Skip to main content
sharethis

รองเลขาธิการ กกต. เผยเร่งแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 62 แต่ถ้ามีการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 62 จะต้องคำนวนการแบ่งเขตจากข้อมูลประชากรใหม่ อาจจะทำให้โรดแมปขยับไปอีก 2 เดือน

3 ก.ย. 2561 ผู้จัดการออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์ รายงานตรงกันว่า ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการมีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้ดำเนินการเตรียมเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า เป็นการเตรียมการไว้สำหรับกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาช่วงกลางเดือน ก.ย. และหากมีการเลือกตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ว่าจะเป็นช่วง ก.พ. 62 และวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะใช้ช่วงเวลา 90 วันระหว่างรอการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ณัฏฐ์ ระบุว่า ในการทำไพรมารีโหวตผู้สมัครจะลงเขตไหน พรรคจะส่งผู้สมัครในพื้นที่ใดก็จะต้องมีข้อมูลการแบ่งเขตก่อน ขณะที่ในส่วนของ กกต.เราใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของปี 2559 ที่มีการสรุป ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 ดำเนินคำนวณการแบ่งเขตไว้เบื้องต้น แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนราษฎรรายอำเภอซึ่งอาจมีผลทำให้จำนวน ส.ส.ของแต่ละเขตมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงได้มีประสานไปยังผู้อำนวยการสำนักทะเบียนกลางราษฎรขอทราบข้อมูล และได้แจ้งยัง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดให้ดำเนินการตรวจสอบอีกครั้งว่าจำนวนราษฎรล่าสุดจะมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยกลางเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

“เรื่องที่ทำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่กระบวนการไพรมารีโหวต ถ้า คสช.ออกคำสั่งมาตรา 44 ให้ กกต.ดำเนินการแบ่งเขตได้ เราก็จะใช้ข้อมูลราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 เป็นหลัก ซึ่ง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดก็จะทำหน้าที่แบ่งเขต 3 รูปแบบ และติดประกาศรูปแบบของการแบ่งเขตทั้ง 3 รูปแบบเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย พรรคการเมือง เป็นเวลา 10 วันก่อนจะประมวลความคิดเห็นและส่งมายัง กกต.ให้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดให้แล้วเสร็จ โดยทั้งกระบวนการจะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่าประมาณกลางเดือน พ.ย. เรื่องของการแบ่งเขตต้องแล้วเสร็จและเข้าสู่กระบวนการไพรมารีโหวตได้”

รองเลขาธิการ กกต.กล่าวอีกว่า การแบ่งเขตทั้งรูปแบบที่แต่ละจังหวัดจะดำเนินการ ร้อยละ 80 จะเป็นการแบ่งตามโซนนิ่งของอำเภอ เว้นแต่บางอำเภอที่มีเทศบาลนคร และเป็นชุมชนหนาแน่น ก็อาจจะต้องแบ่งอำเภอออกเป็น 2 เขต แต่จะไม่มีการแบ่งตำบล และยึดหลักไม่กระทบกับความคุ้นเคยพื้นที่ของประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือในเรื่องการประหยัดงบประมาณเลือกตั้ง และกฎหมายใหม่ได้กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้น จากเดิม 800 คนต่อหน่วย มาเป็น 1,000 คนต่อหน่วย ทางสำนักงาน กกต.ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดทุกจังหวัดขอให้ประสานไปยังสำนักงานทะเบียนอำเภอว่าจะสามารถขยายหรือรวมหน่วยงานได้หรือไม่ แต่ต้องให้ไม่กระทบต่อความคุ้นเคยในการใช้สิทธิของประชาชนโดยจากเดิมที่มีหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณ 96,000 หน่วยก็ต้องเป้าลดลงอย่างน้อย 3%

เมื่อถามว่าหากรัฐบาลมีการขยับวันเลือกตั้งจากเดือน ก.พ. 62 ไปเป็น พ.ค. 62 เขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส.จะยังคงเดิมหรือไม่ ณัฏฐ์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุแล้วว่าช่วงเวลาของการเลือกตั้งเร็วที่สุดคือก.พ. ช้าที่สุดคือ พ.ค. 62 โดยสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย จะแจ้งเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรแต่ละปีในช่วง มี.ค.ของปีถัดไป ดังนั้น หากวันเลือกตั้งขยับไปเป็นเดือน พ.ค. 62 ก็ต้องมีการแบ่งเขตใหม่ตามจำนวนประชากรที่มีการประกาศใหม่ซึ่งก็จะดันให้ทุกอย่างขยับออกไปอีก 60 วัน

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานด้วยว่าจากเอกสารของ กกต. ที่ส่งไปผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนั้นพบว่า มี 41 จังหวัดที่จะมีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น 1 ตำแหน่ง ประกอบด้วย กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชุมพร เชียงราย นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ น่าน ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี มุกดาหาร ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี ลำปาง ศรีสะเกษ สงขลา สตูล สมุทรปราการ สระแก้ว สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุทัยธานี และ อุบลราชธานี

และหากคำนวนเป็นรายภาค พบว่า ภาคเหนือจะมีจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 33 คน จากเดิม 36 คน ภาคอีสานมี 116 คน จากเดิม 126 คน ภาคกลาง 76 คน จากเดิม 82 คน ภาคตะวันออกมีจำนวนเท่าเดิม 26 คน ภาคตะวันตกมีจำนวนเท่าเดิม 19 คน ภาคใต้มี 50 คน จากเดิม 53 และกรุงเทพฯ มี 30 คน จากเดิม 34 คน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net