Skip to main content
sharethis

หลัง ครม. มีมติ ให้บัตรคนจนเบิกเงินสดได้แต่มีเงื่อนไขต้องผ่านการอบรมวิชาชีพ ข้อมูลชี้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน 450,000 ล้านบาท ภาคประชาชนโต้ บัตรคนจนเฟส2 ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ ตีตราคนจนขี้เกียจ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

 

บัตรคนจนเฟส2 ให้เบิกเงินสดได้ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน 450,000 ล้านบาท

 

เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนสามารถเบิกเป็นเงินสดได้ เฉพาะส่วนที่รัฐช่วยเหลือเพิ่มเติมระยะที่ 2 รายละ 100-200 บาทต่อเดือนจำนวน 3.9 ล้านคน โดยสามารถเบิกเงินสดจำนวนนี้ไปใช้ได้แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องผ่านการอบรมวิชาชีพตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนเงินช่วยเหลือระยะแรก 200-300 บาทนั้น ให้ใช้เฉพาะร้านค้าประชารัฐตามเดิม ทั้งนี้การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเพิ่มจำนวน 200 บาทต่อเดือน จากระยะแรกได้เงินช่วยเหลือ 300 บาท รวมเป็น 500 บาท และผู้ที่รายได้สูงกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้เงินเพิ่มจำนวน 100 บาทต่อเดือน จากระยะแรกได้รับเงินช่วยเหลือ 200 บาท รวมเป็น 300 บาท

ด้านสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในจำนวนผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด 11.4 ล้านคน มีผู้ที่ผ่านการอบรมวิชาชีพตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือโครงการในเฟส 2 ประมาณ 3.9 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับเงินเพิ่มอีกรายละ 100-200 บาท

ขณะที่ข้อมูลจากภาครัฐบอกว่าโครงการนี้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจรากหญ้า ได้กว่า 450,000 ล้านบาท

 

จากซ้ายไปขวา ยุพิน อยู่สกุล, หนูเกณ อินทจันทร์ และ นิมิตร์ เทียนอุดม

ภาคประชาชนโต้ บัตรคนจนเฟส2ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ ตีตราคนจนขี้เกียจ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

 

วันนี้ (30 ส.ค.) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ แถลงข่าว “บัตรคนจนกดเงินสดได้ แจกเงินหวังผล ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ” ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “บำนาญแห่งชาติ”

นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ความเห็นว่า กรณีที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนที่ไปขึ้นทะเบียนฝึกอาชีพ สามารถกดเงินสดออกจากบัตรได้นั้น เป็นมาตรการที่ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้ให้กับทุกคน แต่ให้เฉพาะคนที่ลงทะเบียนฝึกอาชีพเท่านั้น และก็ยังมีการแบ่งชั้นกันในคนที่ได้อีก ระหว่างคนที่ได้ 100 กับ 200 บาท

“การแจกเงินเพียงเพื่อหวังผล เอาเงินมาล่อให้คนไปฝึกอาชีพ ถ้าไม่ไปฝึกก็ถูกตราหน้าว่าไม่ขวนขวาย ขี้เกียจ แล้วจะเอาเงินในบัตรไปซื้อของที่ได้มาจากการฝึกอาชีพก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องรูด ดังนั้น ถ้าให้ไปฝึกอาชีพแล้วต้องให้เครื่องรูดบัตรมาด้วย” นายนิมิตร์กล่าวและว่า หากรัฐมีความจริงใจที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ต้องหยุดการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ การให้เงินเป็นประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว หยุดตีตราคนจนว่าขี้เกียจ หรือทำให้ประเทศล่มจม ซึ่งรัฐต้องใช้วิจารณญาณที่ดีกว่านี้

นิมิตร์กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐจะแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ต้องพัฒนาให้เกิดรัฐสวัสดิการ ที่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดความยากจน เช่น การมีหลักประกันด้านรายได้ การเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญถ้วนหน้าในผู้สูงอายุ โดยยึดฐานจากเส้นความยากจน รวมทั้งการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทุกคน และการศึกษาฟรีถึงปริญญาตรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือไม่ต้องไปกู้

ด้านหนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า บางครั้งคนจนไม่ใช่ไม่มีอาชีพ หรือขี้เกียจ แต่เขามีอาชีพของเขาอยู่ เช่น ทำงานก่อสร้าง หรือรับจ้างรายวัน การบังคับให้คนต้องไปฝึกอบรม เพื่อจะได้เงินเพิ่ม ทำให้รายได้รายวันของเขาหายไป หากรัฐต้องการจะช่วยทำไมไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพราะเขามีอาชีพอยู่แล้ว อาจจะเพิ่มทักษะให้คนเหล่านั้นในอาชีพเดิม พัฒนาศักยภาพของเขา หรือหาแหล่งทุนให้กู้ เป็นต้น หรือควรมีกระบวนการติดตามว่าอบรมแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ได้เอาไปทำต่อ อย่างไร

หนูเกณได้ชี้อีกประเด็นว่า การใช้บัตรคนจน จะเก็บเงินไว้ใช้ก็ไม่ได้ ต้องใช้ให้หมดเดือนต่อเดือน ซื้อได้แต่ของแห้ง ของสดใช้ซื้อไม่ได้ หรือควรต้องกระจายรายได้ไปยังร้านขายของชำอื่นเพื่อให้เงินหมุนเวียนในชุมชน ไม่กระจุกเฉพาะในธงฟ้า และบางครั้งสินค้าจากร้านธงฟ้าก็ราคาแพงกว่าร้านอื่น

ยุพิน อยู่สกุล เครือข่ายสลัมสี่ภาค และคณะทำงานบำนาญแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการฝึกอาชีพฟรีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ คนยังไม่ไปฝึกเลย เพราะฝึกแล้ว ก็ไปค้าขายอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ แม่ค้าขายของข้างถนนก็โดนจับเรียบ แล้วจะให้ไปขายของที่ไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net