Skip to main content
sharethis

ก.ล.ต.ระบุ 11 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยกเลิกเพื่อย้ายไปกองใหญ่กว่า

ตามที่เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ สท.42/2561 เรื่องการยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 11 บริษัท นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน ก.ล.ต. กล่าวว่า บริษัทเหล่านั้น ยังคงมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพียงแต่บริษัทได้ย้ายการลงทุนไปยังกองทุนใหม่ที่ใหญ่ขึ้น (หลายนายจ้างและหลายนโยบายการลงทุน) ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหาร และมีการลงทุนหลากหลายมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับพนักงาน จึงเป็นที่มาของการขอยกเลิกกองทุนเดิม ซึ่งในรอบ 6 เดือน ก.ล.ต.จะรวบรวมแล้วนำมาประกาศแจ้งไม่ใช่การขอยกเลิกพร้อมกัน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 8/9/2561

กนอ.มั่นใจ 3 นิคมฯ อยุธยาไม่น่าห่วงปัญหาน้ำท่วม

นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สายงานปฎิบัติการ 1) ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เพื่อติดตามความพร้อมและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและการเกิดอุทกภัยของ 3 นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดอุทกภัยสูง ซึ่งทั้ง 3 นิคม ปีนี้ไม่น่าห่วงว่าจะประสบปัญหาน้ำท่วมเหมือนปี 2554  โดยขณะนี้ทั้ง 3 นิคมระดับน้ำและปริมาณน้ำไหลผ่านยังอยู่ในระดับปกติ

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ระดับน้ำตอนนี้ ปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหกยังอยู่ในระดับปกติ ระดับน้ำอยู่ในระดับ +2 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL) ซึ่งนิคมฯ  ได้สร้างแนวคันดินแบบผสมผสานระดับของคันดินอยู่ที่ +7.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางรวมความยาวเขื่อน 7 กิโลเมตร 

ล่าสุดปีนี้นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครมีการขุดลอกคลองระบายน้ำฝนและรางระบายน้ำฝน ภายในนิคมฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำฝนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันทาง กนอ.ยังเตรียมมาตรการป้องกันอุทกภัย อาทิ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ  การรายงานจากศูนย์เตือนภัย รวมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทุกแห่งเตรียมการไว้อย่างเต็มที่  ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ กนอ.จะรายงานสถานการณ์ประจำวันและจัดเตรียมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในกรณีที่เกิดอุทกภัย กนอ.ยังมีการประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ และร่วมมือกับกรมชลประทานให้ข้อมูลแผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม

สำหรับเครื่องสูบน้ำเตรียมไว้ 5 เครื่อง ประกอบด้วย ปั๊มไฟฟ้าขนาด 5,400 ลบ.ม./ชม. จำนวน 3 เครื่อง (อยู่ที่สถานีสูบน้ำฝน)  ปั๊มเครื่องยนต์ดีเซล  2 เครื่อง ขนาด 600 ลบ.ม./ชม. อยู่บริเวณเขตอุตสาหกรรมทั่วไป (ติดตั้งแล้ว) กำลังสูบรวม 17,400 ลบ.ม./ชม. ซึ่งเครื่องสูบน้ำทั้ง 5 เครื่อง สามารถใช้งานได้ 100%

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร กนอ.บริหารมาตั้งแต่ปี 2559  เดิมภาคเอกชนบริหารงาน โดยก่อนน้ำท่วมปี 2554 มีผู้ประกอบการในนิคมฯ รวม 50 ราย หลังประสบปัญหาอุทกภัยผู้ประกอบการในนิคมลดลงเหลือปัจจุบัน 26 ราย ผู้ประกอบการก่อนน้ำท่วมปี 2554 ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นกลุ่มผู้ประกอบการคนไทยมากกว่าและเร็ว ๆ นี้ จะมีผู้ประกอบการคนไทยที่มั่นใจในการบริหารนิคมฯ ของ กนอ.จะเข้ามาเปิดโรงงานเพิ่ม  4-5 ราย เป็นธุรกิจขนาดกลางในหลากหลายอุตสาหกรรม

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน  มีการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและติดตามตรวจสอบระดับน้ำและปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน โดยตรวจเช็คระดับน้ำ บริเวณจุดวัดระดับน้ำด้านนอกนิคมฯ  ที่กำหนดเป็นจุดเฝ้าระวัง 3 จุด   ได้แก่ จุดวัดระดับน้ำหน้าอำเภอบางปะอิน (หลังเก่า) ประตูน้ำคลองจิก และประตูน้ำคลองเปรมประชากร โดยความสูงของคันดินนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินอยู่ที่ระดับ +4.40 เมตร ระดับสูงสุดของเขื่อนอยู่ที่ระดับ +6.00 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง รวมระยะทางของคันดินกว่า 10 กิโลเมตร อีกทั้งรูปแบบเขื่อนยังเป็นเขื่อนดินบดอัดแน่นพร้อมผนังคอนกรีตเสริมความลาดเอียงของคันดินป้องกันการซึมและการกัดเซาะของน้ำด้วยแผ่น Geotextile โดยมีการเริ่มติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำตั้งแต่วันที่ 1  สิงหาคม ซึ่งเกณฑ์เฝ้าระวังพบว่ายังอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เตรียมสถานีสูบน้ำไว้  4  สถานี  ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 18 เครื่อง ความสามารถการสูบเท่ากับ  32,400  ลบ.ม./ชั่วโมง รวมทั้งมีการติดตั้งปั๊มสูบน้ำสำรองอีก 3 เครื่อง ขนาด 600 ลบ.ม./ชั่วโมง ซึ่งสถานีสูบมีการติดตั้งและตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน (GENERATOR)  ขนาด 450, 500 และ 800 KVA ที่ติดตั้งไว้ทุกสถานีพร้อมน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง

นอกจากนี้ นิคมฯ บางปะอิน ยังตั้งศูนย์ควบคุมภาวะฉุกเฉินและศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และรายงานสถานการณ์ทุกวันต่อศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. โดย นิคมฯ ได้สื่อสารให้ผู้ประกอบการภายในทราบความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อุทกภัยเป็นประจำทุกวัน โดยแจ้งข่าวสารให้ทราบผ่าน www.bldc.co.th แบบเรียลไทม์

ด้านนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้าได้จัดระบบติดตามสถานการณ์น้ำ ระบบระวังน้ำภายนอกและระบบแจ้งเตือนภัยโดยได้ติดตาม ตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก รายงานสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา น้ำทะเลหนุนจากกรมอุทกศาสตร์ รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำประจำวันจากชลประทานพระนครศรีอยุธยา พบว่าเกณฑ์การเฝ้าระวังทั้งหมดยังอยู่ในระดับปกติ

ทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมนิคมฯ บ้านหว้าเมื่อช่วงปี 2554 ได้มีการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมตามเกณฑ์การออกแบบที่ กนอ.ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตรกำหนด โดยความสูงของคันดินอยู่ที่ระดับ +5.40 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง รอบพื้นที่โครงการมีสันคันกว้าง 2.50 เมตร และฐานกว้าง 10.60 เมตร รวมระยะทางของคันดินกว่า 11กิโลเมตร รวมถึงเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์/เครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงาน โดยเครื่องสูบน้ำแบบ Submersible pump  5 เครื่อง อัตราสูบ 10,800 ลบ.ม./ชม. รวมความสามารถสูบ 54,000 ลบ.ม./ชม.และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ใช้น้ำมันดีเซลรองรับ

นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ได้ร่วมบูรณาการกับกนอ.และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง จ.พระนครศรีอยุธยา หาแนวทางบริหารจัดการน้ำภาพรวมเพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม ผ่าน 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ 93 เครื่อง ติดตั้งพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 54 จุดทั่วพระนครศรีอยุธยา และรถสูบน้ำ 3 คัน  2.เตรียมพร่องน้ำจากลำคลอง เพื่อรักษาระดับน้ำให้อยู่ต่ำกว่าตลิ่งและระดับที่ปลอดภัย  และ 3.การรายงานสถานการณ์ทุกวัน เพื่อสื่อสารให้ผู้ประกอบการภายในทราบความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อุทกภัยเป็นประจำทุกวัน และตรวจเช็คปริมาณน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม  ปริมาณน้ำที่จะเพิ่มเติมเข้ามาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดการณ์ว่าช่วงเดือนกันยายนถึงจะทราบปริมาณน้ำ เพราะต้องประเมินจากปริมาณของฝนที่ตกลงมา

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 8/9/2561

สหภาพพนักงานประกันสังคมร้องหยุดใช้การจ้างงานสัญญาจ้าง 4 ปี ร่างข้อบังคับดังกล่าว ได้เปลี่ยนสภาพการจ้างพนักงานประกันสังคม

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 ที่สำนักงานประกันสังคม มีการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) โดยมีการหยิบยกเรื่องการรับเรื่องราวร้องเรียนจากสหภาพพนักงานประกันสังคม (สพปส.)ซึ่งได้มีการส่งหนังสือถึงทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เรื่อง “ร่างข้อบังคับคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการบริหารพนักงาน พ.ศ. ….” ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดโครงสร้างการบริหารงานทุนหมุนเวียน โดยคณะทำงานได้จัดทำโครงสร้างการกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติของตำแหน่ง อัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน อำนาจหน้าที่ ระยะเวลาการจ้าง การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเลิกจ้างพนักงาน โดนการยกร่างข้อบังคับคณะกรรมการประกันสังคมว่า ด้วยการบริหารพนักงาน พ.ศ. …. ตามกรอบประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนว่า ด้วยมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของกองทุนหมุนเวียนลงวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียนพ.ศ. 2558 โดยคณะทำงานฯ นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยพนักงานราชการ พ.ศ.2557 มาเป็นต้นแบบในการยกร่าง ซึ่งร่างข้อบังคับดังกล่าว ได้เปลี่ยนสภาพการจ้างพนักงานประกันสังคมซึ่งจ้างตามระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการบริหารและจัดการพนักงานพ.ศ.2540 ในประเด็นสาระสำคัญดังนี้

- จากการจ้างตลอดชีพ ด้วยวิธีการสรรหาบรรจุ และแต่งตั้ง เกษียณอายุราชการเมื่อมีอายุตัว 60 ปี เป็นการจ้างตามสัญญาจ้าง 4 ปี และอาจต่อสัญญาได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

- จากการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนค่าจ้าง เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนค่าจ้าง และประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อต่อสัญญาจ้าง

- จากสาเหตุการออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ และการกระทำผอดวินัยอย่างร้ายแรงเป็นการออกจากงานเนื่องจากเลิกจ้างก่อนครบสัญญา 4 ปี การไม่ต่อสัญญา การกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง การกระทำผิดตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง

สหภาพพนักงานประกันสังคมพิจารณาเห็นว่า การตราพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 ออกมาบังคับใช้นั้น ก็ด้วยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การบริหารทุนหมุนเวียนมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง และเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังของรัฐโดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง กำกับ และบริหารทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ และบังเกิดผลเป็นรูปธรรม และเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของทุนหมุนเวียนเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชการบริหารทุนหมุนเวียนดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน จึงออกประกาศ ว่าด้วยมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของทุนหมุนเวียน ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ออกมาบังคับใช้กับการบริหารงานบุคคลของทุนหมุนเวียนทั้งหมด โดยข้อ 1 ให้นิยาม “พนักงาน” หมายความว่า บุคคล ซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างจากทุนหมุนเวียน เพื่อปฏิบัติภารกิจของทุนหมุนเวียนที่มีลักษณะเป็นงานประจำ โดยมีกำหนดเวลาการจ้างงานไม่เกินคราวละ 4 ปี และอาจมีการต่อสัญญาจ้างต่อเนื่องได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทุนหมุนเวียนรัฐบาลไทยมีกว่าร้อยทุน ขนาดเล็กอาจเงินทุนไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนมากมักจะมีลักษณะที่ขาดความมั่นคงมีวัตถุประสงค์ระยะสั้น การดำเนินการขอบเขตจำกัด แหล่งที่มาของรายได้ไม่แน่นอน มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ อาจถูกยุบเลิกหรือยุบรวมทุนหมุนเวียนอื่นๆ การจ้างงานระยะยาวกับทุนหมุนเวียนขนาดเล็กจึงมักมีปัญหา คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนจึงกำหนดให้มีการจ้างงานพนักงานได้คราวละไม่เกิน 4 ปี และอาจต่อสัญญาจ้างต่อเนื่องได้ตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง กรณีทุนหมุนเวียนขนาดเล็กมีเงินไม่เพียงพอในการจ่ายค่าชดเชยหากมีการจ้างงานระยะยาว จะเห็นว่า การจ้างงานคราวละไม่เกิน 4 ปีมีความเหมาะสมกับทุนหมุนเวียนขนาดเล็ก ทำให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เกิดปัญหาส่งผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง

แต่สำหรับทุนหมุนเวียนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเงินทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท มิใช่ส่วนหนึ่งของส่วนราชการ หากเป็นทั้งหมดของส่วนราชการระดับกรม ไม่ได้มีภารกิจระยะสั้น หากแต่มีภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุดควบคู่ไปกับการมีนายจ้าง และผู้ประกันตน มิได้มีขอบเขตการดำเนินการจำกัด หากแต่มีผลบังคับกับนายจ้าง และผู้ประกันตนทั่วประเทศ ทั้งคนไทย และคนต่างชาติ มีแหล่งที่มาของรายได้แน่นอนตามพระราชบัญญัติของกฎหมาย เป็นทุนหมุนเวียนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

การนำมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของทุนหมุนเวียนในเรื่องสัญญาจ้างคราวละไม่เกิน 4 ปี ตามประกาศคณะกรรมการฯ มาเป็นกรอบในการจัดทำข้อบังคับสำหรับบริหารพนักงานฯจึงเป็นการลิดรอนสิทธิ และเป็นการทำลายความมั่นคงแห่งนิติฐานะของพนักงานประกันสังคม โดยมิได้ก่อให้เกิดประสิทธิภาพหรือประโยชน์แก่ราชการของสำนักงานประกันสังคม เป็นการทำลายประสิทธิภาพ ทำลายประโยชน์ของราชการสำนักงานประกันสังคม

สหภาพฯในส่วนของสำนักงานฯมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะทั้งหมดแล้ว จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวสหภาพฯพิจารณาแล้วเห็นว่า

1.สำนักงานประกันสังคมมิได้รับประโยชน์ใดๆจากการเปลี่ยนสภาพการจ้างพนักงานดังกล่าวที่พอจะยกขึ้นเป็นข้ออ้างแห่งความชอบธรรมในการลิดรอนสิทธิพนักงานฯในการทำลายความมั่นคงในการทำงานของพนักงานฯ ในการทำลายความมั่นคงแห่งนิติฐานะของพนักงานฯ ในการละเมิดหลักธรรมาภิบาล ในการละเมิดหลักความรับผิดชอบต่อสังคม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ พนักงานฯ และสำนักงานประกันสังคม

2.สำนักงานประกันสังคมมิได้มีข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนดังกล่าว

3.ระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการบริหารจัดการพนักงาน พ.ศ. 2540 บังคับใช้มากว่า 20 ปี มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีประวัติความเป็นมาผ่านการใช้งานจริงเห็นทั้งข้อดี และข้อเสีย เคยเป็นนวัตกรรมการบริหารงานบุคคลที่ล้ำสมัย เมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมาเป็นความภาคภูมิใจของสำนักงานประกันสังคม และพนักงานประกันสังคม

สหภาพฯมีความเห็นว่า การพัฒนาการบริหารจัดการพนักงานประกันสังคม ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงานประกันสังคม พ.ศ.2559-2562 ควรพัฒนาต่อยอดบนรากฐาน และแนวทางซึ่งมีลักษณะเป็นการเฉพาะของสำนักงานประกันสังคมเอง เนื่องจาก ระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการบริหารและการจัดการพนักงาน พ.ศ.2540 มีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เป็นต้นแบบ ระเบียบหรือข้อบังคับว่า ด้วยการบริหารพนักงานประกันสังคม จึงควรยกร่างโดยการนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาเป็นต้นแบบ โดยยึดหลักการบริหารตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การบริหารจัดการพนักงานต้องเป็นไป เพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของสำนักงานประกันสังคมความมีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า โดยให้พนักงานประกันสังคมปฏิบัติหน้าที่อย่างมีคุณภาพ คุณธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี และให้ยึดหลักความเสมอภาค หลักความสามารถ หลักความมั่นคง และหลักความเป็นกลางทางการเมืองในองค์กร ซึ่งสหภาพพนักงานประกันสังคม เชื่อว่า วิธีนี้จะสามารถพัฒนาสำนักงานประกันสังคมได้อย่างก้าวกระโดด สู่องค์กรที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ สำนักงานฯมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนากำลังคม 20 ปี พ.ศ.2560-2579วาระการปฏิรูปกระทรวงแรงงาน 8 วาระ และวาระปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม 12 วาระ วาระหนึ่งคือ การปฏิรูปการบริหารงานบุคคลตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงานประกันสังคม พ.ศ.2559-2562 เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “พัฒนาการบริหารจัดการทุนมนุษย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับทิศทางของโลกในปัจจุบันและอนาคต และเพื่อให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรที่ดึงดูดและได้รับความสนใจจากคนดีคนเก่ง และสามารถธำรงรักษาคนดี และเก่ง ให้อยู่ร่วมกันในการพัฒนาสำนักงานประกันสังคมอย่างก้าวกระโดดสู่องค์กรยั่งยืน” โดยมีพันธกิจเพื่อให้พนักงานประกันสังคมกว่า 4 พันคน มีสภาพการจ้างที่มั่นคงมีความก้าวหน้า ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงาน และความสามารถ มีความสุขเกิดความผูกพันกับองค์กร ลดอัตราการลาออกจากงาน เพื่อพัฒนาให้พนักงานประกันสังคมมีศักยภาพก้าวทันโลก เพื่อการแลกเปลี่ยนพนักงานประกันสังคมระหว่างประเทศในอนาคต เพื่อการเตรียมความพร้อมให้พนักงานเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนงานประกันสังคม คือ

1.ผู้ประกันตนทั้งแรงงานในระบบ และนอกระบบในประเทศดำรงชีวิตด้วยความมั่นคง เป็นธรรม และต่อเนื่อง

2.ผู้ประกันตนไทย ทั้งใน และนอกประเทศ ได้รับการดูแลตามเหตุสมควร ครอบคลุมทั่วถึง และต่อเนื่อง

3.ระบบประกันสังคมไทย มีความเป็นสากล อย่างสมเหตุสมผล เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายบนรากฐานของกองทุนที่มั่นคง มีเสถียรภาพ อย่างยั่งยืน

4.ระบบประกันสังคมไทยมีความโดดเด่นในการร่วมเป็นส่วนสำคัญของการวางรากฐานระบบประกันสังคมอาเซียน

ด้านนายมานิตย์ พรหมการีกุล กรรมการประกันสังคมฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ในการประชุมของบอร์ดได้มีการปรึกษาหารือ และแสดงความคิดเห็นกันและให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวอย่างมาก ด้วยเป็นเรื่องสิทธิแรงงาน โดยกรรมการฝ่ายลูกจ้างทั้งหมดไม่เห็นด้วยต่อการใช้สัญญาการจ้างงานระยะสั้น ซึ่งมองว่า ไม่ต่างกับการจ้างงานปัจจุบันในระบบเอกชนที่จ้างลูกจ้างชั่วคราว ที่ไม่มีการดูแลคุ้มครองด้านสิทธิสวัสดิการเป็นการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมเป็นระบบข้าราชการที่ทำงานกับนายจ้าง และผู้ประกันตน ควรมีการดูแลแรงงานดีกว่านี้ ทั้งนี้ในที่ประชุมยังไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องการจ้างงานแบบใหม่ที่เป็นสัญญาจ้าง 4 ปี โดยให้นำไปพูดคุยกันในครั้งต่อไป ส่วนกรรมการประกันสังคมฝ่ายลูกจ้างทั้ง 5 คนนั้นไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับการจ้างงานรูปแบบดังกล่าว

ส่วนนักวิชาการ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนข้อคิดเห็นลง www.facebook.com/voravidh.chareonloet ต่อประเด็นดังกล่าวว่า “กรณี มีข่าวเกี่ยวกับประกันสังคมว่า จะมีการเปลี่ยนการจ้างงานลูกจ้างประกันสังคมจากการจ้างงานที่ไม่มีกำหนดเวลาจนอายุ 60 ปี มาเป็นสัญญาจ้าง 4 ปี เป็นวิธีการที่จะนำเอาระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่นเข้ามาใช้ เพื่อลดต้นทุนแรงงานและผลักความเสี่ยงในการมีงานทำและความไม่มั่นคงในงานให้กับลูกจ้าง ถ้าผู้ใช้แรงงานยอม ให้เรื่องนี้ผ่านไปได้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบประกันสังคมแต่ไปในทิศทางของการแปรรูป เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของสหภาพพนักงานประกันสังคมที่จะออกมาต่อสู้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทำงานทุกคน”

ที่มา: voicelabour.org, 7/9/2561

นายจ้างที่มีการจ้างเด็กอายุ 15-18 ปี เข้าทำงาน เมื่อสิ้นสุดการจ้างต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานภายใน 7 วัน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างที่มีการจ้างเด็กอายุ 15 ถึง 18 ปีเข้าทำงานจะต้องแจ้งการจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เด็กเข้าทำงานนอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้นายจ้างแจ้งการสิ้นสุดการจ้างภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่เด็กออกจากงานด้วย ทั้งนี้นายจ้างสามารถดาวน์โหลดแบบแจ้งการจ้างและสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ที่เว็บไซด์ www.labour.go.th

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืนจะมีความผิดโดยมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 7/9/2561

เตือนแรงงานไทยในอิสราเอลทำงานครบ 5 ปี รับค่าชดเชยก่อนกลับ

กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ตามที่ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประกาศประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่แรงงานไทยให้ขอรับเงินปิซูอิม หรือค่าชดเชยจากนายจ้างก่อนเดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากแรงงานไทยที่ทำงานกับนายจ้างติดต่อกันครบ 5 ปี (วีซ่านายจ้างเดียวกัน) จะมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายจากนายจ้างก่อนเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งหากนายจ้างปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชยหรือนายจ้างกับแรงงานตกลงกันไม่ได้ แรงงานมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากนายจ้างได้

ปัจจุบันฝ่ายแรงงานฯ ได้รับการสอบถามจากแรงงานไทยในภาคเกษตรและจากนายจ้างอิสราเอลหลายรายว่ามีบริษัทเอกชนของอิสราเอลเชิญชวนให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่บริษัทโดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือนายจ้าง ถ้านายจ้างจ่ายเงินให้บริษัท นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่แรงงานไทย โดยบริษัทเอกชนของอิสราเอลดังกล่าวมีหุ้นส่วนกับบริษัทที่ประเทศไทย ซึ่งจะติดต่อกับแรงงานไทยที่เรียกร้องเงินค่าชดเชยจากนายจ้าง จึงจะชักจูงให้แรงงานไทยยุติการเรียกร้องหรือฟ้องร้องนายจ้างที่ประเทศอิสราเอลและกลับไปรับเงินค่าชดเชยที่ประเทศไทย

ทั้งนี้ พบว่ามีหญิงไทยโทรศัพท์จากประเทศไทยมาหาแรงงานที่ประเทศอิสราเอล และโน้มน้าวให้เชื่อว่าแรงงานสามารถรับเงินค่าชดเชยเมื่อเดินทางไปถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งหากแรงงานหลงเชื่อไม่รับเงินค่าชดเชยก่อนเดินทางกลับ เมื่อแรงงานเดินทางถึงประเทศไทยแล้วอาจได้รับเงินเล็กน้อยหรือไม่ได้รับเงินเลย ซึ่งเป็นการกระทำที่หลอกลวงทั้งแรงงานไทยและนายจ้างอิสราเอล เป็นผลทำให้แรงงานเสียสิทธิ์ที่พึงได้รับ เพราะการร้องเรียนเงินค่าชดเชยจะต้องเรียกร้องหรือฟ้องร้องที่ประเทศอิสราเอลเท่านั้น หากแรงงานกลับประเทศไทยไปแล้วจะไม่สามารถฟ้องร้องได้ เพราะแรงงานต้องมอบอำนาจให้ทนายความอิสราเอลและไปแสดงตนต่อศาลเพื่อเบิกความที่ประเทศอิสราเอล

ฝ่ายแรงงานฯ จึงขอเตือนแรงงานไทยให้ระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อว่าจะรับเงินชดเชยที่ประเทศไทยได้ เพราะแรงงานต้องเรียกร้องขอรับเงินชดเชยจากนายจ้างก่อนเดินทางกลับประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมประการใด ขอให้ติดต่อสอบถามขอคำแนะนำจากฝ่ายแรงงานฯ หมายเลขโทรศัพท์ 09-9548431 (-3) วันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 09.00-17.00 น. วันศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น. หรือหมายเลขโทรศัพท์ 054-4693476-7

ที่มา: MGR Online, 6/9/2561

เปิด 12 องค์กร สุดยอดนายจ้างดีเด่น ปี 2561

เอออน ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศรายชื่อ 12 องค์กรที่ได้รับการขนานนามให้เป็น "สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561" สุดยอดนายจ้างมีคะแนนความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรมากถึง 86% ในขณะที่องค์กรทั่วไปมีคะแนนเพียง 62 % ทั้งยังมีคะแนนเฉลี่ยถึง 23 คะแนน

ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน เหล่าสุดยอดนายจ้างต่างสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พนักงานด้วยวิสัยทัศน์ที่น่าตื่นเต้นท้าทาย โดยพนักงานจำนวนกว่า 89% ขององค์กรที่เป็นสุดยอดนายจ้างต่างเห็นว่าผู้บริหารระดับสูงจะสามารถให้แนวทางในการบริหารงานในอนาคตได้อย่างชัดเจน (สูงกว่าอัตราโดยเฉลี่ยขององค์กรทั่วไปถึง 24 คะแนน)

นอกจากนี้ เหล่าสุดยอดนายจ้างได้วางกลยุทธ์ด้านผลตอบแทนที่ไม่ใช่เพียงตัวเงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพอีกด้วย ซึ่งพนักงานจำนวนกว่า 79% ขององค์กรที่เป็นสุดยอดนายจ้างต่างรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการยกย่องชมเชยในความทุ่มเทอย่างเหมาะสม (สูงกว่าอัตราโดยเฉลี่ยขององค์กรทั่วไปถึง 25 คะแนน)

สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี 2561 ได้แก่

1.บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ที่สุดแห่งสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

2. บริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัด สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

3. บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

4. บริษัท ซีพีแรม จำกัด สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

5. บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

6.บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

7. บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

8. บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

9.โรงพยาบาลพญาไท สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

10. บริษัท เอสเอพี ซิสเต็มส์ แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ โปรดักส์อิน ดาต้า โปรเซสซิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

11. เทสโก้ โลตัส สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

12. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ บริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส จำกัด ยังได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2561 หลังจากที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นระดับโลก ประจำปี 2561 ได้แก่กลุ่มโรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล และ แมริออท เวเคชั่น คลับ ประเทศไทย

ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ ผู้อำนวยการโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย และ คันทรี่ ลีดเดอร์ ผู้มีทักษะความสามารถพิเศษ บริษัท เอออน ประเทศไทย กล่าวว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และตลาดแรงงาน ทำให้บรรดาสุดยอดนายจ้างต้องเร่งให้ความสำคัญในการลดระยะเวลาในการก้าวเข้าสู่ตลาด พวกเขาเริ่มสนับสนุนให้ดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อให้เกิดพลังแห่งความร่วมมือ การประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ และการปรับปรุงคอร์สอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

นายภาณุวัฒน์ เบ็ญเราะมาน กรรมการผู้จัดการ และ พาร์ทเนอร์ บริษัท เอออน ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การก้าวสู่โลกดิจิทัลและพนักงานกลุ่มมิลเลนเนียลที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้องค์กรต่างๆ เร่งปรับตัวในการทำงานเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า และพนักงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุค Workforce 4.0 ซึ่งองค์กรที่เป็นสุดยอดนายจ้างได้ลงทุนทั้งในรูปแบบของการสนทนาต่อพนักงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับข้อเสนอแนะอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากนั้นยังมีการยกระดับดิจิตอลข้อมูลเชิงลึกและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้ในการคัดเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์กร

ด้าน รศ. ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อองค์กรเริ่มมีระดับความผูกพันของพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้น เหล่าพนักงานก็พูดถึงแต่สิ่งดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน มีความพยายามในการทำงานอย่างมาก และวางแผนถึงการอยู่กับองค์กรในระยะยาว ซึ่งช่วยทำให้ผลประกอบการทางธุรกิจที่ดีมากยิ่งขึ้น สำหรับสุดยอดนายจ้างดีเด่นช่วยให้องค์กรไทยสามารถเห็นถึงจุดที่ตนเองอยู่เมื่อมีการสร้างความผูกพันกับพนักงาน ท่ามกลางองค์กรอื่นๆ ในตลาดได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจในการพัฒนาบุคลากรได้ดีขึ้น รวมถึงบรรลุเป้าหมายขององค์กรแต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงานได้ตรงตามที่เหล่าพนักงานคาดหวังอีกเช่นกัน

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 6/9/2561

ปลัดกระทรวงแรงงานยืนยัน ยังไม่อนุมัติเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนเพิ่มเป็น 1,000 บาท เผยอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากทุกฝ่าย

จากกรณีการปรับเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นร้อยละ 5 ของฐานเงินเดือน จาก 750 บาทเป็น 1,000 บาท หรือจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ถูกหยิบยกถึงมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากมีการพูดถึงเมื่อปลายปีที่ผ่านมาแต่เรื่องก็เงียบหายไป

ล่าสุด นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติให้ดำเนินการใดๆ ยังเป็นเพียงข้อเสนอของคณะกรรมการประกันสังคม และยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็น โดยที่ผ่านมาได้เปิดฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายด้วยการจัดเวทีรับฟังมาแล้ว 5 ครั้ง ภูมิภาค 4 ครั้งและกรุงเทพมหานคร 1 ครั้ง ซึ่งผลตอบรับส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางบวก และบางส่วนได้ยื่นข้อเสนอให้เก็บตามฐานเงินเดือนเป็นหลัก หรือให้เป็นทางเลือกแก่ประชาชนว่าจะจ่ายเพิ่มหรือไม่ตามความสมัครใจ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าหากมีการปรับเพดาน จะต้องเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนด้วย เช่น กรณีเจ็บป่วย,กรณีคลอดบุตร,ทุพพลภาพ,กรณีเสียชีวิต และการว่างงาน จาก 7,500 บาท เป็น 10,000 บาท รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพ

ขณะที่ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังเปิดเผยถึงตัวเลขล่าสุดของเงินกองทุนประกันสังคมว่า ขณะนี้กองทุนมีเงินหมุนเวียนกว่า 1.8 ล้านล้านบาท มีผลตอบแทน 58,000 ล้าน และมีรายจ่าย 70,000 ล้านบาท โดยยืนยันว่า กองทุนยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทุกส่วนทุกโครงการทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน กระทรวงแรงงานจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนพร้อมทั้งอนุกรรมการ 4 ฝ่ายอีกครั้งในเดือนต.ค. นี้ และหากประชาชนหรือผู้ประกันตนมีข้อซักถามเพิ่มเติมติดต่อได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506

ที่มา: TNN24, 6/9/2561

สตช.ประกาศยกเลิกรับ “ผู้หญิง-นายสิบ” เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจอย่างถาวร รับแต่เตรียมทหาร ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป เผยเป็นมติกลาโหม

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยกเลิกการรับบุคคลภายนอกเพศหญิง และบุคคลภายนอกชาย รวมถึงนายสิบตำรวจเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) เป็นการถาวร จะเปิดรับ นรต.ที่มาจากนักเรียนเตรียมทหารเท่านั้น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นมติกลาโหม และสภาการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร ที่โรงเรียนเหล่าทุกเหล่าทัพก็รับแต่นักเรียนเตรียมทหารเข้าเหล่าเท่านั้น

“นโยบายนี้ไม่ได้ปิดกั้นตำรวจหญิง ที่ผ่านมามี นรต.หญิง 10 รุ่นก็เป็นกำลังพลที่มีศักยภาพ แต่เมื่อเป็นมติกลาโหม เราก็ยอมรับและไม่คัดค้านหรือทักท้วงอะไร เรายอมรับและปฏิบัติตาม ในส่วนของตำรวจหญิง ที่จะทำหน้าที่พนักงานสอบสวน โดยเฉพาะคดีเพศและเด็กนั้นก็จะเปิดรับบุคคลภายนอก แล้วอบรมเป็นพนักงานสอบสวนได้ เปิดรับปกติเหมือนที่ผ่านมา ส่วนจะรับสมัครคัดเลือกมากขึ้นหรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ ต้องดูความเหมาะสม เรายังให้ความสำคัญกับตำรวจหญิง” ผบ.ตร.กล่าว

เมื่อถามว่าองค์กรสิทธิสตรีต่างๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยก้าวหน้าด้วยการรับ นรต.หญิง การยกเลิกเท่ากับการถอยหลังลงคลอง พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า องค์กรไหนที่มาว่า ต้องให้องค์กรเหล่านี้ไปดูเหตุการณ์ภาคใต้ พวกนักสิทธิฯ ไปดูการทำร้ายคนบริสุทธิ์ที่ภาคใต้ ไปดูแลตรงนั้น ไปอยู่ตรงนั้นบ้าง อย่าเอาแต่จับจ้องตำรวจทั้งที่ไม่ได้ทำอะไร อย่าเอามาพันกัน

ที่มา: MGR Online, 5/9/2561

กสร.โชว์ผลงานปรองดองลูกจ้าง 2,849 คน สถานประกอบกิจการ 572 แห่ง

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่าโครงการแรงงานสมานฉันท์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย และโครงการปรองดองสมานฉันท์แรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกในการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในสถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ 5 ภาค รวมถึงสถานประกอบกิจการที่เคยมีปัญหาข้อพิพาทแรงงาน ข้อขัดแย้งมาก่อน ล่าสุดพบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากสถานประกอบกิจการ โดยมีนายจ้าง ลูกจ้างเข้าร่วมกิจกรรรม รวม 2,849 คน สถานประกอบกิจการ 572 แห่ง และมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา กสร. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 6 กระทรวงและ 14 หน่วยงาน แถลงผลงานและการรวมพลังสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ ประจำปีงบประมาณ 2561

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ ตลอดจนนำไปสู่การปฏิบัติและร่วมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในวงการแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม กสร. จะเดินหน้าส่งเสริมความสัมพันธ์ ความร่วมมือที่ดีกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างโดยจะดำเนินการส่งเสริมในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 4/9/2561

สปส.ตั้งเป้าดึงผู้ประกันตนเข้าระบบเพิ่ม 2-3 ล้านคนในปี 2562

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ครบรอบ 28 ปี ว่า ก้าวต่อไปของ สปส.คือเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนเข้ามาในระบบให้มากขึ้น โดยขณะนี้มีผู้ประกันตนประมาณ 15 ล้านคน ส่วนแรงงานนอกระบบซึ่งมี 22 ล้านคน ตั้งเป้าว่าปี 2562 ต้องมีผู้ประกันตนเพิ่มอีก 2-3 ล้านคน ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ส่วนความคืบหน้าการปรับเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท หรือเก็บจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่จะต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้ประกันตนด้วยว่าจะเกิดประโยชน์มากขึ้นแก่ผู้ประกันตน

ที่มา: MGR Online, 3/9/2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net