ศาลไทยรับฟ้องชาวกัมพูชา กรณีกล่าวหา 'มิตรผล' แย่งที่ดิน ป่าชุมชนไปทำเป็นไร่อ้อย

ศาลไทยรับฟ้องโจทก์ชาวกัมพูชากว่า 700 คนที่กล่าวหาว่าบริษัทลูกของกลุ่มมิตรผล อุตสาหกรรมน้ำตาลสัญชาติไทยเข้ายึดที่ดินของพวกเขา ด้าน 'กลุ่มมิตรผล' แจงศาลยังไม่ได้มีการรับฟ้อง หรือเริ่มการพิจารณาไต่สวน

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย

เมื่อ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลไทยได้รับฟ้องคดีความกรณีเกษตรกรชาวกัมพูชาราว 700 คนฟ้องร้องบริษัทน้ำตาลมิตรผล โดยกล่าวหาว่ามิตรผลได้แย่งเอาที่ดินของพวกเขาไปทำเป็นไร่อ้อย และทำลายวิถีชีวิตของพวกเขา

เส้นทางของคดีความเริ่มต้นเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เมื่อชาวกัมพูชาได้มาแจ้งความที่ฝั่งไทยว่ามิตรผลได้บีบให้ครอบครัวในพื้นที่ชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชาที่ จ.ออดดาร์ เมียนเจยต้องไร้ที่อยู่ในช่วงปี 2551-2552 เพื่อแปลงสภาพที่ดินเป็นไร่อ้อยขนาดใหญ่ที่จะส่งให้กับโรงงาน บริษัทลูกของมิตรผลรวมถึงบริษัทน้ำตาลอังกอร์ได้ใช้ที่ดินจำนวน 9,430 เฮคตาร์ (58,937.5 ไร่)ในจำนวนนั้นมีผืนป่าชุมชนที่ชาวบ้าน 26 หมู่บ้านบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งในท้ายที่สุดโครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทลูกของมิตรผลปิดตัวลง แต่ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแห่งประเทศไทย (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียน และต่อมารายงานว่ามิตรผลมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อการกระทำที่เกิดขึ้นในกัมพูชา และมีข้อเสนอแนะให้จ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือน พ.ค. 2560

"มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ร้องเรียนว่า บริษัท น. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย ได้รับสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจ เพื่อดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลในพื้นที่อำเภอสำโรงและอำเภอจงกัลป์ จังหวัดโอดอร์เมียนเจย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา โดยการได้สัมปทานดังกล่าวได้มีการเข้าไปยึดครองที่ดินของคนในท้องถิ่นอย่างผิดกฎหมาย โดยการพังบ้านเรือนและฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน มีการลอบวางเพลิงหมู่บ้าน และทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารเสียหาย ทำให้ชาวบ้านถูกข่มขู่คุกคามและถูกจับกุม นำมาซึ่งการขาดความมั่นคงทางอาหารและเกิดภาวะยากจนอย่างรุนแรงต่อประชาชนกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบ"

(ประเด็นคำร้องที่ถูกระบุไว้ในเอกสารของ กสม.)

เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา บีบีซีรายงานคำชี้แจงของมิตรผลต่อ กสม. ระบุว่าโครงการลงทุนของมิตรผลในกัมพูชาเป็นการลงทุนโดยหนึ่งบริษัท ร่วมกับบริษัทอื่นอีกสองบริษัท และได้รับสัมปทานที่ดินประมาณ 110,000 ไร่ การลงทุนในกัมพูชาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายประเทศกัมพูชาทุกขั้นตอน โดยมิตรผลไม่สนับสนุนการบุกรุกพื้นที่ครอบครองของผู้อื่น รวมทั้งการบังคับไล่ที่หรือการทำลายทรัพย์สินของผู้ใด รวมทั้งยังสอดคล้องกับหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยข้อตกลงตามสัญญานั้น รัฐบาลกัมพูชาจะเป็นผู้ทำการสำรวจและจัดสรรที่ดินสัมปทานเพื่อการเกษตรให้แก่กลุ่มมิตรผล และหากจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้เจรจาจนได้ข้อยุติ

ต่อมา มิตรผลตัดสินใจที่จะยุติโครงการดังกล่าวในปี 2557 และได้คืนพื้นที่สัมปทานให้แก่รัฐบาล และทางมิตรผลได้แนะนำให้นำพื้นที่นั้นคืนให้แก่ชุมชน แต่ทนายของชาวบ้านบอกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับที่ดินคืนจากรัฐบาล

คดีความครั้งนี้ถือเป็นคดีหมุดหมาย (Landmark Case) เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการฟ้องร้องต่อศาลไทย โดยโจทก์ต่างชาติกรณีการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นโดยบริษัทไทยในต่างแดน โดยผู้พิพากษาได้ขอให้มีการประนีประนอมกัน แต่ถ้าการประนีประนอมไม่เป็นที่ยอมรับก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดี

มิตรผลเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลให้กับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเนสต์เล โคคา-โคล่า (โค้ก) เป๊บซี่ และมาร์ส อุตสาหกรรมผลิตขนมหวาน ทั้งสี่บริษัทชื่อดังระดับโลกและมิตรผลต่างก็เป็นสมาชิกของบอนซูโคร องค์กรสากลที่รับประกันคุณภาพของอุตสาหกรรมน้ำตาล โค้กและเป๊บซี่เคยประกาศนโยบายไม่อดทนต่อการเกิดการแย่งที่ดินในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม หลังมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น เนสต์เลและมาร์สต่างแสดงความกังวลและคาดหวังว่าจะมีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น แต่โค้กยังคงไม่มีท่าทีอะไร แม้องค์กรพัฒนาถ้วนหน้านานาชาติ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนโจทก์ได้ส่งจดหมายเรียกร้องให้โค้กใช้นโยบายที่กล่าวไว้ข้างต้นกับมิตรผลถึง 4 ฉบับ แต่ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ก็ยังไม่มีการตอบสนองต่อจดหมายแต่อย่างใด

ทางฝ่ายโจทก์เองก็ได้เรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ซื้อน้ำตาลจากมิตรผลให้ใช้แต้มต่อในฐานะผู้ซื้อเพื่อทำให้มิตรผลแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และภัยอันตรายต่างๆ ที่ได้ทำลงไป สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของหลักแนวทางธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และแนวทางของบรรษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD

“สิบปีที่แล้ว มิตรผลทำลายบ้านของฉันและเอาพื้นที่ทำการเกษตรไป” หนึ่งในโจทก์ที่ไม่ประสงค์ออกนามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยกล่าว “หลังจากถูกเมินเฉยมาหลายปี ในที่สุดฉันจะได้นั่งร่วมโต๊ะกับมิตรผลและทำให้เขาได้ยินข้อเรียกร้องของฉัน ฉันเรียกร้องให้เนสต์เล โคคา-โคล่า เป๊บซี่และมาร์สใช้อำนาจของเขาทำทุกอย่างให้มิตรผลมีการดำเนินการที่จริงจัง”

“มิตรผลทำกำไรจากน้ำตาของชุมชนและความทุกข์ทนของพวกเรา” ชาวบ้านอีกคนที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นกล่าวอย่างไม่ประสงค์ออกนาม “บริษัทจะต้องให้การชดเชยสำหรับคุณภาพชีวิตที่พวกเขาได้ทำลายลง”

ทนายความที่เป็นตัวแทนของโจทก์คือสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม และ ส.รัตนามณี พลกล้า ผู้ประสานงานจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

แปลและเรียบเรียงจาก

Thai Court Accepts Cambodian Land Grabbing Case, Orders Mediation , Inclusive Development International, Sep. 5, 2018

'กลุ่มมิตรผล' แจงศาลยังไม่ได้มีการรับฟ้อง หรือเริ่มการพิจารณาไต่สวน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มมิตรผล ส่งเอกสารชี้แจง ระบุว่า ตามที่มีรายงานข่าวในเว็บไซต์ inclusivedevelopment.net เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า ศาไทยรับฟ้องคดีกว้านซื้อที่ดินในประเทศกัมพูชา และสั่งให้บริษัทน้ำตาลมิตรผลไกล่เกลี่ยกับชาวบ้านนั้น

กลุ่มมิตรผลขอชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ศาลยังไม่ได้มีการรับฟ้อง หรือเริ่มการพิจารณาไต่สวนแต่อย่างใด เนื่องจากฝ่ายโจกท์ชาวกัมพูชาแถลงต่อศาลว่ายังเตรียมข้อมูลไม่พร้อม ทั้งนี้ศาลยังได้กำชับและขอความร่วมมือไปยังทนายฝ่ายโจทก์ในการสื่อสารข้อเท็จจริงให้ถูกต้อง เพื่อไม่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของศาล

กลุ่มมิตรผลขอเรียนย้ำว่า เราได้ยึดมั่นต่อจรรยาบรรณทางธุรกิจและให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน
ที่เป็นธรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งการเคารพและถือปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุน

 

หมายเหตุ : 19.53 น. วันที่ 11 ก.ย.2561 ประชาไท มีการดำเนินการปรับแก้โปรยข่าวและเนื้อหาบางส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท