ชีวิตยามเกษียณ (3): ‘ชีวิตดี’ เกิดจนตาย รัฐสวัสดิการเป็นไปได้ในชาตินี้

"รัฐสวัสดิการ" คำที่ได้ยินบ่อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายงานชิ้นนี้จะพาไปดูจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการของไทย หาคำตอบว่าอุปสรรคอะไรที่ทำให้ไทยยังไม่อาจเป็นรัฐสวัสดิการได้ เมื่อปฏิรูปภาษียังไม่เกิด ประเทศรายได้ปานกลางจะเป็นรัฐสวัสดิการได้หรือไม่ หรือปัญหาคอร์รัปชั่นมีส่วนจริงรึเปล่า รวมทั้งข้อเสนอใช้งบ 4-6 แสนล้านสร้างรัฐสวัสดิการ และรัฐสวัสดิการต่างจากประชานิยมอย่างไร

ชีวิตยามเกษียณ 1: แก่ง่ายตายยาก เราไม่ลำบากด้วยบำนาญประกันสังคม?

ชีวิตยามเกษียณ 2 : รักษาฟรี ไม่แน่ว่าจะมีตอนเราแก่

นิยามรัฐสวัสดิการ

 

“รัฐสวัสดิการ” คือ รัฐที่มีการจัดระบบสวัสดิการให้กับสังคมโดยประกันความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนในการดำรงชีวิตและตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นและลดภาระของสังคม การใช้ชีวิตในเรื่องพื้นฐานตั้งแต่เกิด เรียน ทำงาน เจ็บป่วย แก่และตาย จะถูกรับประกันโดยรัฐบาล เป็นที่มาของสวัสดิค่าเลี้ยงดูบุตร การเรียนฟรี ประกันสังคม ประกันการว่างงาน การรักษาพยาบาลฟรี บำนาญ ฯลฯ

สำหรับรัฐไทยด้วยข้อจำกัดหลายอย่างจึงยังไม่สามารถดูแลประชาชนได้เต็มรูปแบบถึงเพียงนั้น แต่ก็มีระบบสวัสดิการในเรื่องสำคัญๆ ที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่การมีระบบประกันสังคม มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งถือว่าเป็น ‘สิทธิ’ ของประชาชน ไม่ใช่รัฐเป็นผู้ ‘สงเคราะห์’ ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน

สวัสดิการดังที่กล่าวมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชน เพราะปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน มีงานวิจัยพบว่ามีแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคน  เกินครึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท และไม่มีประกันสังคมหรือประกันเอกชน เป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐในด้านต่างๆ ดังนั้นทำอย่างไรเราจึงจะสร้างระบบรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุม มีคุณภาพ รองรับประชาชนทุกคนได้

เค้าร่างลางๆ รัฐสวัสดิการไทย จากปรีดีถึงป๋วย

 

 

ย้อนไปตั้งแต่สมัยการปฏิรูป 2475 คณะราษฎรซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในฝรั่งเศสและยุโรปซึมซับแนวคิดแบบสังคมนิยมและพยายามเปลี่ยนแปลงระบบสังคมโดยการให้สิทธิเสรีภาพและหลักประกันคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนตามหลัก 6 ประการ

ปรีดี พนมยงค์เขียนหนังสือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ“ ส่วนหนึ่งมี “ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” มีสาระสำคัญคือ ให้ประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศได้รับเงินเดือนโดยรัฐบาลจ่ายเป็นเงินสดหรือเป็นเช็คของธนาคารแห่งชาติ ทั้งนี้ให้จัดแบ่งเป็น 7 ช่วงชั้นอายุ ตั้งแต่อายุก่อน 1 ปี ถัดจากนั้นเป็นช่วงชั้นละ 5 ปี จนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มเกษียณที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่กว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจจะได้ตีพิมพ์เผยแพร่ก็ล่วงมาถึงปี 2526 หลังจากปรีดีเสียชีวิตที่ฝรั่งเศส

ปี 2516 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เสนอบทความเรื่อง “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เพื่อฉายภาพว่าประชาชนไทยมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิของทุกคนที่สมควรได้รับเสมอหน้ากัน ไม่แยกแยะว่าเป็นคนรวยหรือคนจน หรือเป็นใครก็ตามในประเทศไทย

กล่าวโดยสรุปหลังปี 2475 แนวคิดแบบรัฐสวัสดิการได้กำเนิดขึ้นในสังคมไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านรายจ่ายอย่างชัดเจน การใช้จ่ายด้านการศึกษาและสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ส่วนกองทัพมีบางปีที่งบประมาณลดและเพิ่มบ้างสัมพันธ์กับการรัฐประหารแต่ก็ยังไม่เท่ากับก่อนหน้า ปี 2475[1]

กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของประชาชนมาจากรัฐบาลเลือกตั้ง เช่น กฎหมายประกันสังคมผ่านในปี 2533 สมัยของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อันเป็นหมุดหมายสำคัญจากการที่ขบวนการแรงงานไทยเรียกร้องการประกันสังคมมากว่า 40 ปี และหลังจากนั้นแนวคิดเรื่องการประกันสังคมก็ลงหลักปักฐานในสังคมไทย

ปี 2545 เรามี พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือสวัสดิการรักษาพยาบาลและสวัสดิการก่อนเกิดที่แม่ทุกคนสามารถฝากครรภ์ได้ฟรี ปี 2546 เริ่มนโยบายเรียนฟรี 12 ปี ก่อนจะขยายเป็น 15 ปี ต่อมาปี 2552 เริ่มโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน ก่อนปัจจุบันจะปรับตามขั้นอายุโดยขั้นต่ำอยู่ที่ 600 บาทต่อเดือน แต่ก็ยังไม่ถึงเส้นความยากจนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 บาทต่อเดือน (อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการจัดสวัสดิการไม่ถ้วนหน้า โดยให้เฉพาะกลุ่มคนจน คนรายได้น้อย จัดให้ในระยะเวลาจำกัด เช่น 1.) เงินอุดหนุนเพื่อดูแลเด็กแรกเกิด เดือนละ 600 บาทจำนวน 3 ปี ให้เฉพาะครอบครัวมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท โดยต้องไปลงทะเบียนกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโดยการใช้วิธีการให้ อาสาสมัครพัฒนาสังคม (อพม.) เป็นคนเสนอรายชื่อคนที่ยากจนสมควรได้รับค่าเลี้ยงดู 2.) สวัสดิการช่วยเหลือตามอาชีพ เช่น การช่วยเหลือชาวสวนผลไม้ สวนยาง หรือการช่วยเหลือชาวนาในหลายนโยบายรับจำนำหลายแบบ ให้เงินช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติไร่ละ 1000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อคน 3.) การช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนไว้ 5.4 ล้านคน ให้เงิน 1,500 ถึง 3,000 บาท ให้ครั้งเดียว ใช้งบ 1.2 หมื่นล้านบาท  ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2559-31 ม.ค. 2560 ซึ่งการจัดสวัสดิการเช่นนี้ ไม่ได้ช่วยลดความยากจน และไม่ได้เพิ่มรายได้หรือลดรายจ่ายได้เลย เพราะทุกปีก็จะต้องย้อนกลับมาดำเนินนโยบายเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหาร

ดังนั้นแม้เราจะพอมีสวัสดิการที่เป็นรูปธรรม แต่ก็ยังไม่ใช่ “รัฐสวัสดิการ” และไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากว่าสวัสดิการที่มีอยู่นั้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ จากตอนที่1 และตอนที่2 ซึ่งพูดถึงไปก่อนหน้านี้ เราอาจเห็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ แต่แท้จริงแล้วต้นตอปัญหาอาจอยู่ที่แนวคิดของรัฐที่มีต่อคำว่ารัฐสวัสดิการ

ปฏิรูประบบภาษี หัวใจการหารายได้ที่รัฐไทยยังทำไม่ได้

 

ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมืองไทยผู้มีผลงานตีพิมพ์ในระดับสากลให้ความเห็นว่า ไทยจะมีระบบรัฐสวัสดิการได้หรือไม่นั้น อาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศมีเงินพอหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะให้สิทธิพลเมืองในเรื่องนี้จริงจังเพียงใดมากกว่า ซึ่งความมุ่งมั่นทางการเมืองหมายถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสวัสดิการของสาธารณชน แม้ว่าอาจจะสำเร็จยากหรืออาจจะมีแรงต้านจากกลุ่มที่ทรงอำนาจบางส่วนของสังคม ารเมืองามปราถนาและความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะทwere-heading-foroligarchiy/361200/?u

ผาสุกชี้ว่า แหล่งที่มาของเงินเพื่อใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมนี้ส่วนใหญ่แล้วได้มาจากรายรับภาษีของรัฐบาล ดังนั้นความสามารถในการจัดเก็บภาษีให้ได้ในระดับที่จะนำมาใช้จ่ายเรื่องสวัสดิการสังคมจึงสำคัญมาก

จากงานวิจัยที่ผาสุกทำร่วมกับนักวิจัยหลายสถาบันรวมทั้งกระทรวงการคลังเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเพิ่มรายได้รัฐบาลไทยจากการเก็บภาษีพบว่า เฉพาะระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบัน กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีจากรายได้ประเภทเงินเดือนได้ดี คือครอบคลุมผู้มีรายได้จากค่าจ้างเงินได้ครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด แต่รายได้ประเภทอื่น ได้แก่ กำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า (เรียกรวมว่ารายได้จากการลงทุนหรือรายได้จากทุน) อันเป็นรายได้หลักของคนร่ำรวย  รัฐกลับเก็บภาษีได้น้อยมาก ทั้งที่คนรวยมีความสามารถจ่ายภาษีได้มาก

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ การแบ่งเก็บภาษีเงินได้แบบแยกส่วน ซึ่งกำหนดอัตราภาษีตามแหล่งที่มาของรายได้ในอัตราต่างๆ กัน เช่น รายได้จากการทำงานมีอัตราภาษี 0-35% (ในที่นี้หมายถึงสำหรับปี 2555) รายได้จากดอกเบี้ยมีอัตราภาษี 15% และรายได้จากเงินปันผลมีอัตราภาษี 10% เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่ารายได้จากการทำงานมีอัตราภาษีสูงสุดที่ร้อยละ 35 แต่รายได้จากการลงทุนในทรัพย์สินมีอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 15 จึงเป็นการลดทอนหลักความเท่าเทียมกันในการเก็บภาษี และทำให้มีการแทรกแซงทางการเมืองได้

ขณะที่ประเทศที่เก็บภาษีเงินได้จากทุนได้เม็ดเต็มหน่วยจะใช้ระบบเดียวกันเรียกว่า “ระบบภาษีแบบบูรณาการ” รวมเงินได้ทุกประเภททั้งเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วและที่ยังไม่ได้หัก ณ ที่จ่าย มารายงานในแบบภาษีเพื่อคำนวณภาษี ในอัตราเดียวกันตามขั้นเงินได้สุทธิ ทำให้เก็บได้ง่าย เป็นธรรม และลดการแทรกแซงทางการเมือง และเก็บภาษีได้มากกว่า

ผาสุกยกตัวอย่างประเทศตุรกีซึ่งได้ปฏิรูประบบภาษีทั้งหมดให้เป็นระบบบูรณาการเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เก็บภาษีได้สูงขึ้นมากคิดเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพีจนใกล้ค่าเฉลี่ยของโออีซีดีที่ร้อยละ 34 แต่ขณะที่ของไทยเก็บได้ที่ร้อยละ 18 ของจีดีพี

สำหรับไทยการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นอยู่ให้เป็นแบบบูรณาการและยกเลิกการลดหย่อนการยกเว้นที่ไม่จำเป็น จะทำให้สามารถเพิ่มรายได้จากภาษีทั้งระบบได้อีกถึงร้อยละ 5 ของจีดีพี

เลิกยกเว้นภาษี LTF เพิ่มภาษีความมั่งคั่ง

 

จากข้อมูลวิจัยพบว่าสัดส่วนผู้ที่ใช้สิทธิลดหย่อน LTF (ภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว) อยู่ในกลุ่มคนรวยสุด คือรายได้มากกว่า 20 ล้านบาทสูงถึง 82% และนโยบายนี้ไม่เป็นประโยชน์กับผู้มีรายได้น้อย คือรายได้ต่ำกว่า 5 แสนบาท ซึ่งกลุ่มนี้ใช้สิทธินี้แค่ 2% เท่านั้น ที่ผ่านมารัฐต้องเสียรายได้จากการลดหย่อน LTF เกือบ 9,000 ล้านบาท

ผาสุกชี้ว่า ปัจจุบันสวัสดิการต่างๆที่รัฐบาลไทยจัดให้ประชาชนรวมทั้งเรื่องสุขภาพ การศึกษา แต่ไม่รวมบัตรคนจนคิดเป็นประมาณร้อยละ 10  ของจีดีพี แต่ขณะที่กลุ่มประเทศโออีซีดี รัฐใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 22 ของจีดีพีโดยเฉลี่ยในปี 2557

นอกจากนั้นผาสุกยังเสนอว่า หากริเริ่มให้มีภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง (wealth tax) รวมทั้งภาษีที่ดินในอัตราที่ไม่สูงมากนัก ถือว่าเป็นการร่วมกันของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนความต้องการที่จะเป็นสังคมเดียวกันทั้งคนรวยคนจนก็จะเพิ่มรายได้จากภาษีได้อีก และหากปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% รัฐบาลจะได้รายได้จากภาษีนี้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.2 % ของจีดีพี  ในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นของไทยเก็บที่ 7%  ยังต่ำหากเทียบกับ 10% ที่ออสเตรเลียและอัฟกานิสถาน 18% ที่ตุรกี 20%ที่อังกฤษ และ 25%ที่นอร์เวย์

ผาสุกสรุปว่า ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะหาเงินมาใช้จ่ายสวัสดิการไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะจัดให้มีระบบสวัสดิการหรือไม่มากกว่า และในประเทศที่เป็นระบบอำนาจนิยมในระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะทำให้เกิดการส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่โดยไม่มีการใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่สัมฤทธิ์ผลซึ่งจะเป็นอุปสรรคกับระบบรัฐสวัสดิการแน่นอน

อุปสรรคของรัฐสวัสดิการ

 

"ไทยเป็นรัฐสวัสดิการไม่ได้ เพราะมีปัญหาการคอร์รัปชัน"

นี่เป็นข้อโต้แย้งที่เรามักได้ยินลอยๆ เสมอมา

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ขับเคลื่อนประเด็นรัฐสวัสดิการมองว่า หากเกิดรัฐสวัสดิการจะช่วยให้คอร์รัปชั่นเกิดน้อยลง เนื่องจากรัฐสวัสดิการจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่มั่นคง เช่น ค่าแรงสูง การรักษาพยาบาลดี การศึกษาดี มีเงินบำนาญ เมื่อชีวิตเกิดความมั่นคงระบบอุปถัมภ์ก็จะหายไป

เขากล่าวต่อว่า เป็นความจริงที่สังคมไทยเป็นรัฐราชการและเป็นรัฐอุปถัมภ์มาก แต่ที่เป็นแบบนี้เพราะสังคมไทยไม่มีสวัสดิการที่ก้าวหน้า  เกิดระบบอุปถัมภ์ เกิดหน่วยราชการที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพิสูจน์สิทธิคนจน แล้วก็เกิดการโกงเงินคนจน เงินผู้สูงอายุ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่รัฐไม่ได้มองว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับ แต่เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจบอกว่าใครควรจะได้และไม่ควรได้ พอเป็นแบบนี้มันจึงเป็นช่องทางของการคอร์รัปชั่น ถ้าสิ่งพวกนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสิทธิทั้งหมด จะทำให้อำนาจของข้าราชการน้อยลง คนตรวจสอบได้มากขึ้น ทำให้การกระจายอำนาจมีความหมาย การประชาคมต่างๆ คนก็จะแอคทีฟเพราะคนว่างที่จะมาทำ

“การคอร์รัปชั่่นของไทย 90% เกิดจากระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือกันนอกกลไกปกติ ถ้าคนได้สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิ ถ้าเราสามารถไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ โดยที่เราไม่ต้องหาเส้นสายคนใหญ่คนโตที่เรารู้จัก ก็จะทำให้การคอร์รัปชั่นน้อยลง ระบบอุปถัมภ์ก็จะไม่ฝังราก ดังนั้นโดยหลักการรัฐสวัสดิการกับคอร์รัปชั่นจะสวนทางกัน ถ้าคนมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็จะมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น พอมีอำนาจทางการเมืองก็จะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น” ษัษฐรัมย์กล่าว

เริ่มต้นรัฐสวัสดิการด้วย 4D

 

ษัษฐรัมย์อธิบายว่า กรณีของไทย สิ่งที่จะเกิดขึ้นในขั้นแรกคือเริ่มต้นคุยเรื่องสวัสดิการ จากแนวคิด 4D ได้แก่

1. Decommodification หรือการลดความเป็นสินค้า พยายามทำให้สวัสดิการเป็นสิทธิให้มากที่สุด มีการพิสูจน์น้อยที่สุด

2. Decrease Dependency คือลดการพึ่งพิง ลดระบบอุปถัมภ์ ลดการพึ่งพิงชุมชน ครอบครัว

3. Direct Comprehensive คือเป็นสวัสดิการที่จ่ายตรงผ่านระบบราชการที่มีขั้นตอนน้อยที่สุด ทำให้สะดวกที่สุด ซึ่งสำคัญมากในบริบทไทย

4. Data Democratization คือการทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับสวัสดิการได้เต็มที่ 100% โดยการจัดการข้อมูลให้มีความทันสมัย  

Direct comprehensive และ Data Democratization จะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ลดข้อกังขาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ดังนั้นต้องมีการกระจายอำนาจออกไป ท้องถิ่นก็ต้องมีอำนาจในการกำหนดแนวทางการบริหารของตัวเอง ในการที่สวัสดิการจะมาสนองตอบพวกเขาได้ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการท้องถิ่นเข้มแข็ง คอร์รัปชั่นน้อยลง

ส่วนข้อกังวลว่าการกระจายอำนาจจะทำให้เกิดการอุปถัมภ์ในท้องถิ่นหรือไม่ ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างงานที่ศึกษาเกี่ยวกับการกระจายอำนาจหลายชิ้นซึ่งมีตั้งแต่ปี 2540 เขามองว่า ระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นเป็นมายคติของนักวิชาการเพียงกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากเมื่อกระจายอำนาจจะทำให้การแข่งขันทางการเมืองในระดับท้องถิ่นสูงขึ้น พอการแข่งขันสูงขึ้นการอุปถัมภ์ก็น้อยลง นักการเมืองระดับท้องถิ่นแข่งขันกันจากการนโยบายต่างๆ ไม่ได้เป็นการผูกขาดอำนาจในระดับท้องถิ่น

นอกจากนี้ษัษฐรัมย์ชี้ว่า ชนชั้นกลางเองก็ได้ประโยชน์และจะมีชนชั้นกลางหรือคนที่ปลอดภัยในระบบเพิ่มมากขึ้น

"คุณจะรู้สึกว่าคุณไม่ต้องไปหวาดกลัวในชีวิตข้างหน้า ชนชั้นกลางส่วนมากยังใช้ชีวิตด้วยความกลัว กลัวโดนไล่ออก กลัวพ่อป่วยเป็นมะเร็ง ไม่แปลกที่โฆษณาประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตเล่นกับความกลัวของชนชั้นกลาง ทำให้รู้สึกว่าเรามีทางออกทางเดียวคือการซื้อประกัน การศึกษาก็ต้องโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ แต่รัฐสวัสดิการจะทำให้ชนชั้นกลางเป็นอิสระจากความกลัว และชนชั้นกลางได้ใช้ชีวิตจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินจนเกษียณเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะคุณมีรายได้เฉลี่ยที่สูงพอ และสามารถไปได้ในวันหยุดพักร้อนที่มีปีละ 20 วันแบบประเทศรัฐสวัสดิการ ไม่ต้องกลัวว่าจะรับค่ารักษาไม่ไหวถ้าพ่อแม่ป่วยเป็นมะเร็ง เพราะพ่อแม่ของคุณก็ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลเหมือนกับคุณ และสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจ เพราะคือสิ่งที่เราคิดมาจากฐานเงินขั้นต่ำตามเส้นความยากจน เงินเท่านี้ไม่ได้ทำให้คนงอมืองอเท้าได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นคุณก็ต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น มันมีกลไกแบบนี้ที่ทำให้คนขยัน ไม่มีประเทศไหนที่มีรัฐสวัสดิการแล้วคนขี้เกียจ นอนอยู่กับบ้าน"

เป็นประโยชน์สำหรับชนชั้นสูง สังคมน่ากลัวน้อยลง

 

"ชนชั้นนำจะไม่ยอมให้มีการลดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ"

แน่นอนว่าการเกิดรัฐสวัสดิการจะเป็นการลดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของชนชั้นนำอย่างชัดเจน ในระยะยาวต้องมีการขยายฐานภาษี พวกเขาจะยอมรับหรือ

ษัษฐรัมย์เห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องยากขนาดนั้น เพราะรัฐสวัสดิการไม่ใช่การโค่นล้มระบบทุนนิยม แต่คือระบบทุนนิยมที่เป็นมิตรมากขึ้นและชนชั้นสูงเองก็จะได้ประโยชน์ เพราะรัฐสวัสดิการจะทำให้พื้นที่ข้างล่างน่ากลัวน้อยลง ชนชั้นนำสามารถอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับคนทั่วไปได้ ลูกของเขาสามารถไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลได้ สามารถนั่งรถเมล์ได้ เขาไม่ต้องอยู่ในสังคมตึงเครียด ไม่ต้องกลัวว่าชนชั้นล่างจะลุกขึ้นมาปิดถนน ก่อม็อบด้วยความโกรธแค้น ทำให้ลูกเขาเติบโตขึ้นมาในสังคมจริงๆ ไม่ใช่สังคมประดิษฐ์แบบโรงเรียนอินเตอร์ที่มีแต่คนรวยเรียน หรือโรงเรียนที่มีแต่ลูกทหารข้าราชการเรียน

"ผมเห็นว่ามันมีหลายอย่างที่มันเปลี่ยนแปลงได้ มองย้อนไปเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนมี พ.ร.บ. ประกันสังคม ก่อนหน้านั้นคนก็มองไม่ออกว่าคนไม่เป็นข้าราชการจะมีสวัสดิการได้อย่างไร พอปี 2544 เรามีบัตรทอง ทุกคนมีสิทธิรักษาโรคมะเร็งได้ฟรี  ก่อนหน้านี้เราก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ ผมเลยคิดว่าตอนนี้เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เราแค่ขยับขึ้นมาอีกนิดนึง 2475 ลำบากกว่า 14 ตุลาลำบากกว่า ประกันสังคมลำบากกว่า หลักประกันสุขภาพลำบากกว่า" ษัษฐรัมย์กล่าว

ข้อเสนอตั้งต้น ใช้งบ 4-6 แสนล้านสร้างรัฐสวัสดิการ

 

ษัษฐรัมย์ กล่าวถึงการคำนวณอย่างคร่าวเพื่อให้ไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการโดยใช้เงินจำนวน 4-6 แสนล้านบาท จัดสวัสดิการโดยอิงกับเส้นความยากจน 80-120%  (หรือบวกลบไม่เกิน 20%) อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเส้นความยากจนของไทยอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 บาทต่อเดือน โดยคำนวณจากบริบทสังคมไทยปัจจุบัน สำหรับให้คนไม่มีหนี้สิน ไม่มีภาระ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่ก็ต้องมีระบบจูงใจเพื่อให้คนพัฒนาตัวเองและได้ผลประโยชน์มากขึ้นไป

ษัษฐรัมย์อธิบายว่า เริ่มต้นตั้งแต่สวัสดิการเด็กในครรภ์ พอเด็กเกิดก็มีสวัสดิการในการเลี้ยงดูเด็กจนถึงอายุ 18 ปี ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการเป็นเยาวชน ปัจจุบันไทยให้ที่ 600 บาทเฉพาะคนยากจน ซึ่งไม่พอและเป็นเหมือนการสงเคราะห์ อาจจะเพิ่มเป็นไม่เกินเส้นความยากจนอยู่ที่ 1,500-2,000 บาทต่อเดือน หากเราจัดสวัสดิการเพิ่มในส่วนนี้ให้กับทุกคน จะทำให้คนไม่เป็นหนี้จากการเลี้ยงดูบุตร ปัจจุบันอัตราการเกิด 5-7 แสนคนต่อปี เมื่อคำนวณจะใช้เกือบ 2 แสนล้านต่อปี

สิ่งที่ต้องมีเพิ่มขึ้นคือการขยายค่าเหมาจ่ายรายหัวหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จาก 3,000 เป็นประมาณ 8,000 ต่อคนต่อปี ใกล้เคียงกับระบบราชการ และจะเป็นการรวมระบบทุกอย่างเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพเดียวกัน

หรือในรายละเอียด เช่น การเดินทางมาหาหมอแล้วไม่เจอหมอ เราอาจจะใช้ระบบคล้ายกับที่อังกฤษ ซึ่งมีการชดเชยค่าเดินทางให้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินค่ากลางที่ สปสช. กำหนดขึ้นมา ในขณะเดียวกัน ไทยมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ถ้าหมอให้แอดมิดก็ต้องมีการชดเชยรายได้ อาจจะวันละ 300 บาทเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ หรือถ้ามีใบรับรองแพทย์ให้พักฟื้นที่บ้านก็ต้องมีเงินชดเชยในส่วนนี้เช่นกัน จริงๆ มีอยู่แล้วในประกันสังคมมาตรา 40 แต่เราจะพยายามทำให้ส่วนนี้อยู่ในประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้ครอบคลุมทุกคน

นอกจากนี้ษัษฐรัมย์กล่าวถึงการขยายเพดานประกันสังคมให้สูงมากขึัน เพื่อให้สิทธิประโยชน์สูงขึ้น เช่น บำนาญ ปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 8,000 บาทต่อคนต่อเดือน ขยายไปสูงสุดที่ 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลก็ต้องสมทบเพิ่มเติมในประกันสังคม

อีกส่วนที่สำคัญคือ พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ โดยมีเส้นความยากจนเป็นตัวยืนพื้น ไม่ใช่เพียงแค่ 600 บาท รวมแล้วจะทำให้คนไทยมีเงินบำนาญสูงสุด 17,000-18,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเท่ากับที่แบงค์ชาติคำนวณว่าถ้าจะเกษียณอย่างมีคุณภาพคุณต้องมีเงินเก็บประมาณ 3-4 ล้านบาท หรือเงินใช้เดือนละ 16,000 บาท ซึ่งถ้าปรับเรื่องบำนาญได้ภายในปี 2565 จะมีคนไทยหลัก 10 ล้านคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการจะมีเงินบำนาญขยับไปที่ 15,000 บาทต่อเดือนได้

ษัษฐรัมย์เสริมว่า อีกประการคือการปฏิรูปการศึกษาฟรีมีคุณภาพ ลดการแข่งขัน กำหนดเพดานค่าเทอมการศึกษานอกเหนือจากภาคบังคับ ระบบค้ากำไรแบบไม่กำหนดเพดานในปัจจุบันของระบบการศึกษาต้องพยายามกำจัดออกไป โดยทั้งหมดนี้คำนวณแล้วใช้งบประมาณ 4-6 แสนล้านบาท

งบประมาณจำนวนนี้คือตัวเลขที่สูงขึ้น 3-4 เท่าของงบประมาณเรื่องสวัสดิการปัจจุบัน ษัษฐรัมย์ชี้แจงว่า การเกิดรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อรัฐสวัสดิการ เมื่อเกิดรัฐสวัสดิการแล้วก็สามารถลดค่าใช้จ่ายบางกระทรวงลงได้ คือค่าใช้จ่ายด้านการปกครองและการปราบปราม หรือก็คือกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม สองกระทรวงนี้ถ้าเราสามารถกระจายอำนาจออกไปเต็มที่ให้ท้องถิ่นจัดการเอง ค่าใช้จ่ายของมหาดไทยและกลาโหมจะลดลงประมาณ 50% เท่ากับ 2 แสนล้านบาท

รวมทั้งหากมีการเก็บภาษี Capital Gains Tax (กำไรในตลาดหุ้น) 30% ต่อปี ซึ่งมีกำไรประมาณ 9 แสนล้านบาทต่อปี จะได้ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท

นอกจากนี้หากยกเลิกการยกเว้นภาษี BOI ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีการลงทุนให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ก็จะเพิ่มรายได้ภาษีอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท รวมทั้งยกเลิกการลดหย่อนภาษี LTF RMF ทำให้ได้เงินอีก 1 แสนล้านบาท

สุดท้ายคือการเก็บภาษีที่ดิน, มรดกอัตราก้าวหน้า ช่วงแรกอาจได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งอาจไม่ได้มากแต่สำคัญคือจะลดอำนาจกลุ่มทุนลง ลดอำนาจทางการเมืองได้ ซึ่งเขาอาจจะโยกเงินไปอยู่ในกองทุนพันธบัตรรัฐบาล ทำให้รัฐบาลมีเงินในส่วนนี้เพิ่มได้ และการถือครองพันธบัตรกับที่ดินก็มีอำนาจต่อรองที่ต่างกัน

รูปแบบการเก็บภาษีในต่างประเทศ

 

จากรายงาน “กระบวนการประยุกต์ใช้ตัวแบบสวัสดิการแบบนอร์ดิกในประเทศรายได้ต่ำโดยสัมพัทธ์: กรณีศึกษาการปรับใช้รัฐสวัสดิการตัวแบบนอร์ดิกในประเทศไทย” ซึ่งเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปภาษีของไทยตามแบบกลุ่มประเทศนอร์ดิกของษัษฐรัมย์ พบว่าในนอร์ดิกภาษีส่วนมากเป็นการกระจายอำนาจโดยให้ท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคเป็นคนจัดเก็บในอัตราประมาณ 31% ของรายได้ ยกเว้นคนที่มีรายได้สูงพิเศษจะถูกเก็บเพิ่มโดยรัฐบาลกลางอีกประมาณ 20-25%

โดยฐานภาษีของนอร์ดิก เช่น ฐานภาษีเงินได้ จะเป็นอัตราก้าวหน้าเช่นเดียวกับไทย ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าภาษีอัตราก้าวหน้าไม่มีผลทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกลับมีผลทางตรงต่อความเสมอภาคในสังคมวัดด้วยดัชนี Gini ซึ่งส่งผลต่อการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม

นอกจากนี้ยังมีระบบเสียภาษีแบบ Negative Income Tax ยกตัวอย่างเช่น หากยื่นภาษีโดยที่รายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี รัฐบาลจะให้เงินคุณ ขณะเดียวกันรัฐบาลจะมีข้อมูลของคุณอยู่ในระบบ หากคุณมีรายได้เพิ่มขึ้นคุณก็จะต้องเสียภาษีเช่นเดียวกัน ซึ่งจะต่างจากบัตรคนจนที่ถึงแม้จะให้เงินแก่ผู้มีรายได้น้อยเหมือนกัน แต่ในไทยเป็นกลไกเฉพาะกลุ่มที่ต้องพิสูจน์ความจน และวิธีการแบบนี้เป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนลง

ถัดมาที่ประกันสังคมของนอร์ดิก ลูกจ้างสมทบในอัตรา 30% ของรายได้ ทำให้กองทุนในการจัดสวัสดิการอยู่ในอัตราค่อนข้างสูง แต่เงินสมทบนั้นนายจ้างเป็นคนจ่าย ยกตัวอย่างเช่น เราถูกจ้างด้วยเงินเดือน 100,000 บาท นายจ้างต้องเตรียมเงิน 30,000 บาทส่งให้ประกันสังคม ดังนั้นเป็นที่รู้กันว่าฐานเงินเดือนจริงของเราคือ 130,000 บาท แต่ได้เงินเดือน 100,000 บาท ขณะที่ในไทยคือการสมทบจากทั้งนายจ้างลูกจ้าง

เมื่อกลับไปดูที่แนวคิดตั้งต้น นอร์ดิกนั้นมีฐานความคิดว่าถ้านายจ้างจ้างลูกจ้างหนึ่งคน เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องเตรียมเงินส่วนนี้ให้ประกันสังคมและลูกจ้างไม่ต้องจ่ายเอง และคนที่เป็นแรงงานนอกระบบก็สามารถสมทบเองได้ เช่น ถ้ามีเงินเดือน 100,000 บาท ก็สมทบ 30,000 บาท เพื่อได้สวัสดิการแบบเดียวกับแรงงานในระบบ เช่น เงินประกันการว่างงาน เงินเกษียณอายุ สิทธิในการลาเลี้ยงดูบุตร

ส่วนค่าการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล เงินบำนาญ ก็จะแยกออกมาต่างหากและรัฐบาลเป็นผู้จัดไม่เกี่ยวกับประกันสังคม ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลพยายามจัดโดยยืนพื้นที่ปัจจัยสี่ ส่วนประกันสังคมเป็นส่วนที่เพิ่มเพื่อตอบแทนคนที่ทำงาน คนที่เสียภาษี

โดยเส้นความยากจนของกลุ่มประเทศนอร์ดิกเมื่อคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 บาท ซึ่งสวัสดิการรัฐก็คำนึงถึงการจูงใจในการทำงานด้วย หากทำงานมีการส่งสมทบประกันสังคมต่อเนื่อง พอเกษียณก็จะได้บำนาญที่ประมาณ 100,000-120,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยอาจจะได้เงินบำนาญที่ประมาณ 30,000 ต่อเดือนเท่ากับเส้นความยากจน คือพออยู่ได้เท่านั้น

ภาษีที่สำคัญอีกอย่างซึ่งประเทศไทยไม่มีคือ Capital Gains Tax กำไรจากหุ้นหรือกระทั่งกำไรจากการถือครองที่ดิน โดยเฉลี่ยกลุ่มประเทศนอร์ดิกอยู่ที่ 26-28% แต่ถ้าเป็นที่ดินที่ไม่ได้ทำกำไรก็ต้องภาษีทรัพย์สิน ซึ่งจ่ายกับท้องถิ่นโดยตรง ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้

ส่วนภาษีมรดก ษัษฐรัมย์อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพอเก็บภาษีมาหลายปี ปัจจุบันจึงไม่ใช่แหล่งรายได้ของรัฐสวัสดิการแล้ว เพราะคนจะไม่มีวัฒนธรรมการส่งมอบมรดกให้กัน เนื่องจากรัฐสวัสดิการนั้นสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวแบบใหม่ พ่อแม่จะรู้สึกว่าถ้าตัวเองตายลูกก็ยังได้เรียนหนังสือฟรี มีบ้านอยู่ มีงานการที่ดีได้ การส่งต่อมรดกจึงน้อยลง แม้กระทั่งมรดกตำแหน่งหน้าที่ ทายาททางธุรกิจก็น้อยลง คนมีอิสระในการกำหนดชีวิตของตัวเอง ความแตกต่างระหว่างรายได้ของอาชีพก็จะไม่มาก คนมีมากก็เอามาใช้มาก เพราะถึงเก็บไปส่งต่อให้ลูกหลานก็จะถูกเก็บภาษีในปริมาณสูงอยู่ดี ถ้าไทยเอามาใช้ก็จะมีประโยชน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การที่คนไม่ส่งต่อมรดกก็ทำให้อำนาจทางการเมืองไม่ถูกส่งต่อไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ษัษฐรัมย์ยังกล่าวถึงสวัสดิการอื่นๆ เช่น สวัสดิการเพื่อจูงใจการศึกษานอกเหนือจากภาคบังคับเพื่อให้คนสามารถพัฒนาตัวเองได้ หรือหากทำงานแล้วอยากพัฒนาตัวเองเพิ่มหรือเปลี่ยนสายงาน รัฐบาลก็จ่ายเงินอุดหนุนให้ออกมาพัฒนาทักษะโดยการอุดหนุนจากรัฐบาล ขณะที่การฝึกอาชีพในบ้านเรามีทางเลือกไม่กี่อย่าง เช่น เย็บเสื้อ ตัดผม ทำอาหาร แต่ในเดนมาร์กการฝึกอาชีพมีความหลากหลายมาก การฝึกเรื่องเทคโนโลยี ภาษา ศิลปะ รัฐบาลก็จ่ายเงินอุดหนุนเอกชนในการจัดคอร์สสอนเรื่องเหล่านี้ ทำให้คนพัฒนา การเปลี่ยนสายงานก็ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ การบูรณาการข้ามศาสตร์

ดังนั้นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการการลดหย่อนภาษีจึงไม่มาก แต่ได้ผลตอบแทนในรูปของสวัสดิการ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2559 ประเทศสวีเดนนำเงินได้จากภาษีรัฐมาจัดสวัสดิการประมาณ 42% ด้านการศึกษาและด้านสุขอนามัยประมาณ 27%

รัฐสวัสดิการเหมือนหรือต่างกับประชานิยม

 

มีคำถามว่า รัฐสวัสดิการ ต่างอย่างไรกับประชานิยม

ษัษฐรัมย์ให้ความเห็นว่า ไม่อยากจะแยกว่าเป็นคนละประเภทหรือเป็นขั้วตรงข้ามกัน ประชานิยมนั้นถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่เพื่อจะโจมตีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา ที่มีนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่เป็นที่นิยมมากพยายามชูนโยบายที่ประชาชนได้รับประโยชน์ ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าประชานิยมทำให้ประเทศล้มละลาย ทำให้ไม่มีความสมดุลทางการคลัง ไม่มีวินัยทางการคลัง มันจึงเป็นคำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามกับเสรีนิยมใหม่

ปัจจุบันหากไปดูรายงานวิชาการของนักวิชาการเสรีนิยมใหม่ จะพบการศึกษาที่เป็นมิตรกับประชานิยมมากขึ้น และตอนนี้ก็เกิดประชานิยมฝ่ายขวาในยุโรปมากขึ้น ประชานิยมที่เอากลไกตลาดเสรี ประชานิยมที่ต่อต้านแรงงานอพยพ

ดังนั้นรัฐสวัสดิการกับประชานิยมจึงไม่ควรถูกจัดเป็นสิ่งที่ต่างกันขนาดนั้น แต่รัฐสวัสดิการต้องมาพร้อมกับประชาธิปไตยแบบเต็มขั้น ครบวงจร ผ่านระบบพรรคการเมืองแบบพรรคมวลชนที่อิงกับผลประโยชน์ของชนชั้นล่าง ถึงเกิดเป็นรัฐสวัสดิการขึ้นมาได้ ซึ่งรัฐสวัสดิการก็ต้องอาศัยประชาธิปไตยและความนิยมของประชาชนในการที่จะผลักดันให้มันก้าวหน้ามากขึ้นๆ และถ้าจะอธิบายอย่างเคร่งครัดในทางรัฐศาสตร์การเมือง แนวคิดรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของสิทธิซึ่งทุกคนในประเทศในสังคมต้องได้ ไม่ใช่สวัสดิการนี้จำเพาะต่อใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ประชานิยมอาจมีนัยว่าเพื่อกลุ่ม voter ทางการเมืองกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์

 

[1] เว็บไซต์ the101 สัมภาษณ์ผาสุก พงษไพจิตร เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท