Skip to main content
sharethis

ทนายเผย ศาลทหารมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว-ห้ามออกนอกประเทศ 'แหวน' พยาน 6 ศพวัดปทุมฯ ระหว่างพิจารณาคดีด้วยเหตุผลว่าหลักประกันน่าเชื่อถือ จำเลยมาตามนัดตลอด หลังถูกกักขังระหว่างพิจารณาคดี ม.112 - ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ยาวนานถึง 3 ปี 5 เดือน 

เจ้าหน้าที่นำตัวณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน กลับไปทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อเวลาประมาณ 11.25 น. หลังสืบพยานโจทก์เสร็จ ต่อมาศาลทหารอนุญาติให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยจะปล่อยตัวเย็นนี้ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำคลองเปรม (ที่มาภาพ: Banrasdr Photo)

4 ก.ย. 2561 มีการโพสต์บนเฟซบุ๊กของวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) และทนายความของณัฎฐธิดา "แหวน" มีวังปลา อดีตพยาบาลอาสาในเหตุการณ์คนเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุมเมื่อเดือน พ.ค. 2553 ระบุว่าศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีให้แก่แหวนแล้ว โดยมีใจความดังนี้

#ข่าวด่วน!,ข่าวดี!

เมื่อเวลา 13:38 น.ศาลทหารกรุงเทพ มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา นางสาวณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน แล้ว

ทั้งนี้ ตุลาการศาลทหาร ทั้งสองคดี มีคำสั่ง ดังนี้

1. คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112)  จำนวน 400,000 บาท

พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวก็ตาม  เห็นว่าหลักประกันที่ผู้ขอประกันนำมายื่นต่อศาลเชื่อถือได้ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว จะไม่หลบหนีจึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว  โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ตีราคาประกัน 400,000 บาท

2. คดีก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจรฯ จำนวน 500,000  บาท

พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์คัดค้านว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี  แต่ศาลได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยตามสัญญาประกัน ฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2560  จำเลยได้มาศาลตามกำหนดนัดและไม่ได้หลบหนี ประกอบกับหลักประกันน่าเชื่อถือ จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ห้ามจำเลยที่ 3 ออกนอกราชอาณาจักร.

#สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ในฐานะทนายความผู้รับผิดชอบคดี ขอแสดงความยินดีกับอิสรภาพของแหวน และขอขอบคุณพี่น้องผองเพื่อน  ทุกกำลังใจ ทุกความช่วยเหลือที่ได้ร่วมกันบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อเป็นหลักประกัน และทุกแรงใจที่รักความยุติธรรม มา ณ โอกาสนี้.

ณัฎฐธิดา "แหวน"  มีวังปลา อดีตพยาบาลอาสา เป็นพยานปากสำคัญที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชาในคดีสังหาร 6 ศพที่วัดปทุมวนารามจากการสั่งการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เนื่องจากเป็นพยาบาลอาสาอยู่ในเต๊นท์เดียวกับผู้ตาย โดยอยู่ห่างจากกมนเกด อัคฮาด หนึ่งในผู้เสียชีวิตเพียง 5 เมตร แต่ได้ถูกจับกุมและถูกแจ้งข้อหาร้ายแรงในคดีก่อการร้ายและ 112 แหวนถูกคุมขังมานานกว่าสามปี โดยที่ผ่านมาศาลเคยมีคำสั่งให้ประกันตัวแล้วหนึ่งครั้งในคดีก่อการร้าย แต่แหวนกลับต้องโดนอายัดตัวต่อในคดี 112 ซึ่งมีการออกหมายจับไว้ ตั้งแต่ 19 มี.ค. 2558 เบื้องต้นทราบว่า พฤติการณ์ที่อ้างการกระทำความผิดจากการโพสต์ข้อความในแอพพลิเคชั่น LINE เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ภายหลังจากถูกควบคุมตัวโดยทหารแล้ว ตั้งแต่ 11 มี.ค. 2558 คำถามคือเป็นการโพสต์ข้อความโดยผู้ใด

เมื่อพยานตกเป็นเหยื่อ: ระดมเงินเก้าแสนประกัน"แหวน" พยานคดี 6 ศพ วัดปทุม

เลื่อนสืบพยานปากแรกออกไปอีก หลัง 'แหวน วัดปทุม' ติดคุกมาแล้ว 3 ปี 4 เดือน

ทนายเผยหลักฐานเอาผิดแหวน ภาพถ่ายหน้าจอโทรศัพท์แผ่นเดียว คาดอีก 2 ปี ตัดสิน

ณัฎฐธิดาถูกกักขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลาถึง 3 ปี 5 เดือน โดยไม่ได้รับการประกันตัว โดยถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่ 17 มี.ค. 2558 ด้านอัยการศาลทหารส่งฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2558 โดยแจ้งข้อหาก่อการร้าย อั้งยี่ซ่องโจร ใช้และครอบครองอาวุธสงครามโดยไม่ได้รับอนุญาต พยายามฆ่า นอกจากนี้ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อมโยงว่าเธออยู่ในระหว่างเส้นทางการโอนเงินในการจ้างวานการปาระเบิดมือชนิด RGD5 ใส่ลานจอดรถศาลอาญารัชดา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558

สำหรับกรณีปาระเบิดศาลที่แหวนเป็นหนึ่งใน 14 จำเลย ปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำอีกทั้งหมด 6 คน คือ นายมหาหิน ขุนทอง นายยุทธนา เย็นภิญโญ นายสุรพล เอี่ยมสุวรรณ นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายวสุ เอี่ยมลออ และ นางสุภาพร มิตรอารักษ์ 

ทั้งนี้นายชาญวิทย์ นายสุรพล นายวสุ และ นางสุภาพร ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากมีฐานะยากจนและคดีมีวงเงินประกันสูงถึง 500,000 บาท - 1,000,000 บาท

ภาพของแหวนขณะทำการปฐมพยาบาล อัฐชัย ชุมจันทร์ หนึ่งในผู้เสียชีวิตบริเวณวัดปทุมฯ ขณะที่คนขวาสุดสวมชุดปอเต็กตึ๊งคือมงคล เข็มทอง คนที่ยืนด้านหลังของแหวนคืออัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาล ต่อมาทั้งคู่ถูกยิงเสียชีวิต รวมอยู่ใน 6 ศพวัดปทุมฯ เช่นกัน 

ในส่วนของคดีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ศาลได้สั่งให้เป็นการพิจารณาคดีลับ โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีที่มีความที่มีความอ่อนไหวเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ หากมีการเผยแพร่ออกไปอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ขณะที่ทนายความคือวิญญัติ ชาติมนตรีได้แย้งไปว่า ข้อความในไลน์ที่ได้ถูกนำมาเป็นข้อกล่าวหานั้นมีเพียงแค่ข้อความเดียว ไม่ได้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบัน แต่ศาลก็ยังยืนยันให้พิจารณาลับโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง

ทั้งนี้ นักการเมืองและผู้นำทหารที่มีโอกาสในการถูกเอาผิดกรณีสั่งการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 มีอาทิเช่นอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน  ศอฉ.เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  รองหัวหน้าและประธานคณะที่ปรึกษาคณะรัฐประหาร คสช. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในช่วงเหตุการณ์ และรัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาล คสช.ในปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ.ในช่วงเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. และนายกรัฐมนตรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net