อลงกรณ์เผยประชาธิปัตย์ต้องไม่สู้นอกระบบ หากสมาชิกจะเสนอตนเป็นหัวหน้าพรรค

อลงกรณ์ เผยหลังมีกระแสสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เชียร์ให้ลงแข่งชิงหัวหน้าพรรคกับอภิสิทธิ์ ยันหากต้องการให้ตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ต้องไม่สู้นอกระบบ และยึดมั่นในระบบรัฐสภา

แฟ้มภาพประชาไท

11 ก.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะเสนอกฎเหล็ก 5 ข้อให้กับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้พิจารณา สำหรับการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ เพื่อเป็นคำมั่นสัญญาหรือสัญญาประชาคมว่า พร้อมจะทำตามข้อ  เสนอหากต้องการให้ตนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ 1.ต้องไม่มีการซื้อเสียงหรือทุจริตในการเลือกตั้งโดยเด็ดขาด 2.ต้องไม่หาเสียงโจมตีใส่ร้ายคนอื่นโดยเด็ดขาด 3.ต้องหาเสียงอย่างสุภาพบุรุษ แข่งด้วยนโยบายวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหาร 4.ต้องไม่รับทุนใต้โต๊ะในการเลือกตั้งโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ต้องเป็นหนี้ต่างตอบแทนและทุจริตฉ้อฉล เราจะเป็นหนี้ประชาชนเท่านั้น และ5.ต้องไม่ต่อสู้นอกระบบ  ยึดมั่นระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย และต้องไม่คอรัปชั่น ไม่ว่าตัวเอง ครอบครัว เครือญาติ หรือพวกพ้อง โดยสมาชิกที่จะลงสมัคร ส.ส. และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องเซ็นใบลาออกล่วงหน้า 

"เราทุกคนเคยทำผิดทำพลาดมาด้วยกันทั้งนั้น รวมทั้งผม ถึงเวลาต้องแก้ไข ต้องเริ่มต้นใหม่ ร่วมกันสร้างพรรคให้เป็นความหวังทางเลือกที่ดี ขอให้เข้าใจว่า เราตั้งต้นทำสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ทำเพื่อประเทศของเรา นี่คือการถอดชนวนวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างถาวรยั่งยืน เราต้องกล้านำทำทันที เพื่อเป็นตัวอย่างต้นแบบของพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งพรรคเก่าพรรคใหม่  เราต้องกล้าเปลี่ยนแปลง และต้องไม่กลัวแพ้  ถ้าแพ้เพราะทำความดี ก็ต้องสู้ต่อไปจนกว่าจะชนะ และผมเชื่อว่า ความดีจะชนะทุกสิ่ง และประชาชนจะเห็นถึงความมุ่งมั่นของพรรคประชาธิปัตย์ และให้โอกาสเรา ผมจะดำเนินการทันทีที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค" อลงกรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติ่มว่า สำหรับอลงกรณ์ ในสมัยที่เขายังดำลงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองซึ่งนำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคประชาธิปไตยที่เดินออกนอกระบบรัฐสภาเพื่อต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถิ่นในนามกลุ่ม กปปส. ซึ่งชูข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง ก่อนการเลือกตั้ง ในเวลานั้น อลงกรณ์ ได้เสนอในวาระการประชุมสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะผลักดันให้มีการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ก่อนเพื่อส่งผลให้เกิดการปฏิรูปในพรรคการเมืองอื่นๆเพื่อก้าวสู่ภาวะการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น

แต่ในการประชุมสามัญประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2556 ได้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ โดยบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว โดยมีการลงคะแนนโดยลับ ซึ่งผลการนับคะแนนปรากฏว่า อภิสิทธิ์ได้รับการรับรองด้วยคะแนนร้อยละ 98 

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ได้เสนอชื่อรองหัวหน้าพรรคโควตากลาง 5 คน คือ เกียรติ สิทธีอมร รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  ด้านกิจการสภาและนโยบาย ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ทำงานด้านการเมือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำงานด้านท้องถิ่น อภิรักษ์ โกษะโยธิน ทำงานด้านการสื่อสาร และยุทธศาสตร์ และเสนอจุติ ไกรฤกษ์ เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งหมดได้รับเลือก ส่วนรองหัวหน้าพรรคภาคต่าง ๆ ประกอบด้วย ภาคเหนือ อัศวิน วิภูศิริ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กัลยา โสภณพนิช ภาคกลาง สาธิต ปิตุเตชะ ภาคใต้ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และ กทม. องอาจ คล้ามไพบูลย์

ทั้งนี้ในส่วนของรองหัวหน้าพรรค ภาคกลางนั้น เป็นการแข่งกันระหว่างอลงกรณ์ รองหัวหน้าพรรคกับ สาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง ซึ่งสาธิตชนะไป ทำให้อลงกรณ์หลุดจากเก้าอี้รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติไม่เห็นชอบกับข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ของอลงกรณ์ด้วย

หลังจากนั้นราวหนึ่งปี 26 พ.ย. 2557 อลงกรณ์ ได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้เหตุผลว่ากำลังสมัครเป็นสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงต้องมีความเป็นกลางในทางการเมือง อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์มีมติพรรคว่า จะไม่ร่วมเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ หากสมาชิกพรรคคนใดเข้าร่วมจะไม่พิจารณาส่งลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ทั้งนี้หลังจาก สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลง อลงกรณ์ได้เข้าร่วมงานกับรัฐบาลทหารในฐานะ รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่ง , กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ, กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ละกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองตาม คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560

สำหรับการเลือกหัวหน้าพรรคในครั้งใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ในรอบนี้ จะมีการเปิดให้สมาชิกพรรคการเมืองโหวตหยั่งเสียงผู้สมควรดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย โดยการใช้แอปพลิเคชันผ่านทางโทรศัพท์ได้ แต่ในขั้นตอนการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งสุดท้ายจะเป็นหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท