ดูเลือกตั้งกับอินเทอร์เน็ตรอบไทย เมื่อ ‘กกต. - คสช.’ ส่งสัญญาณคุมโซเชียลมีเดีย

ดูอินเทอร์เน็ตกับการเมืองช่วงเลือกตั้งในประเทศเพื่อนบ้านหลังเลขาฯ สำนักงาน กกต. และวิษณุ เครืองาม ส่งสัญญาณคุมพรรคการเมืองกับการใช้โซเชียลมีเดีย และระเบียบเลือกตั้งอิเลกทรอนิกส์ หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษาชี้ นิยาม ‘สื่อ’ กำกวม หวั่นล้ำเส้นสิทธิส่วนบุคคล

สัปดาห์นี้มีคำบอกใบ้บางอย่างจากแวดวงการเมืองในกรณีการเลือกตั้งกับโซเชียลมีเดีย เริ่มต้นจากเมื่อวันจันทร์ที่ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. พูดถึงความคืบหน้าการยกร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ว่า หลักการของร่างฯ จะพิจารณาขอบเขต แนวทางการหาเสียงของนักการเมือง พรรคการเมือง หรือผู้ใดว่าจะดำเนินการในลักษณะใดในทางอิเล็กทรอนิกส์บ้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่ใช่อาศัยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือกระทำความผิด ใส่ร้ายป้ายสี หรือโฆษณาหาเสียงเกินความจำเป็น

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาคลายล็อกพรรคการเมืองว่าตอนนี้ที่ประชุมเห็นชอบคลายล็อกการเมืองและเรื่องอื่นรวม 6 ข้อใหญ่ ส่วนในเรื่องการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียนั้นที่ประชุม คสช. ยังไม่ได้หารือ แต่จะแก้ไขคำสั่งให้พรรคการเมืองติดต่อกับสมาชิกพรรคได้ทางโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ แต่ถ้าไม่ใช่สมาชิกนั้นถือเป็นการหาเสียง เฟซบุ๊กเองก็ไม่สามารถเปิดเป็นสาธารณะได้เพราะไม่เช่นนั้นจะเข้าสู่วิธีการหาเสียง

ความสำคัญของโซเชียลมีเดียในยุคนี้มีความสำคัญต่อการเมืองอย่างชัดเจน อย่างที่เห็นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 ที่บริษัทที่เป็นที่ปรึกษาในแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ล้วงเอาข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำและจัดส่งข้อมูลลวงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกับการเลือกตั้งประธานาธิบสหรัฐฯ

ไทม์ไลน์เฟซบุ๊กปล่อยข้อมูลรั่ว 50 ล้านคน จากแอพฯ ทายบุคลิกสู่ผลเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ

ตัวอย่างใกล้ตัวคือการเลือกตั้งมาเลเซียเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ที่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน และแนวร่วมพรรครัฐบาลต่างหาเสียงทางโซเชียลมีเดียอย่างแข็งขัน แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านใช้การไลฟ์สดการปราศรัยคืนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ในขณะที่พรรครัฐบาลใช้การถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ของรัฐ แม้บอกไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียมีผลมากน้อยเพียงใดต่อชัยชนะของแนวร่วมฝ่ายค้านที่นำโดย มหาเธร์ โมฮัมหมัด แต่มันมีความสำคัญแน่นอนในประเทศมาเลเซียที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถึงร้อยละ 77

วงถกเลือกตั้งมาเลเซียชี้ สื่อโซเชียลและความเบื่อมีผล 'มหาธีร์'พลิกชนะรัฐบาล

โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมากในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฟิลิปปินส์เมื่อปี 2559 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานเฟสบุ๊กที่มีอายุ 18-65 ปีถึง 41 ล้านบัญชี ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มพูดถึงปัญหาหรือแนวนโยบายที่ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งตั้งแต่ก่อนแคมเปญหาเสียงจะเริ่มแล้ว และเป็นพื้นที่ที่นักการเมืองคนไหนพลาดก็พร้อมจะถูกทำให้ ‘ไวรัล’ และถูกกระทืบซ้ำ ทำให้เป็นตัวตลกทันที เช่น แมนนี ปาเกียว ตำนานนักมวยเจ้าของแชมป์มวยสากล 8 รุ่น ผู้สมัครวุฒิสมาชิกไปพูดไม่ชัดเจนกับกลุ่มชายรักชาย ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไร้ประสบการณ์ทางการเมือง และถูกสปอนเซอร์ทางการเงินถึงกับถอนตัว อีกกรณีคือผู้สมัครวิดีโอของผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดี เลนี โรเบรโดเดินทางไปเข้าประชุมรัฐสภาด้วยรถประจำทางที่ได้รับความสนใจเยอะมาก

คณะกรรมการการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์เล็งเห็นบทบาทของโซเชียลมีเดีย จึงจัดให้เผยแพร่โต้วาทีของผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีผ่านทั้งทางสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และออนไลน์ โดยเวทีโต้วาทีทั้งสองตำแหน่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีการทวีตที่เกี่ยวข้องกับโต้วาทีตำแหน่งรองประธานาธิบดีถึง 310,000 ทวีตในทวิตเตอร์ในเวลาสี่ชั่วโมง ชาวเน็ตต่างล้อเลียนผู้สมัครที่ชื่อฟรานซิส เอสกูเดโรที่มีท่าทางแข็งทื่อเป็นหุ่นยนต์แถมยังพูดเป็นโทนเดียว การโต้วาทีของผู้ลงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีก็ได้เปิดโอกาสให้ชาวเน็ตส่งคำถามเข้ามาร่วมได้ และมียอดทวีตที่มีแฮชแท็ก #PilipinasDebates2016 สูงถึง 1.9 ล้านทวีตเลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทยที่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2554 (ไม่นับ 2 ก.พ. ที่เป็นโมฆะ) ซึ่งถือเป็นช่วงรุ่งอรุณของโซเชียลมีเดียจะจัดการกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างไร เพราะการเคลื่อนไหวในหน้าจอนั้นจะมีผลกับทิศทางของการเมืองในโลกความเป็นจริงแน่นอน

โซเชียลมีเดียในฐานะ ‘สื่อ’ แยกยากจากตัวปัจเจกบุคคล

ถ้าเราพูดถึงโซเชียลมีเดียในฐานะที่มันเป็นสื่อในทางกว้างๆ ก็คือตัวกลางที่มนุษย์ใช้ส่งสารให้มนุษย์อีกคน การกำกับการหาเสียงทางอิเลกทรอนิกส์ในยุคที่ใครๆ ก็ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในการทำให้ตัวเองเป็นสื่อกันทั้งนั้นย่อมมีความกำกวมและอาจล้ำเส้นมาถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออก

พูดถึงการมองไปข้างหน้า วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวถึงหลักการกว้างๆ ในการออกระเบียบควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียในฐานะที่เป็น ‘สื่อ’ ว่าในต่างประเทศเองก็มีการกำกับดูแลสื่อในช่วงเลือกตั้งเหมือนกัน แต่ต้องพิจารณาถึงความเป็นเหตุเป็นผลในการออกกฎหมาย นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงนิยามสื่อออนไลน์ที่อาจเป็นทั้งสื่อและเป็นผู้ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์คในคนเดียวกัน

วรพจน์มองถึงทางเลือกว่า อาจจะสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วกับบริบทปัจจุบัน เช่น ขอบเขตเวลาการหาเสียงนั้นอาจนำมาใช้ได้ หรือไม่ก็ต้องร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมา เพราะว่าธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตนั้นมีความแตกต่างเกินกว่ากฎหมายที่มีอยู่จะรองรับได้ พร้อมยกตัวอย่างเรื่องการกำกับการใช้สื่อกับการเลือกตั้งในอดีต ซึ่ง กกต. เคยบอกว่าให้มีการประยุกต์ใช้กฎหมายสื่อทั่วไปกับสื่อออนไลน์ในบางประการ ทว่า นิยามของสื่อก็ยังคลุมเครือ เพราะสื่อออนไลน์นั้นบางครั้งก็เป็นตัวบุคคลคนเดียว แล้วถ้าบุคคลจะสื่อสารทางการเมืองจะผิดหรือไม่ ถ้าการใช้เฟสบุ๊กก็คือการคุยกันระหว่างบุคคล แล้วจะไปห้ามคนคุยกันได้อย่างไร และในทางหลักการก็ไม่ควรห้ามอยู่แล้ว

ooo

ตอนนี้สัญญาณที่ออกมาจากทาง กกต. และ คสช. ดูเป็นสัญญาณของการควบคุมอย่างเดียว  จึงต้องรอดูระเบียบ กกต. กันว่าจะออกมาอย่างไร บทบาทสื่อโซเชียลจะทำอะไรได้บ้างในวันที่นักการเมืองทั้งมีเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัวกันหลายคน เราจะเห็นอะไรกันแน่ระหว่างมหกรรมการเลือกตั้งที่ผู้คนเข้าถึงจำนวนมาก หรือการไล่จับคน ไล่ปิดเพจครั้งใหญ่

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Social Media: A Game Changer in Philippine Elections, Asia Foundation, Apr. 27, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท