Skip to main content
sharethis

'ครูวิภา' ปลดหนี้ 270,000 บาท หลุดพ้นจากการเป็นผู้ค้ำประกัน 'กยศ.' แล้ว เตรียมติดตามทวงหนี้จากนักเรียนที่ค้างชำระเป็นรายคนเพื่อนำเงินไปตั้งกองทุนช่วยเหลือนักเรียนที่เดือดร้อน ด้าน กยศ.ชี้คนแห่คืนหนี้ปี 2561 พุ่ง 2.6 หมื่นล้านบาท จากปกติ 5,000 ล้านบาทต่อปี คาดเพราะกระแสข่าวเบี้ยวหนี้ 

8 ก.ย. 2561 สืบเนื่องจากกรณีที่ น.ส.วิภา บานเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยน้อย ต.แม่ลาด อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ได้เป็นผู้คำประกันให้ลูกศิษย์เพื่อกู้เงินกองทุนให้กู้ยืนเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 คน แต่ลูกศิษย์ไม่ยอมจ่ายเงินคืน จึงถูกฟ้องดำเนินคดีและยึดทรัพย์ตามที่สื่อได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า น.ส.วิภา ได้เปิดเผยความคืบหน้าการชำระหนี้ที่เกิดจากการค้ำประกันว่าตนได้ใช้ชำระหนี้ กยศ. แทนลูกศิษย์ไปเรียบร้อยแล้ว รวมเป็นเงินกว่า 270,000 บาท และหลุดพ้นจากการเป็นผู้ค้ำประกัน กยศ.แล้ว ขณะนี้รอหนังสือยืนยันจาก กยศ. ว่าตนหมดภาระคนค้ำประกันแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การติดตามทวงหนี้นักเรียนที่ยังคงไม่มีการชำระหนี้ และนายธัชชัย สีสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ช่วยประสานทุกหน่วยงานในจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือช่วยตามหานักเรียนที่เคยกู้ กยศ. 20 คน ว่าอยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร ขณะนี้ได้ข้อมูล อาชีพนักเรียนครบถ้วนแล้ว อยู่ขั้นตอนการดำเนินการติดตามทวงหนี้เป็นรายคนไป เพื่อนำเงินไปตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือนักเรียนที่เดือดร้อน จึงอยากขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยเหลือ

กยศ.ชี้คนแห่คืนหนี้ปี 2561 พุ่ง 2.6 หมื่นล้านบาท จากปกติ 5,000 ล้านบาทต่อปี คาดเพราะกระแสข่าวเบี้ยวหนี้ 


เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่านายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ส่งเสริมความรู้ทางการเงิน” กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงิน แก่บุคลากร ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และศิษย์เก่า กยศ. รวมถึงการสนับสนุนการวางแผนการใช้จ่ายเงิน สร้างวินัยการออม ทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนการวางแผนชำระคืนเงินกู้ยืมให้กองทุนตามกำหนด

สำหรับสถานะการดำเนินงานของ กยศ. ในปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมทั่วประเทศ จำนวน 5.4 ล้านราย คิดเป็นงบประมาณให้กู้ยืมกว่า 5.7 แสนล้านราย ประกอบด้วย ผู้กู้ยืมที่อยู่ในช่วงกำลังการศึกษาหรืออยู่ในช่วงปลอดหนี้ จำนวน 1 ล้านราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น จำนวน 800,000 ราย ผู้กู้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จำนวน 50,000 ราย นอกจากนี้ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้จำนวน 3.5 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืมจำนวน 4 แสนล้านบาท ประกอบด้วยผู้กู้ที่ชำระหนี้ปกติ จำนวน. 1.4 ล้านราย นอกจากนี้ผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ จำนวน 2.1 ล้านราย คิดเป็นเงินค้างชำระจำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มผิดนัดชำระแต่ยังไม่ถูกดำเนินคดีจำนวน 1 ล้านราย คิดเป็นเงินค้างชำระ จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท และกลุ่มถูกดำเนินคดีจำนวน 1.1 ล้านราย คิดเป็นเงินค้างชำระ จำนวน 5.1 หมื่นล้านบาท

“จากกรณีที่มีข่าวเบี้ยวหนี้ กยศ. ส่งผลให้ในปี 2561 มีลูกหนี้ กยศ.เข้ามาชำระหนี้มากขึ้น โดยชำระ 2.6 หมื่นล้านบาท จากปกติจะชำระเฉลี่ย 5,000 ล้านบาท/ปี” นายชัยณรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทาง กยศ.เชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่มีจิตสำนึกดีและต้องการชำระหนี้มีความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและมีวินัยทางการเงินมากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้กับสังคมไทยโดยรวมและเป็นการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net