Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มูลนิธิเอเชียออกสมุดปกขาวว่าด้วยอนาคตความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ เนื่องในโอกาส 2 ศตวรรษแห่งสายสัมพันธ์ โดยการสัมภาษณ์ชนชั้นนำในภาคราชการ การเมืองและธุรกิจของทั้งสองฝ่ายจำนวน 50 คน เพื่อแสวงหาวิสัยทัศน์ว่าทั้งสองประเทศจะอยู่กันอย่างไรในอนาคต ซึ่งสรุปได้ 10 ข้อดังต่อไปนี้

1 เมื่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเริ่มก่อรูปร่าง ไทยและสหรัฐควรจะทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ร่วม โดยให้นำเอาข้อกังวลของไทยและอาเซียนเข้ารวมพิจารณาด้วย ไทยควรจะให้ input กับยุทธศาสตร์นี้มากขึ้นทั้งในฐานะประธานอาเซียน (ปีหน้า) และในนามของประเทศไทยเอง

2 แม่น้ำโขงมีความสำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องการพัฒนาและเศรษฐกิจแต่ด้านความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ด้วย ทั้งสองฝ่ายควรจะทำงานร่วมกันเพื่อเปิดบทบาทสหรัฐมากขึ้นในอนุภูมิภาคนี้

3 สหรัฐควรเพิ่ม ODA เพื่อดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกและลุ่มแม่น้ำโขง (พูดง่ายๆจ่ายซะบ้าง จีนเขาเงินหนานะ)

4 ขยายการมีความร่วมทางการศึกษาและฝึกอบรมทางทหารกันมากขึ้น หลังจากไทยมีการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อความรับรู้ของทหารไทยเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐในภูมิภาคนี้และเข้าใจความห่วงกังวลของสหรัฐในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือน

5 สนับสนุนบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียน ปี 2019

6 ฝ่ายสหรัฐควรช่วยส่งเสริมให้ไทยได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับการนำในกรุงวอชิงตันมากขึ้น ให้โอกาสแก่นักการทูตและเจ้าหน้าที่ของไทยเข้าไปเรียนรู้เรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ของสหรัฐมากขึ้น ทั้งกับฝ่ายบริหารและคองเกรส

7 ส่งเสริมคุณค่าของสหรัฐในเรื่องประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ โดยตระหนักถึงความคิดของชนชั้นนำของไทยในเรื่องนี้ด้วยว่า พวกเขาโดยทั่วไปยอมรับว่า สหรัฐได้นำเอาคุณค่าของประชาธิปไตยและนิติรัฐใส่ลงในนโยบายต่างประเทศ แต่พวกเขาก็ต่อต้านแนวคิด one size fits all (ขนาดเดียวใส่ได้ทุกคน) ซึ่งพูดแต่เรื่องการเลือกตั้ง (อันเป็นสิ่งระคายหูของชนชั้นสูงของไทย—อันนี้ข้าพเจ้าเติมเอง) โดยละเลยความสำคัญและความลึกซึ้งของความสัมพันธ์ (ไม่รู้แปลว่าอะไร แต่เอาว่า ถ้าพูดเรื่องเลือกตั้งมากทำให้ความสัมพันธ์เสียหาย—คำถามคือความสัมพันธ์ของใครกับใครที่จะเสียหาย)

8 เทคโนโลยี่ดิจิตอลมีความสำคัญต่อความร่วมมือและความสัมพันธ์เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ความมั่นคงด้านไซเบอร์ สื่อสังคม และนวตกรรม

9 ควรพิจารณาเปิดเจรจาการค้าเสรีกันใหม่ หลังจากที่หยุดชะงักมานาน

10 สหรัฐควรให้ทุนนักเรียนไทยมากขึ้นและเน้นอุษาคเนย์ศึกษามากขึ้นในสารบบการศึกษาของสหรัฐ

[ต่อไปนี้เป็นความเห็นของข้าพเจ้า]

Note: 1 สมุดปกขาวจัดทำขึ้นในสถานการณ์ที่กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์ของโลก เมื่อจีนมีอำนาจมากขึ้นในภูมิภาคและในโลก สหรัฐกำลังดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เพื่อถ่วงดุลกับความเปลี่ยนแปลงนั้น โดยที่รู้ดีว่าผู้นำไทยวิตกกังวลว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรและจะอยู่อย่างไร

2 ผู้นำไทยที่ให้ inputs และมีการสนทนากับคนเขียนเอกสารชิ้นนี้ ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นนำกระแสหลักที่มีแนวคิดขวาอนุรักษ์นิยม (ส่วนใหญ่อายุมากแล้ว เห็นมีคนเดียวที่พอจะนับว่ามีความคิดตรงข้าม) ซึ่งมีแนวคิดเก่าที่คิดถึงแต่วันชื่นคืนสุขของความสัมพันธ์ไทยสหรัฐในช่วงสงครามเวียดนามก่อนปี 1975 เท่านั้น บทสรุปในข้อ 3,7 และ 10 ยืนยันได้ว่าพวกเขาคิดว่าสหรัฐควรจะมีความสัมพันธ์กับไทยในแบบเก่า

ที่สำคัญ argument หรือข้อโต้แย้ง (ในหน้า 8 ) เรื่องการที่สหรัฐสมัยโอบามาต่อต้านรัฐประหารนั้น เป็นของชนชั้นสูงล้วนๆ ไม่มีสายไพร่ปนเลย แม้คนเขียนจะออกตัวว่าได้คุยกับคนที่ต้านรัฐประหารก็ตามและยอมรับว่าสหรัฐไม่อาจจะพูดถึงการเมืองไทยแบบ monolithic ได้อีกต่อไปแล้ว (หน้า 10) แต่ไม่นำพาพูดถึงและนำมาวิเคราะห์อย่างมีนัยสำคัญในรายงาน

3 สหรัฐรับรู้ถึงความแตกแยกทางการเมืองภายในของไทยดีแต่ไม่คิดจะนำประเด็นนี้มาพิจารณาอย่างจริงจังนัก ดูเหมือนจะยังเชื่อว่าที่สุดแล้วการเมืองแบบชนชั้นนำก็จะยังครอบงำสังคมไทยต่อไป
 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Supalak Ganjanakhundee

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net