นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความเรียงที่ไม่เรียงความ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เพิ่งได้สนทนากับเจ้าของสำนักพิมพ์หนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งทำยอดขายในแต่ละปีสูงมาก ทั้งๆ ที่ใช้คนทำงานเพียงไม่กี่คน เรียกว่าออกหนังสืออะไรมาก็ “โดน” ไปหมด เขาพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งของสำนักพิมพ์ที่ในเวลา 2 ปี สามารถพิมพ์แล้วพิมพ์อีกจนขายได้ถึงหนึ่งแสนเล่ม

ที่น่าประหลาดใจแก่ผมอย่างยิ่งก็คือ หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาจีน

ถ้าจัดประเภทตามที่เราเคยชิน นี่คือหนังสือ “วิชาการ” ซึ่งโดยสถิติแล้ว ส่วนใหญ่วางตลาด 10 ปียังขายได้ไม่ถึง 2,500 เล่ม

คำอธิบายของเจ้าของสำนักพิมพ์ (ตามความเข้าใจของผม) ก็คือ ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อและรับข่าวสารข้อมูลของโลกปัจจุบัน รูปแบบ, ลีลา, กลิ่นอาย, สีสัน ฯลฯ ของการนำเสนอได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ทั้งนี้หาได้กระทบเนื้อหาของสารที่จะสื่อไม่ จะเป็นสารใหม่ถอดด้าม หรือสารเก่าข้ามยุคสมัยก็นำมาสื่อได้ทั้งนั้น เพียงแต่จะสื่ออย่างไรต่างหาก

ถ้าผมเข้าใจคำอธิบายของเขาถูก ก็หมายความว่ามีความเข้าใจผิดอยู่ไม่น้อยในหมู่คนทำสื่อ ที่ไปคิดว่าตัวเนื้อหาของสารต่างหากที่จะทำให้คนรุ่นใหม่สนใจ จึงเลือกจะเสนอแต่ความหวือหวาแปลกใหม่เพียงอย่างเดียว

หรืออาจมีความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเข้าใจผิดอย่างแรก นั่นคือวิธีการนำเสนอย่อมกำหนดเนื้อหาของข่าวสารข้อมูล และการนำเสนอในโลกปัจจุบันล้วนต้องอาศัยเทคโนโลยีที่เป็นดิจิตอล “เวที” หรือ platform อันนี้แหละที่กำหนดเนื้อหาของสิ่งที่จะสื่อสาร จนหลายคนเชื่อว่าสื่อกระดาษกำลังตายไปแล้ว

ถ้าจริงตามนั้น จะมีคนขายหนังสือ (ในเมืองไทย) ได้แสนเล่มใน 2 ปีได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของสำนักพิมพ์ยังเล่าให้ฟังว่า ในระหว่างสัปดาห์หนังสือ เขาเข้างานทุกวัน ไปเซ็นหนังสือบ้าง ไปสังเกตการณ์ตลาดหนังสือบ้าง สิ่งที่เขาพบด้วยความประหลาดใจก็คือ ลูกค้าร้านของเขาส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม ทั้งๆ ที่ร้านของเขาไม่มีหนังสือการ์ตูนหรือนิทานภาพที่แปลจากภาษาต่างประเทศ เด็กเหล่านี้ซื้อหนังสือเล่มของเขาไปอ่านกันคนละเล่มสองเล่ม ตามงบประมาณจำกัดของพวกเขา

ผมฟังแล้วก็ดีใจที่การอ่านหนังสือกระดาษยังมีอนาคต ไม่ใช่เพราะมันเป็นอาชีพของผม แต่เพราะผมเชื่อว่าการอ่านหนังสือกระดาษเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีการรับสารอะไรอื่นจะมาทดแทนได้ ผมไม่ได้หมายความว่าเป็นความเพลิดเพลินที่ดีที่สุด เพียงแต่มันมีลักษณะเฉพาะของมันซึ่งไม่เหมือนการแสวงหาความเพลิดเพลินจากการรับสารทางอื่น เช่น ดูหนัง, ฟังเพลง, คุยกัน, อ่านเฟซบุ๊ก หรือดูคอนเสิร์ต ซึ่งก็ล้วนมีลักษณะเฉพาะของมันซึ่งไม่มีอะไรอื่นมาทดแทนได้เหมือนกัน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมกำลังตั้งคำถามกับ media convergence หรือการหลอมรวมสื่อเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ใช่ตั้งคำถามว่ามันไม่มีนะครับ มันมีแน่ แต่ไม่จำเป็นในทุกกรณี เพราะสื่อแต่ละประเภทก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ซึ่งน่าจะตอบสนองความต้องการให้ผู้คนได้ไปคนละอย่าง

สื่อกระดาษ (หรือปาปีรัส, หิน, ดินเหนียว, ใบลาน, หนังสัตว์ ฯลฯ) ที่มีมาแต่โบราณนานไกลนั้น ถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อเกิดการพิมพ์แบบที่เปลี่ยนแม่พิมพ์ได้ เพราะทำให้การผลิตหนังสือกระดาษมีราคาถูกลงอย่างมากจนใครที่อ่านหนังสือออกก็สามารถเข้าถึงได้หมด ตลาดที่ใหญ่ขึ้นทำให้คนใช้สื่อชนิดนี้เพื่อสื่อความคิดและอารมณ์ความรู้สึกละเอียดอย่างไรก็ได้ (ไม่จำเป็นต้องสรุปออกมาเป็นคำสั่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนเขียนบนหินหรือดินเหนียว) เกิดวิธีการสื่อความคิดและความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทรงพลังอย่างมาก เพราะสารที่จะสื่อถูกวางแผนให้ค่อยๆ ซึมเข้าไปในความรับรู้ของผู้อ่านอย่างไม่ทันตั้งตัว แล้วจูงมือผู้อ่านไปถึงบทสรุปที่ยากจะปฏิเสธได้แทบไม่รู้ตัว

มันคือวิธีคิด วิธีรู้สึกอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งคนโบราณก่อนหน้าเทคโนโลยีการพิมพ์ไม่มี หรืออย่างน้อยก็ไม่มีเป็นการทั่วไป คือมีแก่บางคนเท่านั้น (เช่น นักปราชญ์ หรือศาสดา)

ผมแสดงความเห็นอะไรทำนองนี้ในวงสนทนา ก็สังเกตเห็นว่าเจ้าของสำนักพิมพ์ไม่สู้จะเห็นด้วยนัก เพียงแต่เขารักษามารยาทที่จะไม่คัดค้านออกมาตรงๆ เท่านั้น เพียงแต่ย้ำสิ่งที่เขาได้พูดไปแล้วใหม่

เขากำลังบอกว่า การหลอมรวมสื่อเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความจำเป็น อย่างน้อยก็เพราะทำให้หนังสือขายได้ แต่ที่สำคัญกว่าเป้าหมายทางธุรกิจก็คือ ถ้าหนังสือกระดาษจะทำหน้าที่สื่อของตัวต่อไปได้ ก็ต้องนำเสนอในลักษณะที่ผู้อ่านสามารถรับสารได้ (ด้วยความเพลิดเพลินและความเข้าใจ) อย่างเดียวกับที่เขารับสารจากสื่อดิจิตอล

บทสนทนานี้ยังค้างคาใจผมต่อมาอีกหลายวัน ผมกลับบ้านพร้อมทั้งนำหนังสือขายดีที่เจ้าของสำนักพิมพ์นั้นเขียนขึ้นมาอ่านใหม่ และก็พบว่าข้อสรุปซึ่งไม่ได้เขียนไว้ของหนังสือเล่มนั้นถึงไม่ตรงกับผมทุกอย่าง แต่ก็ตรงหลายอย่าง เขาทำให้เห็นว่า โลกข้างหน้านั้นเป็นโลกที่ไม่ต้องการคน “รู้” อะไรมากและลึกมากนัก แต่ต้องการคนที่ “ทำ” อะไรได้ดีสุดอย่างไม่มีใครเทียบได้ง่ายๆ มากกว่า ในการ “ทำ” นี้จำเป็นต้อง “รู้” อะไรก็พึง “รู้” แต่ไม่ใช่ “รู้” อะไรที่ลึกขึ้นกว้างขึ้น โดยยังไม่ชัดว่าจะเอาความรู้นั้นไป “ทำ” อะไร

ไม่พูดถึงสำนวนการเขียนที่อ่านสนุกของเขา แต่เขานำเสนอด้วยตัวอย่างคนที่ “ทำ” อะไรได้ดีจำนวนมาก บทสนทนาและคำบรรยายนำไปสู่ข้อสรุปซึ่งผู้อ่านอาจบรรลุได้ไม่ตรงกัน อย่างเดียวกับการอ่านเฟซบุ๊ก ด้วยข้อความเดียวกันแต่ก็สร้างปฏิกิริยาได้หลายอย่าง ยังไม่พูดถึงรูปภาพที่สอดแทรกมาอย่างได้จังหวะ ซึ่งอาจสื่อ, ตอกย้ำ, ขยายความ, แตกความ ฯลฯ ออกไปจากตัวหนังสือได้อีกมาก ผู้อ่านอาจรับสารอย่างตรงไปตรงมา หรือสารที่อยู่เบื้องหลัง หรือสารที่ผู้อ่านเองอาจไม่ตั้งใจจะเสนอก็ได้ อ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อได้เพิ่มพูนประสบการณ์เกี่ยวกับอาชีพของตนก็ได้ หรือมองเห็นความหมายใหม่ที่ซ่อนอยู่ในประสบการณ์ที่ตนเองรู้จักคุ้นเคยอยู่แล้วก็ได้

ดังนั้น ผู้อ่านจึงไม่จำเป็นต้องอ่านรวดเดียวจบ ไม่จำเป็นแม้แต่จะต้องอ่านจากหน้าแรกด้วยซ้ำ อ่านตรงไหนก็ได้ พลิกไปพลิกมาเหมือนเลื่อนเม้าส์ไปกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อหาอะไรที่ดูจะอ่านสนุกดี

และเอาเข้าจริง ผมก็ไม่รู้ว่าคนที่อ่านแบบอื่นๆ จะได้รับสารอะไรบ้าง เพราะผมอ่านไม่เป็น ได้แต่อ่านจากหน้าแรกถึงหน้าสุดท้ายเหมือนอ่านหนังสือตามปรกติ ซึ่งก็สนุกและได้รับสารอันหนึ่งที่น่าคิดไปเหมือนกัน แต่ก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นสารสำคัญสุดที่ผู้เขียนอยากสื่อหรือไม่

มันเป็นหนังสือที่รูปเล่มแน่ แต่มันอาจไม่ใช่หนังสือกระดาษธรรมดา หากเป็นคอมพิวเตอร์บนกระดาษก็ว่าได้ หรือเป็นภาพยนตร์สั้นต่อกันหลายเรื่องก็ได้ ไม่ใช่ตัวสื่อเท่านั้นที่ถูกหลอมรวม แต่ผู้ผลิตสื่อเองก็ถูกหลอมรวมด้วย นักเขียนต้องเป็นทั้งนักเขียนบทภาพยนตร์, นักเขียนบทละคร, นักเขียนบทโฆษณา, นักแต่งเนื้อเพลง, ครูเสภา และคนบอกบทลิเก ฯลฯ ไปพร้อมกันหมด

ถึงที่สุดจริงๆ แล้ว เราอ่านหนังสือ (หรือรับสารจากสื่ออื่น) ก็เพื่อทำให้ได้ความหมายใหม่จากประสบการณ์ต่างๆ ทั้งที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว หรือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ดังนั้น ไม่ว่าจะเขียนหนังสือด้วยรูปแบบใดๆ ก็บรรลุจุดประสงค์เดียวกันทั้งนั้น

ผมตีความเอาเองจากประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ หนังสือเล่มไหนที่อ่านแล้วก็ได้ความหมายของประสบการณ์เหมือนกับที่เราและคนอื่นรู้อยู่แล้ว เราก็มักปิดหนังสือแล้วไปทำอย่างอื่น ทีวีที่มีรายการซึ่งแสดงความหมายของประสบการณ์ตามความคาดเดาของเราได้อยู่แล้ว เราก็ปิดทีวีแล้วไปทำอย่างอื่น

ดังนั้น ถึงจะเขียนหนังสือแบบหลอมรวมสื่อ หรือแบบแยกสื่อ ก็ย่อมให้ประโยชน์ (หรือโทษ) เหมือนๆ กัน

จริงๆ แล้วมีแค่วิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันเท่านั้นแน่ละหรือ? ถ้าอย่างนั้น ผมก็น่าจะฝึกตัวเองเพื่อเขียนอะไรแบบหลอมรวมสื่อ ก็น่าจะทำได้เหมือนกัน แต่ผมรู้ว่า ถึงจะฝึกอย่างไร ผมก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้นะครับ ไม่ใช่ทำไม่เป็น เพราะอะไรที่ไม่เป็นก็ล้วนฝึกให้เป็นได้ทั้งนั้น

เช่น ถ้าจะเขียนหนังสือเพื่อนำเสนอข้อสรุปอย่างเดียวกับเจ้าของสำนักพิมพ์หนุ่มเล่มนั้น ผมคงไปค้นสถิติต่างๆ เกี่ยวกับตำแหน่งงานประเภทต่างๆ ซึ่งล้วนหดตัวลงอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทน แล้วก็คงไปค้นสถิติเกี่ยวกับงานอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน (ทั้งอาชีพเฮงซวยและไม่เฮงซวย) ดูว่าใครเข้าไปอยู่ในนั้นบ้าง มันตอบสนองความต้องการของคนในอนาคตอย่างไร คิดไปถึงข้อมูลที่ต้องค้นหาแล้วก็พะเรอเกวียน ซ้ำยังต้องมาคิดว่าจะนำเสนอข้อมูลจำนวนมากนั้นอย่างไร จึงจะทำให้ผู้อ่านเดินมาสู่ข้อสรุปอย่างที่ผมต้องการ

แล้วมันก็คงเป็นหนังสือน่าเบื่อที่ไม่มีใครอ่าน

แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าขายหนังสือไม่ได้ ก็คือ หนังสือของผมมีข้อสรุปอยู่อันเดียว ชัดเจนแน่นอนเสียจนผู้อ่านหนังสือไม่มีทางจะสรุปเป็นอย่างอื่นไปได้ ในขณะที่หนังสือของเจ้าของสำนักพิมพ์นั้นไม่ได้มีข้อสรุปเดียวเหมือนผม ข้อสรุปดังกล่าวเป็นของผมคนเดียว ผู้อ่านอื่นก็อาจสรุปต่างไปจากผมได้อีกมาก เพราะข้อสรุปของหนังสือไม่ได้ชัดเจนแน่นอนอย่างงานเขียนแบบที่ผมเคยชิน

ผมจึงออกสงสัยว่า การหลอมรวมสื่อไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีสื่อหลากหลายประเภท ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้นำมาหลอมรวมกันได้ง่าย แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ ความรู้ของโลกปัจจุบัน (หรือความหมายใหม่ของประสบการณ์) ไม่ต้องการข้อสรุปที่ชัดเจนแน่นอนอย่างสมัยของผมเสียแล้ว ขึ้นชื่อว่า “ความรู้” จำเป็นต้องหลวม, ต้องคลุมเครือ, ต้องมีศักยภาพให้เข้าใจได้หลากหลาย, ต้องเบลอ เช่นเดียวกับหน้าคนในทีวี ที่ต้องเบลอก็เพราะเขาอาจคาบบุหรี่อยู่ที่ปาก, กำลังซดเหล้า, หรือเป็นเยาวชน, หรือเป็นคนพิการที่ใบหน้า, หรือเป็นเพียงผู้ต้องหา จึงไม่ควรเอารูปเขามาแสดงให้เห็น ฯลฯ มีเหตุผลที่ต้องเบลอ แต่เหตุผลนั้นคืออะไร ต่างคนต่างคิดเอาเอง

ความรู้ที่เบลอๆ นี่แหละครับ ที่แต่ละคนสามารถรับเอาไปประกอบสร้างความรู้ใหม่ที่เหมาะกับตนเองได้ดีกว่าความรู้ที่ชัดเจนแน่นอนหนึ่งเดียว ซึ่งเอาไปทำอะไรในชีวิตไม่ได้นอกจาก “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม”

ที่ผมเขียนหนังสือแบบหลอมรวมสื่อไม่เป็นจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผมยังไม่ได้ฝึก แต่เพราะทัศนะเกี่ยวกับความรู้ของผมนั้นมันล้าสมัยไปแล้วต่างหาก มันไม่ใช่ความรู้ที่เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันอีกต่อไป เรากำลังก้าวผ่านยุคสมัยของความรู้แบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง จึงทิ้งซากเดนของยุคสมัยเก่าไว้กับคนแก่อีกจำนวนหนึ่งซึ่งบังเอิญยังไม่ตาย

ที่มา: www.matichonweekly.com/column/article_130506
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท