'ฐปนีย์-จอห์น วิญญู-สฤณี-ผอ.Chang.org'ถกปมผู้บริโภค-ห้าง ยุติวงจรละเมิดสิทธิฯ

ทีมงานซูเปอร์มาเก็ตที่รักจัดเวทีคุยกับ 4 นักช็อป 'ฐปนีย์' แชร์ประสบการณ์การรายงานข่าวแรงงานทาสบนเรือประมง 'สฤณี' ชี้ห้างฯ มีศักยกายภาพในสืบค้นต้นต่อของอาหาร ส่วน 'จอห์น วิญญู' ระบุการแสดงออกให้เห็นถึงความรับผิดชอบในห่วงโซอุปทานคือการประชาสัมพันธ์ที่ยั่งยืน ขณะที่ ผอ.Chang.org ประเทศไทย ย้ำพลังของผู้บริโภค สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 ทีมงานซูเปอร์มาเก็ตที่รัก ร่วมกับเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก , องค์กร อ็อกแฟม ประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดงานเสวนา Confessions of Shoppers (คำสารภาพของผู้ชื้อ-แปลโดยประชาไท) ซึ่งเป็นการพูดคุยถึงประสบการณ์ในการจับจ่ายใช้ส่อยในซูเปอร์มาร์เก็ต และการสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อยุติวงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย สฤณี อาวานันทกุล นักเขียน นักแปล และผู้ก่อตั้งบริษัทป่าสาละ , ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ , จอนห์ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรรายการเจาะข่าวตื้น และ วริศรา ศรเพชร ผู้อำนวยการ Chang.org ประเทศไทย

ฐปนีย์ เอียดศรีไชย : เปิดประสบการณ์การรายงานข่าวแรงงานทาสบนเรือประมง

ฐปนีย์เล่าว่า ด้วยวิถีชีวิตของนักข่าวที่ต้องเดินทางตลอดเวลา เวลาที่จะซื้ออาหารสดส่วนมากจะซื้อจากตลาดสด หรือซื้อกับชุมชนโดยตรง เนื่องจากไม่มีเวลามากพอที่จะเดินไปหาซื้อในซูเปอร์มาเก็ต แต่หากจำเป็นจะต้องเข้าไปซื้อของที่ซูเปอร์มาเก็ตส่วนมากจะเป็นการซื้ออาหารสำเร็จรูป แต่จะซื้อในกรณีที่จำเป็น เช่น ต้องไปทำข่าวในต่างจังหวัดแล้วอยู๋ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติคือไม่สามารถเลือกหาอาหารทานเองได้

ฐปนีย์เล่าต่อไปว่า เวลาทำข่าวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของเหล่าเกษตรกรโดยตรง ซึ่งทำให้รู้ว่าผู้ผลิตมีความคาดหวังที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความสุข แต่โดยสภาพความเป็นอยู่แล้วยังคงมีความลำบากอยู่ เมื่อเลือกได้ส่วนใหญ่ก็จะเลือกซื้อจากเกษตรกรรายย่อยโดยตรง อย่างน้อยได้เป็นการช่วยต่อเติมรายได้ และรอยยิ้มให้กับเกษตรกร

เธอเล่าต่อไปถึงกรณีการรายงานข่าวแรงงานทาสบนเรือประมง ซึ่งมีทั้งคนไทย พม่า กัมพูชา และลาว ที่ถูกกักขังและบังคับให้ใช้แรงงานที่เกาะเบนจิน่า ประเทศอินโอนิเซีย เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นตัวอย่างของการค้ามนุษย์ที่ชัดเจน และเวลานั้นกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเหลืองเตือนไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไทยไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย

“เราเดินทางไปได้เห็น ได้เจอลูกเรือที่ถูกหลอกลงเรือประมงมีอายุน้อยสุดคือ 13 ปี ไปทำงานที่อินโดนีเชีย ไปโดยถูกหลอกเข้าไปสู่เส้นทางการค้ามนุษย์ หลายคนไปแล้วไม่มีเอกสารใด ซึ่งไม่สามารถกลับมาประเทศไทยได้ เราเจอแรงงานที่กลายเป็นคนผีอยู่ในอินโดฯ เพราะไม่มีบัตรอะไร ไม่มีตัวตน บางคนกลายเป็นคนบ้า บางคนถูกขังคุกซึ่งเป็นป้อมยามของบริษัทที่ทำประมง อยู่บนเกาะเบนจิน่า สภาพชีวิตของแต่ละคนย่ำแย่มาก บางคนหายไปจากบ้านตั้งแต่อายุ 13 แล้วต้องไปอยู่ที่นั่นถึง 20 ปี จนครอบครัวคิดว่าตายไปแล้ว” ฐปนีย์ กล่าว

ฐปนีย์ เล่าต่อว่า หลังจากได้นำเสนอข่าวไป พบว่าแรงงานที่ถูกหลอกไปนอกจากถูกกดขี่ในการทำงานแล้ว บางคนยังเสียชีวิตอยู่ที่นั่นโดยที่ไม่มีใครรู้ ตอนนั้นได้พบหลุ่มฝั่งศพอยู่บนเกาะมากกว่า 100 ศพ บางคนที่รัฐบาลได้ประสานงานช่วยเหลือให้กลับประเทศได้ แต่ก็พบว่ามีสภาพจิตใจไม่ปกติ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เธอตัดสินใจเลิกซื้ออาหารที่มาจากการกดขี่แรงงานเหล่านี้

ฐปนีย์ทิ้งทายว่า แรงงานที่ทำงานอยู่ที่นั่นเองก็ไม่รู้ว่าผลผลิตที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมาจากการถูกกดขี่ถูกส่งไปที่ไหนต่อบ้าง พวกเขาตกต้องอยู่ในสภาพที่แย่ยิ่งกว่าการทำงานเพื่อแลกเงินไปวันๆ แต่ตกอยู่ในสภาพของการทำงานไปวันๆ โดยที่ไม่รู้ว่าทำไปเพื่อแลกกับอะไร  และหากต่อไปในอนาคตเราสามารถสร้างหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานการได้มาซึ่งสินค้า หรืออาหารที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีความสบายมากขึ้นว่าการจับจ่ายใช้สอยจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สฤณี อาวานันทกุล : ห้างฯ มีศักยกายภาพในสืบค้นต้นต่อของอาหาร

สฤณีเล่าว่า โดยปกติแล้วจะไม่ได้เข้าไปซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาเก็ตเอง แต่เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านก็เริ่มสนใจการอ่านฉลากอาหาร เนื่องจากพ่อเป็นโรคไต และตัวเองมีปัญหาสุขภาพ จึงต้องดูแลเรื่องอาหารการกินมากขึ้น เพราะต้องการกินอาหารที่ไม่กระทบต่อสุขภาพ

สฤณีเล่าต่อว่า มีช่วงหนึ่งที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลาป่น ซึ่งทำให้เห็นว่ากว่าจะได้สินค้าออกเป็นเป็นไก่หนึ่งตัว ในกระบวนการการผลิตทั้งหมดได้มีการละเมิด หรือเอาเปรียบผู้อื่นอย่างไรบ้าง ในทางกลับกับหากเราเดินเข้าไปในซูเปอร์มาเก็ตเพื่อที่จะซื้อไก่ จะพบแค่ฉลากที่อธิบายคุณภาพของสินค้าเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องยากที่ผู้บริโภคจะเข้าถึงข้อมูลว่าอาหารมีที่มาอย่างไร

“ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่เชื่อว่ามีความตื่นตัวมากขึ้น และห้าง(ซูเปอร์มาเก็ต) ก็มองเห็นความสำคัญ ซึ่งตอนนี้มีประเด็นใหญ่ๆ ที่พูดถึงกันอยู่คือ การสืบค้นต้นตอว่า อาหาร หรือผลผลิตทุกอย่าง ทำมาจากส่วนประกอบใดบ้าง และมีกระบวนการอย่างไร ซึ่งปัจจุบันนี้มีห้างทางเลือกบางแห่งเท่านั้นที่นำเสนอว่า เขาได้ศึกษา และทำงานเพื่อที่จะรู้ที่มาที่ไปของอาหารเพื่อที่จะการันตีว่า อาหารที่ถูกนำมาวางขายนั้นมันดีต่อผู้บริโภค” สฤณี กล่าว

สฤณีกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนี้ธุรกิจในไทยเท่าที่สังเกตดูมีความพยายามในการบูรณาการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในการทำธุรกิจมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ควรหยุดอยู่เพียงแค่การให้ทุนการศึกษา หรือไปสร้างฝายกันน้ำแค่นั้นหรือไม่ โดยในยุคของข้อมมูลข่าวสารผู้บริโภค สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และบริษัทต่างๆ เองก็ติดตามความเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าของตนเอง ฉะนั้นในยุคสมัยนี้บริษัทเองมีความจำเป็นอยู่แล้วที่จะต้องปรับตัว แล้วสิ่งที่ทุกบริษัททำได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับบริษัทเองด้วยคือการให้ข้อมูลกับผู้บริโกค โดยใช้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

สฤณีระบุว่า วันนี้ซูเปอร์มาเก็ตมีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับต้นตอของสินค้า แต่วันนี้มีเครื่องมือใหม่ๆ เช่น Blockchain ที่สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นการยืนยันการสืบค้นต้นต่อสินค้าอาหารได้ทั้งหม่ ถามต่อไปว่าการทำแบบนี้ซูเปอร์มาเก็ตจะสนใจหรือไม่ ในเมืองไทยเมื่อมีการรณรงค์เรื่องการค้าที่เป็นธรรม หรือส่วนแบ่งที่เป็นธรรม อาจจะยังเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสนใจน้อย แต่ความน่าสนใจของการทำข้อมูลเพื่อสืบสาวไปยังต้นต่อห่วงโซ่อุปทาน ไม่ได้ช่วยเพียงการหาผลกระทบในทางลบต่อแรงงาน แต่ช่วยเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องอาหารปลอมแปลง เรื่องปัญหาการสิ้นเปลืองทางอาหาร และเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร

“ห้างมีเหตุผลทางธุรกิจเยอะมาก มีเรื่องปัญหาการปลอมแปลงอาหาร มีปัญหาการสิ้นเปลืองทางอาหาร และเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร เพียงแค่สามเรื่องนี้ก็เป็นประโยชน์ทางธุรกิจแล้วที่จะทำเรื่องข้อมูล และเมื่อมีการทำข้อมูลสืบค้นต้นต่อของอาหารแล้ว ในกระบวนการทำก็จะเกิดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเกษตรกร เกี่ยวข้องกับส่วนแบ่งของเกษตรกรออกมาด้วย ฉะนั้นก็ยิ่งเป็นเหตุผลเพิ่มเข้าไปอีกว่า หากเราทำเรื่องนี้เราก็จะสร้างความแตกต่างจากซูเปอร์มาเก็ตอื่นๆ ได้ด้วยว่าเราเป็นห้างที่พยายามส่งเสริมความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทาน” สฤณี กล่าว

จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ : การแสดงออกให้เห็นถึงความรับผิดชอบในห่วงโซอุปทาน คือการประชาสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

วิญญูเล่าว่า ปกติจะเข้าซูเปอร์มาเก็ตเพื่อซื้อของใช้สำหรับเด็ก เช่น ผ้าอ้อมเด็ก แต่ในส่วนของการซื้ออาหารสดจะมีแม่บ้านเป็นคนคอยจัดการดูแล โดยส่วนมากจะเป็นการซื้อสินค้าจากตลาดสดใกล้บ้าน แต่ถ้าต้องไปซื้อเองก็มักจะไปซื้อที่ซูเปอร์มาเก็ตเพราะสะดวกที่สุด

วิญญูเล่าต่อไปว่า เมื่อปีก่อนได้มีโอกาสทำรายการทีวี และได้ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องยาฆ่าแมลง และสารตกค้างในผัก ซึ่งเคยมีข้อมูลการตรวจสอบพบว่าผักออร์แกนิคที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำ มีสารปนเปื้อนตกค้าง ทั้งที่ติดป้ายว่าเป็นสินค้าออร์แกนิค ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า ที่สุดแล้วอาหารที่วางขายตามซูปเปอร์มาเก็ตมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

“แน่นอนว่าคนที่ไปช็อปปิ้งที่ซูเปอร์มาเก็ตส่วนมากคือ ต้องการความสะดวกสบาย และต้องการราคาที่รู้สึกว่าคุ้มค่า แต่ผมคิดว่าจะเป็นการทำให้ผู้บริโภคสบายใจขึ้น และกลายเป็นลูกค้าที่อยู่กับคุณไปอีกนาน หากคุณแสดงให้เห็นว่า มีการตรวจสอบที่มาของอาหาร หรือให้หน่วยงานของภาคประชาชนเข้ามาตรวจคุณภาพสินค้า และถ้าพบว่าสินค้าใดมีสารปนเปื้อน ก็ประกาศไปว่าหยุดรับสินค้าจากเจ้านี้แล้ว และมีการเปลี่ยนเจ้า มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและความตั้งใจ” วิญญู กล่าว

วิญญูกล่าวต่อไปว่า หากซูเปอร์มาเก็ตสามารถที่จะตรวจสอบการปนเปื้อนความโหดร้ายที่แฝงอยู่ในสินค้าได้ ก็จะสามารถแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง และแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อบุคลากรที่ทำงานอยู่ในกระบวนการผลิต อาจจะเป็นแรงงานในโรงงาน หรือตัวเกษตรกรเอง ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก และการกระทำในลักษณะนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ของซูเปอร์มาเก็ตให้คนรู้จักเพิ่มมากขึ้น และมีความยั่งยืนกว่าการโฆษณาแบบที่เป็นอยู่ในปัจุจบัน

วริศรา ศรเพชร : พลังของผู้บริโภค สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

วริศรา เล่าว่าเวลาที่เข้าซูเปอร์มาเก็ตจะเป็นคนที่เครียดมากกับเรื่องต้นต่อของอาหาร เช่น จะซื้อไก่ 1 ตัว ก็ต้องคิดว่าไก่ตัวนี้มาจากไหน ใครเป็นคนเลี้ยง มีการใช้ฮอร์โมนหรือไม่ แต่เมื่อดูที่สินค้าแล้วไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการเหล่านี้ได้ แม้ปัจจุบันสินค้าต่างๆ จะมีแพคเกจจิ้งที่ดี มีข้อมูลที่ทำให้เชื่อได้ว่าสินค้ามีความสะอาด ปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด

วริศรา ระบุว่า ปัจจุบันนี้ บนเว็บไซต์ Change.org ได้มีผู้บริโภคหลายคนเข้าไปตั้งเรื่องรณรงค์ในหลายรูปแบบ สำหรับในประเทศไทย เรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วคือ การเรียกร้องให้ซูเปอร์มาเก็ตต่างๆ ยุติการนำปลานกแก้วมาขาย เนื่องจากมีผลกระทบต่อปะการัง ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น สาเหตุที่เรื่องนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วเพราะมีการเรียกร้องโดยตรงกับเอกชน และเอกชนเหล่านี้มีภาพลักษณ์ที่จะต้องรักษา เพราะมีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจ

วริศรากล่าวต่อว่า ยุคนี้ผู้บริโภคมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลเยอะ และง่ายขึ้นมาก แต่ผู้บริโภคส่วนมากยังคิดว่า ตัวเองเป็นแค่คนเล็กๆ คนเดียว แต่กลับลืมไปว่าธุรกิจสินค้าต่างๆ อยู่ได้เพราะมีผู้บริโภค ฉะนั้นเมื่อมีการรณรงค์ มีแนวร่วมเพิ่มมากขึ้น องค์กรธุรกิจก็จะหันมาฟังเสียง ฟังความต้องการของผู้บริโภค

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ทีม “ซูเปอร์มาเก็ตที่รัก” เกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ได้มีการจัดงานแถลงข่าวผลประเมินนโยบายทางสังคมของซูปเปอร์มาเก็ตรายใหญ่ 7 แห่งในประเทศไทย

เนื่องจากมองเห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าวว่า ปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าปลีกค้าส่งซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็นร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แลนอกจากจะมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดแรงงาน โดยมีการจ้างงานประมาณร้อยละ 15 ของการจ้างงานในประเทศ

โดยหนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญ และมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยอย่างมากคือซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งมีจำนวนสาขารวมกันในประเทศไทยมากกว่า 3,000 สาขา และมียอดขายเพิมขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทค้าปลีกอาหารชั้นนำมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหลักล้านล้านบาท แต่เกษตรกรรายย่อยและแรงงานในภาคเกษตร และการผลิตอหารยังคงประสบความยากจนอย่างต่อเนื่อง มีความเปราะบางต่อภาวะทางเศรษฐกิจ มีอำนาจต่อรองที่จำกัด และในหลายกรณียังพบว่ามีการละเมิดและเอาเปรียบในการทำงาน

เช็คนโยบายสังคมห้างดังในไทย ‘เทสโก้ โลตัส’ คะแนนนำ แต่ 3 ห้างไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล

สำหรับข้อเรียกร้องของทีมซูเปอร์มาเก็ตที่รักคือ ต้องการให้ซูเปอร์มาเก็ตเปิดเผยนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะ เพื่อที่เป็นการรับประกันว่าสินค้าที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตจะไม่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเอาเปรียบผู้ผลิต โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย และแรงงาน

ทั้งนี้นอกจากเวทีสนทนาที่รายงานแล้วข้างต้น ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ “แล้วชั้นเลือกอะไรได้ไหม?” ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจสอดแทรกอยู่ โดยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าต่างๆ ที่วางขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตในหลายประเทศทั่วโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท