Skip to main content
sharethis

สหภาพนักเรียนนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยจัดเวทีรับฟังความเห็นกรณีร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นประเด็นดราม่าแรงช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา อาจารย์-นศ. ห่วง ใช้คำกำกวม ตีความได้ร้อยแปด เสนอให้ย้อนไปรับฟังความเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน ผู้แทนกระทรวงฯ ระบุ ตอนนี้ยังอยู่ขั้นร่าง จะบันทึกข้อเสนอของเวทีให้ผู้บริหารต่อ

ภาพบรรยากาศงานรับฟังความเห็น

31 ส.ค. 2561  สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนักเรียนและนิสิตนักศึกษาต่อร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนดความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากสภานิสิต มธ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนจากสโมสรนักศึกษาคณะต่างๆ และองค์กรนักศึกษาร่วมให้ความคิดเห็น

เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561 ซึ่งมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 เกี่ยวกับลักษณะความประพฤติต้องห้ามของนักเรียนและนักศึกษา โดยกำหนดให้มีการแก้ไขดังนี้

1. กำหนดเพิ่มเติม "ห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม" อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

2. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสมจากเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เป็นการห้ามไม่จำกัดสถานที่ โดยตัดคำว่า “ในที่สาธารณะ” ออก และกำหนดเพิ่มเติมห้ามกระทำการลามกอนาจารด้วย

3. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พัก เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จากเดิมห้ามเฉพาะเวลากลางคืน เป็นการห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า “เวลากลางคืน” ออก

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา ค้านกฎกระทรวง ศธ. ระบุเสี่ยงต่อการเป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพ

ฟังมุม นศ. หลัง ครม.แก้กฎกระทรวง ห้าม นร.- นศ. รวมกลุ่มขัดความสงบ ศีลธรรม-ชู้สาว-เที่ยวเตร่

ทัชภูมิ ทุมสวัสดิ์ สมาชิกสภานักศึกษา มธ. กล่าวว่า กฎกระทรวงดังกล่าวมีที่มาจาก พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ด้วยตัว พ.ร.บ. เป็นกฎหมายอาญาเพราะมีบทกำหนดโทษ การบัญญัติกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เนื่องมาจากกฎหมายอาญาจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดเพราะมีการลงโทษในทางอาญา แม้จะบอกว่าออกกฎกระทรวงมาแล้วจะมีคู่มือแนวทางในการกำกับการปฏิบัติหน้าที่ แต่คู่มือนั้นสามารถนำไปใช้อ้างในศาลได้หรือไม่ 

ส่วนสำคัญคือ กฎที่ออกโดยรัฐมักไม่มีแนวปฏิบัติในการร้องเรียนหรือแย้งต่อดุลพินิจ กรณีกฎกระทรวงที่มีการใช้คำที่กว้างแบบนี้แต่ไม่ได้เขียนรองรับสิทธิของนักเรียนในการไม่เห็นด้วยแล้วโต้แย้งกลับ แปลว่ามีทางเดียวคือต้องเชื่อฟังและทำตาม การจับนักเรียนไปส่งที่โรงเรียนหรือบ้านเหมือนไม่ใช่การลงโทษแต่ทางเทคนิคคือการลงโทษทางสังคม เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเขาที่มีต่อคนรอบข้างเช่นเพื่อนและครู

ทัชภูมิกล่าวเพิ่มเติมว่า บทลงโทษมาตรา 85 พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กระบุว่า ถ้ามีผู้ช่วยเหลือ ยุยงให้เกิดการกระทำดังกล่าว บุคคลนั้นมีโทษทางอาญาจำคุกหรือปรับ ถ้าในกรณีที่ถูกใช้กับประเด็นทางการเมือง นอกจากเด็กจะโดนลงโทษแล้ว แต่ถ้าผู้ปกครอง ครู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีการใช้ มาตรา 85 ยิ่งเป็นการสร้างความกลัวเชิงระบบที่ลามออกไปไกลมากกว่าตัวเด็ก ดังนั้น ถ้ากฎกระทรวงจะต้องออกมาแบบที่เป็นอยู่ตามร่างฯ ก็อยากให้เพิ่มเรื่องการโต้แย้งดุลพินิจเจ้าหน้าที่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการควบคุมอย่างเดียวไม่มีการตอบสนองกลับมา การที่บอกว่านักเรียนนักศึกษาออกจากระบบการศึกษาจำนวนมากด้วยเหตุผลต่างๆ แต่จะไม่ให้พวกเขามีสิทธิใดๆ นอกจากปฏิบัติตามกฎกระทรวงนั้นตนไม่เห็นด้วย การโต้แย้งเพื่อสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎกระทรวงที่อ้างว่าออกมาเพื่อคุ้มครองเด็กควรทำได้ ไม่เช่นนั้นการคุ้มครองก็ไม่มีอยู่จริง จะยังคงเป็นการตัดสินฝ่ายเดียวจากผู้ใหญ่โดยที่เด็กไม่ได้มีส่วนในการแสดงความเห็น แถมยังเป็นการตัดการใช้เหตุใช้ผลของเด็กออกไปด้วย การอนุญาตให้เด็กโต้แย้งจะเป็นการปิดช่องโหว่อันเกิดจากความแตกต่างระหว่างบุคคลและสถานที่ของการใช้กฏกระทรวงได้ 

ธนวัฒน์ วงศ์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาฯ แสดงความกังวลว่า กฎกระทรวงอ้างว่าออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็ก แต่ทำไมกฎกระทรวงกลายเป็นควบคุมเด็ก สองคำนี้ต่างกัน สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังทำคือหนักไปทางควบคุมเด็กมากเกินไปหรือเปล่า การแก้ไขรายละเอียดในกฎกระทรวงทั้งสามข้ออำนวยความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกับนักเรียน นักศึกษาหรือเปล่า เช่น การตัดคำว่ากลางคืนจากเที่ยวเตร่ แปลว่าการเที่ยวเตร่ทำไม่ได้ทุกเวลาใช่ไหม มีความกำกวม คำว่ารวมกลุ่ม มั่วสุม เป็นคำเดียวกับกฎหมายความมั่นคงของรัฐ การตัดคำว่าที่สาธารณะทิ้งจากท่อนพฤติกรรมเชิงชู้สาวก็มีปัญหา เช่น ถ้ามีเพื่อนสองคนเป็นแฟนกัน อยู่ในห้องนอนแล้วตนไปถ่ายรูปเขาจับมือกันออกมา อันนี้ถือว่าผิดกฎกระทรวงหรือเปล่า

นอกจากนั้น กฎกระทรวงนี้ได้โยนอำนาจการเอาผิดนักเรียน นักศึกษาไปให้สถานศึกษา แปลว่าครูในโรงเรียน มหาลัยเป็นผู้ตัดสิน ดุลพินิจจะต่างกันใช่ไหม และจะมั่นใจอย่างไรว่ากฎนี้จะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเอามาแกล้งกัน ธนวัฒน์ยกตัวอย่างกรณีสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์หรือจ่านิวที่ขึ้นรถไฟไปตรวจสอบทุจริตกรณีอุทยานราชภักดิ์ ถูกตีความเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ปณิดา ยศปัญญา (แบม) ที่เปิดโปงทุจริตกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ถูกตีความเป็นคุณงามความดีของประเทศชาติ การตีความการรวมกลุ่มยังไม่ตรงกันเลย แล้วครูที่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมายจะตีความได้รัดกุมได้แบบนักกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ แม้กฎกระทรวงนี้ยังเป็นร่าง ไม่มีผลบังคับใช้ แต่หอพักนิสิตจุฬาฯ ใช้กฎดังกล่าวเป็นข้ออ้างกำหนดเวลากลับหอพักของนิสิตแล้ว 

ธนวัฒน์ทิ้งท้ายว่า การรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎกระทรวงต้องเปิดกว้างทั้งต่อนักเรียนและนักศึกษา กระบวนการรับฟังความเห็นต่อกฎกระทรวงที่ทำมานั้นไม่ได้มีส่วนร่วมจากนักเรียนและนักศึกษาอย่างเต็มที่ จึงมีความเห็นว่า การจัดทำแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวสมควรถูกยกเลิก ถ้าจะมีการแก้ไขก็ต้องตั้งกระบวนการแก้ไขใหม่โดยรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ต้น มิใช่มีปัญหาแล้วมีการท้วงติงค่อยมาฉุกคิดว่าฉันต้องรับฟังความเห็น

เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ความเห็นว่า การเป็นผู้ดูแลต่างจากการเป็นผู้ควบคุมตรงเรื่องความเข้าใจในการใช้อำนาจ ผู้ดูแลควรพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่นิสิต นักศึกษาทำก่อน เมื่อใดก็ตามที่ไม่ได้ทำความเข้าใจ สิ่งที่จะเกิดต่อมาคือความกังวลใจ ผู้ดูแลหลายคนก็จะเริ่มใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซง ยิ่งการใช้อำนาจแทรกแซงมีความคลุมเครือก็ยิ่งมีความไม่ชอบธรรม การออกกฎกระทรวงที่ไม่มีการทำความเข้าใจด้วยกันในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ ความคับข้องใจขึ้นได้

สำหรับร่างกฎกระทรวงฯ เมื่อตนเปิดดูเนื้อหาก็มีความไม่สบายใจเพิ่มเติม ในประเด็นที่มีการแก้ไขแล้วอาจยิ่งนำมาสู่ความคลุมเครือกันได้ เช่น การเปลี่ยนที่ห้ามรวมกลุ่ม อันเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ห่วงเป็นการส่วนตัว เพราะเคยมีนิสิต มก. เคยถูกกระทำเมื่อไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์ประชาธิปไตยก็ถูกเจ้าหน้าที่มองว่าเป็นการกระทำทางการเมือง ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การเปลี่ยนเช่นนี้มีความคลุมเคือลและอาจนำไปสู่ความคับข้องใจ

เรื่องห้ามพฤติกรรมชู้สาวที่ไม่ได้จำกัดสถานที่ก็ต้องทำความเข้าใจกันเยอะว่าแล้วอะไรที่เราเรียกว่าพื้นที่ส่วนตัว อันไหนคือพื้นที่สาธารณะ ไปดูคู่มือการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่สง่เสริมความประพฤตินักเรียน (ตามกฎกระทรวงเดิม) มีนิยามเรื่องการชู้สาวแต่ก็ไม่ได้มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่าแปลว่าอะไร การใช้ดุลพินิจจะใช้อย่างไร เมื่อไหร่ คู่มือนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2548-2549 ก็สิบกว่าปีแล้ว น่าจะมีการนำมาถอดบทเรียน

เดชรัตกล่าวว่า ในวันที่สังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เราไม่รู้ว่าโลกในอนาคตจะเป็นเหมือนวันที่พวกเราเป็นเด็กหรือไม่ การเป็นผู้ดูแลแล้วให้เด็ก เยาวชนตัดสินใจและเดินหน้าต่อไปเองก็เป็นเรื่องที่ควรจะทำและควรจะทำความเข้าใจกับการกระทำ ไม่ใช่ควบคุมและใช้อำนาจแทรกแซง

อาจารย์จาก มก. เสนอว่าควรเพิ่มเนื้อหาเรื่องการพิทักษ์สิทธิเด็กไว้ในคู่มือด้วย เช่น ไม่ควรเปิดเผยชื่อเด็กต่อสื่อมวลชน หรือไม่ให้ชื่อเด็กกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้ได้สำหรับทุกวัย นอกจากนั้นยังเสนอว่าควรแก้ไขทุกถ้อยคำที่จะนำไปสู่การตีความขยายขอบเขตโดยไม่จำเป็นและหาคำที่ชัดเจนกว่าเดิม เช่น การกระทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยสามารถเปลี่ยนเป็นคำว่า การกระทำที่เตรียมก่อเหตุทะเลาะวิวาทได้ไหม ถ้าหากกังวลเรื่องเด็กแว้นหรือการทะเลาะวิวาทจะใช้คำว่าอะไร

สุทิน แก้วพนา

สุทิน แก้วพนา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีจำนวนเด็กในสังกัด 7 ล้านคน มีจำนวนหลายหมื่นที่ออกนอกระบบการศึกษาก่อนกำหนด โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มเสี่ยงที่ถือเป็นเด็กที่หลุดออกนอกระบบแล้วก็ถือว่าขาดโอกาสทางการศึกษา ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองเด็กให้สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้จนจบหลักสูตร โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยง

ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการยังระบุว่า กฎกระทรวงที่ร่างขึ้นมานั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ออกบนฐานปัญหาในการปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น ปัญหาโซเชียลมีเดีย หรือการรวมกลุ่มที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น เด็กแว้น เมื่อเกิดขึ้นก็มีตำรวจเข้าไปดูแล แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้นก็ต้องมีครูอยู่ด้วยเพื่อดึงเด็กกลับมา โดยสมมติฐานแล้วคิดว่าครูทุกคนมีความรู้ ผ่านการอบรมวิธีในการเข้าไปดูแลเมื่อกระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงแล้วก็จะมีคู่มือ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติและตัวอย่างให้เห็นเพื่อเป็นแนวทางในการตีความ

ทั้งนี้ กฎกระทรวงที่ออกมาอาศัยอำนาจจำกัดอยู่ที่ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก มาตรา 64 ถ้าทำผิด พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กภายใต้มาตราอื่นจะไม่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการ ทางกระทรวงศึกษาธิการจำกัดขอบเขตในเรื่องเฉพาะในการดูแลนักเรียน นักศึกษาที่ต้องประพฤติตนตามระเบียบสถานศึกษาเท่านั้น

สุทินระบุทิ้งท้ายว่า ในส่วนข้อเสนอทั้งหมดของวงรับฟังความคิดเห็นวันนี้ ตนจะทำบันทึกเสนอปลัดและรัฐมนตรี จะออกมาอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องที่ควรจะรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 (ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง....) คิดว่าน่าสนใจและเชื่อว่าจะมีการนำเสนอผู้บริหารระดับสูง ขณะนี้ร่างฯ อยู่ในขั้นตอนพิจารณากันอยู่ แต่จะออกมาในแนวทางไหนก็คงมีนักกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันดู

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net