Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2561 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการพิจารณาตั้งคระกรรมการธิการ(กมธ.) ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ตามที่คณะกรรมการกรรหา กสม. ได้เสนอชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา จำนวน 7 คน ได้แก่ 1.สมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ 2.ไพโรจน์ พลเพชร ประธานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, 3.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร นักวิชาการด้านบริหารสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 4.บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 5. ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม 6. พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ 7.สุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการด้านนโยบายด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

ย้อนดูความคิด 7 รายชื่อว่าที่ กสม. 4 NGOs 2 ข้าราชการ 1 อาจารย์มหา’ลัย

โดยการปฏิบัติหน้าที่ของ กมธ.ฯ ตรวจสอบประวัติ จำนวน 17 คนที่ สนช.ลงมติเห็นชอบนั้น มีเวลาทำหน้าที่ทั้งสิ้น 60วัน ก่อนจะส่งรายการตรวจสอบให้ สนช. พิจารณาและลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลที่ถูกเสนอชื่อดังกล่าว  โดยคาดว่า สนช. จะนัดพิจารณาลงมติ ในช่วงวันที่ 8 หรือ 9 พ.ย. นี้

ที่มาที่ไปของการสรรหาคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติเห็นร่วมกันในการพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ว่าให้มีการดำเนินการสรรหาคณะกรรมการใหม่ทั้งหมดหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือที่เรียกกันว่าเซ็ตซีโร่ 

โดยเหตุของการเซ็ตรีโร่คือ ประธานกรธ. ชี้แจงว่า กสม.ไทยในสายตานานาชาติ ถูกลดเกรดลงตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากกระบวนการสรรหาไม่เปิดกว้าง ไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจน หรือเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตามกติกาปารีส แม้ชุดปัจจุบันจะมีคุณสมบัติดีอย่างไร ก็ไม่มีวันพิจารณาเปลี่ยนไป เพราะมาจากกฎหมายเดิม ทางเดียวทำได้ คือ สรรหาใหม่ให้ถูกต้องตามกระบวนการ

สำหรับการลดเกรดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยนั้น เป็นไปตามกระบวนการของ คณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบและประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก โดยมีมติเสนอให้ลดระดับ กสม. ของไทย จากสถานะ A เป็น B เมื่อปี 2557 และประกาศลดระดับอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2559 

ในรายงานเมื่อ ต.ค. 2557 ICC แสดงความกังวลเกี่ยวกับขั้นตอนการคัดเลือก กสม., การขาดการคุ้มกันและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และความล้มเหลวในการตอบสนองต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในบริบทที่ไทยอยู่ใต้การปกครองของทหาร ทั้งนี้ ICC ให้เวลา กสม. 12 เดือนในการแก้ไข อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ย. 2558 ICC เสนอให้ลดระดับ กสม. เป็น B หลังไม่มีการดำเนินการตามคำแนะนำของ ICC

สำหรับการได้สถานะ B จะส่งผลคือ

1) จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งเอกสารในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ รวมถึงการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review) ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เกิดขึ้นในต้นปี 2559

2) สถานะของ กสม. คือ จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมในระดับภูมิภาคและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เช่น การประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก - Asia Pacific Forum on National Human Rights Institutions)

3) จะไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของ ICC หรือสมัครเป็นคณะกรรมการ/อนุกรรมการของ ICC ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net