Skip to main content
sharethis

สภาพัฒน์เผยอาชญากรรมไตรมาส 2 ยังพุ่งสูง กว่า 80% เป็นคดียาเสพติด ทำนักโทษล้นคุกอันดับ 6 ของโลก แนะปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาท เพิ่มทางเลือกบทลงโทษมากกว่าแค่ปรับและจำคุก ขณะที่สถานการณ์จ้างงานเพิ่ม ภาคเกษตรที่ขยายตัว อัตราการว่างงานลด รายได้และผลิตภาพแรงงานยังคงขยายตัวได้ดี หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและ ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2561 ประกอบด้วยประเด็น ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายและจำนวนผู้สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังสามารถจัดการได้ การเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ดีขึ้นเป็น "Tier 2”สถานการณ์ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ สถานการณ์ของแอร์บีเอ็นบีในไทย 

ผู้ต้องขังล้นคุก แนะปรับกลไกระงับข้อพิพาท เพิ่มทางเลือกบทลงโทษ

ทศพร กล่าวด้วยว่า นอกจากไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย โดยเป็นรองแค่ประเทศจีนและประเทศอินเดียและมีอัตราผู้ต้องขัง 514 คนต่อประชากรแสน สูงเป็นลำดับ 5 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยในช่วง 10 ปีมานี้จำนวนผู้ต้องขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 201,829 คน ในปี 2552 เป็น 355,543 คน ในปี 2561 ขณะที่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขัง ได้ประมาณ 200,000 คน ก่อให้เกิดความแออัดในเรือนเกิดปัญหาความไม่เพียงพอของเจ้าหน้าที่โดยมีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง 1 ต่อ 27 คน (เจ้าหน้าที่ 13,000 คน) ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่สหประชาชาติที่กำหนด 1 ต่อ 5 คน ส่งผลต่อการควบคุมและการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย และการกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนภาระงบประมาณจำนวนมากและต้นทุนค่าเสียโอกาสจากกำลังแรงงานที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ เมื่อจำแนกตามประเภทส่วนใหญ่เป็นนักโทษเด็ดขาด 287,601 คน คิดเป็น 80.9% ของผู้ต้องขังทั้งหมด เป็นผู้ต้องขังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี 65,605 คน หรือ 18.5% โดยส่วนใหญ่หรือประมาณ 70% เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด

ทั้งนี้ ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายไทยใช้กระบวนทางอาญาในการระงับข้อพิพาทเป็นหลัก แม้ว่าพฤติกรรมนั้นจะเป็นเพียงการกระทำที่เป็นความผิดที่ไม่ใช่อาชญากรรมโดยแท้ เช่น การผิดกฎจราจร การจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินในบัญชี และหมิ่นประมาท ฯลฯตลอดจนการกำหนดโทษที่ยังขาดทางเลือกซึ่งส่วนใหญ่เป็นจำคุกและปรับ โดยโทษปรับมักกำหนดต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมมากเนื่องจากไม่ได้ปรับตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีการเลือกลงโทษเป็นจำคุก จนก่อให้เกิดปัญหาคดีล้นศาลและผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

นอกจากนี้ คดียาเสพติดซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการกระทำผิดกฎหมายมีความแข็งตัว ไม่ตรงกับพื้นฐานความเป็นจริง เช่น การกำหนดนิยาม ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ที่กำหนดผู้ครอบครองยาเสพติดมากกว่า 15 เม็ด เป็นผู้ครอบครองเพื่อจำหน่ายรวมทั้งถ้านำมาแบ่งแม้จะเพื่อเสพจะเข้าข่ายเป็นผู้ผลิตตามที่กำหนดให้แบ่งบรรจุเป็นผู้ผลิต ซึ่งได้รับโทษที่ต่างกันมาก หรือกรณีนำเข้าไม่มีการแบ่งเพื่อใช้เองหรือเพื่อขาย ทำให้ผู้เสพได้รับโทษสูงเท่ากับผู้ค้า และเป็นผู้ต้องขังกว่า 30%

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เช่น การให้ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณา (กรณีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือทำให้คดียุ่งเหยิง) อยู่นอกเรือนจำมากขึ้น การมีกฎหมายให้ผู้ถูกตัดสินคดีอาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรงและไม่มีประวัติอาชญากรรมอีกเลยหลังรับโทษเป็นระยะ 5 ปี ได้รับการรับรองว่าไม่มีประวัติอาชญากรรม ฯลฯ การบูรณาการงานทุกภาคส่วนเพื่อให้การแทรกแซงก่อนและหลังปล่อยตัวผู้ต้องขังมีประสิทธิภาพ การสร้างความรู้และปรับทัศนคติประชาชน ตลอดจนการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการอบรมฟื้นฟู ดูแล และให้โอกาสอดีตผู้ต้องขังเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ

จ้างงานเพิ่ม ภาคเกษตรที่ขยายตัว อัตราการว่างงานลด รายได้และผลิตภาพแรงงานยังคงขยายตัวได้ดี

นอกจากประเด็นสถานการณ์ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำแล้ว แถลงข่าวของสภาพัฒน์ ยังมีประเด็นเศรษฐกิจด้วย โดยระบุว่า ไตรมาสสองปี 2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เป็นการจ้างงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและมีการขยายพื้นที่เพาะปลูก ส่วนนอกภาคเกษตรมีการจ้างงานทรงตัวเท่ากับไตรมาสสองปี 2560 แต่มีสัญญาณการจ้างงานที่ดีขึ้นในหลายสาขา ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสหนึ่งปี 2561 และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวดี สาขาโรงแรมและภัตตาคาร มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ตามการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสาขาการก่อสร้าง แม้การจ้างงานยังลดลงแต่เป็นการลดลงในอัตราที่ต่ำกว่า 5 ไตรมาสที่ผ่านมา

อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.1 เทียบกับร้อยละ 1.2 ในช่วงเดียวกันของปี 2560 เป็นผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน ชั่วโมงการทำงานของแรงงานโดยรวมในไตรมาสสองปี 2561 เฉลี่ยเท่ากับ 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 0.1 โดยสาขาที่มีชั่วโมงการทำงานลดลงได้แก่ สาขาก่อสร้าง และค้าส่งค้าปลีก แต่สาขาหลักได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และโรงแรมและภัตตาคาร มีชั่วโมงการทำงานของแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 0.2 และ 0.3 ตามลำดับ สะท้อนกิจกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสาขาดังกล่าว ค่าจ้างแรงงานแท้จริงภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ผลิตภาพแรงงานต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เทียบกับร้อยละ 3.4 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 

ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป ได้แก่

1. ความเสี่ยงจากสถานการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร จากภาวะฝนตกหนักและเกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ในช่วงเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม 2561 และภาวะน้ำหลากและอุทกภัยที่มักเกิดในช่วงเดือนกันยายน–ตุลาคมของทุกปี ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเกษตรและการมีงานทำของเกษตรกร ซึ่งต้องเฝ้าระวังเตรียมมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 

2. ปัญหาการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อรวมกับผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในไตรมาสสามปี 2561 ประมาณ 3.2 แสนคน อาจส่งผลให้มีผู้ที่ยังไม่ได้งานมีจำนวนเพิ่มขึ้น ภาครัฐโดยกระทรวงแรงงานได้จัดให้มีบริการ "ศูนย์ที่นี่มีงานทำ (Job Ready Center)” เพื่อจัดหางานให้ผู้จบปริญญาตรี โดยให้บริการจับคู่ตำแหน่งงานระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับผู้ประกอบการ ให้คำปรึกษาแนะแนวอาชีพ การฝึกอบรมเพิ่มทักษะ และติดตามการมีงานทำรายบุคคล นอกจากนั้น ยังมีศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) เป็นระบบที่เปิดให้ผู้สมัครงานเข้ามาค้นหาตำแหน่งงานที่สถานประกอบการประกาศ และสถานประกอบการเข้ามาค้นหาผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติตามที่สถานประกอบการต้องการ ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 มีผู้มาใช้บริการ 166,160 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีที่ 150,000 คน

หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ 

ไตรมาสสองปี 2561 หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 8.0 ด้านความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงจากร้อยละ 2.78 ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2561 เป็นร้อยละ 2.72 ในไตรมาสนี้ โดยลดลงในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาครัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ โดยมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ ได้แก่การออกมาตรการควบคุมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การปรับโครงสร้างหนี้ผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้ การจัดอบรมความรู้ทางการเงินและบริหารจัดการให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้แก่ การออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 เพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ การกวดขันจับกุมผู้ปล่อยกู้ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ นอกจากนั้น ยังดำเนินการให้ความรู้ทางการเงิน และแนะแนวการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้แก่บุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมการสร้างวินัยการออมตั้งแต่วัยเด็ก และการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ช่วยแก้ไขปัญหาการก่อหนี้ที่เกิดจากความไม่ระมัดระวังและไม่จำเป็น

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และต้องเฝ้าระวัง

ไตรมาสสองปี 2561 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 20.4 โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี แต่ผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นกลุ่มวัย 15 ปีขึ้นไป ภาครัฐร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ครู นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังโรคที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7 และโรคมือ เท้า ปาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งโรคปอดอักเสบพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 พบได้ทุกช่วงอายุ เด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีและผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดความรุนแรงของโรคได้มากกว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ที่สามารถติดเชื้อได้โดยตรงและเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนรุนแรงในกลุ่มทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และทารก 

ค่าใช้จ่าย-จำนวนผู้สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงต่อเนื่อง 

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 2.4 และ 1.3 ตามลำดับ โดยค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็นร้อยละ 3.5 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน สำหรับจำนวนผู้สูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าคนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่และดื่มสุราลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 19.9 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 19.1 ในปี 2560 ขณะที่อัตราการดื่มสุราลดลงจากร้อยละ 34.0 เป็นร้อยละ 28.4 

ทั้งนี้ ในระยะที่ผ่านมา รัฐและภาคส่วนต่างๆ ได้มีมาตรการและความร่วมมือในการลดการสูบบุหรี่ของคนไทย อาทิ มาตรการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ ได้แก่ โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชัน มีผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 1.2 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 11 ของผู้สูบบุหรี่ มีผู้เลิกบุหรี่ได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน จำนวน 129,698 คน โครงการสถานศึกษาปลอดบุหรี่เพื่อป้องกันผู้เสพรายใหม่ การประกาศห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่บริเวณชายหาด 24 แห่งใน 15 จังหวัด เพื่อความสะอาดและสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่เกิดผลดีต่อสุขภาพนักท่องเที่ยว และจากการประเมินผลการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2560 พบว่า การรณรงค์ทำให้กลุ่มผู้ดื่มร้อยละ 85.2 เกิดความตระหนักในพิษภัย และพยายามลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการปรับเปลี่ยนจากการดื่มปกติเป็นงดดื่มตลอดช่วงเข้าพรรษาร้อยละ 37.9 งดเป็นบางช่วงร้อยละ 15.1 และไม่งดแต่ลดร้อยละ 14.5 การเลิกเหล้าเป็นเวลา 3 เดือน สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนได้เฉลี่ย 1,844 บาท

แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ดีขึ้นเป็น "Tier 2” จากลำดับ Tier 2 Watch List 

เนื่องจากมีความก้าวหน้าการบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างมีนัยสำคัญทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย  การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด การคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย และการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้นำข้อเสนอแนะของประเทศสหรัฐอเมริกาในรายงานการค้ามนุษย์ฯ ประจำปี 2561 ไปดำเนินการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มีมาตรการเร่งรัดการดำเนินคดีค้ามนุษย์ และคดีค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องให้มีความรวดเร็ว มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด การคุ้มครองผู้เสียหาย และป้องกันการตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ

Airbnb เทคโนโลยีกับการเปลี่ยนรูปแบบบริโภคและผลกระทบต่อสังคม 

Airbnb เป็นแพลตฟอร์มจองที่พักระหว่างผู้เช่ากับเจ้าของที่พักในท้องถิ่นโดยตรง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันและสร้างรายได้ให้กับผู้ให้เช่าท้องถิ่น มีผลกระทบด้านลบคือ การตัดราคา การจัดเก็บภาษีไม่ได้ ปัญหาความปลอดภัยและการรบกวนผู้พักอาศัย ในต่างประเทศมีการออกกฎระเบียบเพื่อลดผลกระทบ เช่น กำหนดให้ลงทะเบียนที่พักและการกำหนดวันและจำนวนที่พักให้เช่า ฯลฯ ประเทศไทยมีที่พักในระบบ Airbnb 43,223 แห่ง ในปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 จากปี 2558 มีนักท่องเที่ยวใช้บริการ 774,000 คน ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง แม้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยังไม่ชัดเจน แต่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Airbnb ทำให้ต้องมีการเตรียมการรองรับเพื่อให้เท่าทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ

ที่มา : เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net