กกต. เผยไทม์ไลน์สรรหา ส.ว. (ในส่วนของกกต.) ยันส่งรายชื่อให้ คสช. เลือก 22 ม.ค.

เลขาธิการ กกต. คาดหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศใช้ จะดำเนินการสรรหา ส.ว. ทันที คาดวันที่ 22 ม.ค. 2562 จะสามารถส่งรายชื่อให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 50 รายชื่อได้ ที่เหลือมาจากการคัดเลือกโดยตรงของ คสช. 194+6 รายชื่อ

5 ก.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกต. วานนี้ (4 ก.ย.) ที่ประชุมได้พิจารณาร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่มีประมาณ 160 ข้อเสร็จสิ้นในรอบแรกแล้ว และมีความเห็นให้มีการปรับแก้เกี่ยวกับการปฏิบัติในบางเรื่อง ซึ่งทางสำนักงานจะนำเข้าที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในการประชุม กกต. ครั้งต่อไป ขณะนี้ได้เร่งพิจารณาร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.เพื่อให้ทันกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กำลังจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที กระบวนการสรรหา ส.ว. ก็ต้องเริ่มดำเนินการในทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการเลือก ส.ว. ที่สำนักงาน กกต.ได้ประชุมสัมมนาผู้บริหารไปเมื่อ 18-19 ส.ค.นั้น มีการประมาณการไว้ว่าหาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. มีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 ก.ย. กกต.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จากนั้น 12 ต.ค. จะประกาศกำหนดวันลงทะเบียนองค์กร เพื่อเป็นองค์กรที่จะมีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. และแจ้งให้สำนักงาน กกต.จังหวัดทราบ วันที่ 22-31 ต.ค. สำนักงานกกต.จังหวัด รับลงทะเบียนองค์กร วันที่ 16 พ.ย. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและนายกรัฐมนตรี นำ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก ส.ว. ทูลเกล้าฯ วันที่ 20 พ.ย. ประกาศรายชื่อองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. แยกเป็นรายกลุ่ม

นอกจากนี้ วันที่ 30 พ.ย.คาดว่า พ.ร.ฎ ให้มีการเลือก ส.ว.มีผลใช้บังคับ วันที่ 5 ธ.ค. กกต.ประกาศเกี่ยวกับวันเลือก วันรับสมัคร และสถานที่เลือก ซึ่งระดับอำเภอภายใน 20 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ระดับจังหวัดภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และระดับประเทศภายใน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด เปิดรับสมัคร ส.ว. วันที่ 10-14 ธ.ค. ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่มี พ.ร.ฎ. และวันที่ 30 ธ.ค. จะเป็นวันเลือก ส.ว. ในระดับอำเภอ วันที่ 6 ม.ค. 62 เลือก ส.ว.ในระดับจังหวัด วันที่ 16 ม.ค. เลือก ส.ว.ในระดับประเทศ วันที่ 17-21 ม.ค. กกต. รอไว้ 5 วันตามที่กฎหมายกำหนด และวันที่ 22 ม.ค. กกต.แจ้งรายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่ม แต่ละวิธีสมัคร รวม 200 คนให้คสช.คัดเลือกเป็นส.ว. 50 คน และคัดเลือกอีก 50 คน เป็นบัญชีสำรอง

การคัดเลือก ส.ว. ในครั้งแรก ตามบทเฉพาะกาล

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งรอการประกาศใช้อยู่นี้ ตามบทเฉพาะกาล กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกมีจำนวนทั้งหมด 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามที่ คสช. ถวายคำแนะนำ โดยมีช่องทางในการสรรหาทั้งหมด 3 ทางคือ

1.ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 9-12 คน คัดเลือกบุคคลมาทั้งหมด 400 รายชื่อยื่นเสนอต่อ คสช. จากนั้น คสช. จะเป็นผู้เลือกให้เหลือ 194 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

2.ให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามบททั่วไป แต่ให้มีการรับสมัครเพียงแค่ 10 กลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 91 และให้มีการดำเนินการคัดเลือกตามที่บทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ สุดท้ายให้ได้รายชื่อทั้งหมด 200 รายชื่อ เพื่อยืนให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 50 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

3.ให้มี สมาชิกวุฒสภาโดยตำแหน่ง 6 ตำแหน่งดังต่อไปนี้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ

โดย ส.ว.ชุดนี้จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และในวาระเริ่มแรกจะมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ซึ่งจากเดิมเป็นอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

การสรรหา ส.ว. ที่จะใช้อีก 5 ปีให้หลังเป็นอย่างไร 

ในบททั่วไป หมวดที่ 1 มาตรา 11 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนทั้งหมด 200 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกกันเองของ 20 กลุ่มอาชีพ โดยในมาตรา 13 กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ว. ว่า ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านที่สมัคร ไม่น้อยกว่า 10 ปี  โดยผู้สมัครจะต้องสมัครในเขตอำเภอ

สำหรับการคัดเลือก ส.ว. ตามกฎหมายใหม่ได้แบ่งให้มีการเลือกทั้งหมด 3 ระดับ  ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ในระดับเริ่มต้นคือระดับอำเภอ จะมีการเลือก 2 ครั้ง ครั้งแรกอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคัดเลือกผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม ให้เลือกเพียงกลุ่มละไม่เกิน 5 คนเท่านั้น โดยให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพมีสิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน 2 คน โดยจะเลือกตนเองก็ได้ จากนั้นเมื่อนับคะแนนแล้วผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกจะผ่านการรับเลือกในขั้นต้น

หลังจากที่ได้ผู้ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นกลุ่มอาชีพละ 5 คน ทั้งหมด 20 กลุ่มแล้ว จะมีการดำเนินการแบ่งกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ออกไปไม่เกิน 4 สาย และให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในขั้นตอนแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนน ให้ผู้ผ่านการคัดเลือกในกลุ่มอาชีพอื่นที่อยู่ในสายเดียวกับตนได้กลุ่มละ 1 เสียง โดยในขั้นนี้จะเลือกผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาชีพเดียวกัน หรือเลือกตนเองไม่ได้ โดยการเลือกในขั้นนี้ให้ถือว่า ผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกในแต่กลุ่มอาชีพผ่านเข้ารับการคัดเลือกในระดับจังหวัดต่อไป นั่นเท่ากับว่าจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอไม่เกิน 60 คน

ส่วนการคัดเลือกในระดับจังหวัดนั้น จะดำเนินการในลักษณะที่คล้ายกันคือ จัดให้มีการคัดเลือกเบื้องต้นก่อน โดยให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอในแต่ละกลุ่มอาชีพ ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม จากนั้นให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกถือเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกในเบื้องต้น

จากนั้นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นในระดับจังหวัด จะต้องแบ่งสายออกไปไม่เกิน 4 สาย และเลือกผู้ผ่านการคัดเลือกในกลุ่มอื่นแต่อยู่สายเดียวกับตนเองได้กลุ่มละ 1 เสียง สุดท้ายให้ผู้ที่ได้คะแนน 2 อับดับแรกในแต่ละกลุ่ม ผ่านการคัดเลือก และเข้าสู่การคัดเลือกในระดับประเทศต่อไป นั่นเท่ากับว่าจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัด กลุ่มอาชีพละ 2 คน รวมทั้งหมด 40 คน

เมื่อเข้าสู่การคัดเลือกในระดับประเทศจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดจาก 77 จังหวัด กลุ่มอาชีพละไม่เกิน 154 คน รวม 20 กลุ่มอาชีพ จะมีจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือกไม่เกิน 3,080 คน โดยการคัดเลือกในขั้นตอนนี้จะให้ผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหัวด ลงคะแนนในผู้ที่ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มเดียวกันกับตนเองได้ 10 คน โดยขั้นตอนนี้จะคัดให้เหลือ 40 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ

จากนั้นให้มีการแบ่งสายออกไปไม่เกิน 4 สาย โดยให้มีการลงคะแนนเลือกผู้ผ่านการคัดเลือกในกลุ่มอาชีพอื่นที่อยู่สายเดียวกับตนเองได้ 5 คน โดยสุดท้ายกำหนดให้ผู้ที่ได้รับคะแนนในอันดับ 1-10 ของแต่ละกลุ่มอาชีพเป็นผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา รวมแล้วจำนวน 200 คน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท