Skip to main content
sharethis

คุยกับ สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการเกณฑ์ทหาร ขณะที่หลายพรรคชูยกเลิกเกณฑ์ ประชาธิปัตย์ชี้พัฒนาคุณภาพชีวิตทหารเกณฑ์ พร้อมสร้างแรงจูงใจให้คนสมัครเพิ่ม ลดจำนวนกำลังพลที่ไม่จำเป็น และปรับวัฒนธรรมของทหาร

หลังจากเกิดกรณีพลทหารรุ่นพี่ 3 คนซ้อมทรมานพลทหารคชา พะชะ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส หัวใจหยุดเต้น จนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอนันทมหิดล ซึ่งตรวจพบว่ามีเซลล์สมองเสียหาย ปอดติดเชื้อ และไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้ เรื่องดังกล่าวทำให้สังคมไทยหันกลับมาตั้งคำถามต่อการเกณฑ์ทหาร และความจำเป็นของการมีทหารเกณฑ์กันอีกครั้ง เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องสะเทือนใจผู้คนในสังคมแล้ว การปรากฎขึ้นข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารเกณฑ์ยังพบว่ามีความต่อเนื่องเรื่อยมา แม้ทุกครั้งกองทัพจะได้รับปากว่าจะมีการดำเนินการแก้ไข ป้องกันเพื่อให้ไม่เกิดเรื่องขึ้นอีก

ท่ามกลางการตั้งคำถามของสังคม หลายพรรคการเมืองประกาศจุดยืนในเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า การยกเลิกทหารเกณฑ์คือ คำตอบของการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงขั้นของการยกเครื่องปฏิรูปกองทัพใหม่ทั้งหมด เสรีรวมไทย เพื่อไทย และอนาคตใหม่ต่างมีมุมมองที่เป็นไปในทางเดียวกัน นับได้ว่าก้าวหน้าขึ้นมาอีกขั้นเมื่อการหาแนวร่วมทางการเมืองของพรรคการเมืองได้หยิบยกเรื่องราวเหล่านี้เป็นธงนำ

สามพรรคการเมืองประกาศชัด เหลือเพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่หลายคนยังเฝ้ารอคำตอบในนามของพรรคการเมืองว่ามีมุมมองอย่างไรกับปัญหาดังกล่าว เราติดต่อไปที่เลขานุการส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอสัมภาษณ์ ผ่านพ้นไปหนึ่งวัน เราได้รับการตอบกลับจากเลขานุการของอภิสิทธิ์ว่า หัวหน้าพรรคได้มอบหมายให้สาธิต ปิตุเตชะ เป็นผู้ให้ความเห็นในเรื่องนี้แทน

เรานั่งคุยกับสาธิต ในห้องทำงานที่พรรคประชาธิปัตย์ แม้เขาไม่ได้ผ่านประสบการณ์ในรั้วลายพรางในฐานะน้องเล็กของกองทัพ เพราะจับสลากได้ใบดำ แต่รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส. จังหวัดระยอง เห็นว่า ระบบการเกณฑ์ทหาร และคุณภาพชีวิตของเหล่าทหารเกณฑ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ควรจะได้รับการแก้ไข เพียงแต่ยังไม่ได้มองไปถึงขั้นของการยกเลิกทหารเกณฑ์

การรีดไขมันกองทัพ ตรวจสอบความจำเป็นของกำลังพล และการสร้างแรงจูงใจให้คนมาสมัครเป็นทหารโดยไม่ต้องบังคับจับใบดำ-ใบแดง เป็นคำตอบของเขาในนามประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกันเขายังเห็นด้วยกับการเรียน รด. เพื่อสร้างวินัย พร้อมปลูกฝั่งประชาธิปไตยให้กับผู้เยาว์ และเห็นว่าทหารควรมีอาชีพเป็นทหารเท่านั้น ไม่ใช่มีอาชีพเป็นผู้บริหารประเทศ

00000

ประชาไท : กรอบวิธีของคนในสมัยหนึ่งมักมองว่าการเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ที่ต้องทำสำหรับชายไทย แต่ปัจจุบันนี้ข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารเกณฑ์ปรากฎมากขึ้น และดูเหมือนว่ากระแสสังคมในเวลานี้กำลังเรียกร้องให้มีการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ประชาธิปัตย์มองเห็นเรื่องนี้ไปในทางเดียวกัน หรือมีจุดยืนที่แตกต่างออกไป

สาธิต : เวลาเรามองเห็นปัญหาอะไรขึ้นมา เราก็ต้องมองต้นเหตุแห่งปัญหาให้เจอ ยกตัวอย่างกรณีการเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายเพิ่มค่าปรับกรณีไม่มีใบขับขี่ เพื่อที่จะแก้ปัญหาการเสียชีวิตจากการใช้รถใช้ถนน ถ้าเรายังมองเห็นเหตุแห่งปัญหาไม่ออก แล้วเราแก้ไขผิดทางก็จะเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นอีก เหมือนกันกับกรณีการออก พ.ร.ก.ประมง ซึ่งมีข้อจำกัด ระเบียบต่างๆ ยิบย่อย สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาของคนที่ทำอาชีพประมง จนทำให้เขาไม่สามารถประกอบวิชาชีพปกติได้ มันก็จะเกิดความเสียหาย

เรื่องที่พูดนี้คลายกับเรื่องทหารเกณฑ์ เบื้องต้นผมเห็นด้วยกับปัญหาสองเรื่องคือ เรื่องการซ่อมจนทำให้เกิดการเสียชีวิต ถึงแม้จะบอกว่ามีจำนวนเพียงหนึ่งในร้อย หรือหนึ่งในพันที่เสียชีวิต แต่ความสูญเสียนี้ไม่สามารถตีค่าได้ และเป็นการเสียชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากการปฎิบัติหน้าที่ทหาร แต่เกิดจากการทำร้ายร่างกาย เรื่องที่สองคือ การนำทหารเกณฑ์ไปรับใช้ผู้บังคับบัญชาระดับสูง หนักไปกว่านั้นคือเรื่องของการทุจริต เช่นเรียกตัวไปเป็นทหารรับใช้ แต่จริงๆ แล้วมีการปล่อยให้กลับบ้าน ทั้งสองเรื่องนี้ต้องมีการบังคับให้กองทัพเลิกทำให้ได้อย่างเด็ดขาด ผมเรียกว่าสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นไขมันขององค์กรทหาร ฉะนั้นทหารจะต้องขจัดสิ่งเหล่านี้ให้ได้ หรือไม่ก็ต้องบังคับให้ทหารเลิกทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้

การจะไปสู่จุดนั้นได้ต้องทำอย่างไร

มันต้องมีองค์ประกอบหลายทาง อย่างแรกคือวัฒนธรรมของตัวองค์กรทหารเองก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนในแง่ของการมีจริยธรรมในอาชีพของตัวเอง แม้การปลูกฝั่งวัฒนธรรมของการทำตามคำสั่ง การสั่งการ เป็นเรื่องที่ทหารประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่เมื่อโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว และการอยู่ในวัฒนธรรมแบบนี้มันทำให้เกิดปัญหา ทหารก็ต้องรู้จักปรับตัว ถ้าไม่ปรับตัวก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

ถ้าจะพูดว่าเรื่องการ ซ่อม เป็นเรื่องปกติของรุ่นพี่ที่จะตักเตือนรุ่นน้อง ผมคิดว่ามันมีเส้นแบ่งอยู่ เช่น การทำโทษด้วยการหวิดพื้น หรือการวิ่ง อะไรก็ตามที่ไม่ใช่การทำร้ายร่างกาย หรือทำร้ายทารุน ตรงนี้สามารถทำได้ และถ้ามีการกระทำที่เกินเลยหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัด ตัวผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือถูกลงโทษ ฉะนั้นนอกจากปรับวัฒนธรรมแล้ว ฝ่ายกำหนดนโยบายของกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือรัฐบาลก็ต้องมีความชัดเจนว่า การทำร้ายร่างกายพลทหาร และการนำทหารไปเป็นทหารรับใช้ เป็นเรื่องต้องห้าม รวมทั้งต้องมีการสร้างกลไกการตรวจสอบอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าทำพร้อมกันทั้งระบบก็จะสามารถป้องกันปัญหานี้ได้

เมื่อพูดถึงการตรวจสอบ ในหลายกรณีที่เกิดเรื่องขึ้น กองทัพมักจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยใช้คนของกองทัพทั้งหมด ไม่มีพื้นที่สำหรับพลเรือน หรือหน่วยงานนอกกองทัพในการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ตรงนี้เป็นปัญหาหรือไม่

ผมคิดว่าควรจะเปิดให้หน่วยงานอื่นเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะยิ่งไม่เปิดกว้างเมื่อมีการทำผิดก็จะมีการตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นคนในกองทัพเอง ก็จะทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้เสียหายและสังคมมีน้อยลง ฉะนั้นการเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยก็จะทำให้กลไกการตรวจสอบของทัพน่าเชื่อถือขึ้น และเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพเอง ที่จะไม่ถูกตราหน้าว่าเข้าข้างพวกเดียวกัน และจะได้นำตัวผู้ทำผิดมาลงโทษ เมื่อหาตัวคนผิดมาลงโทษได้ กองทัพก็จะถูกแยกออกมาเป็นหน่วยที่บริสุทธิ์ ส่วนคนที่กระทำผิดก็ถูกลงโทษไป เรื่องนี้เองก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย

พูดในระดับนี้ได้ไหมว่า ประชาธิปัตย์เองก็เห็นปัญหาของการละเมิดสิทธิทหารเกณฑ์ แต่ว่าต้องการแก้ไขปัญหาภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ก่อน ไม่ได้มองข้ามไปถึงขั้นของการเปลี่ยนแปลงวิธีการได้มาซึ่งทหารเกณฑ์อย่างการยกเลิกไปเลย

เราชัดเจนว่าเห็นปัญหา และเรามีแนวทางว่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร จะปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น แต่เราเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ เราอาจจะไม่ได้พูดถึงขั้นว่า ชายไทยไม่ต้องเกณฑ์ทหารแล้ว เรามีทางเลือกว่าทำอย่างไรจะให้มีกำลังพลที่เพียงพอกับการทำงานของกองทัพ ทั้งงานที่เป็นเรื่องความมั่นคง และงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ หรืองานด้านไหนก็ตามแต่ ต้องมีการจำกัดจำนวนกำลังพลที่ชัดเจน และแสดงให้เห็นว่ากำลังต้องการกำลังเท่าไหร่ นำไปใช้ในงานอะไรบ้าง

เราพบข้อมูลว่า ปี 2557-2558 มีการเพิ่มแรงจูงใจโดยการให้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์เพิ่มขึ้น ผลปรากฎว่า มีผู้สมัครใจเข้าเป็นทหารเกณฑ์เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าในปี 2551 มีการใช้ พ.ร.บ.การศึกษานอกระบบ ให้ทหารเกณฑ์ที่เข้าไปฝึกสามารถเรียนหนังสือไปด้วยได้ โดยในปีนั้นมีผู้สมัครเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์

ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ประการแรกคือ เราต้องจำกัด หรือตัดไขมันที่ไม่จำเป็นออกไปซะ สมมติปีนี้กองทัพต้องการกำลังพล 1 แสนคน เราก็ต้องเอามาดูว่า 1 แสนคนเอาไปทำอะไรบ้าง ส่วนไหนที่ไม่จำเป็นตัดออก เช่น ทหารที่จะถูกนำไปเป็นทหารรับใช้ประจำตัวนายทหารที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว หรือถูกนำไปทำงานที่ไม่มีประโยชน์ คัดให้เหลือเฉพาะกำลังหลักที่สำคัญ สมมติว่าเราลดได้จาก 1 แสน เหลือ 8 หมื่น เราก็มาดูว่าใน 8 หมื่นนี้จะทำอย่างไรให้มีคนมาสมัครให้มากที่สุด เราก็ต้องสร้างแรงจูงใจ เช่น เพิ่มค่าตอบแทนให้มากขึ้น มีสวัสดิการที่ดี หรืออาจจะเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนหนังสือไปด้วย จำนวนคนที่ต้องการจะเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์ก็จะมากขึ้น สุดท้ายก็เป็นไปได้ที่เราไม่ต้องไปประกาศยกเลิกเกณฑ์ทหาร แต่จะกลายเป็นว่าจะมีคนต้องการเป็นทหารโดยไม่เหลือมีที่ว่างให้การจับสลากคัดเลือเข้าไป

วิธีนี้เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปปิดกั้นสิทธิของคนที่อยากเป็นทหาร บางคนอยากเป็นทหารเกณฑ์เพราะครอบครัวยากจน สังคมที่บ้านพ่อแม่เขาเห็นว่าถ้ายังอยู่ตรงนี้ลูกอาจจะติดยา แต่ไปเป็นทหารก็ไม่ต้องติดยาแถมยังได้ฝึกระเบียบวินัย ได้เงินเดือน พ่อแม่อาจจะได้สวัสดิการด้วย วิธีนี้มันตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ทุกคนในสังคมได้ประโยชน์ มันเป็นเสรีภาพ มันเป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง

อีกประเด็นที่เป็นเรื่องรองลงมาคือ การเรียน รด. (นักศึกษาวิชาทหาร) เราพบว่าส่วนใหญ่คนที่เรียน รด. เรียนเพราะไม่ต้องการเป็นทหารเกณฑ์ แต่ถ้าเรายกเลิกเกณฑ์ทหารเลย คนก็จะเรียน รด. น้อยลง และที่สำคัญคนที่เรียน รด. คือคนที่เรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย เท่ากับว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งต้องยอมรับว่าคนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เขาต้องอยู่ในระเบียบวินัย ต้องบังคับได้ เขายังไม่มีเสรีภาพเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อไหร่ที่เขาอายุครบ 20 ปี บรรลุนิติภาวะแล้วนั่นแหละเสรีภาพเต็มที่ เขาสามารถเลือกที่จะทำอะไรเกิดได้ แต่ในโอกาสนี้เราน่าที่จะฝึกระเบียบวินัยให้กับเขา และให้เขาเลือกบริการชุมชนได้ เช่น ไปช่วยผู้ป่วยติดเตียง ไปเป็นอาสาสมัครสาธารณะ หรือไปช่วยเด็กกำพร้า เราก็ต้องเปิดให้เขาเลือก แล้วเราก็ฝึกในสิ่งที่เขาต้องการ พร้อมไปกับการฝึกเรื่องวินัยทหาร โดยใส่เรื่องความรักชาติ และหลักสูตรเรื่องประชาธิปไตยลงไปด้วย เราก็จะมีกำลังพลที่เป็นกองหนุนที่มีคุณภาพ

เรื่องปลูกฝั่งประชาธิปไตยให้กับ รด. จะให้ทหารเป็นคนทำ ?

ตอนเรียน รด. เขาให้เรียน 3 ปี โดยส่วนตัวผมเองเห็นว่า ประชาธิปไตยในประเทศยังมีปัญหาอยู่ คนในประเทศยังเข้าใจโครงสร้างประชาธิปไตยไม่เท่ากัน มีมุมมองที่ต่างกัน อย่างน้อยที่สุดคนในประเทศควรจะมีพื้นที่ใกล้เคียงกันในแง่ของที่มาของอำนาจที่มาจากประชาชน ถูกใช้ผ่านตัวแทนของเขา ตัวแทนของเขาไปเลือกผู้บริหาร และผู้บริหารถูกตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เราอยากให้เขาเข้าใจระบบนี้จนลึกซึ้งว่า ในบริบทของโลกไม่มีระบอบการปกครองแบบไหนที่จะสู้ประชาธิปไตยได้ เพื่อที่จะให้เขาเป็นนักประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ยึดติดกับบางคน หรือบางพรรค คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นคนที่เข้าใจโครงสร้างประชาธิปไตย รักชาติ และสามารถเป็นทหารได้ด้วย ทุกอย่างก็จะถูกปลูกฝั่งในตอนที่เขายังเรียนหนังสือ หรือเรียน รด. อยู่

แต่ทิศทางของหลายๆ พรรคการเมือง ก็ดูเหมือนจะมีการหยิบยกเรื่องการยกเลิกเกณฑ์ทหาร และการปฏิรูปกองทัพมาเป็นธงนำในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า เช่นพรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องดังกล่าวไว้เป็นอันดับแรกๆ สำหรับประชาธิปัตย์จัดลำดับความสำคัญของเรื่องนี้ไว้ตรงไหน หรือว่าคิดว่ามีเรื่องอื่นที่ให้ความสำคัญมากกว่า

สำหรับประชาธิปัตย์เราให้ความสำคัญกับเรื่องประชาธิปไตย เราต้องการให้ประชาชนอยู่ดี กินดี คำว่าประชาธิปไตยมันรวมทั้งเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอยู่ด้วย เรายึดมั่นในเจตนารมย์ของพรรค แล้วเราก็ปฏิบัติตามนั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ เราเห็นว่าการที่รัฐบาลทหารบริหารประเทศมา 4 ปีเต็ม ใครจะอ้างเรื่อง GDP อะไรก็ตาม แต่เราสัมผัสได้ว่าคนจนลง ผู้ประกอบการ SME หรือผู้ค้ารายย่อยเขาเดือดร้อนมาก เขาเดือดจากการที่คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง รายได้เขาน้อยลง คนที่อยู่ภาคเกษตรก็เผชิญหน้ากับราคาสินค้าที่ตกต่ำ

เราเน้นกับโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนระดับกลาง และระดับล่าง มีเสถียรภาพในรายได้ มีความมั่นคงทางรายได้ ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพ เราคิดว่าในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ มันต้องเบ่งบาน และต้องไม่มีข้อจำกัด เพียงแต่ว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย

สิ่งที่ผมอยากจะเน้นอีกเรื่องคือ เรื่องปฏิรูป ถ้าพูดถึงการปฏิรูปในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ผมคิดว่าเราลืมมันไปได้เลย เพราะสิ่งที่เราจะเห็นในการเลือกตั้งครั้งหน้า เราจะเห็นแต่การเอาเปรียบ เราจะเห็นแต่การสืบทอดอำนาจซึ่งทำให้การปฏิรูปก้าวถอยหลัง ประเทศเราจะเจริญได้ กองทัพ หน่วยงานราชการ ประชาชน ต้องมาคิดร่วมกันว่าเราจะปฏิรูปอย่างไร

อย่างที่พูดไปแล้วตอนต้น บางคนคิดอยากจะลดความตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่พิสดารไปคิดแก้กฎหมายเพิ่มค่าปรับกับคนที่ไม่มี หรือไม่พกใบขับขี่ บางคนบอกว่าจะลดอาชญกรรม ด้วยการเพิ่มโทษประหารชีวิต เราคิดกันแต่จะแก้กฎหมาย แต่ไม่ได้มองที่ตัวปัญหาที่แท้จริงว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร ฉะนั้นสิ่งที่มันจะแก้ไขปัญหาได้คือ การสร้างจิตสำนึกให้กับคนไทยทั้งประเทศ ใครอยู่ในความรับผิด หน้าที่ไหน ก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตัวเองให้ถูกต้อง

ประเทศเราตอนนี้มีรายได้ปีละ 2.4 ล้านล้านบาท รายได้ที่เรามีในจำนวนนี้ถูกใช้จ่ายไปกับเงินเดือนประจำของข้าราชการ พนักงานของรัฐกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เหลืองบสำหรับการพัฒนาประมาณ 6-7 แลนล้านบาท ซึ่งน้อยมาก โจทย์คือถ้าเราต้องการพัฒนาประเทศจริงๆ เราต้องเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เริ่มต้นจากการลดขนาดหน่วยงานรัฐให้เล็กลง ลดค่าใช้จ่ายประจำให้มากขึ้น และเพิ่มรายได้ แต่ต้องเพิ่มรายได้โดยไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน นี่ควรจะเป็นโจทย์ใหญ่ของคนที่จะมาเป็นรัฐบาลไม่ว่าใครก็ตาม

กลับมาที่กองทัพ เรื่องความมั่นคงมันเปลี่ยนจากการสู่รบในสงครามแบบเดิม มาสู่สงครามทางการค้าแล้ว แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าความจำเป็นในเรื่องความมั่นคงในแบบทหารยังมีอยู่ แต่เราต้องชัดเจนว่ามันมีอยู่แค่ไหน แล้วก็ต้องลดขนาดกองทัพให้เหลือเท่าที่จำเป็น แต่ไม่ถึงกับงั้นนึกสนุกว่า จะยกเลิกไอ้นั่น ยกเลิกไอ้นี่ เขียนกฎหมายใหม่ ทำกฎหมายใหม่ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาเดิม

หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แล้วมีการผลักดันประเด็น เช่น รีดไขมันกองทัพ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหาร พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะสนับสนุนไหม ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม

พร้อมอยู่แล้วครับ แต่ในแง่ของการรีดไขมันกองทัพ ยุติการทำร้ายร่างกายพลทหาร ยุติการนำทหารไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ ตรงนี้ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเอาด้วย แต่เราไม่ได้ไปไกลถึงขึ้นว่าจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารเลย เพราะเรามีวิธีที่คิดว่าดีกว่า

เวลานี้ความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อทหารส่วนหนึ่งก็รักทหาร ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลับรู้สึกว่าทหารที่เราเห็นอยู่ในเวลาเป็น ‘ทหารการเมือง’ ซึ่งเวลาทหารเข้ามาในพื้นที่ทางการเมือง ย่อมมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นทำให้คนรู้สึกกับทหารอีกแบบหนึ่ง ไม่ชอบ เกลียด ประชาธิปัตย์มองปรากฎการนี้อย่างไร ในรอบความขัดแย้งทางการเมือง 13-14 ปีที่ผ่านมีการรัฐประหารโดยกองทัพ 2 ครั้ง ประชาธิปัตย์จัดวางกองทัพไว้ตรงไหนในวิกฤตความขัดแย้งที่ผ่านมา

หลักของผมง่ายๆ ใครมีวิชาชีพอะไรก็ควรทำอย่างนั้น นักการเมืองมีหน้าที่ในการเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนในการบริหารประเทศ ทหารมีวิชาชีพในการป้องกันประเทศในเรื่องความมั่นคง ทหารก็ไม่ควรก้าวล้ำมาเป็นผู้บริหารประเทศ ที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่า การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง อย่างน้อยประชาชนในเขตพื้นที่ผมก็สะท้อนออกมาว่าทหารควรจะกลับเข้ากรมกอง ไปทำหน้าที่ทหารจริงๆ

ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมผิดหวังกับการเมืองในช่วงที่มีความขัดแย้งอยู่ จึงหาทางออก เมื่อไม่รู้จะไปหาทางออกที่ไหน ก็เลยมองไปที่ทหาร เพราะอย่างน้อยที่สุดทหารเป็นคนคุมกำลัง มีกำลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ พูดง่ายๆ คือคนต้องการหาทางออกจากวิกฤติ แต่ทำอย่างไรก็ไม่มีทางออกจนต้องให้ทหารมาหาทางออกให้ แต่มันก็ชัดเจนว่าทหารไม่ได้มาหาทางออกให้อย่างเดียว แต่เขากลับคิดว่าเขาทำได้ดีกว่า มันก็เลยทำให้วิกฤติการเมืองมันวนเวียน

ผมคิดว่ามันต้องกลับที่การทำให้ประชาชนทุกคนเข้าใจโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยว่า มันมีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร และถ้าเขาเข้าใจ เสียงของประชาชนส่วนใหญ่นี่แหละที่จะเป็นเสียงตัดสินอย่าแท้จริงว่าทุกๆ 4 ปีที่มีการเลือกตั้ง เสียงส่วนใหญ่จะมาเป็นเสียงที่กำหนดอำนาจรัฐ ส่วนคนที่บริหารประเทศในช่วงเวลาหนึ่งถ้าทำไม่ถูกไม่ดีต่อไปคนก็จะไม่เลือก หรือถ้าไม่ฟังประชาชนก็จะเกิดปัญหา ฉะนั้นถ้าเราปลูกฝังให้ประชาชนเข้าใจประชาธิปไตย และสามารถติดตามตรวจสอบผู้แทนของตัวเองไปด้วย มันก็จะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

หมายความว่า ระบบการตรวจสอบก่อนหน้านี้ ไม่ทำงาน ?  

ต้องยอมรับงานมันเป็นวัฒนธรรมของคนไทย แม้การตรวจสอบมันจะเข้มข้น แต่สังคมไทยยังอยู่ภายใต้ความเกรงใจคนมีอำนาจ คนมีบารมี การตรวจสอบที่ผ่านมาก็เข้มข้น แต่ผู้มีอำนาจไม่ฟังและยังดันทุรัง มันจึงเป็นเกิดเหตุอย่างนี้ และผมเชื่อมั่นว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจที่ลุแก่อำนาจในวันนั้น วันนี้เขาจะเห็นแล้วว่าสิ่งที่เขาทำไปมันเกินพอดี จึงทำให้เกิดวิกฤติการณ์แบบนี้ ฉะนั้น เรื่องจริยธรรมของผู้มีอำนาจก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อได้อำนาจจากประชาชนมาแล้วก็ควรจะอยู่ในความพอดี แต่ก็ต้องโทษส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น ฝ่ายการเมืองที่คิดเพียงแค่ว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ในหลายครั้งที่ทหารอ้างว่าเข้ามาจัดการปัญหาทางการเมือง ส่วนมากทหารมักจะเข้าไปมีส่วนกับความบาดเจ็บล้มตายของประชาชนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 รวมทั้งเหตุการณ์ในปี 2552 – 2553 โดยเฉพาะหลังปี 2557 ก็มีกรณีที่ทหารเข้าไปละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ถ้าเรามองในมุมความคิดว่าด้วยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะหยิบเรื่องนี้มาสะสางหรือไม่

เราต้องยึดตามหลักกฎหมาย และยึดตามข้อเท็จจริง นี่คือหัวใจสำคัญ พรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะท่านอภิสิทธิ์เองก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก ในช่วงที่เราได้เป็นรัฐบาลเราก็ตั้งคนของพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริง นี่คือความจริงใจที่เราทำ

ส่วนการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของรัฐบาล คสช. ต้องยอมรับว่า คุณอภิสิทธิ์ คัดค้านตั้งแต่ต้น พูดมาตลอดว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ไปย้อนดูข่าวได้เลยว่าคุณอภิสิทธิ์แสดงจุดยืนอย่างไร รวมทั้งให้คำแนะนำกับทหารด้วยว่าควรทำอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักการ ควรเปิดกว้างให้ประชาชนวิพากษณ์วิจารณ์ได้

เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปัตย์เราให้ความสำคัญอยู่แล้ว และพรรคเราไม่เคยปิดกั้น แม้เรารู้ว่าการสื่อสารที่ขัดแย้งกันมันจะมีผลกระทบในคะแนนนิยมของเรา แต่ความเป็นประชาธิปไตยของพรรคเรา มันไม่มีการบังคับกัน ยกตัวอย่างที่เห็นชัด เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับคุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องทหารเกณฑ์ ความจริงพรรคมีสิทธิห้ามไม่ให้คุณนิพิษฏฐ์พูดเพื่อให้ตกผลึก แล้วให้คนอื่นพูดแทนเพื่อไม่ให้กระทบกับคะแนนเสียงของพรรค แต่เราก็ไม่ทำแบบนั้นเพราะเราเห็นว่ามันเป็นสิทธิของคุณนิพิษฏฐ์ที่จะแสดงความคิดเห็น แต่สุดท้ายเราก็ต้องประชุมกัน แล้วคิดเพื่อให้ตกผลึกเพื่อประกาศเป็นแนวคิดของพรรค

การเคารพสิทธิ เสรีภาพ ของคนในพรรคเราก็สูงอยู่แล้ว ฉะนั้นสิทธิ เสรีภาพของคนที่มาด่าเรา เราก็ไม่ได้ปิดกั้น คุณอภิสิทธิ์เองเนี่ยโดนคนมาด่าด้วยความเท็จ ผมบอกให้ไปแจ้งความยังไม่อยากจะแจ้งเลย เพราะเขาไม่อยากดำเนินคดีกับคนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง หรือคนที่แชร์ข้อมูลเท็จมาเท่านั้น ฉะนั้นไม่ต้องตั้งคำถามกับเราว่า เราให้ความร่วมมือเรื่องสิทธิ เสรีภาพมากน้อยแค่ไหน เราจะสังคายนาอยู่แล้ว

ซึ่งนี่หมายความ ประชาธิปัตย์มีความคิดว่าจะผลักดันให้เกิดกลไกเพื่อสะสางปัญหาทั้งหมด ?

มันต้องดูเป็นกรณีๆ ไป คดีที่มีการดำเนินการไปตามขั้นตอนแล้ว เราก็ไม่เห็นด้วยที่จะมีการลบล้าง เมื่อกระบวนการยุติธรรมจบ มันก็ต้องจบ สังคมไทยถ้าเราไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม มันก็ไม่มีทางที่จะทำให้ความขัดแย้งมันจบได้ คดีสลายการชุมนุมของพันธมิตรปี 2551 ศาลสั่งฏีกายกฟ้องไป แม้พันธมิตรจะไม่เห็นด้วย มันก็ต้องจบตรงนั้น ปี 2552 2553 มันก็ต้องจบ เพราะ ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลความผิดคุณอภิสิทธิ์ กับคุณสุเทพแล้ว ส่วนคดีเผาบ้าน เผาเมือง ก็มีการดำเนินคดีไป

ทั้งหมดนี้เราไม่สามารถให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาจัดการเรื่องเหล่านี้ได้นอกจาก ‘ศาลสถิตยุติธรรม’

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net