สุรพศ ทวีศักดิ์: คนรุ่นใหม่จะสร้างประเทศแบบไหน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“ นายกฯได้เน้นย้ำเรื่องมายเซ็ทให้คนไทย

ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยก้าวหน้า

จึงอยากให้ทุกคนมาร่วมกันสร้างประเทศไปด้วยกัน “

ท็อป จรณ โสรัตน์
ที่มา https://www.khaosod.co.th/politics/news_1528960

 

วาทกรรม “มาร่วมกันสร้างประเทศไทยไปด้วยกัน” ชวนให้ตั้งคำถามว่า “ประเทศไทยแบบไหน” ที่จะสร้าง และที่ว่า “ร่วมสร้างไปด้วยกัน” นั้น เป็นการร่วมสร้างภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรม หรือกติกาที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้จริงอย่างเท่าเทียมหรือไม่ หรือเป็นเพียงร่วมกันเชื่อฟังและทำตามกรอบที่รัฐบาลทหารกำหนดให้ต้องทำ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยถูกกีดกันออกไป หรือถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

หากดูจากประวัติศาสตร์การสร้างประเทศหรือ “รัฐประชาชาติ” ในโลกสมัยใหม่ ที่เริ่มจากยุคปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย การสร้างประเทศย่อมไม่อาจแยกขาดจากการสร้างประชาธิปไตย

จุดเริ่มต้นของการสร้างประเทศหรือรัฐประชาชาติจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือการประกาศ “อุดมการณ์” ของประชาชาติ เช่นการปฏิวัติอเมริกัน (1775-1782) ได้สถาปนาอุดมการณ์ของประชาชาติผ่านคำประกาศอิสรภาพ (United States Declaration of Independence) ที่ถือเป็น “สัญญาประชาคม” ว่า ชาวอเมริกันทุกคนจะยึดถือหลักการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และอำนาจของประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด รัฐบาลใดก็ตามที่เป็นอุปสรรคต่อหลักการนี้ ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลนั้นได้

ส่วนการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1799) ก็มีคำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมือง (The Declaration of the Rights of Man and of the Citizen) สาระสำคัญคือ มนุษย์ทุกคนเกิดมามีเสรีภาพและความเสมอภาคในสิทธิทั้งหลาย ได้แก่ สิทธิในอิสรภาพ (liberty), ทรัพย์สิน (property), ความปลอดภัย (security) และการต่อต้านการกดขี่ทุกรูปแบบ อิสรภาพ หมายถึง การมีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำสิ่งใดๆ ก็ได้ที่ไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น ส่วนอะไรที่จะถือได้ว่าเป็น “กฎหมาย” (law) ต้องเป็นสิ่งแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไปของประชาชน และการสื่อสารความคิดหรือทัศนะต่างๆ อย่างเสรี ย่อมเป็นสิทธิสำคัญสูงสุดอย่างหนึ่งในบรรดาสิทธิทั้งหลาย

 

หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคที่เป็นแรงบันดาลใจในการปฏิวัติอเมริกันและฝรั่งเศส คือแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ซึ่งเป็นแนวคิดทางปรัชญาที่รุ่งเรืองในยุครู้แจ้ง (Enlightenment) อย่างไรก็ตาม ทั้งนักปรัชญาเสรีนิยมและบรรดาผู้สมาทานปรัชญาเสรีนิยมทำการปฏิวัติ ก็ไม่ได้พูดถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของทาสและผู้หญิง (ยกเว้น จอห์น สจ๊วต มิลล์ ที่ยืนยันสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง แต่เขาก็เห็นว่า คนรวยที่มีการศึกษาและจ่ายภาษี มีสิทธิเหนือกว่าคนจนที่ไร้การศึกษาและไม่สามารถจ่ายภาษี) ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ต่อให้พวกเขามีความคิดก้าวหน้าล้ำยุค แต่บางเรื่องพวกเขาก็ยังติดในกรอบหรือบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในยุคสมัยของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง “เสรีนิยมคลาสสิก” (classical liberalism) ย่อมต่างจาก “เสรีนิยมใหม่” (neo-liberalism) ขณะที่เสรีนิยมใหม่เน้นเรื่องตลาดเสรี ซึ่งสร้างปัญหา “ความไม่เสรีจริง” เพราะนำไปสู่การผูกขาดโดยอำนาจทุนขนาดใหญ่ แต่เสรีนิยมคลาสสิกเน้น “คุณค่าเชิงศีลธรรม” (moral value) นั่นคือ ถือว่าหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเป็นคุณค่าหรืออุดมการณ์สูงสุด แม้นักปรัชญาเสรีนิยมจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของทาส ผู้หญิง คนจน คนด้อยการศึกษาตั้งแต่แรก แต่การที่พวกเขาเสนอว่า “ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน มีสิทธิและเสรีภาพที่ถูกพรากไปไม่ได้เหมือนกัน” ได้ทำให้หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่พวกเขาเสนอกลายเป็นอุดมการณ์อ้างอิงในการต่อสู้เพื่อเลิกระบบทาส เลิกการแบ่งแยกชาติพันธุ์ สีผิว การเหยียดเพศ และความไม่เท่าเทียมอื่นๆ ในเวลาต่อมา และคุณค่าแบบเสรีนิยมคลาสสิกก็ได้เป็นกลายรากฐานให้เกิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล และการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีดังที่เรารับรู้ในปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญคือ ประวัติศาสตร์การสร้างประเทศหรือชาติของสังคมที่เจริญแล้ว เขาเริ่มจากการนำหลักสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคตามแนวคิดเสรีนิยมมาเป็น “อุดมการณ์” ของประชาชาติ ควบคู่กับ “ระบอบประชาธิปไตย” จึงเป็นระบอบ “เสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy) เพราะเชื่อว่า ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะสามารถให้หลักประกันที่มั่นคงแก่การมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคด้านต่างๆ ของประชาชนได้จริง และด้วยหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่านั้นที่ประชาชนจะสามารถใช้อ้างอิงตรวจสอบรัฐบาลไม่ให้หันกลับมากดขี่หรือฉ้อฉลอำนาจของประชาชน และผลประโยชน์ส่วนรวมได้จริง

ในบ้านเรา ประวัติศาสตร์การสร้างประเทศในความหมายนี้ เพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 86 ปีมานี้ จากการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932) ประเทศหรือรัฐประชาชาติที่สร้างขึ้นใหม่นี้อยู่ภายใต้การปกครอง “ระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งหมายถึง อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและสถานะ อำนาจ บทบาทของกษัตริย์ถูกจำกัดให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยกำหนดไว้ โดยอุดมการณ์ของประชาชาติก็คืออุดมการณ์เสรีนิยม ได้แก่ หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ปรากฏในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ว่า “จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ…” ซึ่งสรุปออกมาเป็น “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร์ คือ “หลักเอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา” ดังที่ราบกัน

 

แต่ปัญหาคือ ทำไมเราจึงไม่สามารถสร้างประเทศขึ้นบนอุดมการณ์สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและเป็นประชาธิปไตยได้ คำตอบก็ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์การปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศที่เจริญแล้ว นั่นคือ การปฏิวัติไม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในตัวมันเอง แต่มันส่งผลตามมาเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายประชาธิปไตย แต่ลักษณะพิเศษของบ้านเราคือ ทหารหรือกองทัพเป็นฝ่ายมีอำนาจจริงในการสถาปนาอุดมการณ์ในการสร้างชาติผ่าน “รัฐประหาร” ซ้ำซาก ดังนั้น อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมจึง “ถูกเน้น” ให้มีความสำคัญสูงสุดเหนือกว่าอุดมการณ์สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยที่คณะราษฎรสถาปนาขึ้น

ทว่าอุดมการณ์สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งที่ “ฆ่าไม่ตาย” เหตุการณ์นักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ในประวัติศาสตร์ 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35 และพฤษภา 53 เป็นต้น ย่อมยืนยันชัดแจ้งว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย

ฉะนั้น ความอีหลักอีเหลื่อของการสร้างประเทศภายใต้อำนาจเผด็จการไทยๆ ในระยะหลังๆ คือ ต่อให้ทำรัฐประหารล้มหลักการประชาธิปไตยแล้วเน้นอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมมากขึ้นในการสร้างประเทศ พวกเขาก็จำเป็นต้องอ้างเรื่อง “การปฏิรูปประชาธิปไตย” และให้สัญญากับประชาชนว่า จะกลับไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเสมอไป เพราะพวกเขาไม่สามารถเป็นปฏิปักษ์กับเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ตลอดไป

ภายใต้สภาวะอีหลักอีเหลื่อเช่นนี้ พวกเขาพยายามนำดารา นักแสดง นักร้องที่เชื่อว่าเป็น “ตัวแทนคนรุ่นใหม่” มาโฆษณาชวนเชื่อให้กับผลงานของตัวเอง เพื่อดึงดูความนิยมจากคนรุ่นใหม่ แต่ความต้องการ “ความนิยม” จากประชาชนของพวกเขามันผิดหลัก เพราะการพิสูจน์ความนิยมจากประชาชนได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องพิสูจน์ผ่านกติกาที่เสรีและเป็นธรรมเท่านั้น ขณะเดียวกันพวกเขาอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของ “คนรุ่นใหม่” เพราะนิยาม “คนรุ่นใหม่” ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของอายุ หรือเป็นคนมีชื่อเสียง รสนิยม ไลฟ์สไตล์ทันสมัยเท่านั้น แต่หมายถึงการเป็นคนมีความคิด มีจินตนาการ มีความใฝ่ฝันที่จะเห็นสังคมประเทศชาติมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ บนความยุติธรรมตามอุดมการณ์แห่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยด้วยโดยนัยสำคัญ

เห็นได้จากสังคมเจริญแล้วเช่นสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป เขาให้การศึกษาเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองแก่ประชาชน หรือคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าของประเทศ โดยเน้นเรื่องจิตสำนึกรักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม หลักนิติรัฐ เน้นทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การมีใจเปิดกว้าง ความอดกลั้น ความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็น การปกป้องสิทธิของตนเอง และยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้อื่น เคารพกฎหมายที่ยุติธรรมหรือกฎหมายที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และถือเป็นหน้าที่อันชอบธรรมที่จะคัดค้านกฎหมายที่อยุติธรรม เป็นต้น

เขาไม่เน้นการสอนให้พลเมืองท่องคำว่า “รักชาติๆๆๆ” วันละ 3 เวลา หลังอาหาร แต่ยิ่งอ้างว่ารักชาติมาก ยิ่งขาดสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย

ดังนั้น ความเป็นคนรุ่นใหม่จึงแสดงออกผ่านจิตสำนึกปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตย และคนรุ่นใหม่ที่รู้ความหมายของ “การสร้างประเทศ” อย่างถูกต้อง เขาย่อมกระตือรือร้นที่จะสร้างประเทศของเขาให้มีความก้าวหน้าในด้านสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย ไม่ใช่สร้างประเทศหรือชาติที่เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท