“แล้วแต่นโยบาย”: อนาคตผู้ลี้ภัย 181 ชีวิตที่กลับบ้านเกิดก็ไม่ได้ อยู่ประเทศไทยก็โดนขัง

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเผย ผู้ลี้ภัยยังไม่ถูกส่งตัวกลับ ต้องรอพิจารณาความพร้อม ยกเคสโรฮิงญา หากกลับไปเผชิญอันตรายก็ “ดูแล” กันต่อไป ชี้บัตร UNHCR ไม่ให้การคุ้มครองเพราะไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ วอนสังคมเข้าใจต้องปฏิบัติตามหน้าที่

ผู้ลี้ภัยที่ถูกจับกุม ณ บ้านพักแห่งหนึ่งในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 (ภาพจากทวิตเตอร์ Jonathan Head)

การจับกุมผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวมอนตานญาดเผ่าจไรจากประเทศเวียดนามและกัมพูชา 181 คน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทย เริ่มตั้งแต่การที่ผู้ถูกจับกุมถือบัตรสถานะผู้ลี้ภัยของสำนักงานใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (UNHCR) แต่ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ต่อมาด้วยการส่งตัวชาวกัมพูชาบางส่วนไปกักตัวเพื่อรอการส่งตัวกลับที่สำนักงานตรวจของเข้าเมือง (ตม.) ซอยสวนพลู ในขณะที่ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.บางใหญ่ ไปจนถึงการจับกุมเด็กมากกว่า 50 คน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกฎหมายละเว้นการควบคุมตัวเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ประชาไทได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการท่านหนึ่ง ที่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ลี้ภัยเหล่านี้ โดยระบุว่าในตอนนี้มีประมาน 20 คนถูกส่งตัวมาที่ ตม.สวนพลูเพื่อรอการส่งตัวกลับ เป็นชาวกัมพูชาทั้งหมด ส่วนที่เหลือหากขั้นตอนการดำเนินคดีแล้วเสร็จ ก็จะค่อยๆ ทยอยส่งมาที่ตม.สวนพลูเพื่อรอการส่งกลับเช่นกัน ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมชาวกัมพูชาจึงมาถึงก่อน เพราะเป็นคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ระบุว่าสามารถส่งตัวคนกัมพูชาที่เข้าเมืองแบบผิดกฎหมายกลับประเทศได้เลยโดยที่ไม่ต้องดำเนินคดี 

แต่ก็ใช่ว่าทั้ง 181 คนจะถูกส่งตัวกลับโดยทันที แหล่งข่าวกล่าวว่า จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาความพร้อมในการส่งตัวกลับ ซึ่งจะประเมินในทุกมิติตั้งแต่สุขภาพ ศาสนา เชื้อชาติ และปัญหาในประเทศบ้านเกิด ซึ่ง ตม.จะประสานกับหน่วยงานอื่นๆให้เข้ามาช่วยประเมินความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) NGO รวมไปถึงล่าม 

หากพบว่ายังไม่มีความพร้อม ก็จะชะลอการส่งตัวออกไปแต่ก็จะถูกกักตัวอยู่ที่ ตม.สวนพลูต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยึดถือมาโดยตลอด แต่ถามว่าแนวโน้มในการส่งตัวกลับของเคสนี้จะเป็นอย่างไร หรือจะใช้ระเวลาพิจารณานานเท่าไหร่ แหล่งข่าวระบุว่าเขาตอบไม่ได้ เพราะต้อง “แล้วแต่นโยบาย” แต่ยืนยันว่าจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเร็วภายในอาทิตย์นี้ อย่างช้าภายในอาทิตย์หน้า

“ถามว่าจะถูกส่งตัวกลับไหม อันนี้ก็แล้วแต่นโยบาย นโยบายของใครก็ตอบไม่ได้ นโยบายอาจจะมีหลายที่ ก็แล้วแต่นโยบายว่าจะจัดการคนกลุ่มนี้อย่างไร แต่คนที่ถูกจับตัวแล้วส่งมาที่นี่เราก็ดำเนินการตามกฎหมาย ทุกคนทำตามหน้าที่หมด ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้”

ในประเด็นที่ผู้ถูกจับกุมถือบัตรสถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR อยู่นั้น แหล่งข่าวระบุว่าทาง UNHCR เองก็รู้ดีว่าบัตรดังกล่าวไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองสถานะผู้ลี้ภัย ต่อให้มีบัตรดังกล่าว แต่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจเพราะเป็นปัญหาระดับโลก

“ผมก็มั่นใจในกระบวนการของ UNHCR ว่า คนที่ได้รับการคุ้มครองหรือที่เขาออกเอกสารคุ้มครองให้ก็คงจะเป็นคนที่เดือดร้อนจริงๆ แต่ปัญหาคือไอ้การคุ้มครองที่ว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ พอไม่มีกฎหมายรองรับ เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จะให้เจ้าหน้าที่จาก UNHCR มาขอความร่วมมือ ให้เจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มันทำไม่ได้ แต่เราก็ควรจะให้ความสำคัญแหละ เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกนี้”

อีกหนึ่งข้อกังวลของฝ่าย NGO คือเรื่องของเด็กมากกว่า 50 ชีวิตที่ถูกจับกุม เพราะการกักขังเด็กถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งไทยลงนามไว้ในปี 2535 ที่ระบุว่า “การจับกุม คุมขัง หรือจำคุกเด็กจะต้องกระทำตามกรอบของฎหมายและจะต้องถูกใช้เป็นมาตรการสุดท้ายโดยใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด”

แหล่งข่าวกล่าวว่าทาง ตม. มีการประสานไปยัง กรมกิจการเด็กและเยาวชน ของ พม. ให้มารับตัวเด็กไปดูแล แต่ติดปัญหาคือส่วนใหญ่มักไม่มีหน่วยงานใดอยากรับคนกลุ่มนี้ไป ซึ่งอาจจะเป็นด้วยข้อจำกัดทางงบประมาน หรือทางกฎหมาย เพราะหากเด็กจะถูกย้ายไป พ่อแม่ก็ต้องตามไปด้วย เพราะไม่มีพ่อแม่คนใดอยากถูกแยกจากลูก การที่เด็กถูกกักร่วมกับพ่อแม่จึงเป็นประโยชน์สูงสุดของเด็กในทางปฏิบัติ 

“เราไม่อยากขังเด็กหรอกครับ แต่ใครจะรับไป ในเมื่อพ่อแม่เขาก็อยู่ในนี้ ทุกวันนี้เราพยายามทุกอย่างมีทุกมาตรการ แต่ไม่มีใครที่ประสงค์อยากจะรับไป เราติดต่อสถานทูตไปให้มารับคนของเขาไปดูแล เราติดต่อพม. ไป และแน่นอนเด็กก็ต้องไปกับพ่อแม่ เพราะเป็นความสมัครใจของเขา พอเราถามเขาว่าจะให้ส่งลูกไปอยู่ที่อื่นไหมเขาก็ไม่ยอม”

แหล่งข่าวเสริมว่าสังคมในขณะนี้อาจจะกำลังมอง ตม. เป็นตัวร้ายที่ไปกักตัวผู้ลี้ภัยและเด็ก แต่อยากให้เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย และเน้นย้ำว่า ตม. ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล หากไม่มีความพร้อมในการส่งกลับ หรือต้องกลับไปเผชิญอันตราย ก็จะไม่ได้รับการส่งกลับแน่นอน และ ตม. ก็จะดูแลคนกลุ่มนี้ต่อไปอย่างเต็มศักยภาพตราบใดที่ยังคงเป็นผู้ต้องกักอยู่ เขายังเน้นย้ำด้วยว่าตราบใดที่ยังอยู่ในอธิปไตยของประเทศไทย เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย

“ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า ตม.มีหน้าที่กักเพื่อรอการส่งกลับ มาทางไหนนก็กลับทางนั้น ถ้าเขาจะกลับไปเผชิญอันตรายเราก็ไม่ส่ง เราก็ถือปฏิบัติมาโดยตลอด อย่างโรฮิงญาเราก็ไม่ส่ง ก็เห็นๆ กันอยู่ การรับฟังข้อมูลเพียงด้านเดียว อยากให้ทุกคนมีวิจารณญาณฟังว่าเรามีหน้าที่อย่างไร เราคือประเทศไทย เราไม่ใช่ประเทศกัมพูชา เราไม่ใช่ประเทศอื่น เราก็ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของเรา" 

NGO ชี้ ไทยพยายามไม่กักเด็ก แต่ยังไม่ปฏิบัติ

 

เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 Global NextGen Index ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิเด็กได้เผยแพร่ผลการประเมินมาตรการกักขังเด็กของประเทศไทย และชี้ให้เห็นว่าแม้ไทยจะลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ออกคำสั่ง และมีมติคณะรัฐมนตรีหลายฉบับที่เกี่ยวกับการปกป้องสิทธิเด็ก แต่ก็ยังไม่มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังง 

ความเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดมีดังนี้

  1. ด้านอนุสัญญาระหว่างประเทศ: ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาและพิธีสารสามในหกฉบับที่สนับสนุนการคุ้มครองเด็กในบริบทการอพยพเข้าเมือง

    ข้อเสนอแนะ: รัฐไทยควรจะให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย 2494 รวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เพิ่มเติมด้วย

  2. ด้านกฎหมายภายในประเทศ: ประเทศไทยไม่มีกฎหมายห้ามการควบคุมตัวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ละเว้นแค่เด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปีเท่านั้น โดยอนุญาติให้เด็กอาศัยอยู่ร่วมกับแม่ของตนได้ มาตรา 22 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดว่าการปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใดให้คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญและห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 

    ข้อเสนอแนะ: รัฐไทยควรขยายการคุ้มครองเยาวชนจาก 15 ปีเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและพันธกรณีระหว่างประเทศ 

  3. กระบวนการคัดกรอง: ประเทศไทยมีกระบวนการคัดกรองและขั้นตอนการจำแนกประโยชน์สูงสุดของตัวเด็กอยู่ระดับหนึ่ง แต่ใช้กับผู้ลี้ภัยเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ปัจจุบันยังไม่มีการออกเอกสารให้กับเด็กที่อยู่ระหว่างการพิจารณาสถานะคนเข้าเมือง และมีการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและด้านการแปลอย่างจำกัด

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลไทยควรดำเนินการตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่ยึดถือเด็กเป็นศูนย์กลางโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กเดินทางมาเพียงลำพังโดยไม่มีผู้อุปการะ รัฐบาลควรจัดทำขั้นตอนการอุปการะเด็กเหล่านั้นโดยเร็วที่สุด

  4. สิทธิในการอยู่กับชุมชน: มีการออกคำสั่งใหม่ซึ่งอนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีและครอบครัวได้รับการยกเว้นจากการถูกควบคุมตัว อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ ก่อนหน้านี้ประเทศไทยอนุญาตให้มีการประกันตัวเด็กและครอบครัวให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่นโยบายดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปแล้ว

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลไทยควรจัดทำนโยบายและแนวทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วนเพื่อรับประกันอิสรภาพของเด็กและครอบครัว นอกจากนั้นรัฐบาลควรมีความจริงจังในการใช้ประโยชน์จากทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การควบคุมตัว

  5. สิทธิ: รัฐให้ความช่วยเหลือด้านสังคมและที่อยู่อาศัยกับเด็กผู้เข้าเมืองและครอบครัวอย่างจำกัด เด็กผู้เข้าเมืองมีสิทธิ์ได้รับการศึกษา แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของรัฐที่มีความจำเป็นต่อชีวิตพวกเขา

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลต้องให้สิทธิทางการศึกษากับเด็กผู้เข้าเมือง รวมถึงที่อยู่อาศัย ความช่วยเหลือทางสังคม และบริการด้านสุขภาพโดยไม่เลือกปฏิบัติ ควรมีมาตรการเพื่อรับประกันว่าคนเหล่านี้จะเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมอย่างทั่วถึง

  6. การกำกับดูแล: ในการพิจารณาคดีความเกี่ยวกับคนเข้าเมือง ศาลมักพิจารณาว่าคนกลุ่มนี้เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และควรได้รับโทษอย่างไรเป็นส่วนใหญ่ แทนที่จะพิจารณาพยานหลักฐานอื่นๆ ในการตัดสินว่าบุคคลลควรถูกควบคุมตัวหรือไม่ ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือรายงานผลการควบคุมตัวผู้เข้าเมือง อีกทั้งไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้เข้าเมืองอย่างเป็นระบบ

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลไทยควรปรับปรุงข้อมูลเชิงสถิติ จัดให้มีการจำแนกตัวแปรของข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้เข้าเมือง รวมทั้งจัดทำกลไกป้องกันระดับชาติเพื่อการตรวจสอบควบคุม

  7. คะแนนติดลบ: มีการคาดการณ์ว่ามีเด็กผู้อพยพมากกว่า 200 คน ถูกควบคุมตัวในประเทศไทยในปี 2017 ซึ่งรวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ควรได้รับการยกเว้นภายใต้คำสั่งของรัฐบาลไทย การควบคุมตัวอาจกินเวลานานกว่าหนึ่งเดือน และต้องมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลไทยควรอย่างยิ่งที่จะยกเลิกการควบคุมตัวเด็กทุกคน ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อลดโอกาสที่เด็กจะถูกคุมขังเป็นเวลานาน

  8. เพิ่มเติม: มติคณรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 ได้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย” ให้รับผิดชอบจัดทำนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการคัดกรองผู้เข้าเมืองและผู้ลี้ภัยที่ไม่มีเอกสาร รัฐบาลไทยยังมีคำสั่งให้ยกเว้นการควบคุมตัวเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและแม่ของตนได้  แต่การดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจนนัก

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลควรปฏิบัติตามพันธสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิเด็ก เคารพสิทธิของเด็กที่จะอยู่กับครอบครัว และร่วมมือกับภาคประชาสังคมให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท