Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“...จะเห็นว่าไม่มีประชาชนออกมาชุมนุมปิดทำเนียบรัฐบาลเหมือนอดีตที่ผ่านมา 
ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไปปิดกั้นการแสดงออก 
แต่ว่าทุกจังหวัดล้วนมีศูนย์ดำรงธรรมที่ประชาชนสามารถไปร้องเรียนได้...”

วิษณุ เครืองาม 
ที่มา https://www.prachachat.net/politics/news-211853

คำว่า “ตรรกะป่วย” เห็นคนใช้กันมากทางเฟสบุ๊ค เพื่อให้ภาพการเสนอความคิด เหตุผลในการตัดสินจริง เท็จ ถูก ผิด ควร ไม่ควรทางสังคมและการเมืองในวิกฤตความขัดแย้งกว่าทศวรรษ โดยเฉพาะการเสนอความคิด เหตุผลในยุค คสช.

ศัพท์ทางวิชาการ ใช้คำว่า “ตรรกะวิบัติ” หรือ “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) หมายถึง การอ้างเหตุผลอย่างผิดๆ คือข้ออ้างไม่ได้มีความสัมพันธ์ในเชิงสนับสนุนข้อสรุป เนื่องจากเหตุผลที่ยกมาอ้างไม่จริงหรือไม่เกี่ยวกับการพิสูจน์ให้เชื่อได้ว่าหรือควรยอมรับได้ว่าข้อสรุปจริง ถูก หรือควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ตรรกะป่วยดูเหมือนจะซับซ้อนกว่าตรรกะวิบัติ ในแง่หนึ่งตรรกะวิบัติเป็นส่วนหนึ่งของตรรกะป่วย เพราะผู้ที่ใช้ตรรกะป่วยก็มักจะใช้ตรรกะวิบัติเสมอ แต่ความเป็นตรรกะป่วยที่เกินไปจากตรรกะวิบัติคือ ตรรกะป่วยมันคือการแสดงถึงความเหลวไหล วิปริตผิดเพี้ยน (absurdity) อันเนื่องมาจากการยืนยันหลักการหรือระบบที่ผิดเพี้ยน

พูดให้ชัดคือ เมื่อคุณยึดถือหลักการหรือระบบที่ผิดเพี้ยนว่าเป็นหลักการหรือระบบที่ถูกต้องชอบธรรม คุณก็อ้างเหตุผลผิดเพี้ยนต่างๆ มาสนับสนุนหลักการหรือระบบเช่นนั้น ในทางตรรกวิทยา (logic) คุณกำลังใช้เหตุผลวิบัติ และใช้มันเพื่อสนับสนุนหลักการหรือระบบที่ผิดเพี้ยน มันจึงเป็นการสร้างความจริง,เท็จ, ถูก,ผิด, ควร,ไม่ควรในทางการเมือง, ความยุติธรรม, กฎหมาย, ศีลธรรมให้วิปริตผิดเพี้ยนไปหมด แม้แต่ความหมายของการโกง, การสร้างความแตกแยก, ความปรองดอง, ความสงบสุข, ความมั่นคง ฯลฯ ก็วิปริตผิดเพี้ยนไปหมด 

ตรรกะป่วยที่สร้างความวิปริตผิดเพี้ยนเหล่านั้น สะท้อนให้เห็นสภาวะสังคมการเมืองไทยที่ติดตัน เป็นสังคมการเมืองที่ไม่สามารถใช้เหตุผลถกเถียงอย่างเสรีและเท่าเทียมเพื่อสร้าง “ฉันทามติร่วมกัน” ได้ วันๆ จึงมีแต่การใช้ตรรกะป่วยเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาที่แท้จริง และปิดกั้นการหยิบยกปัญหาที่แท้จริงมาพูดและร่วมกันหาทางออกอย่างฉันท์มิตร

ตัวอย่างคำพูดของวิษณุ เครืองาม ข้างต้น คือ “ตรรกะป่วย” ที่เราเห็นอยู่เสมอ เป็นตรรกะที่ใช้โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล แต่มันไม่ใช่ความจริงที่ว่าประชาชนไม่ชุมนุมเพราะรัฐบาลไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และเพราะมีศูนย์ดำรงธรรม ความจริงก็คือรัฐบาล คสช.เกิดจากรัฐประหารล้มล้างอำนาจ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจึงถูกล้มไปแล้ว ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนปัจจุบัน 

แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่ารัฐบาล คสช.ล้มอำนาจ สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไปแล้วตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และปัจจุบันก็ยังมี ม.44 และคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และมีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี ติดคุกเพราะแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวทางการเมือง วิษณุก็ยังพูดหน้าตาเฉยว่ารัฐบาล “ไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก” ถ้าไม่จงใจโกหกก็อาจกำลังพูดถึง “เสรีภาพในการแสดงออก” ในความหมายที่ “ผิดเพี้ยน” ไปจากเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน นี่ก็เป็นตรรกะป่วยที่ทำให้ความหมายของเสรีภาพในการแสดงออกผิดเพี้ยนไป

เหมือนกับที่อำนาจเผด็จการยุคนี้ทำให้ความหมายของ “กฎหมาย” ผิดเพี้ยนไป เพราะเกณฑ์ตัดสินความเป็นกฎหมายที่ยุติธรรมตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องเป็นกฎหมายที่สะท้อน “เจตจำนงทั่วไป” (general will) ของประชาชน ซึ่งแปลว่าอำนาจที่บัญญัติกฎหมายต้องมาจาก “ความยินยอม” (consent) ของประชาชนด้วย  ไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นตามอำเภอใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดๆ ที่มีอภิสิทธิ์เหนือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยินยอมของประชาชน

ตรรกะป่วยที่สร้างความวิปริตผิดเพี้ยนของกฎหมายและสิ่งอื่นๆ เกิดจากการยืนยันหลักการหรือระบบที่ผิดๆ คือระบบอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลทหารว่าเป็นระบบที่ชอบธรรม จึงทำให้พยายามอ้างเหตุผลต่างๆ นานามาสนับสนุนการยืนยันเช่นนี้ แต่ยิ่งนานไปยิ่งเท่ากับเป็นการเดินสวนทางหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนยาวนานมากขึ้นเรื่อยๆ ความวิปริตผิดเพี้ยนยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

แต่สังคมที่สร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ เขาเริ่มต้นจากการประกาศสถาปนาหลักการที่ถูกต้องเป็นคุณค่าหรืออุดมการณ์สูงสุดที่ทุกคนควรยึดถือร่วมกันก่อน แล้วจึงอ้างอิงอุดมการณ์นั้นในการบัญญัติกฎหมายกำหนดให้สถาบันทางการเมือง กองทัพ ศาล ระบบราชการ การศึกษา และอื่นๆ ให้มีสถานะ อำนาจ และบทบาทสอดคล้องกับหลักการที่ถูกต้องนั้น เช่นการสร้างประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา เริ่มจากคำประกาศอิสรภาพ (United States Declaration of Independence) ที่ยืนยันหลักการเสรีนิยมและอำนาจรัฐบาลจากความยินยอมของประชาชนไว้ชัดเจนแต่เริ่มแรกว่า 

เราให้การยอมรับในความจริงที่ชัดแจ้งในตัวเองว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเสมอภาคกัน เราได้รับสิทธิและเสรีภาพจากพระผู้สร้างอันมิอาจถูกพรากไปได้ ได้แก่สิทธิในชีวิต อิสรภาพ และการแสวงหาความสุข และเพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิดังกล่าว เราต้องจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยประชาชน เพื่อใช้อำนาจปกครองอย่างเป็นธรรมโดยความยินยอมของประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง และเมื่อใดที่รัฐบาลไม่ว่าในรูปแบบใดกลายเป็นอุปสรรคทำลายเป้าประสงค์ดังกล่าว นั่นย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลนั้น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และวางรากฐานหลักการดังกล่าวขึ้นมาใหม่ ...

แปลว่า เขาสร้าง “ชาติ” ขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อ “คนเท่ากัน” ทุกคนจึงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน และมีอำนาจเท่าเทียมกันในการยินยอมให้ใครเป็นรัฐบาล (เป็นต้น) และรัฐบาลนั้นต้องใช้อำนาจปกครองเพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักการสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค หากทำในทางตรงกันข้าม ประชาชนย่อมมีสิทธิเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลนั้นได้ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่พระเจ้าประทานมาแก่ทุกคนพร้อมการเกิดมีความหมายเชิงนามธรรมเท่านั้น แต่จะมีความหมายในทางปฏิบัติจริงหรือมีกฎหมายรับรอง ย่อมอยู่ที่ประชาชนต่อสู้เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากอำนาจของประชาชน และเป็นรัฐบาลที่สามารถบัญญัติกฎหมายและอื่นๆ ที่ทำให้หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว หลังประกาศอิสรภาพในปี 1776 สหรัฐฯยังมีระบบทาส แต่หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในคำประกาศอันเป็น “สัญญาประชาคม” นี้ ได้ถูกอ้างอิงในการต่อสู้เพื่อเลิกระบบทาสได้สำเร็จในสมัยประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น แต่หลังจากเลิกระบบทาสแล้ว ก็ยังมีกฎหมาย “แบ่งแยก” กีดกันคนผิวดำจากการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่างๆ ร่วมกับคนผิวขาว เช่นแบ่งแยกการใช้ห้องน้ำ รถโดยสารประชำทาง สวนสาธารณะ ภัตตาควร โรงละคร โรงเรียน รวมถึงไม่ให้สิทธิเลือกตั้ง การศึกษา การมีงานทำแก่คนผิวสีเท่าเทียมกับคนผิวขาว เป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมือง (The Civil Rights Movement) จากคนเล็กคนน้อยในสังคม จนกระทั่งกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่แผ่กว้างโดยการนำของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้ที่เสนอความคิดอย่างมีพลังว่า “ประชาชนมีหน้าที่ทางศีลธรรม (moral duty) ที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันอยุติธรรม” จึงนำมาสู่การออกกฎหมายรับรองสิทธิเท่าเทียมด้านต่างๆ ของคนผิวสี 

แน่นอนว่าหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ถือเป็น “ค่านิยมอเมริกันชน” ยังถูกอ้างอิงเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางเพศและอื่นๆ ต่อเนื่องมาไม่สิ้นสุด และเป็นบทเรียนให้ประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตยได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้

ปัญหาของบ้านเราคือ ประกาศคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ว่า “จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ…” แทบจะไม่ได้ถูกทำให้กลายเป็น “ความทรงจำร่วม” หรือ “สำนึกร่วม” ของประชาชนผ่านระบบการศึกษาและพิธีการใดๆ ของรัฐ สังคมเราจึงไม่สามารถสร้างสำนึกร่วมในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค และทำให้เป็นจริงในรูปของระบบการปกครอง การบัญญัติกฎหมายที่กำหนดสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ สถาบันทางการเมือง กองทัพ ศาล ระบบราชการ ระบบการศึกษาและอื่นๆ ให้เป็นประชาธิปไตยและสนับสนุนการยึดถือหลักแห่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเป็นคุณค่าสูงสุดหรืออุดมการณ์สูงสุดในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมหรือเป็นชาติได้

ด้วยเหตุนี้เราจึงเป็น “สังคมตรรกะป่วย” เพราะเป็นสังคมที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยที่ใช้ตรรกะป่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาและครอบงำประชาชน ด้วยการสร้างความหมายของประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม กฎหมาย ศีลธรรม ฯลฯ ที่ต้องอยู่ภายใต้ “ความเป็นไทย” ที่ทำให้ความหมายแท้จริงหลักการเหล่านั้นผิดเพี้ยนไปจากเดิม

ความขัดแย้งของสังคมที่เราเผชิญมาตั้งแต่ปฏิวัติสยาม 2475 จนปัจจุบัน จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนขัดแย้งแตกแยกกันเอง แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยที่ผลิตสร้างและผลิตซ้ำตรรกะป่วยเพื่อรักษา “ความมั่นคง” แห่งสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ของพวกเขากับประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการสร้างอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้เป็นจริง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net