Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยการประชุมรอบนี้ นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานอาเซียนคนปัจจุบัน จะต้องส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมการปฏิบัติที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ซึ่งในปี 2562 ประเทศไทยครบรอบในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ผู้นำของประเทศไทยจึงต้องทำหน้าที่ ประธานอาเซียน ควบคู่ไปด้วย

การเดินขบวนในการประชุมเวทีภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF) ที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ เมื่อเดือน พ.ย. 2560

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 จาการ์ต้า โพสต์ (The Jakarta Post) สื่อของประเทศอินโดนีเซียน ได้เผยแพร่รายงานข่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นชาติสมาชิกอาเซียนที่ใหญ่ที่สุด เตรียมเคลื่อนไหวกดดัน ชาติสมาชิกอื่น ๆ ให้คัดค้านการเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  โดยให้เหตุผลว่า ประเทศยังไม่กลับคืนสู่ประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้อาเซียนถูกเพ่งเล็ง และเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติ ได้

ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม 2561 นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า บทความที่ตีพิมพ์ใน จาการ์ต้า โพสต์ นั้นเกิดมาจากคนบางกลุ่มเท่านั้น

การประชุมอาเซียนซัมมิท ที่ผ่านมาจะมีการประชุมคู่ขนานระหว่างเวทีการประชุม ของผู้นำประเทศสมาชิก กับเวทีของภาคประชาสังคม ซึ่งที่ผ่านมาผมได้เข้าร่วมมาแล้วหลายครั้ง เวทีการประชุมของภาคประชาสังคม ที่มีสมาชิกมาจาก 11 ประเทศ (รวมประเทศติมอร์เลสเต) โดยในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบา คสช. ที่มาจากการรัฐประหาร หัวข้อในเวทีประชุม เพื่อนสมาชิกจาก 11 ประเทศจะแสดงความกังวลต่อการถดถอยของการเมือง ของประเทศไทยในทุกปี และพวกเรา (สมาชิกทั้ง 11 ประเทศ) ซึ่งมีจุดยืนเดียวกันคือ  พวกเรามีความต้องการที่จะให้อาเซียนเป็นประชาธิปไตย ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับการเมืองของ ประเทศไทย ที่ถึงทุกวันนี้รัฐบาล คสช. ก็ยังไม่มีความชัดเจน ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง เพื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตย เมื่อไหร่ ในขณะที่ท่าทีของรัฐบาล คสช. ที่ดิ้นรนอยากเป็นประธานอาเซียน จนไม่ใส่ใจต่อผลลัพธ์ ภาพลักษณ์ของอาเซียนต่อสายตานานาชาติ เลย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 ซึ่งครั้งนั้นรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียน ให้แก่รัฐบาลประเทศไทย ในการเป็นประธานอาเซียนในปี 2551 เพื่อจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ในปี 2551 แต่เกิดสถานการณ์ทางการเมืองจนทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถจัดประชุมอาเซียน ในปี 2551 ได้ จนทำให้การประชุมอาเซียนซัมมิทต้องเลื่อนการประชุม จากปี 2551 มาประชุมในปี 2552 แต่สุดท้ายการประชุมในปี 2552 ก็เกิดความวุ่นวาย จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตัวตลก ในสายตานานาชาติไปแล้วครั้งหนึ่ง และจากเหตุการณ์ครั้งนั้นผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ย่อมต้องมีคำถาม ต่อรัฐบาลไทย ว่า ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 และ ปี 2552 จะไม่ซ้ำรอยเหมือนครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจากพฤติกรรมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ไม่เคยรักษาสัจจะ และปฏิบัติตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับผู้นำ ทั่วโลก ว่า จะรีบคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่กลับบ่ายเบี่ยงจนกระทั่งอยู่เป็นรัฐบาลมากว่า 4 ปี แล้ว ย่อมทำให้ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประชาคมโลก คงไม่สามารถที่จะวางใจ หรือเชื่อได้ว่ารัฐบาล คสช. จะสามารถจัดการประชุมอาเซียนซัมมิทได้อย่างราบรื่นแน่นอน นอกจากนี้แล้วสิ่งที่ท้าทายประชาคม อาเซียน คือการสร้างภาพลักษณ์ของอาเซียนต่อประชาคมโลก ในเรื่องความก้าวหน้าของประชาธิปไตย และเสรีภาพ ก็เป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน จะต้องแสดงท่าทีในการกดดันรัฐบาล คสช. แน่นอน

การประชุมเวทีภาคประชาชนอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียเมื่อปี 2558

หากรัฐบาล คสช. ยังเดินหน้าที่จะเป็นประธานอาเซียนต่อจากประเทศสิงคโปร์ ผมคิดว่า ประเทศสมาชิกก็คงอาจต้องยินยอม แต่อาจจะมีการแสดงท่าทีความไม่พอใจออกมาด้วยการ “ลดระดับ” ผู้แทนของประเทศ ที่จะมาร่วมประชุม จากเดิมที่เป็นการประชุมของผู้นำประเทศสมาชิก จะเปลี่ยนมาเป็นรัฐมนตรี หรือหากเลวร้ายกว่านั้น ก็คงส่งปลัดกระทรวง หรืออธิบดี มาร่วมประชุม และนั่นก็จะกลายเป็นตราบาป ให้แก่ประเทศไทย และเป็นความถดถอยของประชาคมอาเซียนอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว ผมคิดว่าในส่วนของภาคประชาสังคม 11 ประเทศสมาชิก และประเทศภาคีสมาชิก ของภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF)  ก็คงจะมีท่าทีแสดงความไม่เห็นด้วย ต่อการเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำของรัฐบาล ที่มาจากการรัฐประหาร และสมาชิกภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF) แต่ละประเทศ อาจมีการเรียกร้องไปยังรัฐบาลของแต่ละประเทศให้แสดงท่าที ในการร่วมกดดันในครั้งนี้ด้วย

การเป็นประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนซัมมิทได้นั้น แน่นอนว่าเป็นเกียรติ ศักดิ์ศรีแก่ประเทศไทย แต่พิจารณาจากแนวโน้มความเป็นจริง ที่เป็นไปได้แล้ว หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำหน้าที่ประธานอาเซียน โดยเป็นผู้นำคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร คงไม่มีประเทศสมาชิกใด ที่จะก้มหน้ายอมรับได้อย่างแน่นอน และสุดท้ายหากจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ไม่ได้ ก็เท่ากับว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำร้ายประเทศไทยให้อับอายต่อนานาชาติ

แต่หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี ให้แก่ประเทศชาติ ด้วยการก้าวขึ้นไปเป็นประธานอาเซียนได้อย่างภาคภูมิ ก็สามารถทำได้ ด้วยการเร่งจัดการเลือกตั้ง ให้เร็วที่สุด เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้เข้ามารับหน้าที่ในการจัดประชุมอาเซียนซัมมิท และหากหลังการเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็คงไม่มีใครตำหนิท่านได้ เพราะสิ่งที่นานาชาติเขาต่อต้านคือนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร เท่านั้น

นี่ผมยังไม่อยากคิดถึงขั้นว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมตัวกันกดดันหนัก ถึงขั้นขอให้ประเทศไทย เว้นวรรคการเป็นประธานอาเซียนออกไปก่อน เหมือนที่เคยทำกับประเทศเมียนมา (พม่า) มาแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ถือว่าเลวร้ายสุด สุด เลยครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net