กสม. พาลูกชายผู้ถูกจับกุมกรณีเสื้อยืดต้องห้ามเข้าเยี่ยมแม่ที่ มทบ. 11

'อังคณา นีละไพจิตร' กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำบุตรนางวรรณนภาผู้ถูกจับกุมกรณีเสื้อยืดต้องห้าม เข้าเยี่ยมมารดาที่ มทบ. 11  เผยกังวลกรณีการบันทึกภาพเด็กไปเผยแพร่โดยไม่ปกปิดใบหน้า เข้าข่ายละเมิดสิทธิฯ ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ปล่อยตัวทันที

9 ก.ย. 2561 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัวนางวรรณนภา (ปกปิดนามสกุล) พร้อมเสื้อยืดสีดำที่มีแถบป้ายสีขาวแดงบริเวณหน้าอกจำนวนหนึ่งที่บริเวณห้องพักย่านสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2561 โดยข่าวแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะนำตัวนางวรรณนภาส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามในวันที่ 8 ก.ย. 2561 เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา จึงทำให้บุตรสองคนของนางวรรณนภา ซึ่งมีอายุ 14 ปี และ 9 ปี ไปรอดักพบมารดาที่กองบังคับการปราบปราม แต่ต้องผิดหวังเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำนางวรรณนภามาที่กองบังคับการปราบปราม นั้น

กสม.ลั่นพาลูกเข้า มทบ.11 ตามหาแม่ถูกอุ้มเพราะเสื้อยืดต้องห้าม
ทหารรวบตัวผู้หญิง 2 คน เหตุสวมเสื้อยืดต้องห้าม

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่าตนได้รับแจ้งจากผู้ดูแลเด็กทั้งสองคนว่า เด็กทั้งสองคนมีความเครียด ไม่พูดกับใคร เนื่องจากเด็กทั้งสองไม่ได้พบมารดานับแต่ถูกจับกุม แต่ได้ติดต่อกับมารดาทางโทรศัพท์บ้าง โดยเด็กทั้งสองรู้สึกกังวลว่ามารดาอาจถูกดำเนินคดี หรือไม่ได้กลับบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้มารดายืมโทรศัพท์เพื่อคุยกับบุตรเป็นเวลาสั้น ๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ กสม. ช่วยประสานเจ้าหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่ออนุญาตให้บุตรทั้งสองคนของนางวรรณนภา ได้เข้าเยี่ยมมารดาตามหลักสิทธิมนุษยชน  กสม. จึงได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ คสช. และเจ้าหน้าที่ยินดีให้ตนในฐานะ กสม. พาบุตรทั้งสองของนางวรรณนภาเข้าเยี่ยมมารดาที่ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ. 11) ในวันนี้ (9 ก.ย. 2561) เวลา 9.00 น.

นางอังคณา กล่าวว่าขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่อำนวยความสะดวกอย่างดีเพื่อให้บุตรของหญิงผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าเยี่ยมมารดาตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยการเยี่ยมครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้จัดสถานที่เยี่ยมในบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้มารดาและบุตรได้พบและพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวเพื่อให้คลายความกังวลใจในเรื่องต่าง ๆ โดยหลังจากที่เด็กทั้งสองได้เข้าเยี่ยมมารดาเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เด็กทั้งสองมีอาการผ่อนคลาย พูดคุย ยิ้มแย้ม และมีกำลังใจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตนมีความกังวลใจอย่างมากต่อการที่มีผู้บันทึกภาพบุตรทั้งสองคนของนางวรรณนภาในลักษณะที่ถือป้ายข้อความและนำไปเผยแพร่โดยไม่มีการปกปิดใบหน้าเด็ก ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ การเผยแพร่ภาพใบหน้าเด็กซึ่งมารดาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาโดยที่ศาลยังมิได้พิพากษาว่ากระทำผิด ยังอาจส่งผลให้เด็กถูกเกลียดชังจากสังคม ทั้งที่เด็กไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อนึ่งในการเข้าเยี่ยมวันนี้ เจ้าหน้าที่ มทบ.11 ได้เปิดโอกาสให้ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าตรวจเยี่ยมห้องควบคุมตัวนางวรรณนภา ซึ่งไม่มีลักษณะเป็นห้องกัก แต่เป็นห้องที่ปกติใช้เป็นห้องรับรอง โดยมีเตียงนอน ห้องน้ำส่วนตัว และมีสิ่งอำนวยความสะดวก โดยมีเจ้าหน้าที่หญิงให้การดูแลและคอยพูดคุยเพื่อมิให้ผู้ถูกกล่าวหามีความกังวลใจ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ปล่อยตัวทันที

วันเดียวกันนี้ (9 ก.ย. 2561) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ออกแลงการณ์ ระบุว่าตามที่เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัวบุคคลอย่างน้อยสองรายจากกรณีใส่หรือมีเสื้อยืดสีดำ ลายโลโก้สี่เหลี่ยมสีขาวสลับแดง ไปจากบ้านพักย่านประเวศและสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 ซึ่งขณะนี้ นางวรรณภา (สงวนนามสกุล) ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 11  โดยไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นดังต่อไปนี้

1. การควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งเหตุในการควบคุมตัว ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยศาล และไม่มีสิทธิในการพบทนายความ นั้นทำให้บุคคลขาดหลักประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพ  รูปแบบการจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งขัดต่อข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อันรับรองว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้

2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานตามวาระฉบับที่ 2 ของประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ว่า รัฐไทยควรจะปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการโดยทันที และจัดให้พวกเขาเข้าถึงการเยียวยาอย่างเต็มที่ ทั้งยังควรปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายและการปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการควบคุมตัวบุคคลอย่างต่อเนื่อง

เยาวลักษุ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า “การควบคุมตัวโดยไม่ชอบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่ทหาร  เหตุการณ์ไม่ปกติเหล่านี้ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติซึ่งไม่อาจยอมรับได้ รัฐมีหน้าที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าการกระทำใดเป็นความผิดก็ควรที่จะดำเนินการไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเราเรียกร้องให้ปล่อยตัว นางวรรณภา และผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากเหตุดังกล่าวในทันที”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท