Skip to main content
sharethis

นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา 6 ก.ย.นี้ ที่ศาลอาญา รัชดาฯ กรณีการเสียชีวิตของ 'เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง' นักเรียนวัย 17 ปี (ขณะนั้น) ในคดีสงครามยาเสพติดอันเนื่องมาจากการควบคุมตัวของตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ หลังใช้เวลากว่า 14 ปี ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลจนกระทั่งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) แจ้งว่า วันที่ 6 ก.ย. 2561 เวลา 09.30 น. ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3252/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2600/2555 ระหว่าง พนักงานอัยการ  สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 โจทก์  กับ ด.ต.อังคาร คำมูลนา ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน จำเลย

คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย  และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ สืบเนื่องจากกรณี เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี เด็กนักเรียน จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตด้วยการถูกฆ่าแขวนคอที่กระท่อมกลางทุ่งนาใน จ.ร้อยเอ็ด หลังจากได้รับการปล่อยตัวจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายประกาศทำสงครามกับยาเสพติด โดยญาติของนายเกียรติศักดิ์ ในฐานะผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วย

คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีนี้ สนส. รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  

1. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 289 (4) ประกอบมาตรา 83 ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จำคุก 1 ปี แต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษอื่นมารวมอีกได้ ให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว  

2. จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 วรรคแรก ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ ลงโทษจำคุก 7 ปี

3. จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

4. ยกฟ้องจำเลยที่ 4

ส่วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2558 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า

1. จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จำคุก 1 ปี แต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษอื่นมารวมอีกได้ ให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

2. จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายจำคุก 1 ปี แต่คำให้การในชั้นสอบสวนและการนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 50 ปี

3. จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายจำคุก 1 ปี และฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบจำคุก 5 ปี แต่คำให้การในชั้นสอบสวนและการนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ให้จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต

4. จำเลยที่ 5 และที่ 6 มีความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ จำคุกคนละ 5 ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ในระหว่างฎีกาศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ด้วยหลักประกัน 1 ล้านบาท และมีเงื่อนไขว่าห้ามออกนอกประเทศ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

สนส. รายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี 2544-2549 รัฐบาลมีนโยบายประกาศทำสงครามยาเสพติด เกิดคดีฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ และในช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก โดย 1 ในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว คือ เกียรติศักดิ์ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและได้มีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2549 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอให้รัฐบาลเยียวยาความเสียหายจากการเสียชีวิตของ เกียรติศักดิ์ อันเนื่องมาจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์  ให้แก่ครอบครัวของ เกียรติศักดิ์ ทั้งนี้  สภาทนายความได้แต่งตั้งคณะทำงานในการให้ความช่วยเหลือกรณีกลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ที่เสียชีวิตและถูกอุ้มหายช่วงระหว่างปี 2546-2548 เพื่อทำหน้าที่ในการเป็นทนายความให้แก่โจทก์ร่วมในคดีนี้ และทนายความจาก สนส.ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานดังกล่าวด้วย

ในปี 2548 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีมติให้กรณีการเสียชีวิตของ เกียรติศักดิ์ เป็นคดีพิเศษ และเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2552 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้ยื่นฟ้อง ด.ต.อังคาร  คำมูลนา ที่ 1 ด.ต.สุดธินัน โนนทิง ที่ 2 ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ ที่ 3  พ.ต.ท.สำเภา อินดี ที่ 4   พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ ที่ 5 พ.ต.ท.สุมิตร  นันท์สถิต ที่ 6 เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว นับเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 14 ปี ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลจนกระทั่งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net