Skip to main content
sharethis

“ทำเกินกว่าเหตุ” FCCT ฉะเจ้าหน้าที่รัฐไทยหลังถูกตำรวจ “ขอความร่วมมือ” งดจัดเสวนาครั้งที่ 6 ในรอบ 4 ปี หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาชี้ “น่าผิดหวังอย่างยิ่ง” เหตุรัฐไทยทำลายโอกาสในการเป็นผู้นำด้านสิทธิและเสรีภาพในระดับภูมิภาค

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ลุมพินี เดินทางไปยังสโมรสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ขอให้ยกเลิกงานเสวนา Will Myanmar's Generals Ever Face Justice for International Crimes? ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า นายพลกองทัพเมียนมาจะถูกดำเนินคดีในข้อหาก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศหรือไม่?

เอกสารที่เจ้าหน้าที่แสดงต่อผู้จัดงานซึ่งลงนามโดย พ.ต.อ. อัครวุฒ ธานีรัตน์ ผู้กำกับ สน.ลุมพินี ระบุว่ากิจกรรมดังกล่าว “อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรืออาจจะมีบุคคลไม่หวังดีอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ต่างๆ” จึง “ขอความร่วมมือ” ให้ทาง FCCT งดจัดงานดังกล่าว แม้ในตอนแรกผู้จัดจะยืนยันที่จะดำเนินการเสวนาต่อ แต่หลังจากเจรจากับเจ้าหน้าที่ ทาง FCCT ได้ตัดสินใจยกเลิกงานดังกล่าวในที่สุด

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทาง FCCT ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกดดันให้ยกเลิกงานเสวนา โดยในเดือน มิถุนายน 2558 FCCT ได้ประกาศยกเลิกการจัดเวทีอภิปรายเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยระบุว่าได้รับ "คำสั่งด้วยวาจา" จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในเดือนพฤษภาคม 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอให้ FCCT ยกเลิกงานเสวนาเกี่ยวกับการหายไปอย่างเป็นปริศนาของหมุดคณะราษฎร์โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ต่อมาในเดือนกรกฎาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอความร่วมมือให้ FCCT งดฉายภาพยนต์เรื่อง 'When Mother's Away' ภาพยนตร์สารคดีชีวิตบล็อกเกอร์นักกิจกรรมชาวเวียดนามซึ่งถูกตัดสินจำคุก 10 ปี หลังเผยแพร่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสารพิษรั่วจากโรงงานเหล็ก โดยรวมแล้วนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 FCCT เคยถูก “ขอความร่วมมือ” ให้งดจัดงานมากถึง 6 ครั้ง โดยอีกหนึ่งครั้งเป็นการขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการวิจารณ์รัฐบาล คสช. และยอมให้จัดงานต่อได้ 

สำหรับงานเสวนาที่เพิ่งถูกยกเลิกไปครั้งนี้ FCCT ระบุว่า จะเป็นการพูดคุยเกี่ยวรายงานของคณะทำงานอิสระของสหประชาชาติว่าด้วยค้นหาความจริงกรณีพม่า (UN Independent International Fact-Finding Mission on Myanmar) ที่เสนอว่านายพลระดับสูงหลายคนในพม่า ซึ่งรวมถึงพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควรถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรงฮิงญาทางตอนเหนือของรัฐย่ะไข่

ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ตุน ขิ่น ประธานองค์กรชาวโรงฮิงญาเชื้อสายพม่าในสหราชอาณาจักร กอบศักดิ์ ชุติกุลอดีตเลขานุการเอกสถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี และคิงส์ลีย์ แอบบอท ที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายระหว่างประเทศของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล

แอบบอทให้ความเห็นกับประชาไทว่าเป็นเรื่อง “น่าผิดหวังอย่างยิ่ง” ที่งานเสวนาดังกล่าวถูกยกเลิก เพราะกิจกรรมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ภาพรวมในประเทศเมียนมา และความเป็นไปได้ในการสร้างความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาชาติกำลังให้ความสำคัญ เขาเสริมด้วยว่าสิ่งที่เขาตั้งใจจะอภิปรายในวงเสวนานั้น เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในเวทีโลกอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องปกปิดเป็นความลับแต่อย่างใด จึงมองว่าข้ออ้างเรื่องผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามอย่างยิ่ง

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่นายพลระดับสูงของพม่าจะถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ แอบบอทกล่าวว่ายังเร็วไปที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เพราะคณะทำงานของสหประชาชาติเพิ่งจะสรุปผลการสืบหาข้อเท็จจริงออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกเท่านั้นของการนำคดีความขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการสร้างความรับผิดรับชอบในประเทศเมียนมา โดยต่อจากนี้ จะต้องมีการตั้งสภาก่อนการพิจารณาคดี (Pre-trial Chamber) เพื่อพิจารณาว่าคดีความดังกล่าวอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่ สุดท้ายเขาได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์เสรีภาพในประเทศไทยโดยระบุว่าการยกเลิกกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ไทยเสียโอกาสที่จะขึ้นเป็นผู้นำด้านสิทธิเสรีภาพในระดับภูมิภาค

“ผมได้ยินคนของ FCCT กล่าวว่าเขาถูกขอให้ยกเลิกงานเสวนามาแล้วหลายครั้งนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ผมพูดได้แค่ว่าสถานการณ์ด้านเสรีภาพในการแสดงออกกำลังเป็นปัญหา ไม่ใช่แค่สำหรับประเทศไทย แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย” แอบบอทกล่าว “ประเทศไทยควรเปิดให้มีการพูดคุยในเรื่องที่เป็นข้อกังวลระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ อนุญาตให้มีการถกเถียงกันอย่างเปิดกว้างและแลกเปลี่ยนกันด้วยท่าทีที่โปร่งใส่ การตัดสินใจยกเลิกงานดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง”

หลังงานเสวนาถูกยกเลิก FCCT ได้ออกแถลงการณ์ แสดงความผิดหวังต่อเจ้าหน้าที่รัฐไทย โดยระบุว่าการกล่าวหาว่าอาจจะมีผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ในกิจกรรมดังกล่าว เป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพราะทาง FCCT ได้จัดงานลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 62 ปี โดยปราศจากปัญหาใดๆ ในทางกลับกันกิจกรรมของ FCCT เป็นการสร้างความตระหนักรับรู้ให้กับประเทศไทย และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และชี้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ทำเกินกว่าเหตุ (overreacted)

“สมาชิกของ FCCT มองว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทยทำเกินกว่าเหตุ เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้สร้างผลเสียโดยไม่จำเป็นต่อประเทศไทยซึ่งมีชื่อเสียงด้านลบในเรื่องเสรีภาพสื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประเทศไทยเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่เสรีที่สุดในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ก็เพราะว่ามีสื่อมวลชนที่เข้มแข็ง” FCCT ระบุในแถลงการณ์

ตำรวจ สน.ลุมพินีเจราจากับผู้จัดงาน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net