการทำบัตรประชาชน พอไม่มีบัตรก็กลายเป็นไม่มีสิทธิ” พฤกล่าว

เขากล่าวต่อว่า “ตอนนี้พวกเราก็ลำบากมากและกำลังจะล่มสลาย เพราะสิทธิชุมชนของพวกเราไม่ถูกยอมรับ อาชีพการงาน การพัฒนาชุมชน โครงการต่างๆ กว่าจะขอได้ก็ลำบากมาก เพราะโครงการต่างๆ ที่ลงมาในหมู่บ้านได้จะต้องไม่ติดเขตป่า เขตป่าต้นน้ำ เขตป่าอนุรักษ์ เขตป่าอุทยาน คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในหมู่บ้านก็มีปมด้อย ไม่มีความภูมิใจในวิถีชีวิต ก็ออกไปอยู่ในเมือง บวกกับการศึกษาก็ไม่เคยสร้างความเข้าใจให้กับสังคมไทยเลย แทนที่จะสร้างความเข้าใจว่าเมืองไทยประกอบด้วยวิถีชีวิตหลากหลายแบบ มีความเชื่อหลากหลาย มีชาวชาติพันธุ์ที่มีความรู้เรื่องจะอยู่กับป่าอย่างไร หรือจะอยู่กับทะเลอย่างไร”

“อาจจะมองว่าเราเปราะบาง เราก็ยอมรับว่าเราเปราะบาง เราเปราะบางเหมือนกับพันธุ์พืชที่เหลือไม่มาก เราก็เลยต้องออกมาป้องกันตัวเอง ตอนนี้เราเพิ่งจะมีปากมีเสียง พอจะรู้จักโซเชียลบ้าง เราก็ตอบโต้ทางโซเชียล เริ่มรู้จักสิทธิบ้าง เราเลยเริ่มโต้แย้งเรื่องสิทธิ ถ้าเราปล่อยให้เขาพูดไป ถ้าเขาพูดนานเข้าๆ ก็จะกลายเป็นความคุ้นชินไปอีก เราก็อยากจะบอกกับพวกเขาว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบจากหลายอย่างมาก จากวาทกรรม จากการผลิตสื่อ จากการศึกษาที่ผ่านมา จากนโนบายอนุรักษ์ป่าที่ไล่เราออกจากบ้านของเราเอง และกลับกันถ้าคนไทยถูกเรียกว่า “ไอ้โจรคนไทย” จะเกิดความรู้สึกอะไรไหม” พฤถามย้อนกลับ

พฤกล่าวเสริมว่า ภายใต้การสร้างวาทกรรมแบบนี้ไม่ได้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนดั้งเดิมที่อยู่ในไทย แต่จริงๆ แล้วคนไทยแท้จริงๆ ก็ไม่รู้ว่ามีอยู่กี่คนด้วยซ้ำไป การไม่เห็นก็ทำให้การประกาศกฎหมายไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ และประกาศทับที่ที่เป็นบ้านของพวกตน

 

เรียกกะเหรี่ยงได้ แต่อย่าเหมารวมว่าเป็นโจร ชาติไหนก็เป็นโจรได้เหมือนกัน

 

พฤอธิบายว่า กะเหรี่ยงหรือภาษาอังกฤษคือ ‘Karen’ แต่ศัพท์ของพวกตนคือคำว่า ‘ปกากะญอ’ แต่คำว่ากะเหรี่ยงก็กลายเป็นภาษาทางราชการของไทย อยู่ในหลักสูตรการศึกษา พวกตนจึงต้องเออออไปตามนั้นเพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ง่าย ดังนั้นจะเรียกกะเหรี่ยงก็ได้ แต่อยากให้ทำความเข้าใจกับคำว่า “ชนพื้นเมือง” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่อยู่มาก่อนจะเกิดคำว่าเมืองไทย ซึ่งชาวปกากะญอก็เป็นชนพื้นเมือง ดังนั้นคำว่าชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงหรือชนพื้นเมืองปกากะญอ จะเป็นคำที่ดูดีมากสำหรับชาวกะเหรี่ยง

พฤกล่าวถึงละครเรื่องอังกอร์เวอร์ชั่นล่าสุดว่า การใช้คำว่า “โจรกะเหรี่ยง” ก็บ่งบอกว่าผู้สร้างละครยังมองว่าจะเรียกคนเหล่านี้อย่างไรก็ได้ ซึ่งเป็นการเหมารวมชาวกะเหรี่ยงว่าทั้งหมดเป็นโจร และที่ผ่านมาตนไม่เคยได้ยินคำเรียกว่าโจรกะเหรี่ยงมาก่อน จึงอาจไม่ใช่การผลิตซ้ำแต่เป็นการสร้างใหม่ด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้แม้สังคมจะมองว่าละครคือเรื่องแต่ง เป็นเรื่องที่ไม่จริง แต่พฤก็ย้ำว่าคนเองก็มักจะอินกับละคร และเรียนรู้ จดจำบางสิ่งบางอย่างจากละครเช่นกัน

เมื่อถามพฤว่าอยากให้สื่อหรือละครนำเสนอในด้านดีของคนกะเหรี่ยงบ้างหรือไม่ พฤตอบว่า “ก็นำเสนอตามความเป็นจริงได้ กะเหรี่ยงก็เป็นโจรได้ คนชาติไหนก็เป็นโจรได้ แต่ละครไม่ควรพูดอย่างเหมารวมว่าโจรกะเหรี่ยง แต่ควรพูดให้มันเน้นไปที่ตัวบุคคล ไม่ใช่พูดแล้วรวมเอาคนกะเหรี่ยงทุกคนเป็นโจร กลายเป็นมีภาพลักษณ์แบบนั้นไป จะให้กะเหรี่ยงเป็นตัวร้ายในละครก็ได้ แต่อย่าตีขลุมเราทั้งหมด”

พฤโยงถึงเรื่องการทำความเข้าใจคนอื่นในสังคม โดยเขากล่าวว่า จริงๆ แล้วการไม่เข้าใจมนุษย์ด้วยกันเองก็นำมาซึ่งสังคมที่แตกแยกเหมือนกัน กลุ่มตนอาจจะมีความเปราะบางแต่ขณะเดียวกันสังคมใหญ่ก็มีความเปราะบางเช่นกันถ้าเขาไม่เข้าใจมนุษย์ด้วยกันเองเลย ซึ่งแสดงถึงวิสัยทัศน์ ภูมิทัศน์ องค์ความรู้ ของคนไทยเอง ก็ขาดการเรียนรู้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

“จริงๆ ละครเกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่ดีๆ ก็มี อันนี้ก็ต้องขอบคุณที่เขาพยายามบอกถึงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ที่ ละครบางเรื่องก็ละเอียดกระทั่งเรื่องการใส่เสื้อผ้าให้ถูกต้อง เขาศึกษามาจริง ต้องขอบคุณสื่อหรือละครแบบนี้ ที่ตำหนิก็ไม่ได้รวมคนที่เขาทำดีอยู่แล้วและเข้าใจอยู่แล้ว” พฤกล่าวทิ้งท้าย

 

แถลงการณ์ 

เรื่อง ขอให้แก้ไขบทละครเรื่อง “อังกอร์”และแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
ตามที่ละครโทรทัศน์เรื่อง“อังกอร์” ที่กำลังออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทีวีสีช่อง 3 (ช่องหมายเลข 33) ในขณะนี้โดยตอนหนึ่งได้กล่าวถึงชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นคนฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าเป็นฝีมือ “โจรกะเหรี่ยง” เมื่อสืบค้นเนื้อหาโดยย่อของละครในสื่อออนไลน์พบว่าได้มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรกล่าวถึงชาวกะเหรี่ยงอย่างชัดเจนว่า “....ความสวยของอังกอร์เหมือนมีอำนาจมืดดึงดูดผู้คนให้ต้องการเธอ ในที่สุดเธอก็ถูกพวกกะเหรี่ยงคะหยิ่นจับไป...” 

จากภาพที่ปรากฏผ่านจอโทรทัศน์และภาพที่เผยแพร่บนสื่อโซเชี่ยลมีเดี่ยอาจทำให้ผู้รับข่าวสารคล้อยตามและเชื่ออย่างฝังใจตามภาพและข้อความที่รับสารมาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เองนำมาซึ่งความไม่สบายใจของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและชนเผ่าพื้นเมืองโดยทั่วไปเป็นอย่างมากเสมือนเป็นผู้ร้ายที่ถูกหยิบยื่นให้จากผู้เขียนบทที่ขาดข้อมูลรอบด้านและไม่มีวิจารณญาณที่ดีพอ ทั้งที่ท้องเรื่องอังกอร์ที่เคยนำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์มาแล้วสองภาคนั้นไม่ได้ปรากฏว่าเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน แม้จะเป็นเพียงละครเพื่อความบันเทิงก็ตามหากผู้กำกับภาพยนตร์หรือละครนำมาสมมุติอย่างขาดสำนึกและไร้ซึ่งความตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมพหุวัฒนธรรมแบบประเทศไทยเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจผิดหรือเป็นมายาคติที่ไม่เป็นผลดีต่อพี่น้องกะเหรี่ยงเป็นแน่แท้

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองและตัวแทนภาคีองค์กรและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังสื่อที่มีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริง มีเนื้อหาไม่เหมาะสม และละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และจากเหตุการณ์ที่สื่อนำเสนอข่าวในลักษณะตีตรา เหมารวม มีเนื้อหาบิดเบือนและไม่เป็นข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวและบทละครในรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาในลักษณะเหยียดเชื้อชาติและมีอคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบด้านลบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั่นคือทำให้ภาพลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอแบบตอกย้ำซ้ำเติมด้วยมายาคติ ทำให้ลูกหลานชนเผ่าพื้นเมืองเกิดความรู้สึกเป็นปมด้อยและไม่กล้าแสดงตัวตนความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง จนกระทั่งคนรุ่นใหม่จำนวนมากจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องปกปิดสถานภาพเพียงเพื่อตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายได้ง่ายขึ้น และขาดความภาคภูมิใจตัวตนที่แท้จริงจึงเป็นที่น่าเสียดายหากเด็กและเยาวชนเหล่านั้นต้องเป็นเหยื่อที่สังคมยัดเยียดให้อย่างไม่เป็นธรรม

จึงขอเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาของละครที่ไม่เหมาะสมและอยู่ในข่ายลิดรอนสิทธิ์ของผู้อื่นตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้

1. เนื่องจากเนื้อเรื่องของละคร “อังกอร์” นั้นไม่ได้อ้างอิงจากประวัติศาสตร์บอกเล่าหรือผ่านนิทาน ตำนานของชาวกะเหรี่ยงแต่อย่างใด การสมมุติตัวอย่างตัวละครว่า “โจรกะเหรี่ยง” นั้นขอให้สถานีโทรทัศน์และผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขข้อความให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลกระทบกับชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

2. ขอให้ผู้เกี่ยวข้องกับละครเรื่อง “อังกอร์” ได้ออกมาชี้แจงและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนผ่านรายการของสถานีโทรทัศน์ทีวีสี ช่อง 3 อย่างเป็นทางการโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อให้สังคมไทยได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และยังนำไปสู่ความสบายใจของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและชนเผ่าพื้นเมืองในภาพรวมด้วย

 

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองและภาคีองค์กร และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง

29 สิงหาคม 2561

*มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อเวลา 21.26 น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net