Skip to main content
sharethis

สมาคม ขรก.ท้องถิ่นเสนอปลัดรับเงินเดือนเพิ่มขณะทำหน้าที่รักษาการนายก อบต./ฉวยโอกาสค้าบริการพุ่ง ไต้หวันจะพิจารณาจำกัดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวไทย ฟิลิปปินส์เป็นคนละ 1 ครั้งต่อปี/ทำงานเป็นกะ เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน/ปี 2560 ผู้หญิงไทยทำงานเป็นพนักงานเอกชนมากที่สุด 37.4%/อดีตแรงงานไทยในเกาหลีใต้ระบุถูกบางสื่อหยิบแต่ด้านลบมานำเสนอ/ก.แรงงาน ระดมสมองหาข้อสรุปจ้างงานพาร์ทไทม์วัยเก๋า/เกาหลีใต้ชงยกเลิก 'ฟรีวีซ่าไทย' คนไทย แก้ปัญหาหนีไปทำงาน

สมาคม ขรก.ท้องถิ่นเสนอปลัดรับเงินเดือนเพิ่มขณะทำหน้าที่รักษาการนายก อบต.

นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เสนอความเห็นถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ภายหลังจัดให้มีการรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยเสนอให้แก้ไขกรณีที่ไม่มีนายก อบต. ให้ปลัดปฏิบัติหน้าที่ของนายกได้เป็นการชั่วคราวยกเว้นการกำหนดนโยบายใหม่จนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง โดยให้รับเงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่แทนด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาในทางปฏิบัติมีการตีความหรือมีข้อวินิจฉัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแตกต่างกัน ทำให้การให้บริการประชาชนขาดประสิทธิภาพในช่วงที่ปลัด อบต.ปฏิบัติหน้าที่นายก จากคำจำกัดความให้ทำงาน 'เท่าที่จำเป็น' และการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายก อบต.เมื่อมีข้อผิดพลาด ปลัดจะต้องรับผิดชอบ จึงควรกำหนดเงินค่าประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มให้เหมาะสมกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น

นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับการเสนอความเห็นร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น สมาคมฯยืนยันว่ามีข้อบกพร่องจากบทบัญญัติให้มีการรวมศูนย์อำนาจการบริหารงานบุคคลไว้ที่หน่วยงานส่วนกลาง สวนทางกับหลักการกระจายอำนาจ และขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 250 และ 251 นอกจากนั้นยังไม่มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ให้ความเป็นธรรมแบบเป็นกลางกับข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่อาจถูกลงโทษทางวินัย หรือมีปัญหาขัดแย้งกับผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งด้อยกว่า พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน

ที่มา: มติชน, 2/9/2561

ฉวยโอกาสค้าบริการพุ่ง ไต้หวันจะพิจารณาจำกัดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวไทย ฟิลิปปินส์เป็นคนละ 1 ครั้งต่อปี

ไต้หวันเปิดให้นักท่องเที่ยวไทย ฟิลิปปินส์และบรูไน เดินทางมาท่องเที่ยวที่ไต้หวันได้ โดยยกเว้นการตรวจลงตรามาเป็นปีที่ 2 แล้ว เมื่อวันที่ 31 ส.ค. มีการทบทวนมาตรการฟรีวีซ่าดังกล่าว ในที่ประชุมมีการหารือผลจากมาตรการฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวไทย ฟิลิปปินส์และบรูไน แม้จะทำให้ยอดจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่คดีผิดกฎหมาย เช่นค้าบริการ และทำงานอย่างผิดกฎหมายก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวบางส่วนใช้มาตรการฟรีวีซ่า ฉวยโอกาสทำผิดกฎหมาย จะเสนอให้จำกัดฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศนโยบายมุ่งใต้ใหม่จากแต่ละคนปีละ 6 ครั้ง ลดลงเหลือปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 14 วัน หากที่ประชุมสภาบริหารอนุมัติ จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ปี 2562

จากสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีการตรวจพบและจับกุมหญิงไทยที่อาศัยมาตรการฟรีวีซ่า ค้าบริการในไต้หวันรวม 309 ราย มากว่าปี 2559 ที่มีจำนวน 18 ราย และปี 2558 ที่ตรวจพบ 3 ราย 17 เท่า และ 103 เท่าตามลำดับ ทั้งนี้ไต้หวันจะพิจารณาจำกัดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวไทย ฟิลิปปินส์เป็นคนละ 1 ครั้งต่อปี ป้องกันนักท่องเที่ยวบางส่วนฉวยโอกาสทำผิดกฎหมาย โดยปี 2560 จับกุมหญิงไทยค้าบริการในไต้หวันรวม 309 ราย มากว่าปี 2559 ที่มีจำนวน 18 ราย ถึง 17 เท่า

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/9/2561

ทำงานเป็นกะ เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

แพทย์เผยผู้ทำงานเป็นกะ มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูงฯ ลฯ แนะ 3 ข้อปฏิบัติ ‘นอนช่วงเย็นให้ได้ 2-3 ชั่วโมง-ไม่ทานมื้อหนักช่วงหลังเที่ยงคืน-ออกกำลังกายหลังตื่นนอน’

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การดำเนินชีวิตด้านการทำงานของบุคคลทั่วไปมีช่วง เวลาทำงานระหว่าง 07.00-18.00 น.แต่ยังมีกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานเป็นกะนอกเหนือเวลาปกติ เช่น ตำรวจ บุคลากรทางการแพทย์และคนงานในโรงงานที่มีการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง ฯลฯ จากการศึกษาพบว่าการทำงานของร่างกายมนุษย์ เช่น อุณหภูมิร่างกาย การผลิตฮอร์โมน การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การทำงานของกระเพาะอาหารเป็นแบบ 24 ชั่วโมง โดยวงรอบการทำงานต่างๆ จะประสานสอดคล้องกัน โดยมีสมอง ปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวควบคุม ดังนั้นเมื่อต้องทำงานเป็นกะ ร่างกายจะมีการปรับวงจรการนอนให้สอดคล้องกับกะที่ทำงาน แต่วงจรอื่นๆ จะต้องใช้เวลาในการปรับ  ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น  ผลกระทบที่ตามมาคือนอนไม่เพียงพอ ทำให้อ่อนล้า สูญเสียสมาธิ และการตัดสินใจช้าลง นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของความผิดพลาดและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

นพ.สมบูรณ์  ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลกระทบด้านสุขภาพมี 2 ระยะ คือ ผลระยะสั้น ผู้ที่ต้องทำงานกะดึกจะได้รับผลกระทบทันทีในคืนแรก ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ(ปริมาณชั่วโมงการนอน) และคุณภาพของการนอน(หลับไม่สนิท) ผลที่ตามมาคือความอ่อนล้า เครียด ประสิทธิภาพการตัดสินใจลดลง ส่วนผลระยะยาวจะมีอาการเครียดจากการนอนหลับไม่เพียงพอ มักเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพต่างๆ ในระยะยาว ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูงและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถึงร้อยละ 40 โรคกระเพาะอาหารมากกว่า 2.5 เท่าของคนปกติ โรคมะเร็งเต้านมของผู้หญิงถึงร้อยละ 30 โรคระบบทางเดินอาหาร โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคจิตประสาท กังวล ซึมเศร้า ปัญหาครอบครัวและสังคม สำหรับในผู้หญิงอาจมีผลต่อระบบฮอร์โมนและระบบสืบพันธุ์ทำให้มีบุตรยาก คลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ง่าย

สำหรับข้อแนะนำของผู้ทำงานเป็นกะ ได้แก่ 1.การนอน พยายามนอนช่วงเย็นให้ได้ 2-3 ชั่วโมงใช้เครื่องป้องกันเสียงเพื่อตัดเสียงรบกวน งดชา กาแฟ หรือสารกระตุ้นประสาทก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง 2.การรับประทานอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักในช่วงหลังเที่ยงคืน ให้ทานอาหารเบาๆ แต่อุดมไปด้วยคุณค่าอาหารซึ่งนมจัดได้ว่าเป็นอาหารที่เหมาะที่สุด เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง ย่อยง่ายและเป็นสารเคลือบกระเพาะ 3.การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายหลังตื่นนอนจะช่วยเพิ่มอุณหภูมิในร่างกายทำให้สดชื่นและกระฉับกระเฉง หากสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำจะทำให้สุขภาพแข็งแรงและพร้อมที่จะทำงานเป็นกะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 1/9/2561

ปี 2560 ผู้หญิงไทยทำงานเป็นพนักงานเอกชนมากที่สุด 37.4%

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยสรุปผลที่สำคัญการทำงานของผู้หญิงในประเทศไทยปี 2560 พบว่าผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 28.95 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 17.35 ล้านคน หรือ 59.9% ของผู้หญิงที่อายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งหมด (เป็นผู้มีงานทำ 17.11 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.05 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 2.78 หมื่นคน) นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงที่อยู่นอกกำลังแรงงานอีก 11.60 ล้านคน หรือคิดเป็น 40.1% ได้แก่ ทำงานบ้าน เรียนหนังสือ ชรา เกษียณการทำงาน เป็นต้น

นายภุชพงค์ กล่าวว่าเมื่อเปรียบเทียบอาชีพระหว่างเพศชายและเพศหญิง พบว่าอาชีพที่เพศหญิงมีจำนวนผู้ทำงานมากกว่าเพศชาย คือ เสมียน (หญิง 71.9% และชาย 28.1%) ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ (หญิง 61.2% และชาย 38.8%) และพนักงานบริการในร้านค้าและตลาด (หญิง 58.7% และชาย 41.3%) ในขณะที่บางอาชีพมีลักษณะงานเหมาะสำหรับเพศชาย เช่น ช่างเทคนิคหรือผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ (เช่น วิศวกรรม สถาปนิก เป็นต้น) เพศหญิงกลับมีสัดส่วนผู้ทำงานด้านนี้มากกว่าเพศชาย

ทั้งนี้สำหรับสถานภาพการทำงานของแรงงานผู้หญิงปี 2560 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเอกชน 37.4% ประกอบธุรกิจส่วนตัว 26.3% ช่วยธุรกิจครัวเรือน 24.5% ลูกจ้างรัฐบาล 10.3% นายจ้าง 1.3% และการรวมกลุ่ม 0.2% ตามลำดับ

“จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานเท่าเทียมกับชาย ซึ่งเห็นได้จากความสามารถการทำงานของผู้หญิงเพิ่มขึ้นและหลากหลายในปัจจุบัน” นายภุชพงค์ กล่าว

ที่มา: มติชน, 30/8/2561

ทลายเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงแรงงานข้ามชาติ

29 ส.ค. 2561 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว/รองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารประเทศของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และได้เร่งรัดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้เห็นเป็นรูปธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จริงจังในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยในจาก “เทียร์ 2 เฝ้าจับตามอง” เป็น “เทียร์ 2” สามารถลดการกระทำความความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีความมุ่งมั่นและต้องการที่จะทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบให้หมดไปจากประเทศไทย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามคำสั่งที่ 385/2561 โดยได้รวบรวมเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเพื่อเร่งรัดในการปฏิบัติการติดตามจับกุมขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงแรงงานข้ามชาติให้หมดไป

จากการสืบสวนทราบว่าขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาตินี้มีจุดเริ่มต้นในการหลอกลวงแรงงานเกิดขึ้นจากเอเย่นชาวเมียนมาร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียมีความต้องการแรงงานจากประเทศเมียนมาร์ซึ่งมีราคาถูกไปทำงานในประเทศมาเลเซียและจะติดต่อไปยังเอเย่นชาวเมียนมาร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์ เพื่อรวบรวมคนจากรัฐต่างๆ โดยหลอกลวงว่าจะให้ไปประกอบอาชีพทำการเกษตร โรงงาน ประมงหรือก่อสร้าง มีรายได้ดี มีคุณภาพชีวิตการเป็นอยู่ที่ดี การเดินทางไปทำงานทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การปฏิบัติกลับเป็นการลักลอบเดินทางผ่านเข้ามาประเทศไทยตามช่องธรรมชาติตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ การเดินทางโดยรถยนต์แบบแออัด ต้องซ่อนตัวในช่องลับของรถซึ่งมีความลำบากและทนทุกข์ทรมานมาก ต้องพักอาศัยในป่าซึ่งไม่มีการดูแลต้องนอนกลางป่า ข้าวและน้ำดื่มไม่เพียงพอ ระหว่างรอรับการนำพาเพื่อไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งขั้นตอนการขนส่งที่มีความทุกข์ทรมานนี้อยู่ในประเทศไทยโดยขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงแรงงานใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน

อย่างไรก็ตามในขบวนการมีผู้ร่วมกระทำผิดหลายส่วน มีการแบ่งหน้าที่ในการขนส่ง และแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการหลอกลวงนำพา โดยมีการเรียกรับเงินค่าจ้างนำพาในราคาที่สูงกว่าปกติ รวมถึงการให้แรงงานเป็นหนี้ และเรียกเก็บจากการทำงานที่ปลายทางในรูปแบบเอารัดเอาเปรียบแรงงานหรือรูปแบบสัญญาทาส ชุดปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลจนสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามพืนที่ต่าง ประกอบด้วย สภ.ไชยา จว.สุราษฎร์ธานี (ไชยา 1) เมื่อ 25 เม.ย. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 15 คน ตรวจยึดรถทัวร์ / จับคนขับรถ ข้อหาค้ามนุษย์ฯ 3 คนออกหมายจับ 9 คน จับได้ 6 คน แจ้งข้อ 2 คน , สภ.ไชยา จว.สุราษฎร์ธานี (ไชยา 2) เมื่อ 4 พ.ค. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 9 คน ตรวจยึดรถทัวร์ จับคนขับข้อหาค้ามนุษย์ฯ จำนวน 3 คน ออกหมายจับ - คน,สภ.ควนมีด จว.สงขลา เมื่อ 19 พ.ค. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 29 คน ตรวจยึดรถยนต์ จำนวน 3 คัน จับคนขับข้อหาค้ามนุษย์ฯ จำนวน 3 คน ออกหมายจับ 9 คน จับได้ 5 คน,สภ.เขาชัยสน จว.พัทลุง เมื่อ 29 พ.ค. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 37 คน ออกหมายจับ 7 คนจับกุมได้ 4 คน,สภ.การะเกด จว.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 8 คน ออกหมายจับ 6 คน จับได้ 4 คน แจ้งข้อหา 1 คน, สภ.บางกล่ำ จว.สงขลา เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 8 คน / ออกหมายจับ 9 คน จับได้ 1 คน, สภ.โคกโพธิ์ จว.ปัตตานี เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 29 คน ตรวจยึดรถยนต์ 4 คัน /จับคนขับ 4 คน ออกหมายจับ 2 คน จับได้ 1 คน รวมผลการจับคดีค้ามนุษย์ 7 คดี 5 จังหวัดภาคใต้ามารถ ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 135 คนจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 13 คน ขยายผลออกหมายจับ จำนวน 42 หมาย จับกุมตามหมายจับ จำนวน 21 หมายแจ้งข้อหา จำนวน 3 คน

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวว่าการปฏิบัติการในครั้งนี้ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ที่ปรึกษา (มค 1) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว รองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน และ พล.ต.ต.ดาวลอย เหมือนเดช รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 /รองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ร่วมกันเปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น จับกุม จากการขยายผลการจับกุมเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ที่ผ่านมาทั้ง 7 คดี ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้สืบสวนขยายผลนำไปสู่การออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 42 ราย และยังมีผู้ร่วมสนับสนุนขบวนการค้ามนุษย์เกี่ยวกับเส้นทางการเงิน จึงได้มีการเปิดปฏิบัติการ ระดมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ และตรวจค้นจุดต้องสงสัยในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จว.นราธิวาส จำนวน 7 เป้าหมาย เพื่อค้นหา และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทางด้านการเงิน

"จากการเปิดปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับแล้วทั้งสิ้น 21 หมายจับ อยู่ระหว่างการติดตามจับกุมอีกจำนวน 21 ราย และจากการตรวจค้นพบพยานหลักฐานเกี่ยวข้องด้านการเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะได้มีการซักถามขยายผลในส่วนหลักฐานที่ได้และดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป" พล.ต.ต.สุรเชษฐ์

ที่มา: สยามรัฐ, 29/8/2561

ก.แรงงานจับมือ ร.พ.จุฬาภรณ์รักษาผู้ประกันตนโรคหัวใจ 24 ชม.ไม่ต้องสำรองจ่าย

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2561พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการทางการแพทย์ตามโครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติ ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และสำนักงานประกันสังคม ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ศูนย์ประชุมสถาบันจุฬาภรณ์ โดยกล่าวว่ากระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการยกระดับคุณภาพการบริการสาธารณสุขและสุขภาพของผู้ประกันตน โดยพัฒนาระบบประกันสุขภาพ จัดบริการการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและเท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม มีโรงพยาบาลเครือข่ายระบบประกันสังคมอยู่ทั่วประเทศจำนวน 237 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐบาล 159 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 78 แห่ง ซึ่งดูแลสิทธิประโยชน์ของแรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จำนวนทั้งสิ้น 12,965,913 คน แบ่งเป็น ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,475,042 คน มาตรา 39 จำนวน 1,490,871 คน (ข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 2561)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการทางการแพทย์ตามโครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติเพื่อให้ผู้ประกันตนหรือผู้ป่วยที่อยู่ในวัยทำงานสามารถเข้ารับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยทำหัตถการ 7 หัตถการ ประกอบด้วย 1) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ 2) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน 3) การศึกษาสรีระวิทยาไฟฟ้าหัวใจ และการจี้ไฟฟ้าหัวใจ 4) การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ไฟฟ้าในการสร้างภาพ 3 มิติ 5) การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรชนิดสองห้อง 6) การใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจถาวร และ 7) การใส่เครื่องสมานฉันท์หัวใจ ในภาวะหัวใจล้มเหลว ในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษา และไม่เสียค่าส่วนเกิน รักษาด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยดูแลผู้ประกันตนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับการรักษาตามมาตรฐานสากล และสามารถกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ สามารถสร้างรายได้ และความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติต่อไป

ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันพบว่าสถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000 ล้านบาทต่อปี เฉพาะในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 54,530 ราย ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทรัพยากรในวัยทำงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วทันเวลา จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงสามารถกลับคืนสู่การทำงานได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

ที่มา: โลกวันนี้, 29/8/2561

อดีตแรงงานไทยในเกาหลีใต้ระบุถูกบางสื่อหยิบแต่ด้านลบมานำเสนอ

อุดรธานี - อดีตคนขายแรงที่เกาหลีใต้เปิดใจหลังสื่อบางช่องเสนอข่าวแรงงานไทยแต่ด้านลบ ทั้งที่ข้อดีแรงงานไทยมีไม่น้อย เผยปมกลุ่มคนหนีทัวร์แอบทำงานต่อเพราะช่องทางปกติปิดโอกาส ขณะที่นายจ้างชาวโสมพร้อมอ้าแขนรับจ่ายค่าแรงสูงมาก

จากกรณีสื่อมวลชนมีการนำเสนอภาพแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ณ ประเทศเกาหลีใต้ ต้องหลบหนีเจ้าหน้าที่ทางการเข้าไปอยู่ในป่า จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลากหลายแง่มุม แต่บทสรุปทำให้ภาพชีวิตคนขายแรงถูกมองไปในแง่ไม่ดี

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับการประสานจากอดีตแรงงานไทย ซึ่งเคยไปทำงานที่ประเทศเกาหลีนานกว่า 7 ปีว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์ช่องหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้นั้นทำให้ภาพลักษณ์แรงงานไทยเสื่อมเสีย ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังมีข่าวออกไปตนรู้สึกว่าสื่อมวลชนนำเสนอเพียงด้านเดียวและมุ่งเน้นขายข้อมูลแต่ด้านลบ ในแง่บวกแรงงานไทยที่เกาหลีก็มีมากไม่ใช่น้อย

ทั้งนี้ แรงงานไทยในเกาหลีมีทั้งที่ไปแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย แต่เมื่อเข้าไปแล้วทุกคนล้วนสามัคคี เอื้อเฟื้อกัน มีบ้างบางคนที่ต้องทะเลาะจนถึงขั้นชกต่อยจนขึ้นสถานีตำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในทุกสังคม ที่ผ่านมาแรงงานไทยที่นั่นจะให้ความร่วมมือเผยแพร่วัฒนธรรมไทยทุกครั้งที่มีกิจกรรม มีเวทีให้แสดงออก ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม การโชว์ความสามารถด้านอาหาร ดนตรี และศาสนา แรงงานชาติอื่นได้เห็น ต่างก็ชื่นชมวัฒนธรรณประเพณีของไทย

อดีตแรงงานไทยคนเดิมเล่าต่อว่า การนำเสนอข่าวผ่านสื่อโทรทัศน์ขณะตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีตามจับแรงงานไทยหลังแอบทำงานอาชีพโน้นอาชีพนี้ หรือมีการหนีขึ้นบนเขา ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงที่นั่น ส่วนข่าวที่นำมาเสนอว่าแรงงานไทยที่นั่นอยู่แบบลำบากต้องออกไปหาเก็บเห็ด หาปลาเพื่อประทังชีวิตหากมาทำงานเกาหลี แท้จริงแล้วมันไม่ใช่เป็นเพราะความอดอยาก

ซึ่งการออกไปหาเก็บเห็ดหาของป่า หรือแม้แต่หาปลา มันเป็นวิถีชีวิตการหากินหาอยู่พึ่งพิงธรรมชาติที่ติดตัวคนไทยมานาน ที่ประเทศเกาหลีไต้เองก็มีเห็ด มีหอย มีปลาให้หา เมื่อหามาได้แรงงานเหล่านั้นก็จะนำมาทำอาหารแบ่งปันกันกิน ที่สำคัญประหยัดเงินในการใช้จ่ายได้มาก ไม่ต้องไปหาซื้อจากตลาดให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

ส่วนประเด็นที่สื่อมวลชนนำเสนอว่าชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยที่เกาหลีนั้นลำบากมาก ก็ไม่ใช่เรื่องจริงเช่นกัน และขอยืนยันมีบางโรงงาน แรงงานไทยเราที่อยู่ที่นั่นมีชีวิตที่สุขสบาย ได้นอนห้องแอร์ในวันที่อากาศร้อน ส่วนในวันที่อากาศหนาวก็มีฮีตเตอร์ไว้คอยให้ความอบอุ่น พร้อมอาหาร 2 มื้อ การที่มีแรงงานไทยที่ไปแบบถูกกฎหมาย และลักลอบไปทำงาน สาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะกลุ่มแรงงานพวกนี้ต้องการได้ค่าตอบแทนที่สูง

ซึ่งหากเทียบกับประเทศไทย ค่าแรงขั้นต่ำที่ได้จะสูงพอๆ กับข้าราชการระดับผู้อำนวยการโรงเรียน โดยจะตกอยู่ที่ราว 40,000-50,000 บาท และทำงานเพียง 7-8 ชั่วโมง และมีวันหยุดให้เสาร์-อาทิตย์

การที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่าแรงงานคนไทยแอบเข้าประเทศเกาหลีนั้น ก็ขอบอกเลยว่าแรงงานทุกคนไม่ได้แอบเข้าประเทศ ทุกคนเข้าแบบถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านการตรวจของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพียงแต่ว่าคนที่ถูกจับนั้นเป็นพวกที่พำนักเกินเวลาที่กำหนด และมีการแอบทำงานต่อ กรณีที่ไปในฐานะนักท่องเที่ยว

“จากกระแสสังคมตำหนิและแสดงความกังวลว่ากลุ่มแรงงานพวกนี้จะก่อปัญหาจนอาจจะทำให้การขอวีซ่าก่อนเข้าประเทศยากนั้น ต้องบอกผ่านสื่อเลยว่าประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่เข้ายากอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาว่าเขาจะเข้มงวดมากน้อยขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ดารา หรือข้าราชการ ก็ยังเคยติดที่ด่านตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเหมือนกัน” อดีตคนขายแรงแดนโสมบอก และอธิบายอีกว่า

ที่ผ่านมาประเทศไทยและเกาหลีไต้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยการจัดส่งแรงงานระหว่างรัฐต่อรัฐก็ถือว่าทั้งสองประเทศทำได้ดีอยู่แล้ว แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างมีสิทธิสวัสดิการครอบคลุม และได้รับการช่วยเหลืออย่างดี ทำให้เรามีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานชาวเกาหลีเลยก็ว่าได้ ถือว่าเป็นเรื่องดี

สำหรับแรงงานไทยที่เข้าไปแอบทำงานในประเทศเกาหลีโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องขอบอกเลยว่าแรงงานพวกนี้ความหวังเขาคือต้องการเงิน โดยคนที่ซื้อทัวร์ท่องเที่ยวแล้วแอบทำงานแบบผิดกฎหมาย เพราะกลุ่มคนพวกนี้ไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาสอบตามกฎระเบียบ เนื่องจากความไม่พร้อม

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนพวกนี้อาจจะอายุเกิน หรืออาจจะมีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นเงื่อนไขต้องห้าม แต่ก็สามารถทำงานได้ที่นั่น มีหลายงานหลายอย่าง เช่น งานก่อสร้าง งานเกษตร งานฟาร์ม ซึ่งงานแบบนี้เขาไม่จำเป็นต้องเอาคนที่ตาไม่บอดสี หรือมีความสามารถเฉพาะทางมาทำงาน เป็นการสอนและแนะนำได้ นั่นคือ “แรงงาน”

ที่สำคัญคือ นายจ้างที่ประเทศเกาหลีเขาสนใจแรงงานกลุ่มพวกนี้มาก และเขาก็อยากจ้าง เพราะแรงงานพวกนี้นายจ้างจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการหรือการรักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจากแรงงานกลุ่มที่มาถูกต้องกลุ่มคนพวกนี้จะมีค่าตอบแทนค่าสวัสดิการต่างๆ มากมาย บอกได้เต็มปากว่า “คอร์รัปชันมีทุกวงการ ทุกประเทศ ทุกที่ ทุกเวลา” แรงงานที่อยู่เกาหลีใต้ อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ตลอด

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าตำรวจเขาจะจับแรงงานไทยหรือเปล่า ทุกอย่างมีเรื่องแอบแฝง มีผลประโยชน์ทั้งนั้น

ที่มา: MGR Online, 28/8/2561

กำชับ สนร.จัดคอร์สอบรมคุ้มครองแรงงานไทยในต่างแดน

ในต่างประเทศทุกแห่งจัดอบรมหลักสูตรให้ความรู้เรื่องกฎระเบียบและกฎหมายการจ้างแรงงานต่างชาติแก่ล่ามและอาสาสมัครแรงงาน รวมทั้งบริษัทจัดหางาน เพื่อสามารถให้คำปรึกษาแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร มีช่องทางการติดต่อร้องทุกข์ร้องเรียน ได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครองจากทางการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ

โดยสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป ได้จัดโครงการอบรมล่ามและอาสาสมัครแรงงานประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 มีล่ามที่เข้ารับการอบรมจำนวน 34 คน และจัดโครงการประชุมบริษัทจัดหางานเพื่อขยายตลาดและคุ้มครองแรงงานไทยประจำปี 2561 (เขตภาคกลาง ณ ไทจง) มีผู้แทนบริษัทจัดหางานเข้าร่วม 39 คน เป็นบริษัทจัดหางานไต้หวัน 30 คน และบริษัทจัดหางานไทย 9 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป พบว่าปัจจุบันมีแรงงานไทยในไต้หวันจำนวน 61,301 คน จำแนกตามประเภทกิจการ อุตสาหกรรมการผลิต 58,411 คน ก่อสร้าง 2,363 คน ผู้อนุบาล/ผู้ช่วยงานบ้าน 501 คน การเกษตร/การประมง ซึ่งมิใช่ลูกเรือประมง 26 คนโดยเป็นแรงงานไทยที่ สนร.ไทเปได้รับรองเอกสารการจ้างงาน จำนวน 18,142 คน ประกอบด้วย ผ่านบริษัทจัดหางาน 17,911 คน จัดส่งโดยรัฐ จำนวน 161 คน แรงงานเดินเรื่องเอง/นายจ้างยื่นโดยตรง จำนวน 37 คน เปลี่ยนนายจ้างใหม่ในไต้หวัน 43 คน ซึ่งสาขาอุตสาหกรรมที่ขอนำเข้ามากที่สุด คือภาคอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 17,468 คน รองลงมาคือ ภาคก่อสร้าง จำนวน 603 คน ภาคครัวเรือน (ผู้ช่วยงานบ้าน/ผู้อนุบาล) จำนวน 59 คน และภาคเกษตร/ประมงที่มิใช่ลูกเรือประมง ล่าม จำนวน 3 คน และอื่น ๆ 9 คน ตามลำดับทั้งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 มีแรงงานไทยในไต้หวันส่งเงินเป็นรายได้กลับประเทศเป็นเงินกว่า 5,600 ล้านบาท   

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังได้เน้นย้ำถึงแรงงานไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศ ขอให้ศึกษาขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้อง เพื่อป้องการถูกหลอกลวง และให้ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการตามกฎหมาย โดยผู้ที่สนใจจะไปทำงานต่างประเทศสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด หรือโทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/8/2561

ก.แรงงาน ระดมสมองหาข้อสรุปจ้างงานพาร์ทไทม์วัยเก๋า

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุ ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า บทบาทของคณะกรรมการค่าจ้าง นอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 6 พ.ศ.2560 ได้เพิ่มบทบัญญัติให้คณะกรรมการค่าจ้างสามารถกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภทซึ่งมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป ทำให้คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับผู้สูงอายุได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุที่ไม่อาจปฏิบัติงานได้เต็มเวลา

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุนั้น คณะกรรมการค่าจ้างได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง/ลูกจ้าง เพื่อร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งพิจารณาเสนออัตราค่าจ้างผู้สูงอายุต่อคณะกรรมการค่าจ้าง

สำหรับสาระสำคัญของ (ร่าง) อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุฉบับนี้ จะประกอบด้วย การกำหนดอายุของลูกจ้างผู้สูงอายุ ประเภทงานที่เหมาะสมสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุ อัตราค่าจ้างรายชั่วโมง การดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ การกำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ และ ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างผู้สูงอายุได้ทำงานที่มีความเหมาะสม ยืดหยุ่นได้ในเรื่องเวลาการทำงาน โดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ทำให้มีรายได้เลี้ยงตนเอง รู้สึกมีคุณค่า ส่งผลทำให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่นายจ้างสามารถจ้างลูกจ้างสูงอายุแบบไม่เต็มเวลาได้ตามความเหมาะสมกับลักษณะงาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/8/2561

เกาหลีใต้ชงยกเลิก 'ฟรีวีซ่าไทย' คนไทย แก้ปัญหาหนีไปทำงาน

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2561 นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีข่าวที่ระบุว่าทางการเกาหลีใต้กำลังพิจารณายกเลิกการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวไทย เนื่องจากมีคนไทยหลบหนีเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมากว่า ได้รับทราบว่ามีการรายงานข่าวในสื่อเกาหลีใต้ว่ากระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ได้เสนอเรื่องดังกล่าวขึ้น เนื่องจากมีคนไทยที่หลบหนีเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ถึงราว 100,000 คน อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ฝ่ายไทยยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

นางสาวบุษฎี ย้ำว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ฝากเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อคำชักชวนให้เข้าไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่เพียงแต่จะต้องอยู่อย่างหลบซ่อนในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่มีประกันสุขภาพ หรือประกันสังคม และยังอาจถูกหลอกลวงให้ไปทำงานผิดประเภทหรือผิดกฎหมาย ทั้งนี้แรงงานไทยซึ่งเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกต้องตามระบบมีอยู่ 25,000 คน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/8/2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net