Skip to main content
sharethis

คุยกับ 'โอฬาร อ่องฬะ' วิจารณ์นโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ที่ใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนผ่านแนวคิดรัฐองค์รวมของ อันโตนิโอ กรัมชี่ ความอ่อนไหวของชนชั้นกลางต่อทรัพยากรป่าไม้ และการลุกขึ้นต่อสู้-ต่อรองของชาวบ้าน

  • รัฐองค์รวมคือทฤษฎีที่ชี้ว่ารัฐใช้ทั้งอำนาจแข็ง (Hard Power) ผ่านกลไกรัฐที่เรียกว่า สังคมการเมือง (Political Society) และอำนาจอ่อน (Soft Power) ผ่าน ประชาสังคม (Civil Society)
  • นโยบายทวงคืนผืนป่ามีการผสมผสานทั้งไม้แข็งและไม้อ่อน ซึ่งสะท้อนผ่านคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557
  • ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเรียนรู้เพื่อต่อสู้ ต่อรองกับอำนาจรัฐ

หลังการรัฐประหารไม่ถึงเดือน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 14 มิถุนายน 2557 ก็ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นจุดตั้งต้นของนโยบายทวงคืนผืนป่า หลังจากนั้นเพียง 3 วันคือวันที่ 17 มิถุนายน 2557 คสช. ได้ออกคำสั่งอีกฉบับ คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสําหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้าไปในนโยบายทวงคืนผืนป่า

และเพิ่มความเมตตาปราณีเข้าไปด้วยถ้อยคำว่า การดําเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทํากิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้

ย้อนดูตัวเลขคดีปี 2552-2556 ที่กรมป่าไม้ดำเนินคดีกับชาวบ้านมีจำนวน 6,656 คดี แต่ปี 2557-2558 จำนวนคดีกลับสูงถึง 9,231 เช่นเดียวกับจำนวนคดีที่กรมอุทยานฟ้องชาวบ้าน ช่วงปี 2552-2556 มีจำนวนคดีประมาณ 5,000 คดี แต่ในช่วงปี 2557-2559 ตัวเลขกลับสูงถึงประมาณ 6,000 คดี

งานศึกษาของ โอฬาร อ่องฬะ นิสิตปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และอาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง รัฐองค์รวมกับการศึกษาเชิงวิพากษ์ของการจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินหลังพฤษภาคม 2557 ????

โอฬาร อ่องฬะ (ที่มาภาพ Boonyuen Wongsa-Nguan)

รัฐองค์รวม

ก่อนจะไปถึงตัวนโยบาย โอฬาร อธิบายคำว่า รัฐองค์รวม ว่ารัฐองค์รวมเป็นแนวคิดของ อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) นักทฤษฎีการเมือง นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอิตาเลียนแนวมาร์กซิสม์และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี ที่พยายามศึกษาอำนาจนำหรือการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด ซึ่งถูกนำมาใช้วิเคราะห์วิพากษ์สังคมในช่วงหลังๆ บ่อยขึ้น

อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci)

“รัฐองค์รวมในทัศนะของกรัมชี่เป็นการพยายามทำความเข้าใจการทำงานของรัฐ ชี้ให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ปฏิบัติการผ่านตัวรัฐเอง แต่มีกลไก มีอำนาจ ในการเชื่อมโยงกับกลไกรัฐเพื่อทำอะไรบางอย่าง ผมสนใจดูปฏิบัติการของมันว่ามันทำงานอย่างไร”

โอฬาร กล่าวต่อว่า ในมุมของกรัมชี่มีสิ่งที่เรียกว่า อำนาจแข็ง (Hard Power) เป็นกลไกรัฐที่เรียกว่า สังคมการเมือง หรือ Political Society อีกปีกคือ Civil Society หรือประชาสังคม แต่ไม่ใช่ประชาสังคมในความหมายที่รู้จักกันทั่วไปเวลานี้ แต่ประชาสังคมที่เกี่ยวกับการสร้างความยินยอมพร้อมใจ เป็นการใช้อำนาจอ่อน (Soft Power) ซึ่งเครื่องมือทั้งสองปีกนี้ กรัมชี่มองว่าทำงานร่วมกันเสมอ เพราะรัฐไม่สามารถใช้กลไกรัฐบีบบังคับประชาชนได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการกล่อมเกลา สร้างกรอบความคิดให้ประชาชนรู้สึกว่าสิ่งที่รัฐทำลงไปเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

“ผมพยายามกลับไปดูนโยบายกับปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดิน ส่วนตัวทำงานเรื่องนี้ด้วย พยายามต่อสู้มายาวนานมาก ปัญหาก็ยังวนแบบเดิม เราจึงกลับไปตั้งคำถามกับมันใหม่ คำถามผมคือนโยบายและปฏิบัติการของรัฐเรื่องการจัดการป่าไม้และที่ดินในปัจจุบันมีเบื้องหลัง มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนต่างๆ ในการสร้างตัวแนวคิดกับตัวปฏิบัติการและนโยบายอย่างไรบ้าง”

ไม้แข็ง-ไม้อ่อน

“ผมพยายามใช้คำสั่ง 2 ตัวนี้ (คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557) เป็นตัวมอง คำสั่งทั้งสองตัวนี้มีความต่างกันเล็กน้อย คำสั่งคสช. ที่ 64/2557 เป็นเรื่องการคุมกำลังคนการจัดการทรัพยากรใหม่ ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งตัวเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทรัพยากรที่ใช้มันเยอะ จึงอยากควบคุมสิ่งเหล่านี้ไว้ จึงออกประกาศมาเพื่อดูการบุกรุกป่าทั้งหมดในสังคมไทยและใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจับกุม

“ที่ออกมาลักษณะนี้ มีการคุยกันในเชิงวิชาการและในกลุ่มคนทำงานว่า ความชอบธรรมในการรัฐประหารต้องอาศัยคนชั้นกลางในเมืองพอสมควรให้รู้สึกว่าสิ่งที่รัฐทำนั้นจำเป็น ในเรื่องทรัพยากรก็เป็นดราม่า เป็นทัศนคติของคนในเมืองมานานแล้ว ชาวเขาทำลายป่า ชาวบ้านบุกรุกป่า นายทุนถือครองที่ดิน ทำให้รู้สึกว่าถ้ารัฐมีปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่เข้มข้น ใช้อำนาจลงไปทำงานแบบแข็งมาก”

ขณะที่คำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 มีเนื้อหาคำสั่งเหมือนกัน แต่ให้ยกเว้นผู้ยากไร้ จากเดิมที่หว่านแหหมดเพื่อให้ได้ผลงานแก่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ โอฬารกล่าวว่า ผลจากคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ก่อให้เกิดแรงต่อต้านมาก จึงจำเป็นต้องออกคำสั่งนี้ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นอำนาจอ่อนคานทำให้รู้สึกว่าลดทอนความแข็งกร้าวของทหารลงไป

เกณฑ์ที่ใช้วัดว่าใครเป็นผู้ยากไร้ โอฬาร กล่าวว่า ใช้เกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์การถือครองที่ดินที่อยู่มาก่อนประกาศเขต โดยกลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ที่นำไปสู่การถ่ายทำแผนที่ทางอากาศเสร็จสิ้นปี 2545 ดังนั้น คนที่ทำกินมาก่อนปี 2545 ถือว่าไม่บุกรุก อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่เข้าถือครองที่ดินหลังปี 2545 กลับเป็นคนส่วนใหญ่จึงต้องนำเกณฑ์ผู้มีรายได้น้อยเข้าไปจับอีกเกณฑ์หนึ่ง

“หลังปี 2557 เป็นต้นมารัฐใช้มาตรการไม้แข็งเยอะ การทำแผนแม่บททวงคืนพื้นที่ป่า วางแผนว่าแต่ละปีจะทวงคืนพื้นที่ป่ากี่ไร่ ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชาวบ้าน มีที่นายทุนบางเล็กน้อย ความขัดแย้งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังปี 2558 ถึง 2559 นโยบายแข็งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีคดีเกิดขึ้นกับชาวบ้านหลายแสนคน”

เมื่อมีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีครั้งแรกก็มีการปรับนโยบายทวงคืนผืนป่ามาเป็นยุทธศาสตร์การพลิกฟื้นผืนป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการดึงหลายภาคส่วนเข้ามาเป็นกลไกแก้ไขปัญหา นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายที่มีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมากอย่างเชียงใหม่ น่าน และแม่ฮ่องสอน แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกเมื่อมีการนำเกณฑ์การกำหนดคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 2 3 4 และ 5 ปี 2528 ซึ่งเป็นผลผลิตจากการเติบโตของแนวคิดอนุรักษ์ป่าไม้ในสังคมไทยหลังมีการปิดป่าสัมปทาน กลับมาใช้ โอฬาร กล่าวว่า

“พอนำเงื่อนไขนี้มาใช้จึงเกิดนโยบายเร่งด่วนขึ้นมาอีกนโยบายหนึ่งคือโครงการจัดสรรที่ทำกินให้ประชาชนที่ยากไร้ เป็นโครงการที่นำมาปัดฝุ่นใหม่ มีการไปสำรวจรังวัดที่ดินชาวบ้านที่การทำกินและใช้ประโยชน์ก่อนปี 2545 ถ้าอยู่ในพื้นที่กำหนดคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 3 4 5 เอามาซอยเป็นแปลงและจัดสรรให้ชาวบ้านเข้าไปทำกิน

“แต่ข้อมูลที่พบคือที่ดินทำกินก่อนปี 2545 ที่ชาวบ้านต้องได้ ในบางพื้นที่กลับไปอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 นโยบายนี้จึงไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ ที่สำคัญคือมันไปแยกขบวนการชาวบ้านออกจากกัน”

การก่อตัวของแนวคิดอนุรักษ์

การก่อตัวของแนวคิดอนุรักษ์ในไทย เกิดขึ้นหลังปี 2475 เมื่อกลุ่มชนชั้นนำสมาทานความคิดการอนุรักษ์ป่าจากต่างประเทศ มีการเกิดขึ้นของสมาคนนิยมไพร พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แต่เวลานำมาใช้กลับไม่ได้มองความเป็นจริงในพื้นที่ว่าชุมชนและชาวบ้านมีการจัดการอย่างไร การเร่งประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์จึงเติบโตเร็วขึ้นหลังปี 2504 และมีพลังมากขึ้นจากการเคลื่อนไหวกรณีเขื่อนน้ำโจน การเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร และการปิดสัมปทานไม้

“แต่รัฐไทยใช้ทรัพยากรช่วงที่ผ่านมามหาศาลมาก พอใช้เยอะถึงจุดหนึ่งก็เกิดกระแสการปกป้อง รัฐปู้ยี้ปู้ยำทรัพยากรแล้วก็ทิ้งชนบทไว้ ปัญหาคือรอยต่อระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบทที่ใช้ทรัพยากรมันคนละเรื่องกัน คนเมืองมองว่าใช้มากไป ต้องปกป้อง ขณะที่ชาวบ้านที่ถูกแย่งไปต้องกลับไปใช้ฐานทรัพยากรเหล่านี้ รัฐหลังปี 2510 ก็ส่งเสริมการขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยว ทำให้เห็นความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์พื้นที่ป่ากับการส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

ถามว่ารัฐมีส่วนในการกล่อมเกลาความคิดเรื่องการอนุรักษ์ต่อชนชั้นกลางอย่างไร โอฬาร กล่าวว่า

“ไม่ใช่ว่ารัฐไปทำให้เกิดหรือประชาสังคมในเมืองกระทำต่อรัฐ ประเด็นนี้ผมยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร แต่ทุกครั้งที่รัฐพยายามทำอะไรที่กระทบต่อชาวบ้าน เช่น การจับชาวบ้านที่ไปบุกรุกป่า ปลูกข้าวโพด หาเห็ด คนชั้นกลางก็ไม่ออกมาตอบโต้กับสิ่งที่รัฐทำ แต่พอเป็นเรื่องเสือดำ เรื่องป่าแหว่ง คนชั้นกลางกลับลุกฮือขึ้นมาปกป้องทรัพยากร

“ถ้าจะอธิบายให้เห็นอำนาจอ่อนผ่านกลไกประชาสังคม ย้ำว่าไม่ใช่ประชาสังคมแบบที่เข้าใจในปัจจุบัน แต่คือกลไกลเชิงสถาบันที่คอยหล่อหลอมความคิดความเชื่อ เช่น สื่อ การศึกษา เป็นต้น การที่รัฐฉายภาพออกมาบ่อยๆ มันทำให้คนเชื่อว่าต้องแก้ไข ประกอบกับสถานการณ์โลกร้อน ภัยธรรมชาติ มันยิ่งตอกย้ำว่าต้องลุกขึ้นมาปกป้อง”

เรียนรู้เพื่อต่อสู้-ต่อรองกับรัฐ

โอฬารให้ข้อมูลอีกว่า หลังปี 2557 มาตรการกดดันให้ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ทำกินรูปแบบหนึ่งคือการกีดกันไม่ให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการตัดถนนเข้าพื้นที่หรือไฟฟ้า เป็นต้น โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่า เขามองว่านี่เป็นการลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์

อีกด้านหนึ่ง รัฐพยายามพัฒนานโยบายใหม่ๆ อย่างล่าสุดคือการเสนอ พ.ร.บ.ป่าชุมชน เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โอฬารเรียกว่าเป็นการ ‘โชว์ออฟ’ ของรัฐบาล เป็นการคลายตัวของแรงกดดัน เพราะใกล้เลือกตั้ง เหตุนี้นโยบายที่ทำให้เกิดผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ รัฐจำเป็นต้องผ่อนคลายลงเพื่อช่วงชิงพื้นที่การเมือง

อย่างไรก็ตาม โอฬารไม่ต้องการให้มองว่าชาวบ้านและชุมชนเป็นฝ่ายตั้งรับหรือเป็นเหยื่อของรัฐเพียงฝ่ายเดียว เขากล่าวว่ามีปฏิบัติการของชาวบ้านที่พยายามต่อสู้ ต่อรอง และสร้างทางออก เช่น บางพื้นที่ชาวบ้านขับเคลื่อนกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างกติกาการจัดการทรัพยากร บางพื้นเกษตรกรที่ต่อรองกับกลุ่มทุน กับคนกลางอย่างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือการเข้าไปพัฒนาระบบการผลิตใหม่ๆ การทำตลาดรองรับกันเอง หรือการจัดทำข้อมูลทรัพยากร เป็นต้น

“ชาวบ้านไม่ได้งอมืองอเท้า พยายามคิดค้นวิธีการต่อสู้ ต่อรอง ถ้าดูปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านในการจัดการทรัพยากร ผมคิดว่าชาวบ้านก็ใช้พื้นที่แบบรัฐองค์รวมเยอะ เช่น ชาวบ้านก็ใช้กลไกอำนาจต่อสู้ ชุมนุม ประท้วง แข็งขืน และก็ใช้อำนาจอ่อนในการช่วงชิงพื้นที่ที่รัฐทำงานอยู่ เช่น เข้าไปเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ การใช้ข้อมูลแผนที่เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้

“การต่อสู้ของชาวบ้านจึงไม่ได้เป็นเหมือนเมื่อก่อน เทคนิค วิธีการอธิบาย ทำให้เห็นพัฒนาการการเคลื่อนไหวมากขึ้น การลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่การต่อสู้ ในงานก็พยายามชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านควรออกจากคอมฟอร์ท โซนของตัวเองไปอยู่ในพื้นที่อำนาจบ้าง แต่การจะทำอย่างนี้ต้องมีฐานที่ค่อนข้างเข้มแข็งพอสมควร ไม่อย่างนั้นจะถูกกลืนหายเป็นผู้นำขาลอย”

โอฬาร กล่าวว่า หากมองจากปรากฏการณ์หมู่บ้านป่าแหว่ง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้และที่ดินเข้าร่วมกับขบวนการนี้ และพยายามชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นความพยายามหนึ่งเพื่อเชื่อมกับคนชั้นกลางในเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net